Text Size
Sunday, October 13, 2024
Top Tab Content

ปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมของพระพุทธศาสนา พ.ศ.๒๕๕๔


บทความสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมของพระพุทธศาสนา พ.ศ.๒๕๕๔   ตอนที่ ๒

ข้อเสนอแนวทางแก้ไข
               ทั้ง ๔ ข้อข้างต้นนั้น เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้ เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมลง ถึงเวลาที่พุทธบริษัท ๔ ต้องออกมาเข้มแข็ง เพื่อความยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนาสืบไป เราทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท๔  ต้องคอยตรวจสอบอย่างเข้มงวด และแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องกับสิ่งชั่วร้ายต่างๆเหล่านี้ที่แฝงอยู่ในบวรพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ถ้าพวกเราทุกคนร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง สิ่งชั่วร้ายต่างๆที่กล่าวมาจะต้องถูกแก้ไขอย่างแน่นอน  อีกทั้งยังจะทำให้พระพุทธศาสนามั่นคงเป็นหลักประพฤติ ปฏิบัติของคนรุ่นต่อๆไป ตราบนานเท่านาน  ส่วนทางแก้ไขนั้น ผู้เขียนขอเสนอทางแก้ย่อๆ ให้กับผู้ที่ต้องการร่วมมือกันปกป้องศาสนาดังนี้ (ส่วนท่านใดมีทางแก้ไขที่ดีกว่านี้ ก็ขอให้ใช้ปัญญาอย่างยิ่งขึ้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร)

               สิ่งที่ทุกท่าน สามารถกระทำได้ก็คือ
               ๑. เร่งศึกษา พระธรรมวินัย จะได้มีความรู้ในส่วนต่างๆ  เมื่อผู้อ่านได้ศึกษา จะได้รู้ว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ มีส่วนไหนผิดบ้าง
               ทางผู้เขียนขอยกตัวอย่าง ในสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าบัญญัติไว้ ตามด้านล่างนี้ ซึ่งผู้อ่านลองเปรียบเทียบกับสิ่งที่เป็นอยู่ในยุคปัจจุบันนี้ (อ้างอิง ๔)

                                              จุลศีล
           (๑๐๓)  มหาบพิตร อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
           ๑.   ภิกษุในธรรมวินัยนี้    ละการฆ่าสัตว์    เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
วางไม้  วางมีด   มีความละอาย  มีความเอ็นดู  มีความกรุณาหวังประโยชน์
แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่   แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
           ๒.   เธอละการลักทรัพย์    เว้นขาดจากการลักทรัพย์   รับแต่ของที่
เขาให้  ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่
แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
           ๓.   เธอละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์        ประพฤติพรหมจรรย์
ประพฤติห่างไกล  เว้นขาดจากเมถุน  อันเป็นเรื่องของชาวบ้าน  แม้ข้อนี้ก็
เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
           ๔.   เธอละการพูดเท็จ     เว้นขาดจากการพูดเท็จ     พูดแต่คำจริง
ดำรงคำสัตย์  มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน  ควรเชื่อได้  ไม่พูดลวงโลก  แม้ข้อนี้
ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
            ๕.  เธอละคำส่อเสียด  เว้นขาดจากคำส่อเสียด  ฟังจากข้างนี้แล้ว 
ไม่ไปบอกข้างโน้น   เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน    หรือฟังจากข้างโน้นแล้ว
ไม่มาบอกข้างนี้     เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน     สมานคนที่แตกร้าวกัน
แล้วบ้าง   ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง   ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน
ยินดีคนผู้พร้อมเพรียงกัน   เพลิดเพลินคนผู้พร้อมเพรียงกัน   กล่าวแต่คำที่
ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน   แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
            ๖.   เธอละคำหยาบ  เว้นขาดจากคำหยาบ  กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ
เพราะหู   ชวนให้รัก  จับใจ   เป็นของชาวเมือง   คนส่วนมากรักใคร่   พอใจ
แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
            ๗.   เธอละคำเพ้อเจ้อ  เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ  พูดถูกกาล  พูดจริง
พูดเป็นอรรถ    พูดเป็นธรรม    พูดเป็นวินัย    พูดมีหลัก     มีที่อ้าง    มีที่สุด
ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
            ๘.   เธอเว้นขาดจากการพรากพืชคาม   และภูตคาม
            ๙.   เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี  งดเว้นการฉันในเวลาวิกาล
           ๑๐.   เธอเว้นขาดจากการฟ้อนรำ    ขับร้อง     ประโคมดนตรี    และ
ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล
           ๑๑.   เธอเว้นขาดจากการทัดทรงประดับ และตกแต่งร่างกาย   ด้วย
ดอกไม้  ของหอม  และเครื่องประเทืองผิว  อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว
           ๑๒.   เธอเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่
           ๑๓.   เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน
           ๑๔.   เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ 
           ๑๕.   เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
           ๑๖.   เธอเว้นขาดจากการรับสตรี   และกุมารี
           ๑๗.   เธอเว้นขาดจากการรับทาสี  และทาส
           ๑๘.   เธอเว้นขาดจากการรับแพะ  และแกะ
           ๑๙.    เธอเว้นขาดจากการรับไก่    และสุกร
           ๒๐.   เธอเว้นขาดจากการรับช้าง   โค   ม้า   และลา
           ๒๑.   เธอเว้นขาดจากการรับไร่นา   และที่ดิน
           ๒๒.   เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรม   และการรับใช้
           ๒๓.   เธอเว้นขาดจากการซื้อ   การขาย           
           ๒๔.   เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง   การโกงด้วยของปลอม
และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด
           ๒๕.   เธอเว้นขาดจากการรับสินบน    การล่อลวง   และการตลบ-
ตะแลง                                                                                                          
           ๒๖.   เธอเว้นขาดจากการตัด     การฆ่า    การจองจำ     การตีชิง 
การปล้น   และกรรโชก   แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
                                            จบจุลศีล

                                            มัชฌิมศีล
           (๑๐๔)  ๑.  ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคาม   และภูตคาม   เช่น
อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก    ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา
แล้ว   ยังประกอบการพรากพืชคามและภูตคามเห็นปานนี้     คือพืชเกิดแต่
เหง้า  พืชเกิดแต่ลำต้น   พืชเกิดแต่ผล   พืชเกิดแต่ยอด   พืชเกิดแต่เมล็ด 
เป็นที่ครบห้า   แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
           (๑๐๕)  ๒.  ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้   เช่น
อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก       ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา
แล้ว  ยังประกอบการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้เห็นปานนี้  คือ  สะสมข้าว
สะสมน้ำ  สะสมผ้า   สะสมยาน   สะสมที่นอน  สะสมของหอม  สะสมอามิส
แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
           (๑๐๖)  ๓.  ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่น       อันเป็นข้าศึกแก่กุศล
เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก           ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วย
ศรัทธาแล้ว     ยังขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้      คือ
การฟ้อนรำ    การขับร้อง    การประโคม    มหรสพ     มีการรำเป็นต้น     การ
เล่านิยาย    การเล่นปรบมือ   การเล่นปลุกผี   การเล่นตีกลอง  ฉากบ้านเมือง
ที่สวยงาม   การเล่นของคนจัณฑาล การเล่นไม้สูง  การเล่นหน้าศพ  ชนช้าง
ชนม้า     ชนกระบือ     ชนโค     ชนแพะ    ชนแกะ     ชนไก่     ชนนกกระทา
รำกระบี่กระบอง      ชกมวย      มวยปล้ำ      การรบ    การตรวจพล     การจัด
กระบวนทัพ   กองทัพ   แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
           (๑๐๗)  ๔.  ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนัน        อันเป็น
ที่ตั้งแห่งความประมาท     เช่นอย่างสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก     ฉัน
โภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว     ยังขวนขวายเล่นการพนัน     อันเป็นที่ตั้ง
แห่งความประมาทเห็นปานนี้     คือ  เล่นหมากรุกแถวละ ๘ ตา         แถวละ
๑๐  ตา   เล่นหมากเก็บ   เล่นดวด   เล่นหมากไหว  เล่นโยนบ่วง  เล่นไม้หึ่ง
เล่นกำทาย     เล่นสะกา     เล่นเป่าใบไม้     เล่นไถน้อย ๆ     เล่นหกคะเมน
เล่นกังหัน  เล่นตวงทราย   เล่นรถน้อย ๆ   เล่นธนูน้อย ๆ   เล่นเขียนทายกัน
เล่นทายใจ  เล่นเลียนคนพิการ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
           (๑๐๘)  ๕.  ภิกษุเว้นขาดจากการนั่งนอนบน   ที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่
เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา
แล้ว     ยังนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงให้เห็นปานนี้     คือ     เตียงมีเท้าเกิน
ประมาณ    เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย    ผ้าโกเชาว์ขนยาว    เครื่องลาดที่
ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย  เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว  เครื่อง
ลาดที่มีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้      เครื่องลาดที่ยัดนุ่น      เครื่องลาดขนแกะ
วิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้าย      มีสีหะและเสือเป็นต้น     เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง
เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว    เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม   เครื่อง
ลาดไหมขลิบทองและเครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน  ๑๖  คน      เครื่องลาด
หลังช้าง  เครื่องลาดหลังม้า  เครื่องลาดในรถ  เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์
ชื่ออชินะ    อันมีขนอ่อนนุ่ม     เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด     เครื่อง
ลาดมีเพดาน  เครื่องลาดมีหมอนข้าง   แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
           (๑๐๙) ๖.  ภิกษุเว้นขาดจาก              การประกอบการประดับตกแต่ง
ร่างกายอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว          เช่น  อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ
บางจำพวก   ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว    ยังขวนขวายประกอบการ
ประดับตกแต่งร่างกาย      อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัวเห็นปานนี้  คือ   อบตัว
ไคลอวัยวะ   อาบน้ำหอม   นวด    ส่องกระจก    แต้มตา   ทัดดอกไม้    ประ-
เทืองผิว  ผัดหน้า  ทาปาก   ประดับข้อมือ   สวมเกี้ยว   ใช้ไม้เท้า  ใช้กลักยา
ใช้ดาบ  ใช้ขรรค์   ใช้ร่ม   สวมรองเท้าประดับวิจิตร    ติดกรอบหน้า    ปักปิ่น
ใช้พัดวาลวีชนี     นุ่งห่มผ้าขาว     นุ่งห่มผ้ามีชาย    แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ
ประการหนึ่ง
           (๑๑๐)  ๗.  ภิกษุเว้นขาดจากติรัจฉานกถา           เช่นอย่างที่สมณ-
พราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก   ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว   ยังประ-
กอบติรัจฉานกถาเห็นปานนี้     คือ   พูดเรื่องพระราชา     เรื่องโจร      เรื่อง
มหาอำมาตย์   เรื่องกองทัพ   เรื่องภัย    เรื่องรบ    เรื่องข้าว   เรื่องน้ำ  เรื่อง
ผ้า    เรื่องที่นอน    เรื่องดอกไม้     เรื่องของหอม     เรื่องญาติ     เรื่องยาน
เรื่องบ้าน     เรื่องนิคม     เรื่องนคร     เรื่องชนบท    เรื่องสตรี      เรื่องบุรุษ
เรื่องคนกล้าหาญ   เรื่องตรอก  เรื่องท่าน้ำ   เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว  เรื่อง
เบ็ดเตล็ด     เรื่องโลก     เรื่องทะเล     เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วย
ประการนั้น ๆ     แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
           (๑๑๑)  ๘.  ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวคำแก่งแย่งกัน       เช่นอย่าง
ที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก       ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว
ยังขวนขวายกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกันเห็นปานนี้     เช่นว่า    ท่านไม่รู้ทั่วถึง
ธรรมวินัยนี้    ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง    ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร   ท่าน
ปฏิบัติผิด   ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก   ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่าน
ไม่เป็นประโยชน์    คำที่ควรจะกล่าวก่อน    ท่านกลับกล่าวภายหลัง   คำที่
ควรจะกล่าวภายหลัง  ท่านกลับกล่าวก่อน  ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมา ผันแปร
ไปแล้ว      ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว      ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว
ท่านจงถอนวาทะเสีย   มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย   ถ้าสามารถ   แม้ข้อนี้ก็เป็นศีล
ของเธอประการหนึ่ง
           (๑๑๒)  ๙.  ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรม   และ การรับใช้
เช่นอย่างที่  สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก       ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วย 
ศรัทธาแล้ว    ยังขวนขวายประกอบทูตกรรมและการรับใช้เห็นปานนี้    คือ
รับเป็นทูตของพระราชา   ราชมหาอำมาตย์   กษัตริย์   พราหมณ์   คฤหบดี
และกุมารว่า  ท่านจงไปในที่นี้   ท่านจงไปในที่โน้น  ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป
ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ในที่โน้นมา ดังนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
           (๑๑๓) ๑๐.  ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวง            และการพูด
เลียบเคียง     เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก     ฉันโภชนะที่
เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว    ยังพูดหลอกลวง    พูดเลียบเคียง    พูดหว่านล้อม  
พูดและเล็ม   แสวงหาลาภด้วยลาภ   แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
                                     จบมัชฌิมศีล

                                         มหาศีล
           (๑๑๔ )  ๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉาน-
วิชา  เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก  ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วย
ศรัทธาแล้ว  ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้    คือ ทาย
อวัยวะ  ทายนิมิต   ทายฟ้าผ่าเป็นต้น  ทำนายฝัน  ทำนายลักษณะ ทำนาย
หนูกัดผ้า    ทำพิธีบูชาไฟ     ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน      ทำพิธีซัดแกลบ
บูชาไฟ    ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ     ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ   ทำพิธีเติมเนย
บูชาไฟ   ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ   ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ   ทำพลีกรรมด้วย
โลหิต    เป็นหมอดูอวัยวะ    ดูลักษณะที่บ้าน     ดูลักษณะที่นา    เป็นหมอ
ปลุกเสก    เป็นหมอผี     เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน     เป็นหมองู
เป็นหมอยาพิษ    เป็นหมอแมลงป่อง  เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด   เป็นหมอ
ทายเสียงนก   เป็นหมอทายเสียงกา    เป็นหมอทายอายุ    เป็นหมอเสกกัน 
ลูกศร   เป็นหมอทายเสียงสัตว์   แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
           (๑๑๕)   ๒.  ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉาน-
วิชา   เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก  ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วย
ศรัทธาแล้ว       ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้       คือ
ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะผ้า  ทายลักษณะไม้พลอง  ทายลักษณะ
ศาตรา  ทายลักษณะดาบ   ทายลักษณะศร  ทายลักษณะธนู  ทายลักษณะ
อาวุธ  ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะ
กุมารี  ทายลักษณะทาส  ทายลักษณะทาสี ทายลักษณะช้าง ทายลักษณะ
ม้า    ทายลักษณะกระบือ    ทายลักษณะโคอุสภะ    ทายลักษณะโค   ทาย
ลักษณะแพะ   ทายลักษณะแกะ   ทายลักษณะไก่   ทายลักษณะนกกระทา
ทายลักษณะเหี้ย   ทายลักษณะตุ่น    ทายลักษณะเต่า    ทายลักษณะมฤค
แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
           (๑๑๖)  ๓.  ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉาน-
วิชา     เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก     ฉันโภชนะที่เขาให้
ด้วยศรัทธาแล้ว   ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้    คือ
ดูฤกษ์ยาตราทัพ    ว่าพระราชาจักยกออก    พระราชาจักไม่ยกออก     พระ
ราชาภายในจักยกเข้าประชิด  พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอก
จักยกเข้าประชิด        พระราชาภายในจักถอย       พระราชาภายในจักมีชัย
พระราชาภายนอกจักปราชัย   พระราชาภายนอกจักมีชัย   พระราชาภายใน
จักปราชัย พระราชาองค์นี้จักมีชัย พระราชาองค์นี้จักปราชัย  เพราะเหตุนี้ ๆ
แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง 
           (๑๑๗) ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ  โดยทางผิดด้วยติรัจฉาน-
วิชา   เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์บางจำพวก  ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา
แล้ว    ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้   คือ  พยากรณ์ว่า
จักมีจันทรคราส   จักมีสุริยคราส   จักมีนักษัตรคราส  ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์
จักเดินถูกทาง    ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทาง     ดาวนักษัตรจักเดิน
ถูกทาง     ดาวนักษัตรจักเดินผิดทาง   จักมีอุกกาบาต    จักมีดาวหาง   จักมี
แผ่นดินไหว   จักมีฟ้าร้อง     ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์    และดาวนักษัตรจักขึ้น
ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก       ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และ
ดาวนักษัตรจักมัวหมอง     ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรจักกระจ่าง
จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้   สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้  นักษัตรคราส
จักมีผลเป็นอย่างนี้       ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้
ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้       ดาวนักษัตรเดินถูก
ทางจักมีผลเป็นอย่างนี้  ดาวนักษัตรเดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้  มีอุกกา-
บาตจักมีผลเป็นอย่างนี้    มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้  แผ่นดินไหวจักมีผล
เป็นอย่างนี้     ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้       ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาว
นักษัตรขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้       ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรตก
จักมีผลเป็นอย่างนี้    ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรมัวหมองจักมีผล
เป็นอย่างนี้           ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็น
อย่างนี้  แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
           (๑๑๘)  ๕.  ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ    โดยทางผิดด้วยติรัจฉาน
วิชา   เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก     ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วย
ศรัทธาแล้ว          ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้        คือ 
พยากรณ์ว่า    จักมีฝนดี     จักมีฝนแล้ง      จักมีภิกษาหาได้ง่าย    จักมีภิกษา
หาได้ยาก   จักมีความเกษม    จักมีภัย   จักเกิดโรค   จักมีความสำราญหาโรค
มิได้      หรือนับคะแนนคำนวณ      นับประมวลแต่งกาพย์      โลกายตศาสตร์
แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
           (๑๑๙)  ๖.  ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ     โดยทางผิดด้วยติรัจฉาน-
วิชา     เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก    ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วย
ศรัทธาแล้ว       ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้      คือ  ให้
ฤกษ์อาวาหมงคล     ให้ฤกษ์วิวาหมงคล     ดูฤกษ์เรียงหมอน    ดูฤกษ์หย่าร้าง
ดูฤกษ์เก็บทรัพย์     ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์     ดูโชคดี     ดูเคราะห์   ให้ยาผดุงครรภ์
ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง     ร่ายมนต์ให้คางแข็ง     ร่ายมนต์ให้มือสั่น     ร่ายมนต์
ให้หูไม่ได้ยินเสียง     เป็นหมอทรงกระจก     เป็นหมอทรงหญิงสาว    เป็นหมอ
ทรงเจ้า    บวงสรวงพระอาทิตย์      บวงสรวงท้าวมหาพรหม      ร่ายมนต์พ่นไฟ
ทำพิธีเชิญขวัญ   แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
           (๑๒๐)  ๗.  ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ      โดยทางผิดด้วยติรัจฉาน-
วิชา     เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก      ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วย
ศรัทธาแล้ว        ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้     คือ   ทำ
พิธีบนบาน         ทำพิธีแก้บน       ร่ายมนต์ขับผี        สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน
ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย        ทำชายให้กลายเป็นกะเทย       ทำพิธีปลูกเรือน
ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่      พ่นน้ำมนต์       รดน้ำมนต์      ทำพิธีบูชาไฟ      ปรุงยา
สำรอก       ปรุงยาถ่าย      ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน     ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง
ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ      หุงน้ำมันหยอดหู      ปรุงยาตา     ปรุงยานัตถุ์     ปรุงยา
ทากัด     ปรุงยาทาสมาน     ป้ายยาตา     ทำการผ่าตัด     รักษาเด็ก      ชะแผล 
แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
           (๑๒๑)   มหาบพิตร    ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้      ย่อมไม่ประสบ
ภัยแต่ไหน ๆ เลย     เพราะศีลสังวรนั้นเปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษก
กำจัดราชศัตรูได้แล้ว       ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหน ๆ      เพราะราชศัตรูนั้น
มหาบพิตร     ภิกษุก็ฉันนั้นนั่นแล      สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว     ย่อมไม่
ประสบภัยแต่ไหน ๆ    เพราะศีลสังวรนั้น      ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้
ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน     มหาบพิตร   ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้
ถึงพร้อมด้วยศีล   ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล
                                          จบมหาศีล

                              
               การศึกษา ประพฤติ ปฏิบัติ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าพุทธศาสนิกชนมีความเข้าใจในพุทธศาสนาก็จะรู้ว่าสิ่งต่างๆในปัจจุบันที่กระทำอยู่ ผิดหรือไม่

 
               ๒. เหล่าอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย คอยสังเกตตรวจสอบพระทุกรูปที่อยู่ใกล้ท่านอย่างเข้มงวด ด้วยเจตนาที่จะปกป้องพระศาสนา ไม่ใช่เจตนาที่จะลบหลู่ท่านเหล่านั้น ถ้าท่านเหล่านั้นทำผิดพระวินัย ท่านผู้อ่านสามารถเตือนได้ก็ขอให้เตือนท่าน ถ้าเตือนไม่ได้ ก็อย่าไปสนับสนุนท่าน 
               ๓. ปกป้องและสนับสนุนพระที่ดีปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัย
               ๔. อย่ายอมรับมติ กติกา หรือธรรมเนียมปฏิบัติใดๆของสังคมที่ขัดกับหลักพระธรรมวินัย

               ขอให้ทุกท่านมีความเข้มแข็ง ช่วยกันสอดส่อง แก้ไข จนกว่าสิ่งเลวร้ายต่างๆที่แฝงอยู่ในบวรพุทธศาสนา ดังที่กล่าวมาข้างต้นจะมีการแก้ไขให้หมดสิ้นไปด้วยเทอญ


อ้างอิง ๑ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๔๕๒

อ้างอิง ๒ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๔๖  พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ ๓๔๖
มหาโจร ๕ (อัคคิภารทวาชสูตร)

อ้างอิง ๓ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๓๖ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๓๒๖

อ้างอิง ๔ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๐๙ - ๓๑๙ 



มีผู้อ่านจำนวน : 3004 ครั้ง


บทความที่เกี่ยวข้อง

           บทความสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมของพระพุทธศาสนา พ.ศ.๒๕๕๔ ตอนที่ ๑
           บทความสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมของพระพุทธศาสนา พ.ศ.๒๕๕๔ ตอนที่ ๒
backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have 8 guests and no members online