Text Size
Tuesday, April 30, 2024
Top Tab Content

011textile


ความผิดเพี้ยนของผ้าป่า 
           
             ในสมัยพุทธกาล  ผ้าเป็นสิ่งหายากต่างจากปัจจุบันนี้เป็นอย่างมาก  ได้มีการวิเคราะห์ว่าถ้าไม่มีการผลิตเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นสักตัว  โดยที่ให้ใช้เฉพาะผ้าที่มีอยู่ตอนนี้เท่านั้น ผ้าที่มีอยู่ในตอนปัจจุบันนี้(พ.ศ.๒๕๕๒)นั้น สามารถใช้ไปได้อีกถึง ๕๐ ปี โดยไม่ต้องมีการผลิตผ้าเพิ่มขึ้นเลย (ในอนาคตถ้ายังไม่มีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่านั้น ตัวเลขอาจจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากผ้าที่มีอยู่สามารถใช้ไปได้อีกถึง ๕๐ ปีโดยไม่ต้องมีการผลิตผ้าเพิ่มขึ้นเลย ก็อาจจะมากขึ้นเป็น ๑๐๐ ปีหรือมากขึ้นเรื่อยๆก็เป็นไปได้) 

ผ้าป่าหมายถึงอะไร
             “ผ้าป่า” มีชื่อเรียกตามภาษาบาลีว่า “ปังสุกุละ”  หรือนิยมเรียกว่าผ้าบังสุกุล  มีความหมายว่า  ผ้าที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน หรือผ้าที่ประชาชนเขาไม่ใช้แล้วนำไปทิ้งที่กองขยะ หรือผ้าที่เขาใช้ห่อศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้า

ความสำคัญของผ้าป่า
              สมัยเริ่มแรก ยังไม่มีพุทธานุญาต  พระภิกษุไม่สามารถรับผ้าจากคฤหัสถ์ได้
              คนที่จะบวชใหม่นั้นจึงต้องไปหาผ้ามาตัดปะเย็บเพื่อทำเป็น ไตรจีวร  การหาผ้าเพื่อที่จะใช้บวชนั้น  ถ้าเป็นคนมีบุญทั้งบาตรและจีวร จะลอยมาเองเนื่องจากบุญบารมีของผู้บวชที่ได้สร้างและสะสมมาแล้วในกาลก่อน  สำหรับคนที่มีบุญไม่พอ จึงจำเป็นต้องไปหาผ้าเพื่อมาใช้ในการบวช  
              ส่วนพระสงฆ์ที่ผ้าไตรจีวร เก่าขาด ก็จำเป็นต้องหาผ้ามาเปลี่ยนเช่นเดียวกัน 
             ทั้งคนที่จะบวชใหม่ที่บุญบารมีไม่พอ และพระสงฆ์ที่ครองผ้าเก่าขาด ล้วนแล้วแต่จำเป็นที่ต้องการหาผ้าใหม่มาเปลี่ยน ซึ่งลักษณะการหาผ้าในสมัยนั้น จึงต้องไปหาผ้าที่เขาไม่ได้ใช้ แล้วนำมา ซัก ตัด ปะ เย็บ ย้อม  ดังนั้น ผ้าจึงมีความจำเป็นและความสำคัญอย่างมาก  อีกทั้งยังหายากอีกด้วย

ขั้นตอนการนำผ้ามาเป็นของตน (ลักษณะการชักผ้าบังสุกุล)
              ผู้ที่ต้องการผ้า ก็เริ่มไปหาผ้าตามสถานที่ต่างๆ  ดังนี้ (ผ้าบังสุกุล ๑๐ ประเภท)  (อ้างอิง ๑)
              ผ้าบังสุกุลมี ๕ คือ     ผ้าตกที่ป่าช้า ๑ ผ้าตกที่ตลาด ๑ ผ้าหนูกัด ๑ ผ้าปลวกกัด ๑ ผ้าถูกไฟไหม้ ๑
              ผ้าบังสุกุลแม้อื่นอีก ๕ คือ ผ้าที่วัวกัด ๑ ผ้าที่แพะกัด ๑ ผ้าที่ห่มสถูป ๑ ผ้าที่เขาทิ้งในที่อภิเษก ๑ ผ้าที่เขานำไปสู่ป่าช้าแล้วนำกลับมา ๑
              เมื่อพบผ้าดังกล่าวแล้ว  ก็ประกาศขึ้นว่า
              “อิมัง ปังสุกุละจีวะรัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปุณาติ”
               แปลว่า “ผ้าบังสุกุลผืนนี้เป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ย่อมตกเป็นของข้าพเจ้า”
               ถ้าไม่มีเจ้าของแสดงตัวจึงชักผ้านั้นมาเป็นของตนได้ มาซัก ตัด ปะ เย็บ ย้อม ทำเป็นจีวร เรียกว่า “บังสุกุลจีวร”

ปฐมพระบรมพุทธานุญาต ในการรับผ้าจากคฤหัสถ์ (ส่วนนี้ไม่ใช่ผ้าจากป่า)  อ้างอิง ๒
               หมอชีวกโกมารภัจ (แพทย์ประจำของพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธ และเป็นแพทย์ที่ถวายการรักษาแด่พระบรมศาสดาเมื่อคราวพระองค์ทรงพระประชวร)  ได้ผ้าอย่างดีเป็นผ้าเนื้อสีทองอย่างดีสองผืน จากแคว้นกาสี ซึ่งเป็นผ้าเนื้อละเอียดมาก ผ้านั้นมีชื่อว่า ผ้าสิไวยกะ เป็นเนื้อดีเลิศ ประเสริฐ มีชื่อเด่น อุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก ผ้าที่ได้มานี้เป็นรางวัลจากการรักษาอาการประชวรของพระเจ้าจัณฑปัชโชต แห่งกรุงอุชเชนี แคว้นอวันตี  หมอชีวกฯ จึงมีความคิดว่าผ้าอย่างดีแบบนี้ ไม่สมควรแก่ตนเอง  แต่สมควรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าหรือพระเจ้าแผ่นดินพิมพิสารเท่านั้น  จึงได้ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าและนำผ้าไปด้วย  และถวายผ้านั้นพร้อมทั้งทูลขอพรแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ขอให้ภิกษุรับคฤหบดีจีวรได้”  พระผู้มีพระภาคเจ้ารับจีวรที่หมอชีวกฯถวายและให้พรตามหมอชีวกฯขอ "ถ้าภิกษุปรารถนาจะถือผ้าบังสุกุลก็ให้ถือ ปรารถนาจะรับคหบดีจีวรก็ให้รับ"
               ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากมีพุทธานุญาต พระภิกษุจึงสามารถรับผ้าจากคฤหัสถ์ได้  ซึ่งตลอดเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมาก่อนมีการทูลขอจากหมอชีวกฯ พระภิกษุครองแต่ผ้าบังสุกุลจีวรเท่านั้น หลังจากหมอชีวกฯได้ทูลขอให้ภิกษุสามารถรับผ้าจากคฤหัสถ์ได้ พระภิกษุก็มีความเป็นอยู่ที่สะดวกขึ้น 
              ส่วนประชาชนในพระนครราชคฤห์และในชนบท หลังได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตต่างพากันยินดีร่าเริงว่า บัดนี้แล พวกเราจักถวายทาน จักบำเพ็ญบุญ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย เพียงวันเดียวเท่านั้น จีวรหลายพันผืนได้เกิดขึ้นในพระนครราชคฤห์ และหลายพันผืนเกิดขึ้นในชนบท
              เมื่อท่านผู้อ่านได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับศัพท์คำว่า "ผ้าบังสุกุล"  เมื่ออ่านพระไตรปิฎกจะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในจุดต่างๆ เช่น ตอนที่พระเทวทัตได้ทำสังฆเภท ไปทูลขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหมด ๕ ข้อ  ข้อที่สามนั้นคือภิกษุทั้งหลายควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ภิกษุใดยินดีผ้าคหบดี โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น  นั่นคือจะให้ภิกษุทั้งหลายครองแต่ผ้าบังสุกุล ไม่ให้รับผ้าถวายจากคฤหัสถ์  แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาตตามที่พระเทวทัตขอ (อ้างอิง ๓)

ผ้า ๖ ชนิดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าอนุญาต (อ้างอิง ๔)
              พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวร ๖ ชนิด คือจีวรทำด้วยเปลือกไม้ ๑ ทำด้วยฝ้าย ๑ ทำด้วยไหม ๑ ทำด้วยขนสัตว์ ๑ ทำด้วยป่าน ๑ ทำด้วยของเจือกัน ๑

ผ้าป่าในปัจจุบัน
              จากที่ได้เกริ่นไปแล้วในตอนต้นว่าผ้าในปัจจุบันนี้ ไม่ได้เป็นของหายาก  การที่จะไปเอาผ้าจากที่คนอื่นทิ้งตามสถานที่ต่างๆ เช่นในป่า จึงไม่มีความจำเป็น  อีกทั้งยังมีข้อกฎหมาย การที่จะไปสุ่มสี่สุ่มห้าไปหยิบผ้าต่างๆ มาเป็นของตนเลยก็อาจจะเป็นปัญหา เกิดเป็นผ้ามีเจ้าของก็สุ่มเสี่ยงกับการอาบัติปาราชิกอีก  และการที่จะนำผ้าเก่าๆมาเย็บต่อกันถ้าไม่มีความชำนาญด้านการเย็บการย้อม  ถ้าออกมาดูโทรมมากชาวโลกก็อาจจะเห็นเป็นตัวประหลาด  ดังนั้นปัจจุบันนี้ การชักผ้าบังสุกุลของพระภิกษุจึงน่าจะไม่มีอยู่แล้ว  คงเหลือแต่การรับผ้าจากคฤหัสถ์ ซึ่งบางทีคฤหัสถ์ถวายเป็นผ้าขาว  ภิกษุสงฆ์หลายรูปช่วยเหลือกันตัดเย็บ ย้อม ในส่วนนี้ก็ยังคงมีอยู่บ้าง  แต่ส่วนมากญาติโยมจะมาถวายไตรจีวรสำเร็จรูป

คฤหัสถ์ถวายผ้าไตรจีวร
               ญาติโยมที่จะนำผ้าไตรจีวรมาถวายพระ ควรจะศึกษาพระธรรมวินัยให้ดี เพราะจะต้องจัดหาผ้าไตรจีวรที่ตัดเย็บได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เพื่อไม่ให้พระภิกษุต้องโทษอาบัติ    สามารถดูการตัดเย็บที่ถูกต้องได้ที่ การตัดเย็บจีวร

การถวายผ้าป่าในสมัยปัจจุบันนี้ (ลักษณะที่ปฏิบัติผิด)
                ผ้าป่าในปัจจุบันนี้ที่ปฏิบัติและทำกันเป็นประเพณี เช่น
                (๑) ผ้าป่าหางกฐิน หรือผ้าป่าแถมกฐิน
                (๒) ผ้าป่าโยงกฐิน
                (๓) ผ้าป่าสามัคคี พิมพ์ซองบอกบุญ
                โดยมีขั้นตอนคือ ไปจองผ้าป่ากับทางวัด  หาผ้า หากิ่งไม้สำหรับพาดผ้ามาปักไว้บนภาชนะเช่น ถัง โอ่ง เพื่อไม่ให้เอนไปเอนมา และหาสิ่งของอื่นเช่น สบู่ ยาสีฟัน สมุด ดินสอ อาหารแห้ง ฯลฯ ใส่ในภาชนะ  ส่วนเงินก็เสียบไว้กับต้นกล้วยเล็กๆในกองผ้าป่า
                เมื่อได้เวลาสำหรับการทอดผ้าป่า ก็จะมีการแห่แหนองค์ผ้าป่ามาด้วยขบวนเถิดเทิงกลองยาวหรือแตรวง เป็นที่ครึกครื้น สนุกสนาน  ร้องรำทำเพลง ร่วมรำวงกันเป็นที่สนุกสนานหรืออาจจะมีมหรสพฉลองที่บ้านของเจ้าภาพก่อนวันงาน  พอขบวนผ้าป่าเดินทางมาถึงวัด ก็จะมีพิธีถวายผ้าป่า โดยเจ้าภาพนำกล่าวถวาย ภิกษุที่ได้รับฉันทานุมัติจากหมู่สงฆ์มาชักผ้าบังสุกุล โดยกล่าวคำว่า 
                “อิมัง ปังสุกุละจีวะรัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปุณาติ”
                (แปลว่า ผ้าบังสุกุลผืนนี้เป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ย่อมตกเป็นของข้าพเจ้า)
                เป็นอันเสร็จพิธี
   
                ดังนั้นเมื่อพิจารณาแล้ว การถวายผ้าป่าในสมัยปัจจุบันนี้ จึงเป็นการกระทำที่ผิด เนื่องจากผ้าป่าเป็นการกระทำที่พระภิกษุจะต้องไปหาผ้าในป่ามาเอง ไม่เกี่ยวกับญาติโยม  ถ้าญาติโยมจะถวายผ้าไม่เรียกว่าผ้าป่าเรียกว่าผ้าถวายจากคฤหัสถ์  นั่นคือผิดข้อที่ ๑
                ส่วนที่ทำกันเป็นประเพณีปัจจุบันนี้ส่วนมากจะเกี่ยวกับการหาเงิน มีการทอดผ้าป่าเป็นกองๆ เพื่อจะหาเงินไปสร้างสิ่งต่างๆบ้าง  ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของผ้าป่า เป็นการกระทำที่แสร้งทำขึ้นมาเพื่อเลียนแบบอดีต ซึ่งลักษณะการกระทำอย่างนี้เหมือนกับการสร้างเหตุการณ์ปลอมขึ้นมาแล้วเพื่อจะไปหาเงิน นั่นคือผิดข้อที่ ๒
                ส่วนที่ทำพิธีถวายผ้าป่าแด่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งไม่ใช่ผ้าป่า ก็ไปทำให้พระภิกษุมาร่วมกันทำผิด ญาติโยมเป็นสาเหตุทำให้ท่านผิดพระธรรมวินัย  นั่นคือผิดข้อที่ ๓
                ถ้าเกิดคนที่ทำเองเป็นพระภิกษุสงฆ์เอง ไม่ใช่ฆราวาส เป็นคนดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่กิจของสงฆ์ สงฆ์ไม่ได้มีหน้าที่ไปหาเงินเพื่อมาสร้างอะไรต่างๆ ถึงแม้สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อสังคมเช่นโรงเรียน ก็ผิดพระธรรมวินัย ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลก พระธรรมเป็นของสูงค่า พระสงฆ์จะต้องรักษาพระธรรม ไม่ใช่ไปหาเงินสร้างสิ่งต่างๆ  นั่นคือผิดข้อที่ ๔  
                 แต่ถ้าญาติโยมเป็นคนดำเนินการ หาเงินมาสร้างสิ่งต่างๆ  แต่ประกาศบอกผู้อื่นว่าเป็นผ้าป่า นั่นคือผิดข้อที่ ๕

ขอเชิญทุกท่าน มาเริ่มต้นทำสิ่งที่ถูกต้องสำหรับผ้าป่า  โดยจะขอยกตัวอย่างดังนี้
                ๑. ให้ญาติโยมปวารณากับพระภิกษุ ว่าถ้าขาดเหลืออะไรก็ขอให้ท่านบอก  ถ้าท่านบอกว่าขาดกุฏิ ที่พักของพระภิกษุ  ถ้าญาติโยมต้องการสร้างกุฏิถวายแด่สงฆ์  ก็ไปแจ้งความจำนงบอกท่าน ถ้าท่านอนุญาตก็เป็นอันว่า สามารถสร้างกุฏิถวายแด่สงฆ์ได้
                ๒. ศึกษารายละเอียดการสร้างกุฏิสงฆ์ ในพระไตรปิฎกว่ามีข้อกำหนดอย่างไร เพื่อจะได้สร้างกุฏิได้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย
                ๓. ถ้าต้องการบอกบุญกับญาติโยมต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ญาติโยมคนอื่นได้มีโอกาสร่วมทำบุญ  ส่วนของการพิมพ์ใบแนะนำ ก็พิมพ์ว่า ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างกุฏิเพื่อถวายแด่สงฆ์ (ไม่ใช้คำว่าผ้าป่า)
                ๔. เข้าไปดำเนินงานก่อสร้างให้เสร็จเรียบร้อยตามแบบที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย  (ในขณะที่ดำเนินการก่อสร้าง ต้องไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับพระในส่วนที่ขัดกับพระธรรมวินัย เช่นพระเข้าไปขุดดินทำการก่อสร้างเอง )
                ๕. เมื่อสร้างเสร็จก็กล่าวคำถวายแด่สงฆ์  เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

                ทั้ง ๕ ข้อนั้น เป็นแค่ตัวอย่างอันหนึ่งคร่าวๆ  ในส่วนที่ญาติโยมกระทำกันเองตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่เกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์ เพราะไม่ใช่กิจของสงฆ์   การที่ใช้คำว่าผ้าป่านั้น จึงเป็นการใช้คำที่ผิด  ทั้งๆที่การสร้างสถานที่ต่างๆเช่นสร้างกุฏิ ถวายแด่สงฆ์ ก็ได้อานิสงส์มากมายอยู่แล้ว ทำไมชาวพุทธต้องไปใช้คำว่าผ้าป่า ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับผ้าป่าเลยแม้สักนิดเดียว  บางทีไปให้พระสงฆ์มาทำเลียนแบบผ้าป่าสมัยก่อน ทั้งๆที่ รู้อยู่เต็มอกว่าไม่ได้มีผ้าป่าที่แท้จริง เมื่อพระสงฆ์มาแสร้งทำก็เหมือนกับเป็นการเล่นละครซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่ให้พระสงฆ์มาแสร้งทำ 
               พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของความจริง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงนำมาสั่งสอนเหล่าสัตว์  การทำประเพณีต่างๆ ที่ผิดเพี้ยนนั้น โดยละทิ้งความจริง และวัตถุประสงค์ตั้งต้นนั้น จึงเป็นต้นเหตุแห่งการผิดเพี้ยนของศาสนาหลายอย่าง และมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเริ่มมีเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการรำวง เฉลิมฉลอง ตั้งวงเหล้า ถ้าพุทธศาสนิกชนไม่ช่วยกันยับยั้งในสิ่งที่ผิดตอนนี้ ลองคิดดูว่าเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ความผิดเพี้ยนที่ทำกันจนเป็นประเพณีจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆหรือไม่ ในอนาคตอาจจะมีสิ่งที่ผิดเพี้ยนจนคนในยุคปัจจุบันคาดไม่ถึงก็เป็นไปได้ เช่นมีการจับสัตว์ หรือหญิงสาวพรหมจารีมาบูชายัญ ในงานทอดผ้าป่าก็เป็นไปได้ ถ้าปล่อยให้มีสิ่งผิดเกิดขึ้นและให้มันพัฒนาตัวไปเรื่อยๆตามวันเวลา
                จึงขอให้ทุกท่านร่วมกันดำเนินการทำบุญให้ถูกต้องเพื่อจะไม่เกิดบาปกรรมในการทำบุญที่ผิด อีกทั้งได้อานิสงส์อย่างแท้จริงในการสร้างสิ่งต่างๆเพื่อถวายแด่สงฆ์ พระพุทธศาสนาตอนนี้ยังคงอยู่ และอยู่ในความรับผิดชอบของเราทุกคน  ทางผู้เขียนขอฝากบทความนี้ไว้กับทุกท่าน เพื่อให้ทุกท่านตระหนักถึงความถูกต้องและความจริง ร่วมกันศึกษาการทำบุญที่ถูกต้องตามพระธรรมด้วยเทอญ

อ้างอิง ๑ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๑๐ พระวินัยปิฎก เล่ม ๘ ปริวาร - หน้าที่ ๔๘๘ ข้อ ๙๗๙
อ้างอิง ๒ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ หน้าที่ ๒๖๑ ข้อ ๑๓๕
อ้างอิง ๓ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๓ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ หน้าที่ ๕๖๒ ข้อ ๕๙๑
อ้างอิง ๔ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ หน้าที่ ๒๖๔ ข้อ ๑๓๙



มีผู้อ่านจำนวน : 9526 ครั้ง


backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have 3 guests and no members online