Text Size
Thursday, April 18, 2024
Top Tab Content

มาอ่านพระไตรปิฎกกันเถิด


มาอ่านพระไตรปิฎกกันเถิด 
     
พระไตรปิฎก

            เป็นที่เก็บรวบรวมพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงค้นพบและประกาศไว้เพื่อสั่งสอนสรรพสัตว์ สมัยก่อนตอนเริ่มแรกที่พระองค์ทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไม่นาน  ไม่ได้มีการบันทึกหรือจารึกพระไตรปิฎกในรูปอักษรเขียน แต่เป็นการถ่ายทอดในแง่ของการบอกกล่าวแบบปากต่อปากจากรุ่นสู่รุ่นแล้วจำสิ่งที่ได้รับการบอกกล่าวไว้ เรียกว่ามุขปาฐะ  และเริ่มมีการบันทึกพระไตรปิฎกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ลงในใบลานเมื่อพ.ศ. ๔๕๐ ในคราวที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๔ ที่ประเทศศรีลังกา  (รายละเอียดเรื่องพระไตรปิฎกขอให้ไปอ่านที่ พระไตรปิฎก : สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้)  

ความสำคัญของพระธรรม


            พระธรรมนั้นมีความสำคัญอย่างที่สุดและประมาณมิได้ (รายละเอียดให้ไปอ่านที่ การระลึกถึงพระคุณของพระธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)

พระธรรมเปรียบเสมือนตัวแทนของพระผู้มีพระภาคเจ้า

            ความสำคัญของพระธรรมอีกนัยหนึ่งก็คือ พระธรรมเปรียบเสมือนตัวแทนของพระองค์ ซึ่งก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ได้ตรัสบอกแก่เหล่าสาวกทั้งหลายว่า ให้พระธรรมเป็นตัวแทนของพระองค์ ดังพุทธพจน์ดังต่อไปนี้ (อ้างอิง๑)

พุทธพจน์ 
[๑๔๑]  ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า

“  ดูก่อนอานนท์   บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า
ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว    พระศาสดาของพวกเราไม่มี
ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น
ธรรมก็ดี วินัยก็ดี  อันใดอันเราแสดงแล้ว
ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ 
ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ
โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ” 
  

                พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ประเสริฐสูงสุด เป็นบุคคลที่เป็นเอกของโลก ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน มีพระปัญญาอันสูงสุด เป็นสัพพัญญู พระญาณหยั่งรู้ของพระองค์นั้น ไม่มีขอบเขตของกาลเวลา  ดังนั้นสิ่งที่พระองค์ตรัสย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นประโยชน์สูงสุด ดังนั้นเมื่อดูจากพุทธพจน์ จึงไม่ต้องสงสัยถึงความสำคัญอีกนัยหนึ่งของพระธรรม นั่นคือพระธรรมเปรียบเสมือนตัวแทนของพระผู้มีพระภาคเจ้า  พระองค์ไม่ได้แต่งตั้งใครเป็นตัวแทนพระองค์นอกจากพระธรรมคำสั่งสอน  

               ขอให้ทุกท่านพิจารณาให้ดีว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ก็ยังมีพระอรหันต์สาวก ซึ่งประกอบด้วย อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทาญาณ เป็นเอหิภิกขุ ได้ฟังธรรมต่อหน้าพระพักตร์ของพระองค์ ยังมีพระอรหันต์ที่ทรงคุณอันยิ่งใหญ่อีกมากมาย 
               พระมหากัสสปเถระ (เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์)
               พระอนุรุทธเถระ (เอตทัคคะในทางทิพยจักขุญาณ)
               พระอานนท์เถระ (เอตทัคคะในทาง : เป็นพหูสูต, เป็นผู้มีสติ, เป็นผู้มีคติ, เป็นผู้มีความเพียร, เป็นพุทธอุปัฏฐาก)
               พระอุบาลีเถระ (เอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย)
               พระพากุลเถระ (เอตทัคคะในทางผู้มีอาพาธน้อย)
               ฯลฯ

               ท่านเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งนั้น แต่พระองค์ก็มิได้มอบหมายให้พระอรหันต์สาวกผู้ทรงคุณอันยิ่งบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  เป็นตัวแทนของพระองค์ 

                ซึ่งแม้แต่ครั้งหนึ่ง ในเหตุการณ์ที่พระเทวทัตทูลขอปกครองสงฆ์จากพระผู้มีพระภาคเจ้า (อ้างอิง๒) 
        
           พระเทวทัตก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า      
                 “  พระพุทธเจ้าข้า   บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระชราแล้ว
                     เป็นผู้เฒ่า แก่หง่อมแล้ว   ล่วงกาลผ่านวัยไปแล้ว   บัดนี้   
                     ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงขวนขวายน้อย
                     ประกอบทิฏฐธรรมสุขวิหารอยู่เถิด   
                     ขอจงมอบภิกษุสงฆ์แก่ข้าพระพุทธเจ้า
                     ข้าพระพุทธเจ้าจักปกครองภิกษุสงฆ์  ”

          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า 
                “  ดูก่อนเทวทัต   แม้แต่สารีบุตร และโมคคัลลานะ 
                    เรายังไม่มอบภิกษุสงฆ์ให้ ไฉนจะพึงมอบให้เธอ
                    ผู้เช่นซากศพ  ผู้บริโภคปัจจัย  เช่นก้อนเขฬะเล่า ” 
 

               เมื่อดูจากพุทธพจน์ข้างต้นแล้ว ประเด็นที่กำลังอ้างอิงนั้นไม่ได้อยู่ในส่วนของพระเทวทัต  แต่อยู่ในส่วนที่พระองค์กล่าวถึงในส่วนของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ซึ่งแม้แต่พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ พระองค์ก็ยังทรงไม่ได้มอบหมาย  ให้ปกครองคณะสงฆ์ 

               อย่างนั้นในเมื่อ ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่สามารถจะเป็นตัวแทนของพระองค์ได้แล้ว  แต่ถ้ารวมกลุ่มเป็นคณะ จะสามารถเป็นตัวแทนของพระองค์ได้หรือไม่  เช่นคณะสงฆ์พอจะเป็นตัวแทนพระองค์ได้หรือไม่ เพราะว่าพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณแต่ละองค์นั้นมีความโดดเด่น และชำนาญต่างๆกัน องค์นี้มีความสามารถโดดเด่นด้านตาทิพย์ องค์นี้มีความโดดเด่นด้านพระวินัย ฯลฯ  ถ้าให้คณะสงฆ์ผู้เป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ เป็นเอตทัคคะด้านต่างๆรวมตัวกันเป็นสภา เพื่อเป็นตัวแทนพระองค์พอจะได้หรือไม่

               ซึ่งคำตอบก็คือ  “ ไม่ได้ ”  เพราะแม้แต่คณะสงฆ์ พระองค์ก็มิได้มอบหมายหน้าที่ให้คณะสงฆ์เป็นตัวแทนของพระองค์หลังจากพระองค์ปรินิพพาน 

               แล้วถ้าเป็นคณะพระโพธิสัตว์ล่ะ สามารถจะเป็นตัวแทนพระองค์ได้หรือไม่  ในคัมภีร์อนาคตวงศ์กล่าวถึง มหาโพธิสัตว์ ๑๐ พระองค์  ที่บำเพ็ญบารมีอันยิ่งยวดมาตลอดเวลาอันยาวนาน จนถึงขั้นเป็นนิยตโพธิสัตว์ นั่นคือพระโพธิสัตว์เหล่านั้นจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอนในอนาคตกาล  นั่นหมายความว่าพระโพธิสัตว์เหล่านั้นมีบารมีอันยิ่งใหญ่ทั้ง ๓๐ ทัศ ใกล้จะครบบริบูรณ์   (ซึ่งใน ๑๐ องค์นั้นมีพระโพธิสัตว์รามเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ที่ไม่ได้มีการกล่าวถึงในพระไตรปิฎกในส่วนของการได้มีโอกาสมาพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดม)   ดังนั้นถ้าให้คณะพระโพธิสัตว์ตั้งเป็นสภา แล้วทำหน้าที่เป็นตัวแทนพระองค์ได้หรือไม่  ซึ่งคำตอบก็คงเหมือนเดิมนั่นคือไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นพระองค์ก็ต้องแต่งตั้งไปแล้ว

               ส่วนในความคิดของผู้เขียนแล้ว คงจะเป็นไปไม่ได้เพราะ พระมหาโพธิสัตว์ทั้ง ๙ พระองค์นั้น เป็นมนุษย์ ๕ มาร ๑ สัตว์เดรัจฉาน ๒ อสูร ๑  และถึงแม้จะมีบารมีเยอะแต่ก็ไม่ได้อยู่ในวิสัยและยังไม่ถึงเวลาที่จะทำหน้าที่นั้นได้

               สรุปแล้วในโลกต่างๆ ทั้งมนุษย์โลก เทวโลก มารโลก พรหมโลก หรือไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่ง หรือใครก็ตามนั้น  ไม่มีใครเหมาะสมมีความสามารถพอจะรับหน้าที่เป็นตัวแทนพระองค์ภายหลังจากพระองค์ทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้   เพราะว่ามิฉะนั้นพระองค์ก็ต้องตรัสแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่งเป็นตัวแทนพระองค์ไปแล้ว  พระองค์ย่อมรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ที่สุด  สิ่งใดที่เหมาะจะเป็นตัวแทนของพระองค์  นั่นคือไม่มีใครเหมาะสมจะเป็นตัวแทนพระองค์มากกว่าพระธรรมคำสั่งสอน

               ดังนั้นความสำคัญอีกนัยหนึ่งของพระธรรมนั้นเปรียบได้กับตัวแทนของพระองค์

พระธรรมนั้นเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเคารพ

               พระองค์มิได้ตั้งพระธรรมเป็นตัวแทนของพระองค์เท่านั้น  พระองค์ยังตั้งพระธรรมให้อยู่ในส่วนที่พระองค์เคารพ (อ้างอิง ๓)

พุทธพจน์ 
“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อครั้งแรกตรัสรู้  เราพักอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ 
ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา  ตำบลอุรุเวลา   เมื่อเราเร้นอยู่ในที่สงัด 
เกิดปริวิตกขึ้นว่า  บุคคลผู้ไม่มีที่เคารพ  ไม่มีที่ยำเกรง ย่อมอยู่เป็นทุกข์    
เราจะพึงสักการะ เคารพ พึ่งพิงสมณะ หรือพราหมณ์ผู้ใด อยู่เล่าหนอ 
เราตรองเห็นว่า  เราจะพึงสักการะเคารพพึ่งพิงสมณะ
หรือพราหมณ์อื่นอยู่   ก็เพื่อทำสีลขันธ์  สมาธิขันธ์  ปัญญาขันธ์
วิมุตติขันธ์ของเราที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์    ก็แต่ว่าเราไม่เห็นสมณะหรือ
พราหมณ์อื่นที่ถึงพร้อมด้วยศีล  สมาธิ  ปัญญา วิมุตติยิ่งกว่าตนในโลก
ทั้งเทวโลก  ทั้งมารโลก  ทั้งพรหมโลก  ในหมู่สัตว์ทั้งเทวดามนุษย์ 
ทั้งสมณพราหมณ์   ซึ่งเราจะพึงสักการะเคารพพึ่งพิงอยู่ได้ดังนี้แล้ว
เราตกลงใจว่า อย่ากระนั้นเลย  ธรรมใดที่เราตรัสรู้นี้ 
เราพึงสักการะเคารพพึ่งพิงธรรมนั้นอยู่เถิด ”


               โดยที่หลังจากพระองค์พิจารณาดังนี้แล้ว  ท้าวสหัมบดีพรหมได้เสด็จมาหาพระองค์ และได้ทรงยืนยันในสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพิจารณาว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ดูได้จากพุทธพจน์ต่อไปนี้

               “ ครั้นแล้วสหัมบดีพรหมทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง   คุกเข่าข้างขวาลงที่พื้นดิน 
               ประคองอัญชลีตรงมาทางเรา   กล่าวกะเราว่า   ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า  
               ข้อที่พระองค์ทรงตกลงพระหฤทัยนั้นถูกแล้ว   ข้าแต่พระสุคตเจ้า   ข้อที่พระองค์
               ทรงตกลงพระหฤทัยนั้นชอบแล้ว  พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้เหล่าใดที่มีมา
               แล้วในอดีตกาล   พระผู้มีพระภาคเจ้า  แม้เหล่านั้น    ก็ได้ทรงสักการะเคารพ
               พึ่งพิงพระธรรมอยู่เหมือนกัน  พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้เหล่าใดที่จักมีใน
               อนาคตกาล   พระผู้มีพระภาคเจ้า   แม้เหล่านั้น   ก็จักทรงสักการะเคารพพึ่งพิง
               พระธรรมนั่นแลอยู่   แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลบัดนี้
               ก็ขอจงทรงสักการะเคารพพึ่งพิงพระธรรมนั้นอยู่เถิด ”

สหัมบดีพรหมได้กล่าวคำนี้แล้ว   จึงกล่าวคำประพันธ์นี้ อีกว่า
                            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดที่ล่วงไปแล้วก็ดี  
               พระพุทธเจ้าเหล่าใดที่ยังไม่มาถึงก็ดี  
               พระพุทธเจ้าพระองค์ใดผู้ยังความโศก
               ของชนเป็นอันมากให้เสื่อมหายในปัจจุบันนี้ก็ดี  
               พระพุทธเจ้าทั้งปวงนั้นเป็น
                            ผู้ทรงเคารพพระสัทธรรมแล้ว  ทรงเคารพ
               พระสัทธรรมอยู่    และจักทรงเคารพพระสัทธรรม 
               นี่เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
                            เพราะเหตุนั้นแล   ผู้รักตน  จำนงความเป็นใหญ่   
               ระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย 
               พึงเคารพพระสัทธรรมเถิด

               พระองค์ตั้งพระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ในเวลาที่พระองค์ไม่อยู่แล้ว แค่นี้ก็ไม่สามารถบรรยายถึงความยิ่งใหญ่ของพระธรรมได้แล้ว   แต่นี่พระองค์ไม่เพียงให้พระธรรมเป็นตัวแทนพระองค์เท่านั้น  แต่พระองค์ได้พิจารณาและตั้งให้พระธรรมอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าพระองค์  อยู่ในส่วนที่พระองค์ยังเคารพพึ่งพิง  เมื่อพิจารณาถึงประเด็นนี้แล้วยิ่งประจักษ์คุณของพระธรรมให้ชัดแจ้งยิ่งขึ้นไปอีก  เพราะว่าแม้แต่พระองค์ผู้ซึ่งประเสริฐสูงสุดหาผู้ที่เปรียบมิได้ ยังเคารพและพึ่งพิงพระธรรม

               อีกทั้งท้าวสหัมบดีพรหมก็ยังได้เสด็จมายืนยันในส่วนที่พระองค์พิจารณาว่า ไม่ใช่เฉพาะแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าองค์ปัจจุบันเท่านั้น  แม้ในอดีต และอนาคต ก็จะทำในสิ่งนี้เช่นเดียวกัน

               ดังนั้นอีกนัยหนึ่ง พระธรรมจึงอยู่ในส่วนที่พระองค์เคารพพึ่งพิงอยู่

(หมายเหตุ เมื่อกล่าวถึงประเด็นนี้แล้ว จึงขอแตกประเด็นสักเล็กน้อย ในเมื่อกล่าวถึงส่วนของสิ่งอันเป็นที่เคารพ เป็นที่พึ่ง  ในประโยคที่พระองค์ได้พิจารณาว่า  “บุคคลผู้ไม่มีที่เคารพ  ไม่มีที่ยำเกรง ย่อมอยู่เป็นทุกข์” แสดงว่าแม้แต่พระองค์ยังหาสิ่งที่พระองค์เคารพ  ดังนั้นทุกท่านที่ยังไม่มีสิ่งใดเคารพ ไม่มีสิ่งใดยำเกรง น่าจะพิจารณาให้ดีว่าสิ่งที่เป็นอยู่นั้นเหมาะสมหรือไม่  เพียงแต่การหาสิ่งใดที่เราจะนำมาเป็นที่เคารพ เป็นที่พึ่งของเรานั้น ก็ควรจะพิจารณาอย่างรอบคอบให้ดีเสียก่อน โดยหาสิ่งที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด เพราะว่า ในความคิดของผู้เขียน ถ้าบุคคลใดมีสิ่งอันเป็นที่เคารพ เป็นที่พึ่ง แต่ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผิด นำพาเราไปสู่ความพินาศ การไม่มีสิ่งที่เราเคารพพึ่งพิง ก็ย่อมดีกว่า ไปเคารพไปพึ่งในสิ่งที่จะนำเราไปสู่ความฉิบหาย)

ความสำคัญของพระไตรปิฎก

              จากที่ได้กล่าวข้างต้นถึงคุณอันยิ่งใหญ่มากประมาณมิได้ของพระธรรมนั้น เพื่อจะบอกกล่าวกับทุกท่านถึงความยิ่งใหญ่ของพระธรรม เพื่อที่จะสามารถพิจารณาถึงส่วนต่อมาได้อย่างชัดเจน นั่นคือส่วนของสิ่งที่ทำหน้าที่เป็นสิ่งรวบรวมพระธรรมคำสั่งสอน นั่นคือพระไตรปิฎก

               ถ้าจะพิจารณาให้ดีนั้น ตัววัตถุหรือสิ่งที่ทำหน้าที่ ไว้สำหรับเป็นที่อยู่ของตัวอักษรเพื่อบันทึกพระธรรม ล้วนๆนั้น อาจจะไม่ได้มีความสำคัญอะไร  ถ้าเป็นพระไตรปิฎกที่จารึกบนใบลาน จริงๆแล้วก็จะเป็นแค่ใบลานธรรมดา ถ้าเป็นหนังสือพระไตรปิฎกก็จะเป็นแค่กระดาษกองหนึ่งเท่านั้น  ยิ่งเป็นสมัยก่อนด้วยแล้ว พระไตรปิฎกอยู่ในความทรงจำของพระภิกษุที่แบ่งกันท่องจำกันมา(มุขปาฐะ) ก็จะเป็นแค่จิตกับสัญญาของผู้ที่ทำหน้าที่ท่องจำเท่านั้น   แต่ความสำคัญอย่างสูงสุดของพระไตรปิฎกนั้นหาได้อยู่กับสิ่งที่พระไตรปิฎกบันทึกหรือจารึกอยู่บนสิ่งใดไม่  แต่กลับอยู่ในสิ่งที่กระดาษหรือใบลานเหล่านั้นบันทึกไว้ต่างหาก นั่นคือเป็นสิ่งที่จัดเก็บรวบรวมพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เปรียบเสมือนตัวแทนของพระองค์และเป็นสิ่งที่พระองค์เคารพ  เมื่อกระดาษหรือใบลานเหล่านั้นได้ไปติดอยู่กับสิ่งล้ำค่าที่สุด กระดาษหรือใบลานเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดไปโดยปริยาย 

               ถ้าเกิดมีใครตั้งใจเจตนาที่จะไปทำลายพระไตรปิฎกใบลานหรือเผาหนังสือพระไตรปิฎก ก็เหมือนกับไปทำลายสิ่งที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอน ไปทำลายสิ่งที่เป็นโอกาสให้เหล่าสัตว์ได้ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอน บาปหรือโทษก็จะเกิดขึ้นด้วยเหตุนั้น  แล้วยิ่งถ้าเกิดสมัยก่อน สมมติมีใครไปฆ่าพระอรหันต์ที่ทำหน้าที่ท่องจำ(มุขปาฐะ)พระไตรปิฎกด้วยแล้ว ก็เหมือนกับไปทำลายสิ่งที่รวบรวมพระธรรมคำสอน และพระอรหันต์ในคราวเดียวกัน 

               ดังที่กล่าวมาแล้ว ความสำคัญของพระไตรปิฎกอยู่ที่การเป็นตัวบันทึกพระธรรมคำสั่งสอน แต่ถ้าจะแบ่งแยกให้ชัดเจน ก็อาจจะแบ่งได้เป็น ๒ ส่วนดังนี้
               ๑. คุณค่าทางโอกาส นั่นคือการที่สิ่งนั้นได้เป็นโอกาสให้สัตว์ได้อ่าน ตราบใดที่ยังมีหนังสือเล่มนี้หรือใบลานแผ่นนี้อยู่ สัตว์ก็ยังมีโอกาสอยู่เสมอ   โอกาสที่คนจะหยิบมาอ่านก็ยังจะมีเสมอ   ขอเพียงยังมีหนังสือที่บันทึกพระธรรมเล่มนี้อยู่  สัตว์ก็ยังมีความหวังอยู่
               ๒. คุณค่าอีกอย่างหนึ่งคือทำหน้าที่เป็นสื่อในการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอน เมื่อมีคนใดคนหนึ่งหยิบหนังสือเหล่านั้นไปอ่านและเข้าใจเท่านั้น คุณค่าในข้อนี้จะปรากฏขึ้นมาในทันที โดยคุณค่าในข้อที่ ๒ นี้ จึงนับเป็นคุณค่าอย่างแท้จริง

               แต่ในปัจจุบันนี้ คุณค่าที่เด่นชัดที่สุดของหนังสือพระไตรปิฎกส่วนมากจะเป็นคุณค่าในข้อที่ ๑ เท่านั้น นั่นคือเป็นเพียงแค่คุณค่าทางโอกาสเสียมากกว่า  โดยปราศจากคุณค่าอย่างแท้จริงในข้อที่สอง จึงเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก ถ้าปราศจากคนหยิบมาอ่านแล้วคุณค่าในข้อที่ ๒ จะไม่มีวันปรากฏขึ้นมาเลย   เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ปัจจุบันนี้ ส่วนมากหนังสือพระไตรปิฎกจะอยู่ในตู้และถูกเก็บไว้อย่างดี แต่แทบจะไม่มีคนสนใจเลยแม้แต่น้อย    การปล่อยให้พระไตรปิฎกทิ้งไว้อยู่ในตู้เฉยๆ  จึงเป็นการเสียประโยชน์อย่างน่าเสียดายที่สุด  ส่วนผู้คนที่ไม่ได้อ่าน ก็ไม่ได้รู้ว่าตนได้รับความสูญเสียทางโอกาสขนาดไหน เป็นความสูญเสียทางโอกาสแทบจะประมาณมิได้อยู่ทุกครั้งที่เดินผ่านโดยไม่ได้ใส่ใจที่จะหยิบมาอ่าน

ทำไมถึงต้องอ่านพระไตรปิฎก

               การที่บุคคลหนึ่งจะได้เกิดมาในยุคที่มีพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นเรื่องที่ยากมากๆ  ซึ่งขณะนี้มีสิ่งที่บันทึกพระธรรมคำสั่งสอนนั่นคือพระไตรปิฎกตั้งอยู่ข้างหน้าของท่านแล้ว ท่านจะปล่อยให้พระไตรปิฎกตั้งทิ้งไว้เฉยๆโดยไม่สนใจ  ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็นับว่าเป็นการสูญเสียทางโอกาสที่มากมายมหาศาลนับไม่ได้ทีเดียว
                ท่านอาจจะไม่รู้หรอกว่าถ้าท่านได้อ่านพระไตรปิฎกเพียงหนึ่งธรรมบท อาจจะเปลี่ยนวิถีการเดินทางในวัฏสงสารของท่านประมาณไหน   นักปรัชญาบางคนกล่าวว่า  คำพูดเพียงหนึ่งคำ  หรือประโยคจากหนังสือเพียงหนึ่งประโยคที่ท่านได้อ่าน อาจจะเปลี่ยนแปลงชีวิตท่านทั้งชีวิต  ส่วนพระธรรมอันล้ำค่านั้น ถ้าท่านได้อ่านพระไตรปิฎก แล้วศึกษาพระธรรมหนึ่งธรรมบทจนถ่องแท้ ผลของสิ่งนี้อาจจะเปลี่ยนวิถีการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารของท่านขนาดไหน

(ตัวอย่างที่บางท่านได้ฟังธรรมเพียงครั้งเดียวนั้น สามารถยังความเจริญให้แก่ตนเองอย่างประมาณมิได้)

เอกธัมมสวนิยเถระ (ว่าด้วยผลแห่งการฟังธรรมครั้งเดียว) (อ้างอิง ๔)

               ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ครั้งนั้นได้มีชฎิลผู้หนึ่ง
               เหาะอยู่ในอากาศ  แต่แล้วชฎิลผู้นั้นไม่สามารถเหาะผ่านเหนือ
               พระปทุมุตตระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้  ซึ่งลักษณะอาการเหมือนกับนก
               ที่เข้าไปใกล้ภูเขาแล้วก็มิอาจผ่านไปได้   ชฎิลผู้นั้นจึงนึกขึ้นว่า 
              “ เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยปรากฏขึ้นกับเรามาเลย  เราควรจะหาสาเหตุนั้น ” 
               จึงได้เหาะลงมาจากอากาศ  เมื่อเหาะลงมาแล้ว ก็ได้พบกับพระผู้มีพระภาค
               และมีโอกาสฟังธรรม เมื่อพระศาสดาตรัสถึงว่าสังขารไม่เที่ยง
               ด้วยพระสุรเสียงที่น่ายินดี น่าฟัง กลมกล่อมขณะนั้น  ชฎิลผู้นั้นได้เรียนถึง
               อนิจจลักษณะ  ครั้นเรียนอนิจจลักษณะได้แล้ว ก็ไปสู่อาศรมของตน
               และก็อยู่ในอาศรมนั้นจนตราบเท่าสิ้นอายุขัย ขณะที่กำลังจะสิ้นอายุขัย
               ได้ระลึกถึงการฟังพระสัทธรรม ด้วยกรรมอันนั้นเมื่อละร่างมนุษย์แล้ว
               ได้ไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์  รื่นรมย์อยู่ในเทวโลกถึง ๓ หมื่นกัป
               ได้เสวยราชสมบัติในเทวโลก ๕๑  ครั้ง
               ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  ๓๑  ครั้ง
               และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณนานับมิได้  ได้เสวยบุญของตน  ถึงความสุขในภพน้อยใหญ่เมื่อท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่  ก็ยังระลึกได้ถึงสัญญานั้น
               จนมาถึงชาติหนึ่ง ได้มีโอกาสฟังธรรมจากสมณะผู้มีอินทรีย์อันอบรมแล้ว  ท่านได้แสดงธรรมโดยยก  อนิจจลักษณะขึ้นมาในธรรมกถานั้น 

               “  สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ   มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป
                  เป็นธรรมดา     เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป    ความที่สังขารเหล่านั้น
                  สงบระงับ  เป็นความสุข  ”

                    ท่านพระเอกธัมมสวนิยเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้
            “ เราจึงนึกถึงสัญญาขึ้นได้ทุกอย่าง  เรานั่ง  ณ อาสนะเดียว  บรรลุอรหัตแล้ว
               เราได้บรรลุอรหัต  โดยเกิดได้ ๗ ปี   พระพุทธเจ้าทรงให้เราอุปสมบทแล้ว   
               นี้เป็นผลแห่ง การฟังธรรม  ย้อนหลังไปแสนกัป จากการที่เราได้ฟังธรรม
               ในครั้งนั้น  เราไม่รู้จักทุคติเลย    นี้เป็นผลแห่งการฟังธรรม
               เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว . . . คำสอนของพระพุทธเจ้า  
               เราได้ทำเสร็จแล้ว   ดังนี้  ”   

               ทุกท่านลองคิดดูเถิดว่า ในอดีตมีบุคคลหนึ่งได้ฟังธรรมเพียงครั้งเดียว แล้วนำสิ่งที่ได้ฟังนั้น  มาสร้างความเจริญให้กับตนได้อย่างมากมายจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ 

               บ่อยครั้งที่ทุกท่านได้ยินได้ฟังพระเทศน์เรื่องต่างๆ หรือไม่ก็ได้อ่านบทความต่างๆที่ยกขึ้นมาซึ่งมีแหล่งที่มาจากพระไตรปิฎก    ท่านก็จะได้ยินได้ฟังได้อ่านจากผู้อื่นเล่ามาอีกต่อหนึ่ง  เปรียบก็เหมือนกับว่า  ท่านได้ฟังคนๆหนึ่งที่มีโอกาสไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ฟังธรรมต่อหน้าพระพักตร์  แล้วก็นำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาเล่าให้ท่านฟังอีกต่อหนึ่ง  ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่มีคนมาเล่าสิ่งที่พระองค์ตรัสมาเล่าให้ท่านฟัง  ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนเล่า  แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าแล้วทำไมท่านถึงไม่ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยตรงเองเสียเล่า  ทำไมต้องมาผ่านผู้คนอีกทอดหนึ่งเสียก่อน ก่อนที่จะมาถึงท่าน ท่านมีเวรกรรมอะไรหรือที่ทำให้ไม่สามารถไปเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยตรง  ทำไมต้องผ่านคนอีกทอดหนึ่งก่อนที่จะมาถึงท่าน

               ฉันใดก็ฉันนั้น  ทำไมท่านไม่ไปอ่านพระไตรปิฎกโดยตรงเองเสียเล่า  การอ่านพระไตรปิฎกโดยตรงก็เปรียบเหมือนกับการที่ท่านได้ไปพบกับพระองค์โดยตรง ไม่ต้องไปผ่านคนอื่น    ได้ยินคนอื่นเล่าให้ฟังบางครั้งแล้ว  ก็ควรจะไปอ่านเองโดยตรงเสียบ้าง  ไม่ใช่คอยเอาแต่จะฟังคนอื่นมาเล่าต่ออีกทอดหนึ่ง  
 
               มิฉะนั้นท่านจะรู้ได้อย่างไรว่า  คนอื่นที่มาเล่าให้ท่านฟังอีกต่อหนึ่ง  ได้อ่านมาอย่างดี มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่ได้เข้าใจผิด ไม่ได้เล่าในสิ่งที่ได้อ่านมาผิด ไม่ได้นำความเป็นตัวเองมาปรุงใส่ก่อนมาเล่าให้ท่านฟัง ท่านจะไว้วางใจคนเหล่านั้นได้อย่างไร   ถ้าท่านเคยเล่นเกมที่ให้คนสิบคนมาเรียงเข้าแถวต่อกัน  แล้วให้กระซิบบอกข้อความแก่หัวแถวคนแรก โดยไม่ให้คนอื่นได้ยิน  แล้วให้หัวแถวกระซิบบอกคนที่สองถัดไป  เมื่อคนที่สองได้รับข้อความแล้ว ก็ให้คนที่สองกระซิบบอกต่อคนที่สาม ทำอย่างนี้ต่อๆกันไปจนถึงคนสุดท้าย   โดยส่วนมากผลลัพท์ที่ออกมาถึงคนสุดท้ายก็จะผิดเพี้ยนเป็นอย่างมาก 
               ต่อให้ผู้นั้นไม่ได้เล่าผิด  แต่เล่าไม่ครบ ก็นับว่าเป็นการเสียโอกาสเป็นอย่างมากที่ไม่ได้ฟัง ประโยคที่สมบูรณ์ ซึ่งอาจจะขาดในช่วงที่สำคัญมากก็เป็นไปได้

               อีกทั้งชาวพุทธนั้นมีการเกี่ยวข้องกับพระในหลายเหตุการณ์  การเข้าวัดเพื่อเหตุผลต่างๆของชาวพุทธนั้นก็มีมากมาย และก็เป็นเรื่องปกติของชาวพุทธที่จะต้องเข้าวัด
 
               ดังนั้นเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเองควรจะศึกษาวินัยของพระให้ดี เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง  ในกรณีที่ท่านจะต้องวางตัวอย่างไรเมื่อต้องไปเกี่ยวข้องกับพระ   ซึ่งปัจจุบันนี้ชาวพุทธส่วนมากขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติ และแต่งตั้งไว้เป็นตัวแทนพระองค์ 

               ถ้าท่านขาดการศึกษาให้ดี  แทนที่ท่านจะเป็นส่วนหนึ่งในการอุปถัมภ์จรรโลงพุทธศาสนา ก็จะกลายเป็นว่าท่านเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนในการกระทำที่ขัดกับหลักธรรม  เช่น พระห้ามทำน้ำมนต์ (อ้างอิง๕)  เมื่อท่านได้ศึกษาแล้วก็จะได้ ไม่ไปขอให้พระทำน้ำมนต์ซึ่งเป็นเหตุให้พระผิดศีล 

               อีกทั้งยังสามารถตักเตือนบอกกล่าวกับผู้อื่น ถึงการกระทำที่ถูกต้องตามหลักธรรมที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ด้วย   เช่นถ้าหากญาติของท่านไปบวช การที่ท่านศึกษาก็จะทำให้รู้เรื่อง และสามารถแนะนำตักเตือนคนที่จะไปบวชได้เพื่อไม่ให้เขาไปประพฤติผิดจากพระธรรมวินัย 

พระไตรปิฎกไม่ใช่เรื่องไกลตัว

               เมื่อก่อนพระไตรปิฎกก็จะมีอยู่เฉพาะในวัด โดยที่จะเก็บไว้ในตู้พระไตรปิฎกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย  ราคาจำหน่ายก็ค่อนข้างสูง  คนที่จะอ่านได้ส่วนมากก็จะเป็นพระหรือผู้ที่อยู่ในวัดเป็นส่วนมาก

               แต่ปัจจุบันนี้พระไตรปิฎกไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว   เพราะปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีการสื่อสารได้ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และได้มีการทำเอกสารให้อยู่ในรูปไฟล์คอมพิวเตอร์   ทำให้มีพระไตรปิฎกที่อยู่ในรูปแบบของโปรแกรม หรือไฟล์เอกสาร       (สามารถดาวน์โหลดได้ที่ ดาวน์โหลดพระไตรปิฎก)  ซึ่งสามารถเปิดอ่านได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์  แต่ก็อาจจะมีข้อเสียบ้างในคำบางคำที่พิมพ์ผิดหรือพิมพ์ตก ถ้าคอยสังเกตดีๆก็จะรู้ว่าคำนี้พิมพ์ผิด 

               เมื่อท่านมีโอกาสและทุนทรัพย์มากพอ  ก็สามารถซื้อพระไตรปิฎกมาไว้ศึกษา แต่ถ้ายังไม่มีโอกาส การอ่านพระไตรปิฎกทางคอมพิวเตอร์เพื่อแก้ขัด ยังไงก็ยังดีกว่าท่านไม่ได้มีโอกาสศึกษาเลย

               ส่วนปัญหาสำคัญนั้น  การอ่านพระไตรปิฎก  อาจจะดูยากบ้างสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยในตอนแรกๆ   แต่ถ้าทุกคนลองพยายามอ่านไป  ค่อยๆพยายามทำความเข้าใจก็จะเริ่มคุ้นเคย 

               เคยเห็นหลายคนที่พยายามศึกษาวิชาการต่างๆ เพื่อใช้ในการสอบหรือการทำงานเป็นต้น  แต่ละคนมีความเพียรพยายามมากจนมีความเข้าใจในที่สุด  ซึ่งทำให้แต่ละคนได้ประโยชน์ในการศึกษานั้น  ไม่ว่าจะเป็นในด้านการสอบเข้าสถาบันต่างๆ หรือเกี่ยวกับการทำงาน

               แต่เรื่องพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีความสำคัญเป็นที่สุด มีความสำคัญมากกว่า   ถ้าหากท่านมีความพยายามในการศึกษาด้านอื่นได้ การศึกษาในส่วนของพระธรรมคำสั่งสอนก็ควรจะทำได้เช่นเดียวกัน  และควรจะทำได้ดียิ่งกว่าอีกด้วย 

               การศึกษาพระธรรมเป็นการศึกษาที่คุ้มค่าและให้ผลเอนกอนันต์อย่างหาที่เปรียบมิได้ การศึกษาวิชาการทางโลกเมื่อสิ้นชีวิตตายจากชาตินี้ก็จบสิ้น  ชาติหน้าก็อาจจะไปเรียนไปศึกษาด้านอื่นอีกไม่รู้จบ  แต่การศึกษาทางธรรม แล้วน้อมนำธรรมมาประพฤติปฏิบัตินั้น  สามารถที่จะให้ผลเอนกอนันต์ประมาณมิได้ข้ามภพข้ามชาติ

               จึงขอเชิญชวนทุกท่าน เริ่มมาศึกษาอ่านพระไตรปิฎกโดยตรง ค่อยๆเริ่มอ่าน เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ จนเริ่มมีความชำนาญในการอ่านในที่สุด   ศัพท์บางศัพท์ที่ไม่เข้าใจก็สามารถเปิดดูความหมายได้จากพจนานุกรม  เมื่อเปิดดูศัพท์ และจำศัพท์ได้แล้ว พอพบกับคำศัพท์คำเดิมเมื่อคราวต่อไปก็จะจำได้  และสามารถอ่านได้คล่องขึ้นในที่สุด  ถ้าไม่เข้าใจในส่วนไหนก็เก็บไว้ก่อน ค่อยๆศึกษาถามผู้ที่มีความเข้าใจ ผู้เขียนเชื่อว่าทุกท่านจะสามารถอ่านพระไตรปิฎกได้  ส่วนความเข้าใจในแง่หลักธรรม และการปฏิบัติอาจจะต้องค่อยๆศึกษาและปฏิบัติไปตามความเหมาะสม

               ลองพยายามอ่านทุกๆวัน ยังไงก็คิดว่ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกๆวัน ยังไงเสียก็ยังดีกว่าไปทำอะไรที่ไร้ประโยชน์ ซึ่งทุกๆวันเราก็เสียเวลาไปกับเรื่องที่ไร้ประโยชน์เป็นส่วนมากอยู่แล้ว  แบ่งเวลามาศึกษาพระธรรมคำสอน เพื่อจะได้น้อมนำพระธรรมคำสอนมาประพฤติปฏิบัติ อันสมควรแก่ธรรม จนกระจ่างธรรม สร้างความเจริญให้กับตนและผู้อื่นได้จนถึงความเจริญที่สุด นั่นคือที่สุดแห่งทุกข์

               ส่วนท่านใดที่กำลังศึกษาอยู่แล้ว ก็ขอให้กำลังใจทุกท่าน  เพื่อจะได้ทำหน้าที่ของพุทธบริษัท ๔ อย่างบริบูรณ์ไม่มีส่วนใดบกพร่อง ให้สมกับที่ได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในพุทธบริษัท ๔ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้มอบหน้าที่ในการดูแลพระพุทธศาสนา เพื่อที่พระพุทธศาสนาจะได้รุ่งเรืองสืบไปเป็นที่พึ่งกับเหล่าสัตว์ได้ตราบนานที่สุดเท่าที่จะนานได้

 
อ้างอิง๑ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๒๐ ข้อที่ ๑๔๑

อ้างอิง๒ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๙ พระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๘๒ ข้อที่ ๓๖๑

อ้างอิง๓ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๓๕ พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๕๒ ข้อที่ ๒๑

อ้างอิง๔ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๗๒ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๑ ข้อที่ ๑๗

อ้างอิง๕ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๑๘ ข้อ ๑๒๐

<< จบบทความ >>
 


มีผู้อ่านจำนวน : 5838 ครั้ง


backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have 56 guests and no members online