Text Size
Friday, April 26, 2024
Top Tab Content

เพื่อนสนิท (มิตรสหาย) ภาคจบ 
    

โอกาสที่ดีเข้ามาแล้วก็ผ่านไป

            อีกทั้งบางทีโอกาสที่ดีนั้นไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา  บางครั้งโอกาสมันมาแค่แวบเดียวแล้วก็ผ่านไป  เมื่อท่านเผชิญหน้ากับทางเลือก  เวลาตัดสินใจก็มีไม่มาก  ท่านจะมุ่งมั่นสู่เส้นทางสายใด  เหมือนกับในทุกๆวันที่เราดำเนินชีวิตไปนั้น  เราจะพบทางเลือกให้เราตัดสินใจตลอด  เมื่อเราเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งแล้วเดินทางตามเส้นทางสายนั้นก็จะทำให้เราต้องพบกับเหตุการณ์ที่เราต้องไปเผชิญ  และจะทำให้เราพบกับทางเลือกหลากหลายถัดไปต่อจากเส้นทางสายนั้น  เมื่อเราได้เลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งไปแล้ว เราก็จะไม่มีทางย้อนกลับมาจุดเดิมเพื่อลองเลือกเส้นทางสายอื่นได้อีกในช่วงเวลาเดิม  อีกทั้งเราก็จะไม่มีวันรู้ว่าถ้าเราเลือกอีกเส้นทางที่เราไม่ได้เลือกนั้นจะให้ผลเช่นไรกับเรา  อีกประเด็นหนึ่งสำหรับการตัดสินใจว่าจะเลือกทำอะไรแต่ละอย่างนั้นท่านสังเกตหรือไม่ว่า  ไม่ว่าท่านจะเลือกทางเลือกเช่นไร  นั่นแสดงถึงการจัดลำดับความสำคัญในใจของท่านสำหรับทางเลือกนั้นไปโดยอัตโนมัติ   ถ้าท่านเลือกทางเลือกหนึ่งโดยไม่ได้เลือกทางเลือกอื่น  นั่นหมายถึงท่านได้ให้ความสำคัญกับทางเลือกที่ท่านได้ตัดสินใจเลือกนั้นมากกว่าทางเลือกอื่น  และข้อสำคัญบางทางเลือกนั้นก็ดูเหมือนว่าจะดีแต่อาจจะไม่ดี  ในทางกลับกัน  อีกทางเลือกหนึ่งอาจดูเหมือนจะเลวร้ายแต่จริงๆอาจเป็นทางเลือกที่ดีก็เป็นไปได้  (อ้างอิง ๗)

หญิงผู้ถวายน้ำ

            ครั้งหนึ่ง ณ สถานที่แห่งหนึ่งตำบลบ้านพราหมณ์(ถูณะ)  แคว้นโกศล  พวกคหบดีพราหมณ์เป็นพวกที่มีนิสัย  ไม่เลื่อมใส  มีความเห็นผิด  และตระหนี่  เมื่อได้ยินข่าวว่าพระสมณโคดมเสด็จถึงเขตบ้านของพวกเราแล้ว  ก็พากันคิดว่าถ้าพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาประทับที่หมู่บ้านพวกเรานี้สัก ๒ - ๓ วัน  ก็จะทำให้พวกชนทั้งหมด อยู่ในถ้อยคำพระองค์ซึ่งจะให้พราหมณ์ธรรม  ถูกทอดทิ้ง  ไม่มีคนสนใจ  พวกชาวถูณะจึงได้ทำการตกลงกันว่าจะไม่ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในตำบลของเรา  จึงช่วยกันนำเรือที่ผูกไว้ตามท่าน้ำออกเสียเพื่อกันไว้ไม่ให้พระองค์พร้อมกับเหล่าภิกษุข้าม  เมื่อนำเรือออกจากท่าน้ำแล้วชาวบ้านจึงได้สร้างสะพานทางเดินและแพไว้ให้พวกของตนข้ามแทนเรือที่ท่าน้ำ  ช่วยกันสร้างโรงประปาไว้ในหมู่บ้าน  ส่วนบ่อน้ำด้านนอกก็พากันเอาหญ้าและฟางถมบ่อน้ำจนเต็มปากบ่อ เพื่อกันไม่ให้พระองค์พร้อมเหล่าภิกษุได้ดื่มน้ำ  และได้ทำกติกาตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่า  ถ้าพระสมณโคดมเสด็จมา ณ ที่แห่งนี้ จะไม่ทำการต้อนรับพระองค์  จะไม่ถวายอาหารหรือน้ำดื่ม

            เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาในละแวกนั้น  ก็ทรงทราบอาการวิปริตของคนเหล่านั้น  พระองค์พร้อมเหล่าภิกษุจึงได้เหาะข้ามแม่น้ำ  เสด็จไปพัก ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ซึ่งตอนนั้น  หญิงทาสีจำนวนมากเทินหม้อน้ำผ่านมาไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาคเจ้า  ครั้งนั้นหญิงทาสีที่มากันจำนวนมากที่ได้ผ่านมา  กลับมีทาสหญิงแค่คนเดียวที่คิดได้  ทาสหญิงคนนั้นเป็นภรรยาของพราหมณ์คนหนึ่ง  เดินถือหม้อน้ำ พบพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งแวดล้อมด้วยหมู่ภิกษุ  ก็รู้ว่าหมู่ภิกษุลำบากกาย  กระหายน้ำ  เพราะเดินเหนื่อยมา  มีจิตเลื่อมใสประสงค์จะถวายน้ำดื่ม   จึงตัดสินใจว่า แม้ชาวบ้านเราจะตั้งกติกาตกลงกันไว้ไม่ให้ถวายสิ่งใดๆ  ไม่กระทำสามีจิกรรม  (กิจอันสมควรกระทำเช่นทำความเคารพ)  แก่พระสมณโคดม  แต่ในเมื่อเราได้มาพบพระทักขิไณยบุคคลซึ่งเป็นบุญเขต  แล้วเรามิได้แม้ด้วยเพียงถวายน้ำดื่มแล้วไซร้  ครั้งไรเล่าเราจึงจะหลุดพ้นจากชีวิตลำเค็ญเช่นนี้ได้  นายของเรา  ชาวบ้านเราทั้งหมด  จะฆ่าเรา  จะขังจองจำเรา  เราก็จะถวายปานียทาน  น้ำดื่ม  ในบุญเขตนี้  จึงได้เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้าและเหล่าภิกษุทั้งหลาย  เมื่อชาวบ้านหลายคนได้เห็นท่าทีของนางจึงพากันห้ามปราม  ถึงแม้นางจะถูกคนอื่นห้ามปรามก็ไม่อาลัยในชีวิต  ลดหม้อน้ำจากศีรษะ  เข้าไปถวายบังคมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า  นิมนต์พระองค์ให้เสวยน้ำดื่ม  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นจิตเลื่อมใสของนาง ทรงอนุเคราะห์นาง  จึงได้ทรงกรองน้ำล้างพระหัตถ์และพระบาทแล้วจึงเสวยน้ำดื่ม  เมื่อนางได้ถวายน้ำแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว  น้ำในหม้อก็มิได้หมดสิ้นไป  เมื่อนางเห็นสิ่งอัศจรรย์นั้นแล้วก็มีจิตเลื่อมใส   จึงได้ถวายแก่ภิกษุทุกรูปจนครบ  น้ำในหม้อก็มิได้สิ้นเปลืองหมดไป  นางร่าเริงยินดี  ยกหม้อที่เต็มด้วยน้ำอย่างเดิม  เดินมุ่งหน้าไปยังเรือน  พราหมณ์สามีของนางรู้ว่า  นางได้ถวายน้ำดื่ม  จึงคิดว่าหญิงคนนี้ทำลายธรรมเนียมบ้านเสียแล้ว  เราก็ต้องถูกครหาแน่  จึงได้โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ  เข้าไปตบตีทั้งเตะต่อยจนนางล้มกลิ้งไปที่พื้น  จนนางเสียชีวิตไป  เมื่อนางเสียชีวิตแล้วก็ได้ไปบังเกิดในภพดาวดึงส์  อยู่ที่นาวาวิมานทันที

            ขอย้อนกลับมาทางฝั่งของพระผู้มีพระภาคเจ้า  หลังจากนั้นไม่นานพระองค์ทรงเรียกพระอานนท์มา  แล้วตรัสรับสั่ง  ให้พระอานนท์ไปเอาน้ำจากบ่อน้ำมาให้พระองค์  เมื่อพระอานนท์ได้ฟังดังนั้นจึงทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  บัดนี้ชาวถูณะได้ถมบ่อน้ำเสียแล้ว  ไม่อาจนำน้ำมาถวายได้ พระเจ้าข้า   แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า  ยังทรงรับสั่งใช้ให้พระอานนท์ไปเอาน้ำมาเหมือนเดิม  เป็นครั้งที่สอง  ครั้งที่สาม  พอครั้งที่สามพระอานนท์ได้ทำตามรับสั่งถือบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า  เดินไปยังบ่อน้ำตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่ง  ขณะที่พระอานนท์กำลังเดินไป  ก็ได้บังเกิดสิ่งอัศจรรย์  น้ำในบ่อได้ไหลล้นขึ้นมาจากบ่อ  ดันฟางที่ถมอยู่ในบ่อน้ำออกมาทั้งหมด  น้ำที่ไหลออกนั้นก็หาได้หยุดไหลไม่  ไหลล้นไปเรื่อยๆจนน้ำเพิ่มสูงขึ้น  เต็มแหล่งน้ำอื่น  ล้อมพื้นที่หมู่บ้านของชาวถูณะไว้  พวกพราหมณ์เห็นปาฏิหาริย์นั้น  เกิดอัศจรรย์ใจเป็นอย่างมาก  พากันขอขมาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า  หลังจากขอขมาแล้วน้ำที่ไหลหลากท่วมพื้นที่ก็หายวับไปในทันที  พราหมณ์เหล่านั้นได้จัดแจงสถานที่ต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมเหล่าภิกษุ  และนิมนต์พระองค์พร้อมกับเหล่าภิกษุเพื่อรับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น  พอรุ่งขึ้น  ก็จัดมหาทาน  นำอาหารของเคี้ยวอาหารอันประณีตมาถวายพระองค์และเหล่าภิกษุ  ส่วนพวกพราหมณ์คหบดีชาวถูณะทุกคนเข้าไปนั่งเฝ้าใกล้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า  จนเมื่อพระองค์เสวยเสร็จ  ก็ได้ชักพระหัตถ์ออกจากบาตร  เป็นอันเสร็จสิ้นการถวายมหาทาน

            เมื่ออ่านมาถึงตอนนี้  เรื่องบางเรื่องอาจจะสุดที่เราจะคาดเดาได้  ในที่สุดพวกพราหมณ์ถูณะก็ได้มีโอกาสเข้าเฝ้า  ทำการต้อนรับ  จัดหาที่พัก และได้ถวายมหาทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ในที่สุด  เมื่อทุกท่านเผชิญหน้ากับเหตุการณ์บางเรื่องที่เราไม่รู้อนาคต  เราจะเลือกเส้นทางที่เราคิดว่าถูกต้อง  หรือเราจะเลือกเส้นทางแห่งความถูกต้อง  หรือเราจะเลือกอีกเส้นทางที่เราเห็นว่าจะนำพาเรารอดตายโดยไม่สนความถูกต้อง   การกระทำบางอย่างที่ได้กระทำไปโดยคิดว่าการกระทำนั้นเป็นความถูกต้องนั้น  สำหรับผู้ที่เห็นเหตุการณ์ภาพรวมทั้งหมดบางคนอาจจะคิดว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ตายเปล่า  เป็นการกระทำที่เกิดประโยชน์น้อย  หรือไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยก็เป็นไปได้  แต่ไม่ว่าใครจะคิดยังไงก็ไม่สำคัญเท่ากับความจริงที่เกิดขึ้นจากที่เราได้ตัดสินใจเลือกทำสิ่งนั้น  และได้เสวยผลที่เราได้กระทำสิ่งนั้น 

            เหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  เนื่องเพราะเราไม่ได้รู้อนาคต  และไม่มีวันรู้ว่าสิ่งที่เรากระทำนั้นดีที่สุด  สมบูรณ์ที่สุดหรือยัง   เมื่อเดินทางมาถึงทางเลือก  ท่านจะใช้อาศัยวิหารธรรมใดเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกทางเลือกนั้น  ใช้ฝ่ายกุศล  เช่น  ศรัทธา  ปัญญา  พรหมวิหาร๔  เป็นองค์ประกอบที่ใช้ตัดสินใจในการเลือกทางเลือกนั้น  หรือท่านจะใช้อกุศล  โลภะ โทสะ  โมหะ  เป็นองค์ประกอบที่ใช้ตัดสินใจในการเลือกทางเลือกนั้น    อย่างไรก็ตามผู้เขียนหวังว่าทุกท่านได้ใช้เครื่องมือต่างๆที่ถูกต้องมาประกอบการตัดสินใจเพื่อจัดลำดับความสำคัญ  สามารถเลือกทางเลือกที่มีความสำคัญและตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสมที่สุดในทางเลือกนั้น  ซึ่งการจัดลำดับความสำคัญนั้นเป็นสิ่งที่ทุกท่านจะต้องพิจารณาให้มาก  ว่าท่านได้จัดลำดับความสำคัญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับเหตุการณ์หรือไม่ 

            ทุกท่านลองพิจารณาดูว่าหญิงผู้โดนสามีตบตีเตะต่อยจนตาย  ถ้าหญิงผู้นั้นเปลี่ยนใจไม่ยอมถวายน้ำในตอนแรก  ยอมทำตามกติกาบาปที่ชาวบ้านได้ตกลงกันไว้  เธอผู้นั้นเห็นเหล่าภิกษุเหนื่อยกระหายน้ำก็พยายามไม่สนใจ ตัดใจไม่ถวายน้ำ  ตัดสินใจทำตามกติกาที่ชาวบ้านตกลงกันไว้โดยรอจังหวะโอกาสที่เหมาะสมกว่านี้ต่อไป   ในที่สุดเธอผู้นั้นจะได้ถวายมหาทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้ากับเหล่าภิกษุเหมือนกับชาวบ้านในตอนหลังหรือไม่  การที่ชาวบ้านได้มีโอกาสทำมหาทานในตอนหลังนั้นเป็นการถวายสังฆทานที่ได้บุญมากหรือไม่  และการทำมหาทานของชาวบ้านนั้นจะได้บุญมากกว่าหญิงผู้ถวายน้ำหรือไม่  การกระทำของเธอผู้นั้นท่านผู้อ่านทุกท่านคิดว่าเธอได้ตายฟรีหรือไม่  เธอควรจะค่อยๆหลบคนในหมู่บ้านรอในจังหวะที่ไม่มีคนเห็นแล้วค่อยๆย่องไปถวายน้ำซึ่งทำให้เธอได้ทั้งถวายน้ำอีกทั้งแถมในภายหลังก็ยังมีโอกาสได้ถวายมหาทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมเหล่าภิกษุหรือไม่   สิ่งที่เธอทำนั้นได้ประโยชน์เหมาะสมที่สุดแล้วหรือยัง  แล้วประโยชน์นั้นเกิดกับใคร  ใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ในสิ่งที่เธอได้กระทำ  สามีที่ทุบตีเธอจนตายจะรู้สึกอย่างไรและจะได้รับผลกรรมอย่างไร  ชาวบ้านที่เป็นเพื่อนเธอเมื่อเห็นเธอกระทำอย่างนั้นแล้วโดนตบตีเตะต่อยจนตายจะรู้สึกอย่างไร ชาวหมู่บ้านของเธอนั้นจะรู้สึกอย่างไร  จะรู้สึกว่าเธอทรยศต่อความไว้ใจหรือไม่  อะไรคือสิ่งที่เธอควรใส่ใจให้ความสำคัญและสนใจที่สุดในเวลานั้น   คำถามทั้งหมดเกี่ยวกับหญิงผู้ถวายน้ำนั้นเป็นคำถามที่เราอาจจะไม่มีวันได้รู้คำตอบใดๆเลย  อาจจะเป็นปริศนาไปตลอดกาล  แม้ว่าเราจะไม่ได้รับคำตอบจากอะไรเลยก็ตาม  แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ยังมีสิ่งมีค่าที่สุดเหลือทิ้งไว้อยู่ นั่นคือ  “ความจริงที่เกิดขึ้น”   ความจริงที่เกิดจากผลลัพธ์ที่เราได้เลือกทางเลือกหนึ่ง  ความจริงดังกล่าวก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างไร  ความจริงนั้นก็อาจจะเพียงพอสำหรับบางสิ่ง  เพียงพอสำหรับการเฉลยอะไรบางอย่าง เพียงพอต่อการประเมินว่าสิ่งที่เราได้ตัดสินใจทำอะไรลงไปในทางเลือกหนึ่ง ได้มีผลเช่นไร  ผลนั่นแหละคือคำตอบของสิ่งที่เราได้เลือก  
   
            เมื่อผู้อ่านได้อ่านบทความย่อหน้าด้านบนก่อนที่จะมาถึงบทความในส่วนนี้แล้ว  ท่านผู้อ่านอาจจะมีคำถามและคำตอบหรือความคิดต่างๆที่คาดเดาเอาเองในใจพอสมควร  อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้อ่านได้อ่านมาถึงตอนนี้ทางผู้เขียนก็อยากจะบอกกับทุกท่านว่า  เรื่องราวของหญิงสาวผู้ถวายน้ำนั้นยังไม่จบ  ยังมีส่วนที่สำคัญต่อมาอีก  จึงขอนำทุกท่านกลับมาสู่เรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง  เมื่อทางฝ่ายหญิงที่ถวายน้ำแด่พระผู้พระภาคเจ้าพร้อมเหล่าภิกษุ  แล้วโดนสามีตนเองตบตีเตะต่อยจนตายแล้วได้ไปบังเกิดเป็นเทวดา  ต่อมาเทวดาองค์นั้นได้พิจารณาทบทวนว่าสมบัติของตนนั้นได้มาด้วยเหตุใดหนอ เมื่อพิจารณาก็รู้เหตุที่มาของสมบัติตน  เนื่องเพราะได้ถวายน้ำดื่ม  จึงบังเกิดปิติขึ้นและคิดว่าเราควรจะไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าเดี๋ยวนี้   จึงลงไปปรากฏตัวพร้อมทั้งวิมาน  อุทยาน  ในที่พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ ถวายบังคมประคองอัญชลี  อยู่ ณ  ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเห็นเทวดาองค์นั้น  มีพุทธประสงค์จะประกาศผลกรรมของเทพนารีนั้นแก่ประชุมชนบริษัทที่อยู่ ณ ที่นั้น  จึงได้ตรัสถามเทวดาองค์นั้นถึงเหตุกรรมต่างๆ  เทพนารีองค์นั้นเมื่อถูกพระองค์ตรัสถาม  ก็มีใจยินดีได้เล่าถึงเหตุที่ตนได้กระทำและประสบมา เมื่อเล่าจบ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาทรงประกาศสัจจะ  ๔  แก่เทวดาผู้มีใจเลื่อมใสแล้ว  หลังจากจบเทศนาบริษัทที่ประชุมอยู่ได้ประโยชน์เป็นอันมาก  ส่วนเทวดาองค์นั้นก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

... จบส่วนเรื่องหญิงผู้ถวายน้ำ ....

            ส่วนถัดมานี้ก็เป็นส่วนตอนจบของเรื่องหญิงผู้ถวายน้ำ  ทุกท่านสังเกตหรือไม่ว่า  ผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันนั้นคือเทพนารีองค์เดียว  ถ้าจะพูดกันง่ายๆแล้วนั่นคือ  ทั้งหมู่บ้านนั้นที่ได้ประสบกับเหตุการณ์ที่พระองค์ผู้เป็นกัลยาณมิตรเสด็จมา  มีแต่ผู้หญิงถวายน้ำนั้นได้ทำประโยชน์ได้สูงสุดคนเดียวนั่นคือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลในศาสนาพุทธคือบรรลุเป็นพระโสดาบัน  ถ้านับทั้งหมู่บ้านหญิงผู้ถวายน้ำเป็นคนเดียวที่รอดพ้นจากอบายแน่นอน  ส่วนคนอื่นยังต้องเวียนว่ายในวัฏสังสารด้วยความไม่แน่นอนต่อไป  และก็ไม่รู้อีกเมื่อไหร่ที่คนเหล่านั้นจะได้บรรลุธรรม  ถ้าหญิงผู้ถวายน้ำจัดลำดับความสำคัญผิดไปจากนี้  โดยไปตัดสินใจเลือกทางเลือกอื่น ตัดสินใจไม่ถวายน้ำทำตามกติกาบาปของชาวหมู่บ้าน  หรือหาทางอื่นเพื่อได้ถวายน้ำโดยที่ชาวบ้านไม่เห็น  ท่านคิดว่าหญิงคนนี้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันหรือไม่  เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าคิดพิจารณาไม่ใช่น้อย  แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราชี้ชัดได้อย่างแน่นอนเรื่องหนึ่งนั้นก็คือ  สิ่งที่เธอตัดสินใจได้ทำให้เธอได้ไปบังเกิดเป็นเทพนารี  และได้บรรลุธรรมในที่สุด 
 
            ส่วนในความคิดของผู้เขียนนั้น  หญิงผู้ถวายน้ำอาจจะทำในสิ่งที่ดีที่สุด หรืออาจจะยังไม่ดีที่สุดก็เป็นไปได้   เพราะผู้ที่ทำสิ่งต่างๆได้สมบูรณ์ที่สุดในทุกเหตุการณ์นั้นคือพระผู้มีพระภาคเจ้า  สำหรับผู้ฝึกฝนมาอย่างดีอาจจะทำสิ่งที่ดีได้มากกว่าหญิงผู้ถวายน้ำ  เมื่อเผชิญกับสถานการณ์เดียวกันกับหญิงผู้ถวายน้ำ  อาจจะตัดสินใจทำอะไรได้ดีกว่า  จนทำให้สามารถบรรลุเป็นพระสกทาคามี  อนาคามีหรืออรหันต์  หรือสามารถเป็นเหตุนำพาให้คนในหมู่บ้านบรรลุธรรมตามนางเลยก็เป็นไปได้  สำหรับผู้ฝึกมาอย่างดีก็อาจจะทำสิ่งที่ดีได้เทียบเท่ากับหญิงผู้ถวายน้ำหรือทำได้ดีมากกว่า  
   
            อย่างไรก็ตาม  ไม่ว่านางได้ทำในสิ่งที่สมบูรณ์ที่สุดหรือไม่สมบูรณ์ที่สุดก็ตาม  แต่อย่างน้อย  นางได้จัดลำดับความสำคัญได้อย่างถูกต้องโดยเลือกทางเลือกที่คิดว่ามีความสำคัญมากกว่าทางเลือกอื่น  นางได้ทำในสิ่งดีสิ่งที่ประเสริฐยอมตายเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง  ซึ่งเพียงพอสำหรับทำให้นางได้บรรลุธรรมได้  ในบางเรื่องที่ทุกท่านอาจจะต้องไปเผชิญในอนาคต  การยอมตายอาจจะเป็นคำตอบเดียวของเหตุการณ์นั้นก็เป็นไปได้  ลองถามใจของท่านเองว่าทุกท่านสามารถมีปัญญาจัดลำดับความสำคัญของแต่ละทางเลือกได้อย่างถูกต้องหรือไม่  เมื่อจัดลำดับความสำคัญแล้วทุกท่านสามารถยอมตายเพื่อสิ่งที่คิดว่าถูกต้องเหมือนนางผู้ถวายน้ำนั้นได้หรือไม่
   
            ดังนั้นการประเมินโอกาสที่เข้ามาให้เราตัดสินใจทำอะไรลงไปสักอย่าง ด้วยเวลาอันจำกัด  จึงเป็นเรื่องที่เราประมาทไม่ได้  ซึ่งแต่ละท่านได้ฝึก  กาย  วาจา ใจ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างดีแล้วหรือยัง  ถ้ายังฝึกมาไม่ดีถึงแม้ว่ามีโอกาสเข้ามาสักล้านหน แต่ละคนก็คงจัดลำดับความสำคัญผิด  และไม่สามารถทำสิ่งที่เกิดประโยชน์กับตนเองสูงสุดได้

            ในชีวิตประจำวันของแต่ละคน  ส่วนมากจะทำกรรมกับคนที่สนิทใกล้ชิดและจะทำกรรมกับคนที่คนเหล่านั้นได้ไปพบเจอบ่อยที่สุด  ซึ่งเพื่อนสนิทมิตรสหายก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในชีวิตที่ทุกท่านจะได้ไปพบเจอและไปสร้างกรรมได้เป็นประจำ  ดังนั้นจึงหวังว่าทุกท่านจะรู้จักกับประเภทของมิตร  และประเมินออกแล้วว่ามิตรที่ท่านคบและตัวท่านเองเป็นมิตรประเภทไหน  ทุกท่านจะตัดสินใจทำอย่างไรนั้นก็แล้วแต่ทุกท่าน  ไม่ว่าท่านทำอะไรก็ตามในชาติปัจจุบัน  ท่านก็จะต้องไปรับสิ่งนั้นในอนาคต  ถ้าท่านสร้างเหตุดีในปัจจุบัน  ผลที่จะไปรับในอนาคตก็ต้องเป็นผลดี  ท่านจะทำสิ่งใดเมื่อมีโอกาสพบทั้งบาปมิตร  และกัลยาณมิตร  ท่านจะรู้ถึงความสำคัญของกัลยาณมิตรและจะได้รับประโยชน์ในสิ่งที่กัลยาณมิตรให้ท่านได้แค่ไหน ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่ทุกท่านต้องเขียนคำตอบเอง  ทางผู้เขียนหวังว่าเมื่อโอกาสของแต่ละคนมาถึงทุกท่านจะได้ตัดสินใจกระทำสิ่งต่างๆ จัดลำดับความสำคัญได้ถูกต้องและเหมาะสมกับเหตุการณ์ของแต่ละคนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  เพื่อประโยชน์สูงสุดทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น       

พุทธพจน์ 
“ อานนท์  เหตุนี้นั้นพึงทราบโดยทำนองนี้
เหมือนอย่างพรหมจรรย์นี้ทั้งสิ้น คือ
ความเป็นผู้มีมิตรที่งาม ๑ ความเป็นผู้มีสหายงาม  ๑ 
ความเป็นผู้โน้มไปในมิตรที่งาม ๑ 
อานนท์  ก็สัตว์ทั้งหลาย  ผู้มีการเกิดเป็นธรรมดา
อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร  ย่อมพ้นจากชาติ ”
 


อ้างอิง ๑ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ ๘๔

อ้างอิง ๒ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๓๙๓

อ้างอิง ๓ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒

อ้างอิง ๔ ชายพก คือ ริมผ้านุ่งที่ดึงรวบขึ้นมาไขว้ไว้ที่บริเวณสะดือแล้วดึงชายข้างใดข้างหนึ่ง ให้มีลักษณะคล้ายถุงเล็ก ๆ เหน็บไว้ที่เอวใส่เงินหรือหมากเป็นต้นได้

อ้างอิง ๕ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๗๒ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้าที่  ๑๔๔

อ้างอิง ๖ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ ๗

อ้างอิง ๗ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๔๘ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๗๖

<< จบบทความ >> 
 


มีผู้อ่านจำนวน : 2605 ครั้ง


บทความที่เกี่ยวข้อง

           เพื่อนสนิท (มิตรสหาย) ๑
           เพื่อนสนิท (มิตรสหาย) ๒
           เพื่อนสนิท (มิตรสหาย) ๓
backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have 4 guests and no members online