Text Size
Sunday, September 08, 2024
Top Tab Content

020friend01

เพื่อนสนิท (มิตรสหาย) ภาค๑ 

            ในสังคมมนุษย์เรื่องการคบค้าสมาคมกันนั้นถือเป็นเรื่องปกติ  จนมีคำกล่าวของนักปรัชญาว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม”  คำว่าสัตว์สังคมนั่นคืออยู่ร่วมกัน  คบหากัน  มีทั้งพึ่งพาอาศัยกัน  และแบ่งหน้าที่อาชีพกันทำ  ซึ่งมนุษย์เกิดมาส่วนมากนั้น  ก็จะต้องคบหาใครบ้างเป็นมิตร  ฟังดูแล้วก็เป็นเรื่องปกติมากสำหรับที่คนๆหนึ่งจะคบหาเพื่อน  อาจจะเป็นเรื่องแปลกเสียด้วยซ้ำสำหรับคนที่ไม่มีเพื่อน

            แต่ถ้าศึกษาในศาสนาพุทธก็จะทำให้เข้าใจเรื่องต่างๆได้ละเอียดลึกซึ้ง เกินกว่าคำอธิบายของนักปรัชญามาก

            คำว่ามิตรในทางพุทธศาสนา  เป็นคำที่ยิ่งใหญ่มาก  มีความสำคัญเป็นอย่างมากที่สุด  เกินกว่าคนทั่วไปจะคาดคิดถึงเลยทีเดียว  แล้วยิ่งศึกษาในส่วนอื่นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด  และกฎแห่งกรรม  ก็ทำให้เข้าใจถึงสิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าคนๆ นั้นจะได้ไปพบเจอใคร บุคคลนั้นมีกรรมผูกพันกับใคร จะมีมิตรมากน้อยอย่างไร  แล้วส่วนมากจะได้มิตรแบบไหน

            การที่ใครจะได้คบหามิตรสักคน  จนเป็นเพื่อนสนิท  ซึ่งเพื่อนสนิทนั้นจะมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อคนๆนั้น เพราะมีส่วนในการซึมซับนิสัยสันดาน  การกระทำ  และมีผลต่อการตัดสินใจกระทำอะไรบางอย่างในชีวิต

            ก่อนที่จะกล่าวส่วนต่อไปนั้น  เรามาดูประเภทของมิตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้กันก่อน

ประเภทของมิตร (อ้างอิง ๑)  มีดังนี้

มิตรปฏิรูป หรือมิตรเทียม ๔ ประเภท

แบบที่ ๑ คนปอกลอก  (อัญญทัตถุหร)  เป็นคนที่หวังจะเอาของจากเพื่อน มี  ๔  ลักษณะ
    ๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว           
    ๒. เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก
    ๓. ไม่รับทำกิจของเพื่อนในคราวมีภัย       
    ๔. คบเพื่อน  เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์

แบบที่ ๒ คนดีแต่พูด  (วจีบรม)  มี  ๔  ลักษณะ
    ๑. ดีแต่ยกของล่วงแล้วมาปราศรัย  เช่น หลายเดือนที่แล้วมีข้าวสารอยู่หลายกระสอบ  ถ้าเจอเพื่อนตอนนั้น  ก็จะแบ่งให้  แต่ตอนนี้ไม่มีแล้วน่าเสียดายจัง  ทำไมเพื่อนเพิ่งมา
    ๒. ดีแต่อ้างสิ่งที่ยังไม่มาถึงมาปราศรัย  เช่น  อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า  ฉันจะมีเงินมีทองแล้ว  จะแบ่งให้พวกนายด้วย
    ๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้   
    ๔. เมื่อเพื่อนมีกิจอ้างแต่เหตุขัดข้อง  เช่น  เพื่อนชวนไปขนของย้ายบ้าน  ก็บอกว่าน่าเสียดายมีธุระสำคัญในวันย้ายบ้านของเพื่อนพอดี

แบบที่ ๓ คนหัวประจบ  (อนุปปิยภาณี)  มี ๔ ลักษณะ
    ๑. เพื่อนจะทำชั่วก็คล้อยตาม               
    ๒. เพื่อนจะทำดีก็คล้อยตาม
    ๓. ต่อหน้าสรรเสริญ               
    ๔. ลับหลังนินทา

แบบที่ ๔ คนชักชวนในทางฉิบหาย  (อปายสหาย)  มี ๔ ลักษณะ
    ๑. ชักชวนให้เพื่อนดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท           
    ๒. ชักชวนให้เพื่อนเที่ยวกลางคืน
    ๓. ชักชวนให้เพื่อนเที่ยวดูการเล่น       
    ๔. ชักชวนให้เพื่อนไปเล่นการพนัน


สุหทมิตร หรือมิตรแท้ ๔ ประเภท

แบบที่ ๑ มิตรอุปการะ  (อุปการกะ)  มี  ๔  ลักษณะ
    ๑. เพื่อนประมาท  ช่วยรักษาเพื่อน           
    ๒. เพื่อนประมาท  ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน
    ๓. เมื่อมีภัย  เป็นที่พึ่งพำนักได้       
    ๔. มีกิจจำเป็น  ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่เพื่อนออกปาก

แบบที่ ๒ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์  (สมานสุขทุกข์)  มี  ๔  ลักษณะ
    ๑. บอกความลับแก่เพื่อน           
    ๒. ปิดความลับของเพื่อน
    ๓. มีเหตุภัยอันตรายก็ไม่ละทิ้งเพื่อน       
    ๔. แม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้

แบบที่ ๓ มิตรแนะประโยชน์  (อัตถักขายี)  มี  ๔  ลักษณะ
    ๑. คอยห้ามปรามเพื่อนจากความชั่ว            
    ๒. คอยแนะนำเพื่อนให้ตั้งอยู่ในความดี
    ๓. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง       
    ๔. บอกทางสวรรค์ให้

แบบที่ ๔ มิตรมีน้ำใจ  (อนุกัมปกะ - มีความรักใคร่)  มี  ๔  ลักษณะ
    ๑. ไม่ยินดี  เมื่อเพื่อนมีความเสื่อม        
    ๒. ยินดี  เมื่อเพื่อนมีความเจริญ
    ๓. ห้ามคนที่กล่าวโทษเพื่อน       
    ๔. สรรเสริญคนที่ สรรเสริญเพื่อน

กัลยาณมิตร (ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

กัลยาณมิตร  คือ  เพื่อนที่ดี  (มิตรผู้มีคุณอันพึงนับ)

กัลยาณมิตรมีคุณสมบัติที่เรียกว่า  กัลยาณมิตรธรรม  หรือธรรมของกัลยาณมิตร  ๗  ประการ  คือ
       ๑. ปิโย  น่ารัก  ด้วยมีเมตตา  เป็นที่สบายจิตสนิทใจ  ชวนให้อยากเข้าไปหา
       ๒. ครุ  น่าเคารพ  ด้วยความประพฤติหนักแน่น  เป็นที่พึงอาศัยได้  ให้รู้สึกอบอุ่นใจ
       ๓. ภาวนีโย  น่าเจริญใจ  ด้วยความเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตน  ควรเอาอย่าง  ให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ
       ๔. วัตตา  รู้จักพูดให้ได้ผล  รู้จักชี้แจงแนะนำ  เป็นที่ปรึกษาที่ดี
       ๕. วจนักขโม  อดทนต่อถ้อยคำ  พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถาม ตลอดจนคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์
       ๖. คัมภีรัญจะ  กถัง  กัตตา  แถลงเรื่องล้ำลึกได้  สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจและสอนให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป
       ๗. โน  จัฏฐาเน  นิโยชเย  ไม่ชักนำในอฐาน  คือ  ไม่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสียหรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร

การพิจารณาดูคนที่เราคบหาเป็นมิตรประเภทไหน
             จากการเวียนว่ายในวัฏสังสารอันยาวนาน  ทุกคนจึงผ่านการมีมิตรด้วยกันทั้งนั้น  เป็นไปไม่ได้เลยที่แต่ละคนจะไม่มีมิตรเลย  มิตรจึงมีอิทธิพลอย่างมากสำหรับสัตว์ผู้เวียนว่ายด้วยกัน  การที่บุคคลหนึ่งจะมีความฉิบหาย  ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งก็เกิดจากการชักนำของเพื่อนที่คบค้าสมาคม  และในทางกลับกันในส่วนของความเจริญบางครั้งก็ต้องอาศัยมิตรที่ดีเข้ามาชี้นำ

            เมื่อดูประเภทของมิตรที่พระองค์ทรงแสดงไว้ดังที่กล่าวมาในตอนต้นนั้น  สิ่งที่ทุกคนควรจะทำต่อไปคือการประเมินว่ามิตรที่เราคบอยู่ในตอนนี้เป็นมิตรประเภทไหน  และหันกลับมามองตัวเราเองด้วยว่าเราเป็นมิตรประเภทไหนของเพื่อนเรา   

            แต่ในความคิดผู้เขียนนั้น  ก่อนที่จะมองไปยังภายนอก  เราควรจะมามองตัวเราเองเสียก่อนว่า  ตัวเองนั้นเป็นมิตรประเภทไหนของเพื่อนเรา  เป็นมิตรแท้หรือมิตรเทียม  เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกันระหว่างมิตรต่างๆแล้วจะพบว่า  มิตรปฏิรูป  (มิตรเทียม)  นั้นเลวร้ายที่สุดและหาได้ง่ายสุด  ส่วนมากจะมีเยอะสุด  ซึ่งบาปมิตรเหล่านั้นจะมีพฤติกรรมต่างๆดังที่กล่าวไว้ในประเภทของมิตรปฏิรูป  ถ้าใครยังประเมินไม่ออกว่า  ตัวเราเองนั้นและมิตรที่เราคบหาอยู่เป็นมิตรประเภทไหน  ก็ลองมองหาสถานการณ์ที่มิตรของเราและตัวเราเองกำลังตกที่นั่งลำบากอยู่  แล้วลองมองพฤติกรรมของมิตรที่เราคบหาและตัวเราเองว่า  เมื่อมิตรที่เราคบหาตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก  มิตรคนอื่นและตัวเราเองได้แสดงพฤติกรรมอย่างไรออกไป  เมื่อมองตัวเราเองเรียบร้อยแล้ว  ก็ลองมองภายนอกว่า  เมื่อเรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก  มิตรที่คบหาอยู่ได้แสดงพฤติกรรมอย่างไรกับเรา  เพราะในสถานการณ์ที่ลำบากแต่ละคนจะแสดงธาตุแท้ของแต่ละคนออกมาแม้กระทั่งตัวของเราเองก็เหมือนกัน 

            สำหรับอีกหลักหนึ่งในการพิจารณามิตรนั่นคือ  เมื่อคบค้าสมาคมกันแล้ว  แต่ละคนจะชวนเพื่อนที่คบอยู่ไปทำอะไรกันบ้าง  ไปทำในเรื่องที่ชั่ว หรือเรื่องที่ดี  ส่วนมากชักชวนไปทำอะไรกัน  ซึ่งการชักชวนกันไปทำอะไรนั้น  สำหรับคนที่มีจิตอ่อนก็จะถูกมิตรที่คบหาชักจูงไปได้ง่าย  ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่ขาดการฝึก  เพื่อนว่าไงเราก็ว่าตามเพื่อน 

            แต่เมื่อลองพิจารณาดูว่ากลุ่มคนที่คบหาสมาคมกันอยู่ชอบชวนไปทำอะไรกัน  และทำไมแต่ละคนถึงไปถูกใจคบหากับคนประเภทไหนเป็นพิเศษ  เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เป็นวิบากกรรมของคนๆนั้น  ว่าจะไปกับกลุ่มไหน  ไปทำสิ่งไหนกัน  ซึ่งเรื่องนี้ในความคิดของผู้เขียนนั้น  ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องไม่ดี  เราต้องรู้ทันกรรม  และอย่าไปตามกระแส   หาทางวางแผนเพื่อรับมือจนพบทางออกที่ดีที่สุด

มิตรแท้ กับกัลยาณมิตร
            เมื่อแต่ละคนประเมินเสร็จเรียบร้อย  ก็ลองหาดูว่าใครเป็นมิตรแท้บ้าง อย่างไรก็ตาม  ทางผู้เขียนก็ขอให้ทุกท่านประเมินให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจ อย่าเพิ่งประเมินตนและเพื่อนที่คบหาอยู่สูงไปนัก  เพราะว่าการที่จะหามิตรแท้สักคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ 

            ถึงแม้ว่ามิตรแท้นั้นจะหายากมากสักเท่าไรก็ตาม  แต่การเป็นมิตรแท้นั้นก็ยังเป็นง่ายกว่าการเป็นกัลยาณมิตรมากกว่ามาก  เพราะการเป็นกัลยาณมิตรนั้นต้องเป็นผู้มีธรรมดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว  อีกทั้งยังต้องเป็นผู้มีความรู้ที่ถูกต้อง  สามารถชักนำมิตรของตนไปสู่ทางที่ถูกได้  ไม่ใช่ว่าจะมีแค่ความหวังดีอย่างเดียว  แต่ผู้นั้นยังต้องศึกษาความรู้ที่ถูกต้องอีกด้วย  ถึงแม้มิตรนั้นเป็นผู้หวังดีจริงๆ  แต่เป็นมิจฉาทิฐิ  คิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งถูกกลับชักนำมิตรของตนเข้าไปพบกับความฉิบหายก็มี  เช่น  มิตรที่หวังดีคนหนึ่งไปพบพระสัทธรรมปฏิรูป  (พระสัทธรรมเทียม)  แต่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นพระสัทธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง  ก็พยายามชักนำมิตรของตนไปสู่ทางที่ตนคิดว่าถูกต้องแต่จริงๆแล้วเป็นทางที่ผิด  สร้างความฉิบหายแก่ตนและผู้อื่นมากมาย 

            เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชาวพุทธมักมองข้าม  อาศัยเพียงแต่ความหวังดีอย่างเดียว  และประสบการณ์ที่ตนประสบมาบางเรื่องที่อาจารย์ของตนแนะนำ  แล้วคิดเอาเองว่าตัวเองเป็นกัลยาณมิตร  แล้วพยายามกระโดดเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่น  การกระทำนั้นกลับทำให้ตนเองและผู้อื่นสร้างบาปไปเรื่อยๆ  โดยที่ตัวเองคิดว่าได้เดินมาถูกทาง  ถ้าจะให้ผู้เขียนแนะนำว่าควรจะเริ่มต้นที่ไหน  ผู้เขียนก็จะขอแนะนำว่าให้กลับไปหากัลยาณมิตรที่ประเสริฐที่สุด  นั่นคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  กลับไปดูว่าพระองค์แนะนำอย่างไร  อย่าพึ่งไปเชื่อใครแม้แต่ครูบาอาจารย์ตน    

            จากที่ได้กล่าวมาแล้ว  จึงพอที่จะรู้ว่าการที่จะหามิตรแท้สักคนนั้นหาได้ยากเย็นมากก็จริง  แต่การที่จะหากัลยาณมิตรนั้นหายากยิ่งกว่า  จึงอยากจะเตือนมิตรแท้ทุกท่าน  ให้พยายามฝึกพัฒนาตนให้เป็นกัลยาณมิตรให้ได้ เพื่อที่จะได้ทำประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริงได้   

ความสำคัญของกัลยาณมิตร
            ส่วนคำว่า  “กัลยาณมิตร”  นั้นเป็นสิ่งที่มีความหมาย  และความสำคัญอย่างที่สุด

            เนื่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ประเสริฐเลิศที่สุดใน ๓ โลก พระองค์ได้เปรียบพระองค์เอง  เป็นดั่งกัลยาณมิตรของทุกคน  ในเมื่อพระองค์เปรียบตัวพระองค์เองเป็นดังกัลยาณมิตรของทุกคนแล้ว  ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากัลยาณมิตรจึงได้กลายเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย  กัลยาณมิตรจึงเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างมากที่สุด  การที่บุคคลหนึ่งจะกระทำตนให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์  หลุดพ้นบรรลุธรรม  ก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตรเท่านั้น  นั่นคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ไม่มีทางที่ทุกท่านจะทำที่สุดแห่งทุกข์บรรลุธรรมได้เองโดยไม่อาศัยกัลยาณมิตร  ในที่สุดแล้วก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตรมาชี้นำแนวทางนั่นคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสุดยอดกัลยาณมิตรนั่นเอง  ยกเว้นแต่ท่านจะปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า  หรือเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  อย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคตกาลข้างหน้า  ถึงจะไม่ต้องการชี้นำในชาติสุดท้ายเพื่อบรรลุธรรม  แต่ระหว่างบำเพ็ญบารมีนั้น  ทั้งผู้บำเพ็ญเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต  ก็ยังต้องอาศัยกัลยาณมิตรดังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ดี     
   
            แต่การที่เราจะมาคิดวิเคราะห์เอาเองถึงความสำคัญของกัลยาณมิตรนั้นอาจจะไม่ได้รับคำตอบที่ถูกต้องนัก  ดังนั้นจึงต้องกลับมาหาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าพระองค์ได้ตรัสถึงในส่วนของการมีกัลยาณมิตรอย่างไรบ้างและลักษณะไหนบ้าง  เมื่อกลับมาหาสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้  ก็จะทำให้เราได้รับคำตอบอย่างสมบูรณ์ถึงความสำคัญของการมีกัลยาณมิตร

           
นั่นคือแม้แต่พระองค์ยังตรัสถึงกัลยาณมิตรว่า 
“กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์”
 
(อ้างอิง ๒)   ครั้งหนึ่งพระอานนท์สงสัยว่า  กัลยาณมิตรเป็นเพียง
ครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์ใช่หรือไม่  จึงไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์นี้  คือความเป็นผู้มีมิตรงาม  ๑ 
ความเป็นผู้มีสหายงาม ๑  ความเป็นผู้โน้มเข้าไปในมิตรที่งาม  ๑”
 
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า
“อานนท์!  เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย  อานนท์  พรหมจรรย์ทั้งสิ้นนี้คือ  ความเป็นผู้มีมิตรงาม  ๑  ความเป็นผู้มีสหายงาม  ๑  ความเป็นผู้โน้มไปในมิตรงาม ๑ ”



            เมื่อดูจากข้อความที่พระองค์ตรัสกับพระอานนท์แล้ว  ก็พอจะเห็นว่า   “กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์”  ดังนั้นการที่คนๆหนึ่งจะได้เจอกับกัลยาณมิตรนั้นจึงนับว่าเป็นเรื่องที่ประเสริฐอย่างที่สุด  ดังตัวอย่างเช่น  ในครั้งที่พระพุทธองค์เปรียบ  พระสารีบุตรเป็นกัลยาณมิตรของผู้ที่ได้พบ  เช่น โจรเคราแดง  (อ้างอิง ๑)  (สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่บทความโจรเคราแดง)

            หรือแม้แต่ในสมัยหนึ่ง  ตอนที่พระองค์ได้เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์  ก็ได้อาศัยกัลยาณมิตรชักนำพระองค์ไปสู่ทางที่ดี  ดังในตอนที่พระองค์ได้บังเกิดเป็นโชติปาลมาณพ

โชติปาลมาณพ (อ้างอิง ๓)

            ครั้งหนึ่งในภัทรกัปนี้  ชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์  ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์  มีชื่อว่าโชติปาลมาณพเป็นผู้จบไตรเพทมีชื่อเสียงในการทำนายลักษณะพื้นดินและลักษณะอากาศ  โดยที่โชติปาลได้เกิดในชาติพราหมณ์ดังนั้นจึงไม่เลื่อมใสในพระศาสนา  ซึ่งในตอนนั้นโชติปาลมาณพได้มีสหายรักผู้หนึ่งชื่อว่าฆฏิการะซึ่งมีอาชีพเป็นช่างหม้ออยู่ในขณะนั้น  ฆฏิการะมาณพได้มีโอกาสไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  อีกทั้งฆฏิการะเป็นอุปัฏฐากอันเลิศของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยนั้น   ด้วยความปรารนาดีกับเพื่อนและมั่นใจว่า มาณพโชติปาลนี้เป็นคนมีปัญญาเมื่อได้เห็นเพียงครั้งเดียว  ก็จะเลื่อมใสในการเห็นพระตถาคตด้วย  และก็จะเลื่อมใสในธรรมกถาด้วย  จึงมีความคิดที่จะชักชวนสหายรักไปพบพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ได้  ดังนั้นฆฏิการะจึงได้ทำการชักชวนโชติปาลมาณพให้ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสปด้วยกัน

             จึงกล่าวกับสหายรักว่า  “มาเถิดเพื่อนโชติปาละ  เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น  สมมติกันว่าเป็นความดี”

            เมื่อฆฏิการะช่างหม้อกล่าวอย่างนี้แล้ว   แต่โชติปาลมาณพกลับกล่าวปฏิเสธว่า  “อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ  จะมีประโยชน์อะไรด้วยพระสมณะศีรษะโล้นนั้นที่เราเห็นแล้วเห็นเล่า  การตรัสรู้ของสมณะโล้นมีได้อย่างไรเล่า เพราะการตรัสรู้เป็นของที่ได้โดยยากยิ่ง”

            ถึงแม้จะได้รับการปฏิเสธ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ฆฏิการะเลิกความพยายามที่จะนำโชติปาลมาณพสหายของตนไปเข้าเฝ้าพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าให้จงได้  จึงได้ชวนเป็นครั้งที่  ๒  ครั้งที่  ๓  แต่ก็ได้รับการปฏิเสธเหมือนเดิม  ฆฏิการะจึงเปลี่ยนเรื่องกล่าวชวนโชติปาลไปอาบน้ำที่แม่น้ำกัน เมื่อโชติปาลได้ยินดังนั้นก็รับคำ  ทั้งคู่ก็เดินทางไปยังแม่น้ำ  ซึ่งในระหว่างทาง  ฆฏิการะก็ได้ทำการเชิญชวนอีกครั้งว่า  “เพื่อนโชติปาล  ที่แห่งนี้ก็ไม่ไกลจากพระอารามของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  มาเถิดเพื่อน  เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า   เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นความดี”  ส่วนโชติปาลก็ตอบไปแบบเดิมว่า  “อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ  จะมีประโยชน์อะไรด้วยพระสมณะศีรษะโล้นนั้นที่เราเห็นแล้วเห็นเล่า  การตรัสรู้ของสมณะโล้นมีได้อย่างไรเล่า  เพราะการตรัสรู้เป็นของที่ได้โดยยากยิ่ง” ฆฏิการะได้ทำการเชิญชวนอีกเป็นครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ก็ได้รับคำตอบแบบเดิมอีก  ต่อมานายฆฏิการะจึงได้จับที่ชายพก  (อ้างอิง ๔)  ของโชติปาลและกล่าวชวนอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งโชติปาลก็ได้ให้ฆฏิการะปล่อยชายพกแล้วก็ตอบปฏิเสธแบบเดิมอีก  ถึงแม้ว่านายฆฏิการะได้รับท่าทีขนาดนั้นของเพื่อนรัก  แต่ก็ไม่ได้ทำให้นายฆฏิการะยอมเลิกล้มความพยายามจึงได้รอจังหวะโอกาสถัดไป  หลังจากนั้นทั้งคู่ได้ไปอาบน้ำในแม่น้ำจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว  สำหรับนายฆฏิการะได้อาบเสร็จก่อนจึงได้ขึ้นจากแม่น้ำและยืนรอเพื่อนอยู่  เมื่อโชติปาลอาบน้ำเสร็จขึ้นมาจากแม่น้ำกำลังทำผมให้แห้ง  คราวนี้ฆฏิการะจับที่ผมของโชติปาลแล้วดึงจนทำให้โชติปาลผู้เป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งมีกำลังดุจช้างสารเอนเล็กน้อย  (ตอนฆฏิการะจับผมของสหายแล้วดึงนั้น  นายฆฏิการะได้คิดว่าการที่เราจับผมของโชติปาลสหายผู้มีชาติสูงของเราคราวนี้  หาได้จับด้วยกำลังของตัวเราเองไม่  แต่เป็นการจับด้วยกำลังของพระศาสดา)   แล้วชวนแบบเดิมอีก  แต่การกระทำครั้งนี้กลับทำให้โชติปาลฉุกใจคิดว่า  “ไม่เคยมีมาเลย ที่สหายเราผู้มีชาติต่ำ  กลับมาดึงผมของเราแบบนี้  การที่จะไปตามคำชวนของสหายเราคงจะไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อยซะแล้ว”   จึงได้หันมาถามฆฏิการะว่า  ที่เพื่อนทำมาทั้งหมดนี้  ตั้งแต่ได้ชักชวนเราตั้งแต่ต้นหลายครั้ง  จนมาดึงชายพก  จนกระทั่งถึงขนาดดึงผมของเรานั้น  เป็นเพียงแค่  จะชวนเราไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป  เท่านั้นเองหรือ  ซึ่งฆฏิการะก็กล่าวตอบรับว่า เป็นไปเพียงเพื่อชวนโชติปาลไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  และนายฆฏิการะได้กล่าวย้ำคำเดิมอีกว่า  การที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นความดี  โชติปาลจึงกล่าวให้สหายปล่อยผมของตนก่อนและกล่าวว่าตนจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากับสหายฆฏิการะ  ในที่สุดความพยายามของฆฏิการะทำให้โชติปาลมาณพได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เมื่อโชติปาลได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
 
            พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสธรรมกถาเพื่อให้โชติปาละนั้นกลับมาได้สติว่า  “ดูก่อนโชติปาละ  ตัวท่านมิใช่สัตว์ผู้หยั่งลงสู่ฐานะอันต่ำทราม  แต่ท่านปรารถนาสัพพัญญุตญาณ  ธรรมดาคนเช่นท่านไม่ควรอยู่ด้วยความประมาท”  อีกทั้งพระองค์ทรงสั่งสอนถึงโทษในกามทั้งหลาย  และอานิสงส์ในการออกบวชด้วยประการทั้งปวง

             จนในที่สุดทำให้โชติปาลมาณพได้มีความศรัทธาออกบวชในศาสนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสปในสมัยนั้น  และได้ประพฤติธรรมอันสมควรแก่ธรรมทำให้เกิดประโยชน์กับตนเองสูงสุด  เนื่องด้วยเพราะความมีกัลยาณมิตรดั่งเช่นฆฏิการะนั่นเอง

(เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าเรื่องราวจบ  ก็ตรัสบอกพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์  เธอมีความคิดว่าโชติปาละในตอนนั้นต้องเป็นคนอื่นแน่นอน  เธอไม่ควรเห็นอย่างนั้น  สมัยนั้นเราได้เป็นโชติปาลมาณพ)

              เรื่องที่กล่าวมานั้นแสดงให้เห็นว่าแม้แต่พระองค์  ครั้งในสมัยที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่  ก็ยังอาศัยกัลยาณมิตรเป็นผู้ชักนำพระองค์ในชาตินั้นสู่เส้นทางอันประเสริฐ

            ส่วนตัวอย่างถัดไปเป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่ได้พบทั้งบาปมิตร  และกัลยาณมิตรในอดีตมาเล่า  เพื่อให้ทุกท่านได้พิจารณากันอีกตัวอย่างหนึ่ง (อ้างอิง ๕)   

เมฆะมาณพ

            ครั้งหนึ่งในสมัย  พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า  มีมาณพหนุ่มผู้หนึ่งที่ชื่อว่าเมฆะ  เขาเป็นนักศึกษาอยู่ในขณะนั้น  ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีปังกรได้ทรงพยากรณ์แก่สุเมธดาบส  ว่าสุเมธดาบสผู้นี้จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมในอนาคตกาลข้างหน้า  ครั้งนั้น เทวดาและมนุษย์เป็นอันมากล้วนมีจิตใจยินดีเบิกบานหลังจากได้ฟังดำรัสพยากรณ์ของพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐว่าสุเมธดาบสผู้นี้จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลเบื้องหน้า  เมฆะมาณพได้สนิทสนมกับสุเมธดาบส  อีกทั้งยังได้ออกบวชตามสุเมธดาบส  ผู้เป็นดั่งวีรบุรุษของเมฆะมาณพ  ขณะที่เมฆะมาณพบวชเป็นดาบสอยู่นั้น  เป็นผู้สำรวมในพระปาติโมกข์และอินทรีย์  ๕  เป็นผู้มีอาชีวะหมดจด มีสติ  เป็นนักปราชญ์ กระทำตามคำสอนของพระผู้พิชิตมารทีปังกรพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เมฆะมาณพเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่เช่นนี้

            ต่อมาภายหลัง  เมฆะได้ไปคบกับบาปมิตรบางคน  ถูกบาปมิตรนั้นชักชวนไปในทางเสื่อม ทำให้หนทางอันชอบที่เขากำลังดำเนินอยู่ถูกตัดขาดไป  จึงได้หลีกไปจากพระศาสนาในที่สุด  ต่อมาเมฆะมาณพได้ถูกมิตรอันน่าเกลียดนั้น  ชักชวนให้ฆ่ามารดา  ขณะนั้นเมฆะมาณพเป็นผู้มีจิตใจชั่วช้า  ได้ทำอนันตริยกรรมฆ่ามารดา  หลังจากสิ้นจากอัตภาพนั้น  เมฆะมาณพได้ไปเกิดในอเวจีมหานรกอันแสนทารุณ  แล้วได้เวียนว่ายไปสู่ภพอันลำบากเป็นเวลานาน  ได้ท่องเที่ยวเวียนว่ายในวัฏฏะ  และก็ไม่ได้เห็นสุเมธดาบสผู้เป็นนักปราชญ์ผู้ประเสริฐนั้นอีกเลย

            เวลาได้ดำเนินต่อมาเรื่อยๆ  จนมาถึงในยุคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมที่เราอยู่ปัจจุบันนี้  สุเมธดาบสในวันนั้นได้เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดม  ส่วนมาณพเมฆะได้เกิดอยู่ในภพสัตว์เดรัจฉาน  เป็นปลาติมิงคละ  อยู่ในมหาสมุทร  มีอยู่วันหนึ่งเมื่อปลาติมิงคละนั้นเห็นเรือพ่อค้าที่แล่นอยู่ในทะล จึงว่ายน้ำมุ่งหน้าเข้าไปหาเรือเพื่อจะเข้าไปฮุบเรือทั้งลำกินเป็นอาหาร  พวกพ่อค้าเห็นดังนั้นก็ตื่นตกใจกลัวเป็นอันมาก  เมื่อมีภัยใกล้มาถึงตัว  พวกพ่อค้าที่อยู่ในเรือนั้นก็ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด  จึงตะโกนเปล่งเสียงกึกก้องว่าโคตโม เมื่อปลาติมิงคละได้ยินเสียงของพ่อค้าเหล่านั้นที่เปล่งคำว่า “โคตโม”  จึงนึกถึงสัญญาเก่าในอดีต  (เหตุการณ์ในอดีตตอนที่ได้พบกับสุเมธดาบส)   ขึ้นมาได้ด้วยอำนาจวาสนาที่ได้อบรมมาในกาลก่อน  ปลาใหญ่จึงเกิดความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้า  หลังจากนั้นปลาใหญ่ติมิงคละก็ได้ตายจากภพชาตินั้นทันที  ได้มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์อันมั่งคั่ง  ณ  พระนครสาวัตถี มีชื่อว่าธัมมรุจิ  พอเกิดมา  ธัมมรุจิเป็นคนเกลียดบาปกรรมทุกอย่าง  เมื่ออายุได้  ๗  ขวบ  ก็ได้มีโอกาสพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมผู้ส่องโลกให้โชติช่วงในเวลานั้น  ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา  จึงได้ไปยังพระมหาวิหารเชตวัน  แล้วออกบวช  เมื่อบวชแล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ ครั้งหนึ่งที่เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรมายังธัมมรุจิ  จึงได้ตรัสว่า  “ดูก่อน  ธัมมรุจิ  ท่านจงระลึกถึงเรา”  ลำดับนั้น  ธัมมรุจิกราบทูลบุรพกรรมแต่ปางก่อนอย่างชัดเจนว่า 

            “ เพราะบาปกรรมในปางก่อน  ทำให้ข้าพระองค์มิได้พบพระองค์เสียนาน 
              มาบัดนี้ข้าพระองค์ได้มีโอกาสพบพระองค์แล้ว 
              ข้าพระองค์ตามหาพระองค์มานานนักหนาแล้ว
              ข้าพระองค์ได้ทำให้ตัณหาเหือดแห้ง  ได้ชำระพระนิพพานหมดมลทิน
              ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  กว่าข้าพระองค์จะพบพระองค์ก็นานนักหนา
              เนื่องจากข้าพระองค์ได้พินาศไปเวลานาน 
              แต่มาในวันนี้  ข้าพระองค์ได้มาสมาคมกับพระองค์อีกครั้ง  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
              ข้าพระองค์เผากิเลสทั้งหลายสิ้นแล้ว
              กิจในศาสนาพุทธข้าพระองค์ได้ทำสำเร็จหมดสิ้นแล้ว”

             จากเรื่องในอดีตของธัมมรุจิเถระ  เมื่อพิจารณาตอนชาติที่เป็นมาณพชื่อว่าเมฆะ  เมฆะมาณพได้มีโอกาสพบกับกัลยาณมิตร  และบาปมิตรในชาตินั้น  ตอนที่ได้พบกับกัลยาณมิตร  เมฆะได้ออกบวชเป็นดาบสตามสุเมธ  ได้ประพฤติธรรมตามคำสอนของพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า  และก็ได้ปฏิบัติธรรมจนมีความเจริญอย่างมากในชาตินั้น  ถ้าตอนนั้นเมฆะไม่พบกับบาปมิตรเสียก่อนก็อาจจะบรรลุธรรมก็เป็นไปได้  แต่อย่างไรก็ตามการที่พบกัลยาณมิตรที่ประเสริฐสุดอย่างพระทีปังกร  และกัลยาณมิตรอย่างสุเมธดาบสในชาตินั้น  ก็หาได้เสียประโยชน์อะไรไม่  เพราะสิ่งนั้นได้มาเป็นเหตุเป็นปัจจัยในการได้เกิดมาพบกับศาสนาของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกทั้งยังสามารถบรรลุธรรมในชาตินั้นอีกด้วย

            ซึ่งตอนนี้ทุกท่านก็เปรียบได้กับดั่งเมฆะในตอนนั้น  นั่นคือทุกท่านมีโอกาสเลือกในปัจจุบันนี้   มีโอกาสเลือกที่จะทำอะไร  คบกับใคร  เมื่อคบหากับใครแล้วจะทำสิ่งใดระหว่างที่คบค้ากับคนผู้นั้นอยู่




มีผู้อ่านจำนวน : 4653 ครั้ง


บทความที่เกี่ยวข้อง

           เพื่อนสนิท (มิตรสหาย) ๑
           เพื่อนสนิท (มิตรสหาย) ๒
           เพื่อนสนิท (มิตรสหาย) ๓
backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have 2 guests and no members online