Text Size
Thursday, March 28, 2024
Top Tab Content

016patibut


สำหรับผู้ที่ต้องการไปปฏิบัติธรรม และการเตรียมตัวก่อนไปปฏิบัติธรรม  
(สำหรับรายละเอียดของแต่ละสถานที่ให้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ของสถานที่ปฏิบัติธรรมนั้น ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร สิ่งใดที่ควรนำไปด้วย สิ่งใดไม่ควรนำไปด้วย) 

๑. ถ้าเป็นคอร์สปฏิบัติธรรม จะได้รับข้อมูลว่า นัดลงทะเบียน ที่ไหนเมื่อไร เมื่อได้รับข้อมูลแล้วอย่าไปสายในวันนัด เพราะการไปปฏิบัติธรรมจะแสดงว่าเราให้ความสำคัญแค่ไหน  อีกทั้งเหมือนกับว่าเราไปเริ่มต้นทำสิ่งที่ดีที่ประเสริฐ  ถ้าเราไปสายซะแล้วในวันแรก ก็จะทำให้มีวิบากกรรมเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นอย่างไรก็ขอให้ทุกท่านพิจารณาเอาเอง  สำหรับท่านที่เคยไปสายนั้น ถือว่าเป็นโอกาสแก้ตัวเป็นอย่างดีที่จะแก้กรรมเริ่มต้นใหม่
            ไม่ใช่เฉพาะการลงทะเบียนเท่านั้น การตรงต่อเวลาในทุกเรื่องขณะอยู่ในคอร์สปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเรื่องสำคัญ  เวลาตื่น สวดมนต์ เวลาทานอาหาร เวลาปฏิบัติ ก็ขอให้ตรงต่อเวลาในทุกเรื่อง  เนื่องจากเคยเห็นคนที่มาสายเวลาเขาสวดมนต์ ก็ต้องเดินเบียดเข้ากลุ่มคนที่กำลังสวดมนต์อยู่  ทำให้เสียสมาธิเวลาสวดมนต์ได้  ถ้ามีคนประเภทไม่ตรงต่อเวลาเดินเข้าออกตลอด การปฏิบัติธรรมนั้นก็ไม่เป็นระเบียบเกิดความยุ่งยาก ไม่มีความพร้อมเพรียงสามัคคีกัน

๒. เตรียมตัวจัดเตรียมสัมภาระก่อนออกเดินทางให้เรียบร้อยก่อนไปสักหนึ่งวัน เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายลืมโน่นลืมนี่  เพราะเคยมีคนเตรียมตัวกระทันหันแล้วลืม แปรงสีฟันบ้าง  ลืมกางเกงขาวที่จะใส่ระหว่างปฏิบัติธรรมบ้าง  บางคนเดินทางออกจากบ้านมาไกลก็ไม่สามารถกลับบ้านไปเอาของที่ลืมมาได้ ต้องไปซื้อเอาข้างหน้าเกิดความยากลำบาก  เช่นเมื่อลืมเสื้อหรือกางเกงขาว ก็ต้องไปหาซื้อใหม่ อีกทั้งยังจะต้องนำไปซักอีก และกว่าจะแห้ง ทำให้เกิดความยากลำบากพอสมควร

๓. ก่อนไปสัก ๓ วัน   ให้ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั่งสมาธิ เมื่อนั่งสมาธิเสร็จแล้วจึงแผ่บุญกุศล  และขอพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ช่วยให้ การเดินทางไปปฏิบัติธรรมในครั้งนี้อย่าได้มีอุปสรรคขัดขวาง สามารถไปประพฤติปฏิบัติธรรมตามพระธรรมคำสั่งสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันสมควรแก่ธรรม ได้สมตามความตั้งใจด้วยเทอญ
             ขอให้ท่านทั้งหลาย (เจ้ากรรมนายเวร เพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายทั้งสามสิบเอ็ดภูมิ) มาร่วมอนุโมทนาในครั้งนี้ และขอเชิญท่านทั้งหลายไปปฏิบัติธรรมร่วมกับข้าพเจ้าในครั้งนี้ด้วยเทอญ 
            ที่ต้องทำอย่างนี้เนื่องจากส่วนมากถ้าผู้ที่มีวิบากกรรมเยอะ  จะมีวิบากอุปสรรคขัดขวางเพื่อมิให้คนนั้นได้มาปฏิบัติธรรม ดังนั้นเราควรจะปลอดภัยไว้ก่อน   (สำหรับนั่งสมาธิตามปกติ ควรจะทำทุกวันให้สม่ำเสมอ)

๔. ไม่เอาทรัพย์สินมีค่าติดตัวไป เอาไปแต่พอจำเป็น  สำหรับโทรศัพท์มือถือนั้นบางคนจะไม่นำติดตัวไปเลย เพื่อไม่ให้เกิดความเป็นห่วงซึ่งทางผู้เขียนเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะ
บางคนมีธุรกิจรัดตัวมาก ธุระยุ่งจริงๆ  ถ้านำโทรศัพท์ไปก็เป็นอันไม่ต้องปฏิบัติธรรมกัน ถ้าจะดีควรใช้สติปัญญา สำรวจตนเองในเรื่องนี้ให้ดี และตัดใจไม่นำโทรศัพท์มือถือไปด้วยระหว่างปฏิบัติธรรม
             อีกทั้งบางสถานที่ที่คนนิยมไปปฏิบัติธรรม มีคนมากหน้าหลายตามาจากหลายที่มารวมกัน อาจจะมีมิจฉาชีพปะปนเข้ามา ถ้าเอาโทรศัพท์ไปด้วยแล้ววางทิ้งไว้อาจจะเกิดการขโมยขึ้น เป็นบาปเป็นกรรมกับผู้ที่ขโมยอีก  ซึ่งบางแห่งมีการหายของโทรศัพท์กันเยอะมาก 
            ข้อดีอีกประการ ในการไม่นำโทรศัพท์ไป นั่นคือไม่ต้องพะวงว่าลืมปิดเสียงหรือยัง บางทีคนกำลังปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ  ถ้าโทรศัพท์เราที่นำไปด้วยลืมปิดเสียงเกิดดังขึ้นมา จะเป็นการรบกวนผู้ที่กำลังทำสมาธิ เดือดร้อนผู้อื่น สมมติว่ามีคนนั่งสมาธิในสถานที่นั้น ๕๐ คน บางคนกำลังเข้าสมาธิขั้นสูง  เสียงโทรศัพท์เราเป็นเหตุให้ ผู้คนเหล่านั้นเสียสมาธิ ลองพิจารณาดูกรรมจะขนาดไหน ซึ่งก็จะเป็นการสร้างวิบากกรรมโดยไม่จำเป็น
            และบางสถานที่มีโทรศัพท์สาธารณะไว้รองรับอยู่แล้ว ทุกท่านไม่ต้องกังวลว่าจะโทรออกเพื่อติดต่อคนมารับเวลากลับไม่ได้  ซึ่งสามารถสอบถามกับสถานที่ปฏิบัติธรรมล่วงหน้าได้ว่ามีโทรศัพท์สาธารณะรองรับหรือไม่  และถ้ามีให้สอบถามเพิ่มเข้าไปอีกว่าโทรศัพท์สาธารณะเป็นแบบหยอดเหรียญหรือใช้บัตร เพื่อเราจะได้เตรียมการได้ถูกต้อง
            สำหรับบางคนที่ขาดไม่ได้จริงๆสำหรับโทรศัพท์ จะนำไปแต่ไม่เปิดเครื่องเพื่อจะติดต่อเวลากลับอย่างเดียว  ทางแก้เพื่อไม่ให้เป็นกังวล ก็นำโทรศัพท์เก่าๆ ขายกันในราคาไม่กี่ร้อยบาทไป เผื่อหายเราจะได้ไม่เสียดาย และไม่เป็นกังวลสำหรับโทรศัพท์อีกต่อไป

๕. ตัดความกังวล (ปลิโพธ) ๑๐ ประการ ไปทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วตั้งใจปฏิบัติธรรม
            ๕.๑ ความกังวลเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยบ้านเรือน
            ๕.๒ ความกังวลเกี่ยวกับ ชาติตระกูล
            ๕.๓ ความกังวลเกี่ยวกับ ลาภ
            ๕.๔ ความกังวลเกี่ยวกับ หมู่คณะ
            ๕.๕ ความกังวลเกี่ยวกับ กิจการงาน
            ๕.๖ ความกังวลเกี่ยวกับ การเดินทาง
            ๕.๗ ความกังวลเกี่ยวกับ ญาติ
            ๕.๘ ความกังวลเกี่ยวกับ ความเจ็บป่วย
            ๕.๙ ความกังวลเกี่ยวกับ ความที่ต้องศึกษาเล่าเรียน
          ๕.๑๐ ความกังวลเกี่ยวกับ อิทธิ ฤิทธิ์เดชต่างๆ

๖. อย่าพยายามพูดคุยกัน เพราะเท่าที่ประสบมา เห็นคนพูดคุยกัน บางครั้งถึงกับจับกลุ่มคุยกันเลยก็มี ทั้งๆที่ สถานที่ปฏิบัติธรรมมีข้อห้ามไม่ให้พูดคุยกัน  บางคนก็อาจจะพยายามมาชวนคุย ในเรื่องต่างๆ พอไม่ตอบไปก็อาจจะถูกเข้าใจผิดว่าหยิ่ง เป็นเหตุให้ล่วงเกินกันทางใจ  แต่ถ้าตอบไปก็จะเป็นตัวอย่างไม่ดี ฝ่าฝืนข้อบังคับ และไม่เหมาะสมกับการฝึกปฏิบัติ จะแนะนำเขาตอนนั้นก็ไม่เอื้ออำนวย จึงยิ้มตอบกลับไปอย่างเดียว
            ถ้าต้องการฝึกปฏิบัติ ไม่ควรพูดคุยกันถ้าไม่จำเป็นจริง แต่บางครั้งคนมาคุยอาจจะต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ขอให้ใช้ปัญญาพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

๗. พยายามเก็บสายตา มองไม่เกิน ๓ เมตร  เมื่อขาดสติปล่อยให้สายตามองไปเรื่อยเปื่อยการปฏิบัติก็ไม่ก้าวหน้า เมื่อมีสติรู้ตัวก็รีบเก็บสายตา เพราะตาเป็นทวารตัวสำคัญที่จะนำจิตของเราไปข้างนอกอย่างขาดสติ

๘. ให้เจริญสติตลอดเวลา บางคนทำตัวอย่างไม่ดี ไม่ได้เจริญสติตลอดเวลา  เช่นเดินไปคุยไป, ท่าเดินก็ไม่สำรวม, ทานอาหารก็ไม่ได้เจริญสติ   ใครทำอะไรไม่ดีเราก็อย่าไปสนใจ เราต้องปฏิบัติให้ดี ปฏิบัติชอบเป็นตัวอย่างให้คนอื่นเห็น เผื่อเขาเห็น เขาจะได้กลับมาเจริญสติ กลับมาสู่แนวทางที่ถูกต้อง ตั้งใจปฏิบัติต่อไป
            ยิ่งเราขาดสติมากเท่าไหร่ ก็จะมีผู้ที่เดือดร้อนมากขึ้นเท่านั้น  เช่นเวลาเดินขาดสติไม่เก็บสายตา สถานที่ปฏิบัติส่วนมากจะไม่ได้อยู่ในเมือง มด แมลงต่างๆที่เดินตามพื้นเป็นแถวเป็นแนว  พอเผลอสติก็จะทำให้เดินเหยียบมดหรือแมลง ที่เดินเป็นแถว  หรือเวลาเข้าห้องน้ำให้สังเกตมดแมลง ถ้ามีมดเดินอยู่ที่พื้นก็นำไม้กวาด กวาดไปไว้ที่อื่นก่อนที่จะอาบน้ำ
            อีกตัวอย่างก็คือ เวลาปิดประตู ถ้าปิดด้วยการขาดสติ เสียงก็จะดังโครม อาจจะทำให้ผู้ที่นั่งสมาธิอยู่บริเวณนั้นตกใจได้
            (ให้ไปอ่านเรื่องคุณค่าของสติอย่างละเอียดอีกที)

๙. การเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค(ทรัพยากรทุกชนิด)  แต่ที่นี้ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างเรื่องอาหาร เมื่อได้เวลาทานอาหาร บางแห่งมีระบบการตักอาหารแบบเดินตักอาหารใส่จานในครั้งเดียวแบบบุฟเฟ่ต์ แล้วให้นำอาหารที่ตักแล้วนั้น ไปนั่งทานอาหารให้เรียบร้อย  สำหรับมือใหม่หรือผู้ที่ขาดสติแล้ว(เนื่องจากความหิวหรือความโลภ) เป็นการยากที่จะตักอาหารให้พอดี สำหรับมือใหม่จึงต้องสังเกตและจดจำปริมาณการตักอาหารไว้ เพื่อเก็บเป็นข้อมูลนำมาเปรียบเทียบเพื่อใช้ในการตักอาหารครั้งต่อไป ว่าครั้งนี้เราตักแล้วอิ่มเกินไป คราวหน้าก็ต้องลดสัดส่วนลงมา  ส่วนผู้ที่มีอาการหิว หรือเห็นอาหารน่ากินมากก็ให้เจริญสติตลอดเวลา อย่าให้กิเลสต่างๆ มาหลอกทำให้เราตักอาหารเกินได้สำเร็จ ให้นำข้อมูลเดิมมาเปรียบเทียบแล้วตักอาหารให้พอดี
            อาหารถ้าเหลือก็จะต้องนำไปทิ้ง  โดยที่อาหารนั้นมาจากเงินทำบุญ ผู้ที่ทำบุญนั้นอาจจะหาเงินมาด้วยความยากลำบากและมีความประสงค์ที่จะให้เงินนั้นไปซื้ออาหารมาอนุเคราะห์กับท่านทั้งหลาย อย่างไรก็ขอให้นึกถึงความลำบากเหนื่อยยากของผู้ที่นำเงินมาทำบุญด้วย
            ในส่วนนี้ ต้องขอกล่าวถึงสักเล็กน้อย เพราะเป็นส่วนที่สำคัญ เพื่อทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า การที่ท่านทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมตามสถานที่ต่างๆนั้น เกิดจากเงินบริจาค ความเหนื่อยยากและความเสียสละแรงกายแรงใจของผู้คนกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นจึงควรที่ทุกท่านจะนึกถึงพระคุณของคนที่เสียสละทั้งหลาย  ยิ่งเราตั้งใจปฏิบัติเท่าไหร่ ความเสียสละและความเหนื่อยยากของคนเหล่านั้นจะไม่เสียเปล่า
            เมื่อตักอาหารเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะทานก็ขอให้ตั้งจิตพิจารณาอาหารนั้นว่า
            เราทานอาหารในครั้งนี้                                 ไม่ใช่เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน
            ไม่ใช่เป็นไปเพื่อความเมามัน                        ไม่ใช่เป็นไปเพื่อบำรุงบำเรอสนองกิเลส
            แต่เป็นไปเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้          เพื่อความเป็นไปได้ของอัตภาพ       
            เพื่อความสิ้นไปแห่งความลำบากทางกาย      เพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์   
            เมื่อทำอย่างนี้แล้วเราย่อมระงับทุกขเวทนาเก่าคือความหิว
            และไม่ทำทุกขเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น
            ขอให้ผู้บริจาค ผู้บริการทุกท่านมีส่วนแห่งบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำในบัดนี้ และก่อนหน้านี้ด้วยเทอญ
   
๑๐. เวลาปฏิบัติธรรมขอให้ดูระบบรวมเพื่อให้ดูพร้อมเพรียงและเป็นระเบียบ  บางแห่งเมื่อสอนวิธีการปฏิบัติธรรมแก่โยคีแล้ว ก็จะปล่อยให้โยคีผู้มาปฏิบัติธรรม ไปปฏิบัติเองตามอัธยาศัยตามสถานที่ที่ได้กำหนดไว้  ตัวอย่างในศาลาปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง คนเก่าก็จะหามุมเดินจงกรมในศาลา คนต่อไปเข้ามาใหม่ก็หามุมถัดไปเป็นแถวเป็นแนวเป็นระเบียบเรียบร้อยโดยมีพื้นที่เดินจงกรมเป็นช่วง 
            สักพักมีคนหนึ่งเดินเข้ามา ก็ตั้งจิตหลับตาเจริญสติในอิริยาบถยืนแล้วเดินจงกรมในทันที  โดยมีลักษณะการเดินจงกรมที่ผ่าเส้นทางเดินจงกรมของคนอื่น  เริ่มทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบ  พอคนถัดๆไปเข้ามาก็มองไม่ออกแล้วว่าจะไปทิศทางไหนดี  ก็หาช่องทางเดินที่คิดว่าเหมาะสม แต่ลักษณะช่องทางเดินก็เป็นลักษณะที่ไปขวางระบบรวมเหมือนคนแรก ทำให้ไม่เป็นระเบียบหนักเข้าไปอีก  พอคนต่อไปเข้ามาก็ยิ่งเละเทะเข้าไปอีก เมื่อมีคนแรกเป็นคนเปิดลักษณะเส้นทางเดินที่ไม่เป็นระเบียบ ก็จะมีคนตามเป็นพรวน  ดังนั้นจึงขอให้ทุกท่านเจริญสติและพิจารณาให้ดีเพื่อให้ดูการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นระเบียบเรียบร้อยเจริญตา  คนภายนอกที่ยังไม่มีโอกาสเข้าร่วมปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ เมื่อเห็นแล้วก็ชื่นชมอยากเข้ามาร่วมด้วยเมื่อมีโอกาส

๑๑. ถ้ามีข้อสงสัยอะไร ให้ถามวิปัสสนาจารย์ หรือผู้ฝึกสอน อย่าคิดเอาเอง การคิดเอาเองอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติผิดทาง วิปัสสนาจารย์ก็จะสามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องมัวไปเสียเวลา และผิดทางไปไกล  เคยคุยกับผู้ปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง เวลาจะเดินจงกรม ก็จะหาทางที่เดินจงกรมเป็นระยะทางยาวๆ  เพราะไม่อยากกลับตัวให้เสียเวลา  เขาก็จะหาศาลาที่ระยะยาวเป็นร้อยเมตรและก็เดินจงกรมไปตามทาง  บางคนก็จะหาระยะทางที่เดินได้ยาวที่สุดเท่าที่เป็นไปได้  เห็นดังนี้แล้วจึงอยากจะแนะนำท่านทั้งหลายเมื่อมีความคิดอะไรที่วิปัสสนาจารย์ไม่ได้สอน ก็ให้ไปถามท่านเสียก่อน   

๑๒. บางแห่งจะมีเจ้าภาพน้ำปานะ ไว้แจกเวลาหลังเที่ยง ถ้าเป็นน้ำเต้าหู้ นมสด นมกล่อง ไม่สามารถทานได้เมื่อหลังเที่ยงไปแล้ว  น้ำที่ดื่มได้ คือ น้ำปานะ ๘ อย่าง หรือน้ำอัฏฐบาน ที่ดื่มยามวิกาลได้  (ยามกาลิก)  คือน้ำสำหรับดื่มที่คั้นจากผลไม้ ๘ ชนิด ได้แก่ น้ำมะม่วง, น้ำชมพู่ หรือน้ำหว้า, น้ำกล้วยมีเม็ด, น้ำกล้วยไม่มีเม็ด, น้ำมะทราง หรือน้ำมะซาง, น้ำลูกจันทน์ หรือองุ่น, น้ำเหง้าอุบล, น้ำมะปราง หรือลิ้นจี่  ถ้ากลัวหิวควรเตรียมน้ำผลไม้ไปเอง

๑๓. อย่ากลับก่อนเวลาที่ตั้งใจไว้  บางคนเกิดความน้อยใจและไม่พอใจ เมื่อเจ้าหน้าที่ว่ากล่าว ตักเตือน  หรือไม่ก็รุ่มร้อนกระสับกระส่ายทนไม่ได้โดยไม่รู้สาเหตุ  การกลับไปก่อนทำให้เราผิดสัจจะกับสิ่งที่ตั้งใจไว้ สัจจะเป็นบารมีอย่างหนึ่งที่ต้องฝึกต้องสะสม  ตั้งใจจะทำสิ่งที่ดีอะไร ต้องทำให้ได้

๑๔.  ระหว่างที่อยู่ในสถานปฏิบัติธรรม จะมีการทำความสะอาดตามสถานที่ปฏิบัติธรรม  ขอให้ผู้ที่จะทำความสะอาดให้ศึกษาระบบรวมก่อนที่จะทำความสะอาดอย่างละเอียดรอบคอบ ด้วยปัญญา เพื่อให้เกิดอานิสงส์ที่แท้จริงในการทำความสะอาดนั้น
ตัวอย่างปัญหา
            - บางสถานที่จะมีระบบทำความสะอาด โดยใช้น้ำยาเช็ดพื้นฉีดไปที่ผ้าถูพื้น แล้วนำผ้าถูพื้นนั้นไปถูพื้นอีกที ฝุ่นผงต่างๆก็จะถูกดูดเข้ามาติดที่ผ้าถูพื้นนั้น  ซึ่งก่อนที่จะทำการถูพื้นก็ควรจะกวาดพื้นรอบนึง
            - บางคนก็ลงมือถูพื้นเลย โดยไม่กวาด
            - บางคนไม่รู้ระบบก็เช็ดพื้นแบบ เอาผ้ามาชุบน้ำแล้วถูพื้น  พอน้ำสะอาดมาโดนพื้นที่ลงด้วยน้ำยาอีกแบบ พื้นก็จะเป็นมันๆและเป็นรอยด่าง
            - บางคนก็เข้าใจผิด จะนำน้ำยาเช็ดกระจกไปฉีดบนม็อบ โดยเข้าใจผิดว่าเป็นน้ำยาเช็ดพื้น
            - บางคนก็กวาดใบไม้เศษขยะที่หล่นตามพื้นสถานที่ปฏิบัติธรรม  พิจารณาดูเขามีความตั้งใจที่ดี  และเขากล่าวว่าการกวาดเศษขยะก็เปรียบเหมือนกวาดความทุกข์กวาดสิ่งที่ไม่ดีออกจากตัวเรา  เขากวาดใบไม้ที่หล่นตามพื้นทางเดินไปสู่โคนต้นไม้ที่อยู่แถวนั้น เมื่อกวาดเสร็จก็จากไปด้วยความอิ่มใจ   สักพักหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลทำความสะอาดบริเวณสถานที่ปฏิบัติธรรม  (เจ้าหน้าที่ผู้นี้จะดูแลเรื่องความสะอาดของบริเวณสถานที่ปฏิบัติธรรมทั้งหมดซึ่งเป็นบริเวณค่อนข้างกว้างมาก)  เจ้าหน้าที่นั้นจะมีรถเข็นที่คอยเก็บเศษขยะต่างๆ  ไปทิ้งไว้อีกที่หนึ่ง   เจ้าหน้าที่ผู้นั้นก็เดินไปที่โคนไม้แล้วทำการกวาดเศษขยะที่คนก่อนหน้านี้ได้ทำการกวาดไปไว้บริเวณโคนไม้นั้นออกมาอีกที แล้วค่อยเก็บขยะใส่รถเข็น  ซึ่งดูแล้วเจ้าหน้าที่นั้นเหนื่อยมากกว่าเดิมพอสมควร แทนที่จะได้กวาดขยะที่อยู่บนพื้นราบนั้นไม่ใช่เรื่องยากเท่าไหร่ กลับต้องคุ้ยเศษใบไม้ที่บริเวณโคนต้นไม้ออกมาก่อน  เมื่อคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเขาบอกว่าให้กวาดเศษขยะใบไม้มารวมกันแล้ว กองทิ้งไว้ก็พอ เพราะจะได้นำไปทิ้งอีกที่หนึ่งเพื่อความสะอาดเรียบร้อย  
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  ผู้ที่ต้องการทำความสะอาด ขอให้ศึกษาระบบรวมของการทำความสะอาดก่อนลงมือทำ มิฉะนั้นแทนที่จะช่วยทุ่นแรงเขา ซ้ำร้ายอาจทำให้เขาเหนื่อยมากกว่าเดิมก็เป็นได้
            - บางคนตั้งใจทำความสะอาดถอดพัดลมมาทำความสะอาดก่อนกลับ เพราะพัดลมเป็นจุดที่สกปรกมาก  เมื่อเห็นความตั้งใจก็ขออนุโมทนา เนื่องจากสถานที่ใหญ่ มีพัดลมตามจุดต่างๆรวมแล้วก็เป็นจำนวนนับสิบ พอทำความสะอาดเสร็จก็รีบกลับ  ผู้เขียนก็เดินไปดูตามจุดต่างๆที่เขาได้ทำความสะอาดพัดลม  ปรากฎเห็นหยากไย่และฝุ่นที่รวมตัวจับเป็นก้อนที่เคยติดอยู่ที่ใบพัดหรือฝาหลังของพัดลม หล่นเกลื่อนตามพื้นในจุดต่างๆที่พัดลมอยู่ทิ้งไว้  ก็เลยต้องนำไม้กวาดมาเก็บงานให้เขาอีกที 
            อีกกรณีหนึ่ง มีเศษซากนกตกอยู่ ไส้ทะลัก เรี่ยราดอยู่บนที่ม้านั่ง คนเดินผ่านไปผ่านมาเห็นแล้วอุจาดตา ผู้ที่หวังดีผู้หนึ่งก็เลยใช้ไม้เขี่ยกระเด็นไปตกบนพื้น แล้วก็จากไป  อีกครั้งหนึ่งที่อีกผู้หนึ่งก็ต้องมาเก็บซากนก ที่กระจัดกระจายบนพื้นดิน ซึ่งเก็บยากกว่าเดิม แล้วนำไปไว้ในที่เหมาะสมต่อไป
            เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ให้ทำอะไรด้วยความละเอียดรอบคอบ เพื่อมิให้ผู้อื่นต้องมาเดือดร้อนคอยตามเก็บงานในภายหลังอีกที
    
๑๕. ให้สมาทานศีลด้วยตนเอง ทั้งเช้าทั้งเย็นขณะไปปฏิบัติธรรม   เนื่องจากตามสถานที่ปฏิบัติธรรมต่างๆ เมื่อเปลี่ยนชุดขาว แล้วก็จะมีการสมาทานศีล ๘ และรับกรรมฐานจาก วิปัสสนาจารย์  โดยจะเป็นการสมาทานศีลในครั้งเดียวในวัดที่ไปปฏิบัติธรรม ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วนั้น ก็เป็นเรื่องปกติเนื่องจากเป็นการยากที่จะมีคนนำสมาทานศีล ๘ ทุกวัน  โดยที่ผู้ไปปฏิบัติอาจจะไปปฏิบัติธรรมในระยะเวลาหลายวัน เช่น ๗ - ๑๕ วัน ในระหว่างนั้น ผู้ปฏิบัติอาจจะละเมิดศีลด้วยความไม่ตั้งใจตอนไหนก็ตาม เมื่อมีสติรู้ตัวก็ควรจะรีบสมาทานศีลใหม่ด้วยตนเองทันที เช่นเคยตบยุงจนเป็นนิสัย พอยุงมาเกาะก็เผลอสติจึงตบยุงด้วยความเคยชิน เมื่อละเมิดศีลตอนไหนให้สมาทานศีลใหม่ทั้งหมด ๘ ข้อ และเพิ่มสติในการระมัดระวังต่อไป ส่วนการใช้ชีวิตประจำวันในสถานที่ปฏิบัติธรรมนั้นให้สมาทานศีลเมื่อตื่นตอนเช้ามาปฏิบัติธรรม และตอนกลางคืนก่อนนอน เพื่อเป็นการฝึกสติและทบทวนศีล  
คำสมาทานศีลด้วยตนเองคนเดียว
                 อะหัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ สีลานิ ยาจามิ
ทุติยัมปิ     อะหัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ สีลานิ ยาจามิ
ตะติยัมปิ    อะหัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ สีลานิ ยาจามิ
๑. ปาณาติปาตา เวระมณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ 
    ข้าพเจ้า จะเว้นจากการฆ่าสัตว์ 
๒. อทินนาทานา เวระมณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
    ข้าพเจ้า จะเว้นจากการลักทรัพย์ คือไม่ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ 
๓. อพรัหมจริยา เวระมณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
    ข้าพเจ้า จะเว้นจากการประพฤติอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์
๔. มุสาวาทา เวระมณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
    ข้าพเจ้า จะเว้นจากการพูดปด
๕. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
    ข้าพเจ้า จะเว้นจากการดื่มสุราเมรัยของมึนเมา อันเป็นเหตุของความประมาทมัวเมา
๖. วิกาลโภชนา เวระมณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
    ข้าพเจ้า จะเว้นจากการดื่มกินอาหารในเวลาหลังเที่ยงไปแล้วจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น เป็นการลดราคะกำหนัด และลดความง่วงเหงาหาวนอน
๗. นัจจคีตวา ทิตะวิสูกะทัสสะนา มาลาคันธวิเลปะนะ ธารณะ มัณฑะนะ วิภูสะนัฏฐานา เวระมณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
    ข้าพเจ้า จะเว้นจากการดูละครฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรี ทัดทรงดอกไม้ลูบไล้ของหอม เครื่องย้อมเครื่องทา เครื่องประดับตกแต่งต่างๆ 
๘. อุจจา สะยะนะ มะหาสะยะนา เวระมณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ 
    ข้าพเจ้า จะเว้นจากการนั่งนอนเครื่องปูลาด อันสูงใหญ่ ภายในยัดด้วยนุ่นหรือสำลี และวิจิตรงดงามต่างๆ

๑๖. ช่วยกันรักษาสมบัติส่วนรวม  อย่างที่เคยกล่าวว่า ถ้าขาดสติก็มักจะทำความเดือดร้อน  บางสถานที่ ก๊อกน้ำในห้องน้ำก็จะเสียเนื่องจากการบิดด้วยใช้แรงมากเกินไป ถ้าบิดด้วยแรงน้อยเกินไป น้ำจะยังไหลเป็นหยดๆ  การบิดต้องบิดด้วยแรงที่พอดีๆ  เหมือนกับทุกเรื่องในชีวิตที่ต้องการความพอดี ถ้าใช้สติปัญญามาใช้ในชีวิตประจำวันด้วย ผ่านการพิจารณาโดยแยบคาย ก็นับว่าได้นำการปฏิบัติธรรมไปใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นมงคลอย่างยิ่ง

๑๗. ในวันที่จะกลับบ้าน จะมีพิธีขอขมากรรมพระรัตนตรัย, อาจารย์, สถานที่ปฏิบัติธรรม แต่เท่าที่ดูจะไม่มีการให้ขอขมาอโหสิกรรมซึ่งกันและกันระหว่างผู้มาปฏิบัติ 
            บางทีผู้ปฏิบัติธรรมอยู่หลายวัน อาจจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง อาจจะเล็กน้อยหรือมาก ก็แล้วแต่  อาจจะเป็นด้วยความตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ อาจจะล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ตัวอย่างเช่นเวลาปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ เกิดคันคอ พยายามกลั้นไม่ให้ไอแล้วทนไม่ได้ เกิดไอขึ้นมา ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย  ถ้าสถานที่ปฏิบัติธรรมนั้นไม่มีการนำให้ขอขมาและอโหสิกรรมซึ่งกันและกัน  ก็ขอให้ทุกคนตั้งจิตตั้งใจขอขมากรรมและให้อโหสิกรรมกันเอง ก่อนที่จะกลับบ้าน
            ฟังดูแล้วอาจจะดูเป็นกรรมเล็กน้อย  แต่ถ้ามารวมกันทุกๆคนที่มาปฏิบัติธรรม  รวมกับคอร์สอื่นที่ผ่านมาแล้ว และรวมกับคอร์สในอนาคต ก็จะเป็นปริมาณที่มองข้ามไม่ได้ 
            จึงอยากจะฝากไปถึงสถานที่ปฏิบัติธรรมต่างๆ  ถ้ามีคอร์สปฏิบัติธรรมที่เป็นช่วงเวลา เวลาที่จะปิดคอร์สปฏิบัติธรรม ขอเสนอให้มีการขอขมากรรมระหว่างผู้มาปฏิบัติธรรมด้วยกัน ต่อจากการขอขมากรรมพระรัตนตรัย อาจารย์ สถานที่ปฏิบัติธรรม

คำกล่าวขอขมากรรม
            ในกาลวาระที่ข้าพเจ้าได้มาปฏิบัติธรรม ณ สถานที่แห่งนี้ ข้าพเจ้าขอให้อโหสิกรรมต่อกรรมทั้งหลาย ที่ผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามได้ประมาทพลาดพลั้ง ล่วงเกินต่อข้าพเจ้า ณ ที่แห่งนี้ หรือที่แห่งอื่นก็ตาม จะด้วยเจตนาก็ดีหรือไม่เจตนาก็ดี จะด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ตั้งแต่อดีตชาติ จนถึงปัจจุบัน ณ ชาติวันนี้ ข้าพเจ้าขอให้อโหสิกรรมทั้งหมดทั้งสิ้น   
            และ หากมีกรรมใดที่ข้าพเจ้าได้ประมาทพลาดพลั้ง ล่วงเกินต่อผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามที่มาปฏิบัติธรรม ณ ที่แห่งนี้ หรือที่แห่งอื่นก็ตาม จะด้วยเจตนาก็ดีหรือไม่เจตนาก็ดี จะด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี จำได้ก็ดี จำไม่ได้ก็ดี  ตั้งแต่อดีตชาติ จนถึงปัจจุบัน ณ ชาติวันนี้ ข้าพเจ้ากราบขอขมากรรม กราบขออโหสิกรรมทั้งหมดทั้งสิ้น  ขอให้ท่านทั้งหลายได้อโหสิกรรมซึ่งกันและกันด้วยเทอญ สาธุ สาธุ สาธุ

๑๘. ก่อนกลับเก็บของให้เรียบร้อย สำรวจความเรียบร้อยอย่างละเอียดถี่ถ้วน 
            ถ้ามีปัจจัย(เงิน) ก็ทำบุญตามกำลังทรัพย์ให้กับสถานที่ปฏิบัติธรรมนั้น เพื่อให้สถานที่ปฏิบัติธรรมนั้นอยู่ได้ เป็นที่พึ่งและอนุเคราะห์แก่ผู้ที่จะมาปฏิบัติธรรม ณ สถานที่แห่งนั้นต่อไป

            บทความแนะนำนี้ เสนอรายละเอียดตัวอย่าง เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นถึงแนวทางการปฏิบัติตัวและปัญหา โดยผ่านการพิจารณาด้วย สติ ปัญญาอย่างรอบคอบ ระหว่างอยู่ที่สถานปฏิบัติธรรมนั้น   มิได้ให้ท่านผู้อ่านยึดตายตัวกับบทความ เพราะสถานที่ปฏิบัติธรรมแต่ละแห่งอาจจะมีกฎระเบียบ ผู้คนที่มาปฏิบัติธรรม และลักษณะที่จะทำให้เกิดปัญหาแตกต่างกันไป 

            ขออนุโมทนากับทุกท่านที่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม อันสมควรแก่ธรรม สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดได้ยากมาก และเป็นโอกาสอันมีค่าของทุกท่าน  ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ช่วยให้ทุกท่านมีความเจริญยิ่งๆขึ้นไปด้วยเทอญ


มีผู้อ่านจำนวน : 16659 ครั้ง


backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have 2 guests and no members online