พระวินัย
พระวินัยหรือศีลของพระ เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้เพื่อเป็นข้อห้ามสำหรับพระภิกษุไม่ให้ประพฤติหรือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่จะทำให้มีความเสื่อมเสียหรือเสียหายเกิดขึ้น
การกำหนดโทษของภิกษุผู้ฝ่าฝืนละเมิดพระวินัย เรียกว่าอาบัติ ซึ่งอาบัตินั้นมี ๗ ประการ โดยเรียงลำดับตามโทษหนัก ไปหาเบาดังนี้ ๑. ปาราชิก ๒. สังฆาทิเสส ๓. ถุลลัจจัย ๔. ปาจิตตีย์ ๕. ปาฏิเทสนียะ ๖. ทุกกฏ ๗. ทุพภาสิต หลักเกณฑ์ในการบัญญัติสิกขาบท
หลักเกณฑ์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวางไว้ในการบัญญัติสิกขาบทคือ เมื่อภิกษุรูปใดรูปหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่งมีความประพฤติที่เสื่อมเสียเกิดขึ้นเมื่อใด พระองค์จะทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามสงฆ์ทั้งหลายประพฤติสิ่งนั้นอีกเมื่อนั้น หลักเกณฑ์ในการบัญญัติสิกขาบทของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น สามารถดูได้จากพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสกับพระสารีบุตร ในครั้งที่พระสารีบุตรทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทเพื่อจะทำให้พระพุทธศาสนายืนยาวนาน และพระพุทธองค์ตรัสตอบว่า (อ้างอิง ๑)
“ จงรอก่อนสารีบุตร จงยับยั้งก่อนสารีบุตร ตถาคตผู้เดียวจักรู้กาลในกรณีนั้น พระศาสดายังไม่บัญญัติสิกขาบท ยังไม่แสดงปาติโมกข์แก่สาวก ตลอดเวลาที่ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ต่อเมื่อใดอาสวัฏฐานิยธรรม(ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ) บางเหล่าปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ ”
ในตอนต้นของพุทธกาล ตั้งแต่มีพระสงฆ์รูปแรกบังเกิดขึ้นนั่นคือพระอัญญาโกณฑัญญะ พระองค์ยังไม่ทรงบัญญัติสิกขาบท เนื่องจากพระสงฆ์ในยุคเริ่มแรกยังเป็นพระสงฆ์ที่มีจริยวัตรงดงาม พระส่วนมากมีคุณธรรมขั้นต่ำก็คือพระโสดาบัน ดังนั้นพระจึงยังไม่มีความประพฤติที่เสื่อมเสียเกิดขึ้น ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาได้เผยแพร่ไปกว้างไกลมากขึ้นเรื่อยๆ คนบวชเริ่มมากมายหลากหลายขึ้น ดังนั้นเหตุผลของผู้ที่จะมาบวชในบวรพุทธศาสนาจึงมากมายแตกต่างกันไปด้วย ซึ่งผู้มาบวชบางคนก็มาบวชด้วยเหตุผลที่ผิด นั่นคือมิได้มาเพื่อประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์ ดังนั้นพระจึงเริ่มมีความประพฤติเสื่อมเสียเกิดขึ้น เมื่อมีความประพฤติเสื่อมเสีย จึงเป็นเหตุให้เกิดการบัญญัติสิกขาบทขึ้น
ความสำคัญของพระวินัย
พระวินัยเปรียบเหมือนพระศาสดา (อ้างอิง ๒)
พุทธพจน์
[๑๔๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า
“ ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ”
|
|
เมื่ออ่านจากพุทธพจน์แล้ว แสดงว่าพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ไม่ใช่เป็นแค่เพียงข้อห้ามเท่านั้น แต่ในอีกสถานะหนึ่ง พระวินัยเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของพระองค์ที่พระองค์ทรงวางไว้เพื่อปกครองคณะสงฆ์หลังจากพระองค์ทรงดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ดังนั้นความสำคัญในข้อนี้คือพระวินัยเปรียบได้ดั่งกับพระผู้มีพระภาคเจ้า เนื่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแต่งตั้งพระวินัยให้เป็นตัวแทนพระองค์ เพราะฉะนั้นความสำคัญของวินัย จึงมีความสำคัญอย่างที่สุด ใครที่มองข้ามพระวินัย ก็เหมือนประหนึ่งว่าได้มองข้ามพระองค์ ศีลทุกข้อนั้น ล้วนแล้วแต่มีการเกิดขึ้นโดยมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นทั้งนั้น อีกทั้งกระบวนการบัญญัติขึ้นของศีลแต่ละข้อนั้น ก็มีที่มาที่ไปอย่างชัดเจนนั่นคือ มีภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่งกระทำความผิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงสอบถาม ตรัสถึงโทษ ทรงติเตียน ตรัสถึงประโยชน์ในการบัญญัติสิกขาบท หลังจากนั้นพระองค์ค่อยทรงบัญญัติสิกขาบท
นอกจากมีที่มาในการบัญญัติอย่างชัดเจน ถึงขนาดมีรับสั่งให้เรียกประชุมสงฆ์แล้ว พระองค์ยังตรัสถึงประโยชน์สิบประการเหล่านี้คือ
ประโยชน์ ๑๐ ประการแห่งการบัญญัติสิกขาบท พุทธพจน์ “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุรุษผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑ ”
|
|
หนังสือพุทธธรรม (ป.อ.ปยุตฺโต) หน้า ๔๓๖ ได้แปลประโยชน์ ๑๐ ประการเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายดังนี้ ๑. เพื่อความดีงามที่เป็นไปโดยความเห็นชอบร่วมกันของสงฆ์ ๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ ๓. เพื่อกำราบคนหน้าด้านไม่รู้จักอาย ๔. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม ๕. เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อนที่จะมีในปัจจุบัน ๖. เพื่อบำบัดความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อนที่จะมีในภายหลัง ๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสแล้ว ๙. เพื่อความดำรงมั่นแห่งสัทธรรม ๑๐. เพื่อส่งเสริมความเป็นระเบียบเรียบร้อย สนับสนุนวินัยให้หนักแน่น ถ้าทุกคนสังเกตให้ดีในประโยคที่พระองค์ตรัสว่า “ เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ ” ประโยคดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่พระองค์ตรัสในคราวก่อนที่จะมีการบัญญัติพระวินัย และไม่ใช่พระองค์จะตรัสแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่กลับเป็นประโยคที่พระองค์ตรัสย้ำๆซ้ำๆกันบ่อยมาก ตรัสแทบทุกคราวที่พระองค์จะทรงบัญญัติสิกขาบทโดยที่พระองค์จะตรัสถึงประโยชน์สิบประการเหล่านี้ก่อนค่อยบัญญัติสิกขาบท ธรรมดาของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระสัพพัญญูนั้นย่อมจะตรัสเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถึงแม้ว่าพระองค์จะตรัสแค่ครั้งเดียว ชาวพุทธก็ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดอยู่แล้ว แต่นี่กลับเป็นสิ่งที่พระองค์ตรัสย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก ชาวพุทธส่วนมากจะบอกว่าตนเองเคารพนับถือพระพุทธเจ้า แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วกลับหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะถ้ามีความเคารพต่อพระองค์จริงก็น่าจะเชื่อฟังและปฏิบัติตามสิ่งที่พระองค์บัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งในความเป็นจริงชาวพุทธส่วนมากกลับไม่ฟังและไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่พระองค์สั่งไว้ ทั้งที่สิ่งที่พระองค์สั่งไว้ก็เป็นสิ่งที่สร้างความเจริญให้กับผู้ที่กระทำตามนั่นเอง ขอถามใจชาวพุทธว่า แล้วชาวพุทธล่ะ เห็นแก่พระองค์บ้างหรือไม่ เห็นแก่สิ่งที่พระองค์ตรัสบ้างหรือไม่ ที่ผ่านมานั้น แต่ละคนมีความยำเกรงในสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้หรือไม่ ถ้าแต่ละคนตอบว่า แต่ละคนเห็นแก่พระองค์ ก็ขอให้แต่ละคนลองถามใจตัวเองอีกทีเถิดว่าแต่ละคนเห็นแก่พระองค์แค่ไหน แต่ละคนให้ความยำเกรงแค่ไหนในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เห็นแก่สิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติพระวินัยโดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการแค่ไหน และจริงๆแล้วแต่ละคนนั้นเห็นแก่สิ่งที่พระองค์ทรงแต่งตั้งเป็นตัวแทนพระองค์หลังพระองค์ปรินิพพานหรือไม่ ที่ต้องถามย้ำๆหลายครั้งก็เพราะว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถึง เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการ ซึ่งเป็นสาเหตุให้พระสัทธรรมเสื่อมนั่นคือ (อ้างอิง ๓) “ ดูก่อนกัสสป เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไป พร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรง ใน พระศาสดา ๑ ใน พระธรรม ๑ ใน พระสงฆ์ ๑ ใน สิกขา ๑ ใน สมาธิ ๑ เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความ ฟั่นเฟือนเพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม ”
ตามพุทธพจน์นั้น ความไม่ยำเกรงในพระศาสดา ในสิกขา เป็นเหตุให้เกิดทั้งความฟั่นเฟือนและความเลือนหายในพระสัทธรรม ในความคิดของผู้เขียนนั้น สิ่งที่พระองค์ตรัสนั้น อีกนัยหนึ่งเป็นเหมือนกับการบอกเตือนกับพุทธบริษัท ๔ ไว้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นว่า ในภายภาคหน้าหลังจากที่พระองค์ปรินิพพาน จะมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น นั่นคือความไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ความไม่เคารพยำเกรงในสิกขา ซึ่งเป็นเหตุฝ่ายต่ำที่จะทำให้พระสัทธรรมฟั่นเฟือน ซึ่งพุทธบริษัท๔ เมื่อได้รับรู้แล้วก็ต้องมีความระมัดระวังสอดส่องและควรเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ เพื่อรับมือและยับยั้งกับเหตุฝ่ายต่ำเหล่านี้เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมา แต่มิใช่ให้พุทธบริษัท๔ ไปร่วมผสมโรงสนับสนุน หรือทำตัวกลมกลืนเนียนไปกับเหตุการณ์ฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดความฟั่นเฟือนและเลือนหายแห่งพระสัทธรรม
พระวินัยเป็นกฎทางธรรม
พระวินัยเป็นสิ่งที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งเป็นพระสัพพัญญู ผู้รู้ทุกสรรพสิ่ง ผู้มีปัญญาและเป็นผู้ประเสริฐสูงสุดเป็นผู้บัญญัติ ซึ่งจากที่ได้กล่าวข้างต้นมาแล้วว่า ผู้ที่เข้ามาบวชในบวรพระพุทธศาสนานั้น ต่างก็มีจำนวนมากมาย นอกจากมีจำนวนมากมายแล้ว ก็ยังมีความหลากหลายอีกด้วย ทั้งความหลากหลายในด้าน ต่างเหตุ ต่างผล ในการเข้ามาบวช และความหลากหลายทางด้าน โคตร ตระกูล ชนชั้น วรรณะ อัธยาศัย แต่ไม่ว่าผู้ที่เข้ามาบวชจะมาจากที่ใด หรือจะหลากหลายประมาณไหนก็ตาม เมื่อเข้ามาบวชแล้วก็จะมีพระวินัยเป็นสิ่งที่หล่อหลอม ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยเกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ ยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นทั้งแก่ตนเองและคณะสงฆ์ ตัวอย่างเช่นผู้ที่เข้ามาบวชจะได้รับการสั่งสอนมารยาทมาก่อนหรือไม่ แต่เมื่อเข้ามาบวชแล้วได้ประพฤติปฏิบัติตนตามพระวินัย ก็จะมีความประพฤติและกิริยาที่งดงาม เช่น การฉันอาหาร ก็จะมีวินัย ในหมวดรับประทานอาหาร ชื่อเสขิยวัตร อบรมสั่งสอนหล่อหลอมขัดเกลาผู้นั้นให้เป็นผู้มีสติ มีกิริยาและวัตรงดงามในขณะรับประทานอาหาร ลองคิดดูว่าถ้าไม่มีวินัยกำหนดเกี่ยวกับการรับประทานอาหารแล้ว อีกทั้งคนที่เข้ามาบวชบางคนเป็นคนที่ไม่ได้รับการอบรมมารยาทมาก่อน ขณะทานอาหารก็ไม่สำรวม ไร้สติ มูมมาม ตะกละตะกลาม ส่งเสียงซูดปาก เคี้ยวก็เสียงดัง สร้างความสะอิดสะเอียนต่อผู้มาพบเห็น ถ้าเหตุการณ์เป็นเช่นนี้จะสร้างความเสื่อมเสียต่อคณะสงฆ์มากมายแค่ไหน ดังนั้นการปฏิบัติตามพระวินัย ย่อมเกิดประโยชน์มากมายทั้งต่อตนเอง ผู้อื่นและคณะสงฆ์ ทำให้เกิดสังฆสามัคคีมีความพร้อมเพรียงในหมู่สงฆ์ ในทางกลับกันถ้าพระรูปใด เมื่อไปละเมิดหรือไม่ใส่ใจต่อสิกขาบทเมื่อใด ย่อมเกิดโทษอย่างมากมาย ทั้งต่อตัวท่านเอง และต่อคณะสงฆ์เมื่อนั้น ทุกท่านลองพิจารณาให้ดีเถิดว่า กฎหมายทางโลกมีไว้เพื่อควบคุมประชาชนไม่ให้กระทำผิด แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เคารพยำเกรงกฎหมายแล้ว บ้านเมืองจะวุ่นวายขนาดไหนเช่นมีการฆ่า ลักขโมย ข่มขืน ฯลฯ เกิดขึ้นอย่างมากมายโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย และถ้าผู้คนในบ้านเมืองนั้นถือว่าการฆ่า ลักขโมย ข่มขืน ฯลฯ เป็นเรื่องปกติที่ทุกๆคนก็ทำกัน กฎหมายเป็นเพียงสิ่งในอุดมคติที่สมควรจะตั้งไว้เฉยๆ บ้านเมืองตอนนั้นก็คงเป็นยุคทมิฬหาความสงบสุขมิได้ หรืออาจจะถึงขั้นล่มสลายเสียด้วยซ้ำไป ฉันใดก็ฉันนั้นสิกขาบทนั้นเปรียบเหมือนกับกฎหมายทางธรรมเพื่อควบคุมคณะสงฆ์ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งทั้งสิบประการ ถ้าชาวพุทธไม่เคารพยำเกรง และคิดว่ากฎหมายทางธรรมเป็นสิ่งที่อยู่ในอุดมคติเป็นเพียงสิ่งที่คนสมัยก่อนทำขึ้นมา สมควรที่จะตั้งไว้เฉยๆ ถ้าทำตามได้ก็จะทำ ถ้าทำตามไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไม่จำเป็นต้องมีความเคารพยำเกรง การที่พระละเมิดศีลถือเป็นเรื่องปกติที่ใครๆเขาก็ทำกัน ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็ย่อมเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ขอให้ทุกท่านตั้งข้อสังเกตให้ดีว่า วิวัฒนาการของความเลวร้ายมักจะเริ่มจากสิ่งเล็กๆก่อน แล้วแต่ละคนก็ไม่ใส่ใจ ปล่อยให้มันเป็นไป และเริ่มเห็นเป็นเรื่องปกติ หลังจากนั้นก็เริ่มลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าผู้อ่านเป็นชาวพุทธ ท่านจะปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับกฎทางธรรมหรือ และขอให้ทุกคนอย่าลืมว่ากฎหมายทางธรรมนั้นยิ่งใหญ่ครอบคลุมกว่ากฎหมายทางโลกมาก เนื่องจากมีการบัญญัติโดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้รู้กฎแห่งธรรมชาติ ถ้ามีการละเมิดกฎของธรรมชาตินี้แล้ว ย่อมได้รับผลซึ่งน่ากลัวทุกข์ทรมานและยาวนานกว่าบทลงโทษของทางโลกมาก นั่นคืออบายภูมิ๔
ศีลเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก และเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ
สีลสัมปทามีอุปการะมากแก่อริยมรรค ดังพุทธพจน์ต่อไปนี้ (อ้างอิง ๔) [๑๕๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันหนึ่งมีอุปการะมาก เพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ธรรมอันหนึ่งเป็นไฉน คือความถึงพร้อมแห่งศีล ฯลฯ
(อ้างอิง ๕) พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเสด็จอยู่บนภูเขาคิชฌกูฏใกล้กรุงราชคฤห์ กระทำธรรมีกถานี้แลเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยพระดำรัสว่า ศีล มีอยู่ด้วยประการฉะนี้, สมาธิ มีอยู่ด้วยประการฉะนี้, ปัญญามีอยู่ด้วยประการฉะนี้, สมาธิอันศีลอบรมแล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก, ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก, จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ก็หลุดพ้นด้วยดีโดยแท้จากอาสวะทั้งหลาย กล่าวคือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ดังนี้
จากพุทธพจน์ดังกล่าว ศีลเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก และด้วยประโยคที่ว่า “ สมาธิอันศีลอบรมแล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก, ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก, จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ก็หลุดพ้นด้วยดีโดยแท้จากอาสวะทั้งหลาย ” จากพุทธพจน์ข้างต้น ศีลจึงเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่จะทำให้เกิดสมาธิ และสมาธิเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เกิดปัญญา ปัญญาก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จิตหลุดพ้นจากอาสวะ
หน้าที่การเป็นเนื้อนาบุญ หน้าที่ของพระภิกษุอีกหน้าที่หนึ่ง ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญก็คือ การเป็นเนื้อนาบุญ หน้าที่การเป็นเนื้อนาบุญนี้อาจจะถูกมองข้ามจากพระส่วนมากในสมัยนี้ ทั้งๆที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ซึ่งอาจจะเป็นส่วนมากที่สุดด้วยซ้ำไป ที่มาทำบุญตักบาตรโดยมีความคิดที่คาดหวังในบุญ เพื่อต้องการจะนำบุญไปใช้ในเหตุผลต่างๆนานาเช่น อาจจะต้องการให้บุญแก่ผู้ล่วงลับ หรือต้องการให้บุญกับตนเองเพื่อความสบายในภายภาคหน้า หรือต้องการบุญเพื่อจะทำให้พ้นจากสภาพความเป็นทุกข์ในปัจจุบัน
ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างของพระในสมัยก่อนนั้น มาเป็นตัวอย่างประกอบบทความ ซึ่งท่านเป็นตัวอย่างของพระที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และหน้าที่ตรงนี้สูงมาก ครั้งหนึ่งที่พระมหากัสสปเถระหลังจากได้รับการอุปสมบทจากองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยตรงด้วยวิธีการรับโอวาท๓ ซึ่งหลังจากที่ได้รับการอุปสมบทใหม่ๆ ท่านยังไม่ได้บรรลุธรรมอันใด ต่อมาท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ได้ ๗ วันท่านจึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านได้กล่าวดังนี้ว่า “ ดูก่อนผู้มีอายุ เราเป็นหนี้บริโภค ก้อนข้าวของราษฎรถึง ๑ สัปดาห์ วันที่ ๘ พระอรหัตผลจึงปรากฏขึ้น ” (อ้างอิง ๖) คำพูดของท่านพระมหากัสสปเถระ ได้แสดงถึงความรับผิดชอบอย่างสูงต่อหน้าที่ของท่านว่า ขณะที่ท่านยังไม่ได้บรรลุธรรม ท่านเป็นหนี้ก้อนข้าวที่ผู้คนนำมาถวายท่านถึง ๑ สัปดาห์ ในส่วนนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีมากเช่นกัน เหมาะสำหรับเป็นตัวอย่างให้ผู้คนปฏิบัติตาม ในความคิดของผู้เขียนนั้น ไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้ที่เป็นพระเท่านั้น ที่จะมีความรับผิดชอบในส่วนนี้ แม้แต่คฤหัสถ์ก็ยังนำส่วนนี้มาเป็นตัวอย่างได้ เช่นขณะที่เราทำงานหาเงิน เงินที่เราได้มานั้น เราได้ทำงานอย่างเต็มที่หรือไม่ เราเป็นหนี้ก้อนเงินที่นายจ้างหรือลูกค้านำมาให้เราหรือไม่ หรือ ขณะที่เราได้เงินจากบิดามารดา เราได้เป็นลูกที่ดีหรือไม่ เป็นต้น ความรับผิดชอบนั้นควรจะมีอยู่ในทุกส่วนในสังคม เมื่อมีอยู่ในทุกส่วนแล้ว ทุกส่วนย่อมมีความเจริญ
นอกจากเรื่องพระกัสสปเถระแล้ว ก็ยังมีอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวอย่างของพระภิกษุที่ได้รับ อาหารจากชาวบ้านที่หาอาหารมาได้ด้วยความยากลำบาก ท่านจึงมีความเคารพในบิณฑบาตที่ชาวบ้านถวายด้วยความศรัทธา ซึ่งท่านจะพยายามปฏิบัติตนเพื่อสมกับได้บิณฑบาตของชาวบ้านนั้น (อ้างอิง ๗.๑)
เรื่องพระมหามิตตเถระ เล่ากันว่า มีพระเถระรูปหนึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำชื่อกสกะ และมีมหาอุบาสิกาผู้หนึ่งบำรุงพระเถระนั้นเหมือนบุตร วันหนึ่งนางจะต้องเข้าไปในป่า จึงสั่งลูกสาวว่า “ เมื่อพระเป็นเจ้ามิตตะ พี่ชายของเจ้ามาแล้ว ให้ลูกนำ ข้าวสาร น้ำนม เนยใส น้ำอ้อย ที่เก็บไว้ปรุงเป็นอาหารถวายด้วยนะลูก ” ลูกสาวถามว่า “ ก็แม่จะรับประทานไหมจ๊ะ ” มหาอุบาสิกาตอบว่า “ ก็เมื่อวานนี้ แม่รับประทานอาหารสำหรับค้างคืน (ปาริวาสกภัต) ที่ปรุงกับน้ำส้มแล้ว ” ลูกสาวถามว่า “ แม่จะรับประทานกลางวันไหมจ๊ะ ” มหาอุบาสิกาสั่งว่า “ เจ้าจงใส่ผักดองแล้วเอาปลายข้าวสาร ต้มข้าวต้มมีรสเปรี้ยวเก็บไว้ให้แม่เถอะลูก ”
ขณะนั้นเอง พระเถระครองจีวรแล้ว กำลังนำบาตรออก(จากถลก) ได้ยินเสียงนั้นพอดี เมื่อได้ยินเสียงนั้นจึงสอนตนเองว่า “ ได้ยินว่า มหาอุบาสิการับประทานแต่อาหารสำหรับค้างคืนกับน้ำส้ม แม้กลางวันก็จักรับประทานข้าวต้มเปรี้ยวใส่ผักดอง นางบอกให้นำอาหารมี ข้าวสาร น้ำนม เนยใส น้ำอ้อย เพื่อประโยชน์แก่ตัวเราเอง ก็มหาอุบาสิกานั้นมิได้หวังที่นาที่สวน อาหาร และผ้า เพราะอาศัยเราเลย แต่ปรารถนาสมบัติ ๓ ประการ (มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ) จึงถวาย แล้วตัวเรา จักสามารถให้สมบัติเหล่านั้นแก่มหาอุบาสิกานั้นได้หรือไม่เล่า ”
เมื่อพระเถระสอนตัวเองเสร็จ จึงคิดต่อไปว่า “ บิณฑบาตนี้แล ตัวเรานี้ยังมีราคะ โทสะ โมหะ อยู่ไม่อาจรับได้ ” พระเถระคิดดังนี้แล้ว จึงเก็บบาตรเข้าถลก ปลดดุมจีวร กลับไปถ้ำกสกะทันที เก็บบาตรไว้ใต้เตียง พาดจีวรไว้ที่ราวจีวร นั่งลงอธิษฐานความเพียรว่า ถ้าเราไม่บรรลุพระอรหันต์ จะไม่ออกไปจากถ้ำดังนี้ ภิกษุผู้ไม่ประมาทอยู่มาช้านานเจริญวิปัสสนา ก็บรรลุพระอรหัตก่อนเวลาอาหารเช้า เป็นพระมหาขีณาสพ (สิ้นอาสวะแล้ว) นั่งยิ้มอยู่ เหมือนดอกปทุมที่กำลังแย้มฉะนั้น เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นไม้ใกล้ประตูถ้ำเปล่งอุทานว่า “ ท่านบุรุษอาชาไนย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน ท่านยอดบุรุษ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่านผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นผู้ควรทักษิณาทาน ” ดังนี้ แล้วเทวดานั้นยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ ท่านเจ้าข้า พวกหญิงแก่ถวายอาหารแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย เช่นท่านผู้เข้าไปบิณฑบาต เธอย่อมพ้นจากทุกข์ได้ ” พระเถระลุกขึ้นเปิดประตูเพื่อดูเวลา ทราบว่า ยังเช้าอยู่ จึงถือบาตร และจีวรเข้าสู่หมู่บ้าน ฝ่ายเด็กหญิง จัดเตรียมอาหารเสร็จแล้ว นั่งเฝ้าคอย ดูอยู่ตรงประตู ด้วยนึกว่า ประเดี๋ยวพี่ชายเราคงจะมา เมื่อพระเถระมาถึงประตูเรือนแล้ว เด็กหญิงนั้น ก็รับบาตรบรรจุเต็มด้วยอาหาร เจือน้ำนม ที่ปรุงด้วยเนยใส และน้ำอ้อยแล้ว วางไว้บนมือ(ของพระเถระ) พระเถระทำอนุโมทนาว่า จงมีสุขเถิด แล้วก็หลีกไป เด็กหญิงนั้นยืนจ้องดูท่าน ซึ่งในคราวนั้น ผิวพรรณของพระเถระบริสุทธิ์ยิ่งนัก อินทรีย์ผ่องใส หน้าของท่านเปล่งปลั่งยิ่งนัก ประดุจผลตาลสุกหลุดออกจากขั้วฉะนั้น เมื่อมหาอุบาสิกากลับมาจากป่าถามว่า “ พี่ชายของเจ้ามาแล้วหรือลูก ” เด็กหญิงนั้นก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้มารดาฟัง มหาอุบาสิกาก็รู้ได้ว่า วันนี้ บรรพชิตกิจแห่งบุตรของเราถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ หมายเหตุ : เรื่องราวของพระมิตตเถระเป็นตัวอย่างที่ดีและมีประโยชน์มาก สามารถนำท่านเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นปฏิบัติตามได้ จนกระทั่งอรรถกถาจารย์ ได้นำเรื่องนี้มาบรรจุไว้ในส่วนของอรรถกถา (อ้างอิง ๗.๒) เพื่ออธิบายธรรมในพระไตรปิฎกส่วนของหัวข้อ ธรรมเป็นเหตุเกิดวิริยสัมโพชฌงค์ ข้อที่ ๔ การเคารพยำเกรงต่อบิณฑบาต
(ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนดังนี้ว่า พิจารณาความเคารพยำเกรงต่อบิณฑบาตอย่างนี้ว่า มนุษย์เหล่าใดบำรุงเธอด้วยปัจจัยมีบิณฑบาตเป็นต้น มนุษย์เหล่านั้นนี้ ก็ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ทาส และคนงานของเธอเลย ทั้งมนุษย์เหล่านั้นที่ถวายปัจจัยอันประณีตต่างๆแก่เธอ ซึ่งมีจีวรเป็นต้น โดยที่มนุษย์เหล่านั้นที่ถวายก็ไม่ได้คิดว่า จักอาศัยเธอเลี้ยงชีวิต แต่แท้ที่จริง เขาหวังว่าสิ่งที่ตนทำแล้วมีผลมาก จึงถวาย)
หมายเหตุ : ผู้เขียนขอเน้นย้ำให้ทุกท่านพิจารณาประโยคดังต่อไปนี้ ให้ดีอีกสักครั้ง นั่นคือ “ มนุษย์เหล่านั้นนี้ ก็ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ทาส และคนงานของเธอเลย ” ประโยคนี้พยายามบอกว่า พวกคนที่มาถวายปัจจัยต่างๆ (บิณฑบาต, ยารักษาโรคฯลฯ) ให้แก่พระทั้งหลายนั้น คนเหล่านั้นไม่ได้เป็นอะไรกับพระเหล่านั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นลูก หลาน ญาติ หรือคนรู้จัก แต่ทำไมเขาถึงจำเป็นต้องให้ปัจจัยต่างๆให้กับพระเหล่านั้นด้วยเล่า
เมื่ออ่านเรื่องพระมิตตเถระจบแล้ว ก็รู้ได้ถึงความเคารพในบิณฑบาต ความรับผิดชอบต่อผู้อื่นของท่าน ท่านได้พยายามประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม เพื่อให้ญาติโยมที่หาปัจจัยมาด้วยความยากลำบากได้บุญอย่างสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยนี้ ญาติโยมที่มาถวายอาหารพระ บางคนก็เต็มไปด้วยความทุกข์ต่างๆ บางคนก็เต็มไปด้วยความเจ็บป่วย บางคนก็เป็นหนี้เป็นสิน บางคนก็มีปัญหาเรื่องครอบครัว บางคนก็ต้องการบุญให้แก่พ่อแม่อันเป็นที่รักยิ่งของเขาเหล่านั้นซึ่งได้จากไป เป็นต้น
ถึงแม้ว่าท่านไม่ได้บรรลุคุณธรรมขั้นสูง ขึ้นไปเรื่อยๆตามลำดับ เช่น ฌาน หรือมรรคผลใดๆ แต่อย่างน้อยถ้าท่านยังเป็นพระที่มีศีล ก็เป็นเนื้อนาบุญให้กับญาติโยมได้แล้ว ดังในอรรถกถาที่อธิบายทักขิณาสูตร (อ้างอิง ๘) ได้กล่าวว่าครั้งหนึ่ง นายพรานผู้หนึ่งผู้อยู่ บ้านวัฒมานะ ต้องการทำบุญอุทิศแก่คนที่ตายแล้ว นายพรานนั้นจึงได้ไปทำบุญแก่ภิกษุผู้ทุศีลรูปหนึ่งถึง ๓ ครั้ง ซึ่งอมนุษย์(ผู้ตายที่นายพรานพยายามอุทิศบุญไปให้ ซึ่งอยู่ในภพภูมิเปรต) ที่นายพรานอุทิศบุญไปให้กลับไม่ได้บุญ จึงร้องตะโกนขึ้นว่า “ ผู้ทุศีลปล้นฉัน ” แต่ในเวลาที่พรานนั้นถวายทานแก่ภิกษุผู้มีศีลรูปหนึ่ง ผลของทักขิณาก็ถึงอมนุษย์นั้นได้
ดังนั้นถ้าเป็นพระละเมิดศีลเสียแล้ว ก็ยากที่จะมีบุญให้กับญาติโยมในเวลาที่ญาติโยมนำปัจจัยมาถวาย หรือยากที่จะตอบแทนบิณฑบาตของชาวบ้านให้ชาวบ้านได้ผลบุญที่ยิ่งๆขึ้นไปด้วย มิหนำซ้ำอย่าว่าแต่จะให้บุญแก่ชาวบ้านเลย แม้แต่ตัวท่านเองที่เป็นพระทุศีลนั้น ตัวท่านเองก็ยังเอาตัวเองไม่รอดเลย จากที่พระองค์ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายไว้ดังนี้ (อ้างอิง ๙)
(เรื่องย่อ) พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ได้ตรัสเตือนภิกษุดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า การที่บุคคลผู้ทุศีลมีธรรมลามก มีความประพฤติ สกปรกน่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน มีความกำหนัดกล้า เป็นดังหยากเยื่อ
ผู้ทุศีลนั้น ไปกอดกองไฟกองใหญ่ที่ลุกโชติช่วงนั้น ยังดีกว่า ไปกอดธิดา หรือบุตรสาวพราหมณ์
ผู้ทุศีลนั้น ไปโดนเชือกหนังอันเหนียว พันแข้งทั้งสองข้าง แล้วชักไปมาจนเชือกหนัง นั้นบาดผิว บาดหนัง บาดเนื้อ ตัดเอ็น ตัดกระดูก ไปจนถึงเยื่อในกระดูก ยังดีเสียกว่า ให้กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีมากราบไหว้
ผู้ทุศีลนั้น ไปโดนบุรุษที่มีกำลังเอาหอกอันคม ที่ชโลมน้ำมัน พุ่งใส่กลางอก ยังดีเสียกว่า ให้กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีมากราบอัญชลี
ผู้ทุศีลนั้น ไปโดนบุรุษที่มีกำลัง นำเอาแผ่นเหล็กแดง มีไฟกำลัง ลุกโชติช่วงนาบ กายตัว ยังดีเสียกว่า ได้ใช้จีวรที่เขาถวายด้วยความศรัทธา
ผู้ทุศีลนั้น ไปโดนบุรุษที่มีกำลัง นำตะขอเหล็กแดง ที่มีไฟลุก โชติช่วงเกี่ยว ง้าง ปากให้อ้าไว้ แล้วกรอกด้วย ก้อนเหล็กแดง ที่มีไฟลุกโชติช่วง เข้าไป ในปาก ก้อนเหล็กแดงที่เข้าไปในปากนั้น จะไหม้ริมฝีปาก ไหม้ปาก ไหม้ลิ้น ไหม้คอ ไหม้อก ไหม้เรื่อยไปจนถึง ลำไส้ใหญ่ แล้วออกทางทวาร ยังดีเสียกว่า บริโภคบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธานั้น
ผู้ทุศีลนั้น ไปโดนบุรุษที่มีกำลัง จับที่ศีรษะหรือที่คอ แล้วให้นั่งทับ นอนทับ บนเตียงเหล็กหรือตั่งเหล็กแดงที่มีไฟกำลังลุก โชติช่วง ยังดีเสียกว่า ไปใช้เตียงตั่งที่เขาถวาย ด้วยศรัทธา
ผู้ทุศีลนั้น ไปโดนบุรุษที่มีกำลัง จับมัดเอาเท้าขึ้นเอาหัวลง โยนลง ในหม้อเหล็กแดง ที่มีไฟกำลังลุกโชติช่วง ผู้นั้นถูกไฟ เผาเดือด ลอยไปลอยมา บางครั้ง ลอยขึ้นข้างบน บางครั้งจมลงข้างล่าง บางครั้งลอยไปทางขวาง ยังดีเสียกว่า เข้าไปใช้วิหารที่เขาถวายด้วยความศรัทธา
|
|
เมื่ออ่านพุทธพจน์ด้านบนที่พระองค์เตือนพระทุศีล ก็หมายความว่าตัวท่านเองก็จะต้องประสบกับความฉิบหายกับการทุศีล นั่นคืออย่าว่าจะเป็นเนื้อนาบุญให้กับญาติโยมเลย แม้แต่ตัวท่านเองท่านก็ยังเอาตัวไม่รอด อีกทั้งเมื่ออ่านเนื้อเรื่องด้านบนเกี่ยวกับนายพรานผู้หนึ่งผู้อยู่บ้านวัฒมานะ เราก็พอคาดเดาได้ว่า ถ้าทำบุญกับพระทุศีล นั่นก็หมายความว่า ผู้ที่ทำบุญหรือผู้ที่รอรับบุญก็คงยังลำบากต่อไปเพราะท่านไม่ได้เป็นเนื้อนาบุญที่ดีสรุปแล้วไม่มีใครได้ผลดีอะไรจากเรื่องดังกล่าวนี้ มีแต่เสียกับเสีย ฝ่ายญาติโยม เสียหายมาก เพราะ ไม่ได้ทำบุญกับเนื้อนาบุญที่ดี ฝ่ายผู้รอส่วนบุญจากที่ญาติโยมทำบุญไปให้ ยิ่งเสียหายมากเพราะเขาทุกข์ทรมานมาก ในสภาพที่เขาได้รับอยู่ ฝ่ายพระละเมิดศีล ยิ่งเสียหายหนัก เพราะมีอบายภูมิ รอพระเหล่านั้นอยู่
พระวินัยเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนายืนนาน (อ้างอิง ๑๐) ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนดำรงอยู่ไม่นาน พระสารีบุตรจึงไปทูลถามเรื่องดังกล่าวกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งพระองค์ตรัสตอบพระสารีบุตรว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน ส่วนพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน โดยที่พระองค์ตรัสบอกถึงเหตุที่ทำให้ศาสนาดำรงอยู่นานและไม่นานดังนี้
ดูก่อนสารีบุตร พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ มิได้ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรม โดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน ดูก่อนสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ร้อยดีแล้วด้วยด้ายลมย่อมกระจายไม่ได้ ขจัดไม่ได้ กำจัดไม่ได้ซึ่งดอกไม้เหล่านั้นข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาร้อยดีแล้วด้วยด้ายฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอด ระยะกาลยืนนาน ฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อนสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน
หลังจากที่ได้ฟังคำตอบของพระศาสดา ท่านพระสารีบุตรก็ลุกจากอาสนะ ทำผ้าอุตราสงค์ เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี ไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า “ ถึงเวลาแล้วพระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระสุคต ถึงเวลาแล้ว ที่จะทรงบัญญัติสิกขาบท ที่จะทรงแสดงปาติโมกข์แก่สาวก อันจะเป็นเหตุให้พระศาสนานี้ยั่งยืนดำรงอยู่ได้นาน ”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบพระสารีบุตร (เหมือนดังที่ได้เขียนบอกไว้ในตอนต้นของบทความ) “ จงรอก่อนสารีบุตร จงยับยั้งก่อนสารีบุตร ตถาคตผู้เดียวจักรู้กาลในกรณีนั้น พระศาสดายังไม่บัญญัติสิกขาบท ยังไม่แสดงปาติโมกข์แก่สาวก ตลอดเวลาที่ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ต่อเมื่อใดอาสวัฏฐานิยธรรม(ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ) บางเหล่าปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ ”
หลังจากอ่านข้อความแล้ว จึงสามารถกล่าวได้ว่า การบัญญัติสิกขาบทเป็นปัจจัยที่สำคัญที่เป็นเหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่ได้นาน การที่ได้มีพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในวัฏสงสาร เป็นอะไรที่ยากเย็นสุดจะพรรณนา เป็นสิ่งมีค่าที่สุดหาที่เปรียบมิได้ใน ๓๑ ภูมิ ดังนั้น อายุของพระพุทธศาสนานั้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งตามไปด้วย ซึ่งสิกขาบทนั้นก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ยืนนาน การที่พระพุทธศาสนาสามารถดำรงอยู่ได้ยืนนานย่อมเกิดประโยชน์มากมายแก่สรรพสัตว์ การที่พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้นานขึ้น ๑ วินาทีนั้นย่อมมีค่ามากมายประมาณมิได้ เพราะจำนวนสัตว์ที่ประมาณมิได้ที่ได้รับประโยชน์ คูณกับจำนวน ๑ วินาทีนั้น ย่อมทำให้เกิดคุณค่าที่มากมายมหาศาลประมาณมิได้ตามจำนวนสัตว์ที่คูณเข้าไป ลองคิดดูว่าการที่เรามีโรงไฟฟ้า โรงประปา หรือสวนสาธารณะนั้นก่อให้เกิดประโยชน์มากมายมหาศาลแก่ผู้คนแค่ไหน ใน ๑ วินาทีที่มีสาธารณูปโภคนั้นอยู่ ย่อมทำให้มีคนได้รับประโยชน์มากมายมหาศาล อย่างไรก็ตามต่อให้รวมสาธารณูปโภคที่มีอยู่ในโลกทั้งหมดมารวมกัน แล้วนำประโยชน์ที่ได้จากสาธารณูปโภคของคนทั้งหมดมารวมกัน ก็ยังไม่ได้เสี้ยวหนึ่งของประโยชน์ของบุคคลเดียวได้รับจากการทำบุญที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา เนื่องจากแค่คนๆเดียวได้ทำบุญอย่างถูกต้องในพระพุทธศาสนา ผลบุญที่เขาจะได้รับนั้นมากมายมหาศาลยาวนาน ซึ่งมีตัวอย่างมากมายในพระไตรปิฎก ในที่นี้ผู้เขียนจะขอนำเรื่องอดีตชาติของ พระปัญจสีลสมาทานิยเถระ ที่เกี่ยวกับการรักษาศีลมากล่าว ณ ที่นี้ (อ้างอิง ๑๑) ในอดีตย้อนหลังกลับไป ๑ อสงไขย กับอีกแสนมหากัป อยู่ในยุคสมัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอโนมทัสสี ซึ่งขณะนั้นผู้คนในยุคนั้นมีอายุขัยประมาณ ๑แสนปี พระปัญจสีลสมาทานิยเถระ ในตอนนั้นได้ไปบังเกิดในตระกูลหนึ่งในนครจันทวดี เป็นคนยากจนขัดสน ได้ประกอบอาชีพเป็นคนรับจ้างเพื่อเลี้ยงชีพ เนื่องจากท่านเป็นคนยากจนจึงมีข้าวน้ำและอาหารน้อย ท่านมัวแต่ประกอบอาชีพรับจ้างจึงยังไม่มีโอกาสได้บวช ถึงแม้ท่านไม่มีโอกาสได้บวช แต่ท่านก็เห็นโทษภัยในวัฏสงสารว่า โลกทั้งหลายถูกความมืดมิด(กิเลส)อันใหญ่หลวงปิดบังอยู่ ย่อมถูกไฟ ๓ กอง เผาผลาญ เราจะหลบออกจากความมืดมิดด้วยอุบายอะไรดีหนอ ไทยธรรม(ของสำหรับทำบุญ)ของเราก็ไม่มีเพราะเราเป็นคนยากไร้ทำงานแค่อาชีพรับจ้าง อย่ากระนั้นเลย เราพึงรักษาเบญศีล(ศีล ๕) ให้บริบูรณ์ เมื่อคิดได้ดังนั้น ท่านจึงเข้าไปหาพระภิกษุชื่อนิสภะ(เพื่อรับศีล) ซึ่งเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อท่านได้รับศีล ๕ แล้ว ท่านรักษาศีล ๕ ให้บริบูรณ์ตลอดสิ้นอายุขัย เมื่อเวลาใกล้หมดอายุขัย ทวยเทพได้เข้ามาเชื้อเชิญว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ รถอันเทียมด้วยม้าพันหนึ่งนี้ปรากฏแล้วเพื่อท่าน ” หลังจากนั้น ก่อนที่จะสิ้นชีพ จิตดวงสุดท้าย ท่านได้ระลึกถึงศีลของท่าน ด้วยผลบุญดังกล่าวมานี้ ท่านได้ไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้เป็น จอมเทวดาเสวยราชสมบัติในเทวโลก ๓๐ ครั้ง แวดล้อมด้วย นางอัปสรทั้งหลาย เสวยสุขอันเป็นทิพย์อยู่ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณานับมิได้ ชาติสุดท้ายกุศลส่งผล ให้มาเกิด ในตระกูลพราหมณ์มหาศาลอันมั่งคั่งในนครเวสาลี ซึ่งขณะนั้นพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่ ในขณะที่ มารดาและบิดา ของท่านกำลังรับศีล ๕ ในเวลาเข้าพรรษา ท่านได้ฟังเรื่องศีลพร้อมกับมารดาบิดา จึงระลึกถึงศีลของท่านในอดีตได้บรรลุอรหัต ซึ่งขณะนั้นท่านอายุเพียง ๕ ขวบ เมื่อท่านบรรลุอรหันต์พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ท่าน นับตั้งแต่ชาติที่ท่านรักษาศีลห้าให้บริบูรณ์ในครั้งนั้น ท่านไม่ได้ไปสู่วินิบาต(ภพที่รับทุกข์)เลยตลอด ๑อสงไขยกับอีกแสนมหากัป
ท่านพระปัญจสีลสมาทานิยเถระได้กล่าวคาถาดังนี้
“ เรานั้นได้เสวยยศเพราะกำลังแห่งศีลเหล่านั้น เมื่อจะประกาศผลของศีลที่เราได้เสวยแล้ว โดยจะนำมา ประกาศตลอดโกฏิกัป ก็พึงประกาศได้เพียงส่วนเดียว เรารักษาเบญจศีลแล้ว ย่อมได้เหตุ ๓ ประการ คือเรา เป็นผู้มีอายุยืนนาน ๑ มีโภคสมบัติมาก ๑ มีปัญญาคมกล้า ๑
เบญจศีลอันเราผู้เป็นคนรับจ้าง มีความเพียรประพฤติแล้ว เราพ้นจากเครื่องผูกทั้งปวงได้ในวันนี้ด้วยศีลนั้น ในกัปอัน ประมาณมิได้แต่กัปนี้ เรารักษาเบญจศีลแล้ว ไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่ง (การรักษา) เบญจศีล ”
ด้านบนนี้เป็นตัวอย่างของผู้ที่ทำบุญได้ถูกต้องตามหลักธรรม แล้วได้ประโยชน์มากมายมหาศาล
แต่ถ้าจะเปรียบเทียบในอีกแง่มุมหนึ่ง สมมติมีผู้หนึ่งเกิดความเจ็บป่วยอย่างหนักเป็นอัมพาต คนที่เจ็บป่วยนั้นยินยอมที่จะจ่ายเงินเท่าไหร่เพื่อหายจากความเจ็บป่วยนั้น บางท่านก็จ่ายเงินหลายล้านบาทเพื่อหายจากโรคภัย สำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนเข้านิพพาน ก็ไม่จำเป็นต้องมาทนทุกข์กับความเจ็บป่วยอีกตลอดไป นั่นคือจำนวนเงินที่ต้องรักษาความเจ็บป่วย นำมาคูณกับจำนวนเวลาที่ต้องเวียนว่ายถ้าไม่ได้เข้านิพพาน นั่นคือ ถ้าหนึ่งปี จ่ายเงิน ร้อยบาทพันบาทหรือหมื่นบาทก็แล้วแต่ นำมาคูณกับ อนันต์ (จำนวนเวลาที่ต้องเวียนว่ายถ้าไม่ได้นิพพาน) สรุปได้ค่าคือ อนันต์ประเมินค่ามิได้
ค่าของพระพุทธศาสนาในมุมมองของพระโพธิสัตว์
ส่วนค่าของพระพุทธศาสนาในมุมมองพระโพธิสัตว์ก็เป็นสิ่งที่น่านำมากล่าวถึง ที่ผู้เขียนอ้างอิงในประเด็นนี้ ก็เพื่อว่าถ้าอ้างอิงในผู้ที่มีภูมิธรรมสูง ย่อมจะได้ค่าที่ใกล้จากความเป็นจริงมากที่สุด (อ้างอิง ๑๒) ครั้งหนึ่งที่พระโพธิสัตว์สุตโสมได้ฟังธรรมแค่ ๔ คาถาจากพราหมณ์ผู้หนึ่ง ซึ่งนำภาษิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสปมากล่าวให้พระเจ้าสุตโสมฟัง หลังจากที่พระองค์ทรงฟังภาษิตดังกล่าวแล้ว ทรงพระดำริว่า “ คาถาเหล่านี้ไม่ใช่ภาษิตของพระสาวก ไม่ใช่ภาษิตของฤาษี ไม่ใช่ภาษิตของกวี แต่เป็นภาษิตของพระสัพพัญญู จะควรค่าเท่าไรหนอ ” ทรงพระดำริต่อไปว่า “ แม้เราจักให้จักรวาลทั้งสิ้น กระทำให้เต็มด้วยรัตนะ ๗ ตลอดถึงพรหมโลก ก็ไม่อาจจะทำให้สมควร ”
สิ่งที่พระโพธิสัตว์สุตโสมดำริแสดงถึง ความซาบซึ้งถึงคุณค่าของพระธรรม ด้วยคิดว่าจะนำแก้วแหวนเงินทองมากองให้เต็มโลก แล้วสูงขึ้นไปถึงพรหมโลก ก็ยังเทียบไม่ได้กับค่าของพระธรรม ๔ คาถานั้น ระยะทางระหว่างพรหมโลกชั้นที่ ๑ กับโลกมนุษย์ (อ้างอิง ๑๓) มีการเปรียบเทียบไว้ว่า นำก้อนศิลาขนาดเท่าปราสาท ทิ้งลงมาจากชั้นนี้ จะใช้เวลาถึง ๔ เดือนถึงตกมายังโลก นั่นคือนำเพชรแก้วแหวนเงินทองมาวางกองท่วมทั้งจักรวาลสูงขึ้นไปถึงพรหมโลกค่าก็ยังไม่คู่ควรกับพระธรรม ๔ คาถานั่นเอง ดังนั้นค่าพระธรรม ๔ คาถาในมุมมองของพระโพธิสัตว์ ก็ยังไม่สามารถประมาณค่าได้ ดังนั้นถ้าพระพุทธศาสนาทั้งหมดนั้นจะมีค่าประมาณไหน
ส่วนการประเมินคุณค่าของพระพุทธศาสนาได้อย่างแท้จริงนั้น คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะคุณค่าของพระพุทธศาสนาที่แต่ละคนจะสามารถประเมินมูลค่าออกมาได้ก็แตกต่างกันไปตามภูมิธรรมของแต่ละคน คนมีภูมิธรรมที่สูงก็ย่อมประเมินค่าของพระพุทธศาสนาได้ถูกต้องมากกว่าคนที่ภูมิธรรมต่ำ ผู้ที่สามารถประเมินคุณค่าของพระพุทธศาสนาได้ถูกต้องที่สุดก็น่าจะมีแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ส่วนผู้อื่นก็ลดหลั่นกันตามลำดับของภูมิธรรม (อ้างอิง ๑๔) ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงกล่าวถึงค่าของพระธรรมไว้ ด้วยพุทธพจน์ดังนี้ ในครั้งที่ท่านทำนายพระสุบินของพระเจ้าปเสนทิโกศล นั่นคือ
“ ธรรมที่ตถาคตแสดงไว้ มีมูลค่าควรแก่พระนิพพาน ”
|
|
เป็นพุทธพจน์ที่กล่าวถึงมูลค่าของพระธรรม พระองค์ตรัสว่า “ มีมูลค่าควรแก่พระนิพพาน ” การให้มูลค่าของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมมีความสมบูรณ์ที่สุด ไม่จำเป็นต้องอธิบายให้มากมาย
คำว่า “ นิพพาน ” นั้นเป็นคำที่มีความหมายสูงล้ำประมาณมิได้ ครอบคลุมมูลค่าทุกสรรพสิ่ง
ความพยายามที่จะอธิบายมูลค่าที่แท้จริงของสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ ยิ่งอธิบายก็อาจจะเป็นการทำให้มูลค่าของสิ่งนั้นลดลงก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ตามจากที่กล่าวถึงคุณค่าของพระพุทธศาสนาดังที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ก็เพื่อแสดงให้ทุกคนพอจะรับรู้ว่า พระพุทธศาสนามีค่าประมาณมิได้อย่างแท้จริง ต่อให้พระธรรมแค่ ๑ ธรรมบท ก็ยังยากที่จะหาที่สุดแห่งคุณของพระธรรมบทนั้นได้เลย ดังนั้นการที่พระพุทธศาสนายืนยาวได้กว่าเดิมแค่วินาทีเดียว ก็เป็นคุณค่าที่มากประมาณมิได้ และข้อสำคัญพระวินัยนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้พระศาสนายืนนาน
จากความสำคัญของพระวินัยดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ พระวินัยเปรียบเหมือนตัวแทนของพระศาสดาที่พระองค์ทรงแต่งตั้ง, พระวินัยเป็นกฎทางธรรม, พระวินัยเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติธรรม และพระวินัยเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนายืนนาน ดังนั้น จึงขอให้ชาวพุทธได้เห็นความสำคัญและตระหนักว่าพระวินัยนั้นเป็นเรื่องที่ทุกท่านต้องรักษา เคารพยำเกรง เพื่อประโยชน์แห่งสรรพสัตว์ทั้งหลายและตัวท่านเอง
อุททานคาถา (อ้างอิง๑๕) พระวินัยมีประโยชน์มาก คือนำมาซึ่งความสุขแก่พวกภิกษุ ผู้มีศีลเป็นที่รัก ข่มพวกที่มีความปรารถนาลามก ยกย่อง พวกที่มีความละอายและทรงไว้ซึ่งพระศาสนา เป็นอารมณ์ ของพระสัพพัญญชินเจ้า ไม่เป็นวิสัยของพวกอื่น เป็นแดน เกษม อันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว ไม่มีข้อที่น่า สงสัย ภิกษุผู้ฉลาดในขันธกะ วินัย บริวาร และมาติกา ปฏิบัติด้วยปัญญาอันหลักแหลม ชื่อว่าผู้ทำประโยชน์อันควร ชนใดไม่รู้จักโค ชนนั้นย่อมรักษาฝูงโคไม่ได้ฉันใด ภิกษุก็ ฉันนั้น เมื่อไม่รู้จักศีล ไฉนเธอจะพึงรักษาสังวรไว้ได้ เมื่อพระสุตตันตะ และพระอภิธรรมเลอะเลือนไปก่อน แต่พระวินัยยังไม่เสื่อมสูญ พระศาสนาชื่อว่า ยังตั้งอยู่ต่อไป
[หมายเหตุ : ในส่วนของอรรถกถาได้อธิบายเกี่ยวกับการบริโภคปัจจัย(อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ฯลฯ) ที่ชาวบ้านมาถวายด้วยความศรัทธา ของพระภิกษุ ซึ่งได้คัดมาโดยย่อดังนี้ (อ้างอิง ๑๖) การบริโภค(ปัจจัย ๔)นั้นมี ๔ ประเภท คือ ๑. ไถยบริโภค (บริโภคอย่างขโมย ) คือ การบริโภคของภิกษุผู้ทุศีลซึ่งนั่งบริโภคอยู่ แม้ในท่ามกลางสงฆ์ ๒. อิณบริโภค (บริโภคอย่างเป็นหนี้ ) คือ การบริโภคไม่พิจารณาของภิกษุผู้มีศีล ชื่อว่า อิณบริโภค เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้มีศีลพึงพิจารณาจีวรทุกขณะที่บริโภคใช้สอย บิณฑบาตพึงพิจารณาทุก ๆ คำกลืน เมื่อไม่อาจอย่างนั้น พึงพิจารณาในกาลก่อนฉัน หลังฉัน ยามต้น ยามกลาง และยามสุดท้าย หากเมื่อเธอไม่ทันพิจารณาอรุณขึ้นย่อมตั้งอยู่ในฐานะบริโภคหนี้ แม้เสนาสนะก็พึงพิจารณาทุก ๆ ขณะที่ใช้สอย ควรจะมีสติเป็นปัจจัยทั้งในขณะรับ ทั้งในขณะบริโภค ภิกษุผู้ทำสติในการรับ ไม่ทำในการบริโภคอย่างเดียว เป็นอาบัติ ภิกษุผู้ไม่ทำสติในการรับ ทำแต่ในเวลาบริโภคไม่เป็นอาบัติ ที่กล่าวเช่นนั้นเพราะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุย่อมพิจารณาโดยแยบคายแล้วนุ่งห่มจีวร ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่ทำสติในการรับ แต่ทำสติในการบริโภค ๓. ทายัชชบริโภค (บริโภคอย่างเป็นผู้รับมรดก) คือ การบริโภคปัจจัยของพระเสขะ ๗ จำพวก พระเสขะ ๗ จำพวกนั้น เป็นพระโอรสของพระผู้มีพระภาคเจ้า (พุทธบุตร) เพราะฉะนั้น จึงเป็นทายาทแห่งปัจจัยอันเป็นของพระพุทธบิดา บริโภคอยู่ซึ่งปัจจัยเหล่านั้น ถามว่า ก็พระเสขะเหล่านั้น บริโภคปัจจัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า หรือบริโภคปัจจัยของพวกคฤหัสถ์ ? ตอบว่า ปัจจัยเหล่านั้น แม้อันพวกคฤหัสถ์ถวาย ก็จริง แต่ชื่อว่าเป็นของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า พระเสขะเหล่านั้น บริโภคปัจจัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า ๔. สามีบริโภค (บริโภคอย่างเป็นเจ้าของ) คือ การบริโภคของพระขีณาสพทั้งหลาย ชื่อว่า สามีบริโภค พระขีณาสพทั้งหลายเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นเจ้าของบริโภคเพราะล่วงความ เป็นทาสแห่งตัณหาได้แล้ว บรรดาการบริโภคทั้ง ๔ นี้ สามีบริโภคและทายัชชบริโภค ย่อมควรแม้แก่ภิกษุทุกจำพวก อิณบริโภค ไม่สมควรเลย ในไถยบริโภคไม่มีคำจะพูดถึงเลย ]
อ้างอิง๑ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๕ ข้อที่ ๘
อ้างอิง๒ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๒๐ ข้อที่ ๑๔๑
อ้างอิง๓ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ ๖๓๒ ข้อที่ ๕๓๓
อ้างอิง๔ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่๓๐ พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ ๘๗ ข้อ ๑๕๘
อ้างอิง๕ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่๑๓ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๔๗
อ้างอิง๖ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ ๕๙๖
อ้างอิง๗.๑ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่๑๔ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ ๓๓๘ บรรทัดที่ ๑๔
อ้างอิง๗.๒ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่๑๔ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ ๓๓๘ บรรทัดที่ ๑
อ้างอิง๘ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๓๕ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๒๓๘
อ้างอิง๙ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่ม ๓๗ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาตเล่มที่ ๔ หน้า ๒๖๐ ข้อ ๖๙ อัคคิขันธูปมสูตร
อ้างอิง๑๐ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๒
อ้างอิง๑๑ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่๗๑ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้าที่ ๙๗
อ้างอิง๑๒ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่๖๒ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๖๗๙
อ้างอิง๑๓ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๓๘
อ้างอิง๑๔ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๕๖ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๓๑
อ้างอิง๑๕ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๖ พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๖๖
อ้างอิง๑๖ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่ม ๓ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๕๑
<< จบบทความ >>
|