องค์คุณแห่งผู้รับกฐิน องค์คุณแห่งภิกษุผู้ควรรับผ้ากฐินในคัมภีร์ปริวารกล่าวว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ควรกรานกฐิน ธรรม ๘ ประการ นั้นคือ(๑) รู้จักบุพพกรณ์ ๗ ประการ ได้แก่ ซักผ้า ๑ กะผ้า ๑ ตัดผ้า ๑ เนาผ้า ๑ เย็บผ้า ๑ ย้อมผ้า ๑ พินทุผ้า ๑(๒) รู้จักถอนไตรจีวร วิธีถอนไตรจีวร (ธรรมเนียมโบราณ) ท่านให้ยก ผ้าเก่าทับผ้าใหม่ แล้วกล่าวคำถอนว่า “ อิมํ สงฺฆาฏิ ปจฺจุทธรามิ, อิมํ อุตฺตราสงฺคํ ปจฺจุทธรามิ, อิมํ อนฺตรวาสกํ ปจฺจุทธรามิ. ”(จะถอนผืนใด พึงกล่าวแต่ผืนนั้นโดยเฉพาะ)(๓) รู้จักอธิษฐานไตรจีวร การอธิษฐานผ้าใหม่ (ธรรมเนียมโบราณ) ท่านให้ยก ผ้าใหม่ทับผ้าเก่า แล้วกล่าวคำอธิษฐานว่า “ อิมํ สงฺฆาฏิ อธิฏฐามิ, อิมํ อุตฺตราสงฺคํ อธิฏฐามิ, อิมํ อนฺตรวาสกํ อธิฏฐามิ.”(จะอธิษฐานผืนใด พึงกล่าวแต่ผืนนั้นโดยเฉพาะ)(๔) รู้จักกรานกฐิน (ตามข้อความการกรานกฐิน)(๕) รู้จักมาติกา คือหัวข้อแห่งการเดาะกฐินมาติกา ๘ ลักษณะข้อกำหนดในการเดาะกฐิน การเดาะกฐิน หมายถึงการรื้อหรือการทำกฐินให้เสียหาย จนเป็นเหตุให้ต้องยกเลิกอานิสงส์กฐิน ที่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาต้นครบ ๓ เดือนแล้ว จะพึงได้รับตามพุทธานุญาต สาเหตุของการเดาะกฐิน มี ๘ ประการคือ๕.๑ ปกฺกมนฺติกา กำหนดด้วยการหลีกไป หมายถึง ภิกษุนำจีวรที่ทำเสร็จแล้วหลีกไปโดยไม่คิดจะกลับมาอีก๕.๒ นิฏฺฐานนฺติกา กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จแล้ว หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปอยู่ภายนอกสีมาโดยคิดว่า “ จะให้ทำจีวรที่ภายนอกสีมานี้แหละ โดยจะไม่กลับมาอีก ” แล้วให้ทำจีวรนั้นจนแล้วเสร็จ๕.๓ สนฺนิฏฐานนฺติกา กำหนดด้วยตกลงใจ หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปอยู่ภายนอกสีมา โดยตกลงใจหรือตัดสินใจว่า “ จะไม่ให้ทำจีวรนี้ และจะไม่กลับมาอีก ”๕.๔ นาสนนฺติกา กำหนด้วยผ้าเสียหาย หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปอยู่ภายนอกสีมาโดยคิดว่า “ จะให้ทำจีวรภายนอกสีมานี้แหละ และจะไม่กลับมาอีก ” แต่ในขณะทำจีวรนั้น จีวรเกิดเสียหายเสียก่อน๕.๕ สวนนฺติกา กำหนด้วยได้ทราบข่าว หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปโดยคิดว่า “ จะกลับมา ” แต่ในขณะที่ทำจีวรอยู่ภายนอกสีมาจนแล้วเสร็จนั้น ก็ได้ทราบข่าวว่า “ ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว ”๕.๖ อาสาวจฺเฉทิกา กำหนด้วยสิ้นหวัง หมายถึง ภิกษุหลีกออกไปโดยหวังว่า “ จะได้จีวร ” แม้ในขณะที่อยู่ภายนอกสีมาก็ยังคิดว่า “ จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีความหวังว่าจะได้จีวร จะไม่กลับมาอีก ” แต่เมื่อเข้าไปยังที่นั้นแล้ว ความหวังว่าจะได้จีวรของเธอกลับสิ้นสุดลง๕.๗ สีมาติกกนฺติกา กำหนดด้วยล่วงเขต หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปโดยคิดว่า “ จะกลับมา ” แต่ในขณะที่ทำจีวรอยู่ภายนอกสีมาจนแล้วเสร็จ และคิดว่า “ จะกลับมา จะกลับมา ” ปรากฎว่ากลับมาไม่ทันเขตกฐิน๕.๘ สหุพฺภารา กำหนด้วยเดาะพร้อมกัน หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปโดยคิดว่า “ จะกลับมา ” แต่ในขณะที่ทำจีวรอยู่ภายนอกสีมาจนแล้วเสร็จ และคิดว่า “ จะกลับมา จะกลับมา ” ในขณะที่กำลังกลับมาถึงอาวาสนั้นเอง ปรากฏว่าสงฆ์ภายในวัด พร้อมใจกันเดาะกฐินเสียแล้ว ดังนั้นการเดาะกฐินหรือการทำกฐินให้เสียหาย ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ย่อมทำให้อานิสงส์กฐิน ที่จะพึงได้รับตามพุทธานุญาต สูญสิ้นไปโดยสิ้นเชิง(๖) รู้จักปลิโพธ กังวลเป็นเหตุยังไม่เดาะกฐิน ปลิโพธ มี ๒ ประการคือ ๖.๑ อาวาสปลิโพธ ๖.๒ จีวรปลิโพธ ภิกษุกรานกฐินแล้วมีกังวลอาลัยอยู่ในอาวาส หรือหลีกไปผูกใจอยู่ว่าจะกลับมา ชื่อว่ายังมี “ อาวาสปลิโพธ ” ภิกษุยังไม่ได้ทำจีวรเลย หรือทำค้างอยู่ หรือหายไปเวลาทำ แต่ยังไม่สิ้นความหวังที่จะได้จีวรอีก ชื่อว่ายังมี “จีวรปลิโพธ” ถ้าตรงกันข้ามทั้ง ๒ ปลิโพธ นั้น เป็นสิ้นเขตจีวรกาล เรียกว่า “ กฐินเดาะ ”(๗) รู้จักการเดาะกฐิน มีความรู้หลายประการที่ควรรู้เช่น รู้จักกฐินเป็นอันกราน กับกฐินไม่เป็นอันกราน (กฐินเดาะ)๗.๑ กฐินเป็นอันกราน หมายถึง การกรานกฐินที่ปฏิบัติได้ถูกต้องตามพุทธานุญาต มี ๑๗ ประการคือ ๗.๑.๑ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าใหม่ ๗.๑.๒ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเทียมใหม่ ๗.๑.๓ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเก่า ๗.๑.๔ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าบังสกุล ๗.๑.๕ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ตกตามร้าน ๗.๑.๖ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ทำนิมิตได้มา ๗.๑.๗ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้พูดเลียบเคียงได้มา ๗.๑.๘ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ยืมเขามา ๗.๑.๙ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้เก็บไว้ค้างคืน ๗.๑.๑๐ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่เป็นนิสสัคคีย์ ๗.๑.๑๑ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำพินทุ ๗.๑.๑๒ กฐินเป็นอันกราน ด้วยสังฆาฏิ ๗.๑.๑๓ กฐินเป็นอันกราน ด้วยอุตตราสงค์ ๗.๑.๑๔ กฐินเป็นอันกราน ด้วยอันตรวาสก ๗.๑.๑๕ กฐินเป็นอันกราน ด้วยจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ที่ตัดดีแล้วทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น ๗.๑.๑๖ กฐินเป็นอันกราน เพราะมีบุคคลกราน ๗.๑.๑๗ กฐินเป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่ในสีมาอนุโมทนากฐินนั้น๗.๒ กฐินไม่เป็นอันกราน (กฐินเดาะ) หมายถึง การกรานกฐินที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพุทธานุญาต มี ๒๔ ประการคือ ๗.๒.๑ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงมีรอยขีด ๗.๒.๒ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงซักผ้า ๗.๒.๓ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงกะผ้า ๗.๒.๔ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงตัดผ้า ๗.๒.๕ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเนาผ้า ๗.๒.๖ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเย็บผ้า ๗.๒.๗ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำลูกดุม ๗.๒.๘ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำรังดุม ๗.๒.๙ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาต ๗.๒.๑๐ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาตด้านหน้า ๗.๒.๑๑ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงดามผ้า ๗.๒.๑๒ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงย้อมผ้าเป็นสีหม่น ๗.๒.๑๓ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำนิมิตได้มา ๗.๒.๑๔ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา ๗.๒.๑๕ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ยืมเขามา ๗.๒.๑๖ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน ๗.๒.๑๗ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์ ๗.๒.๑๘ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ทำพินทุ ๗.๒.๑๙ กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากสังฆาฏิ ๗.๒.๒๐ กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากอุตตราสงค์ ๗.๒.๒๑ กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากอันตรวาสก ๗.๒.๒๒ กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากจีวรมีขันธ์๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้วทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น ๗.๒.๒๓ กฐินไม่เป็นอันกราน เพราะเว้นจากบุคคลกราน ๗.๒.๒๔ กฐินไม่เป็นอันกราน ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น ดังนั้นกฐินที่เป็นอันกราน หมายถึง ได้กรานกฐินถูกต้องตามพุทธานุญาต ภิกษุผู้กรานกฐิน ย่อมมีสิทธิได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ ส่วนกฐินไม่เป็นอันกราน หมายถึง มิได้กรานกฐินให้ถูกต้องตามพุทธานุญาต จะมิได้รับอานิสงส์ของกฐินแต่ประการใด(๘) รู้จักอานิสงส์กฐิน คือรู้จักอานิสงส์ของกฐิน ๕ ประการที่พระภิกษุจะพึงได้รับจากการจำพรรษา และได้กรานกฐินถูกต้องตามพระธรรมวินัยเรียบร้อยแล้ว ดังแสดงไว้ในเรื่องปฐมเหตุการทอดกฐิน มีผู้อ่านจำนวน : 49135 ครั้ง