Text Size
Saturday, April 27, 2024
Top Tab Content
013taewatad

พระเทวทัตบุคคลผู้ที่ควรได้รับการยกย่องหรือตำหนิ 

            ที่เขียนบทความนี้ขึ้นมา เนื่องจากเคยได้ยินการพูดถึงพระเทวทัตในน้ำเสียงที่จะถูกว่ากล่าวมาโดยตลอด  บางทีคนไม่ดีบางคนก็จะถูกเปรียบเทียบเหมือนดั่งพระเทวทัต  ผู้เขียนจะรู้สึกว่าคนที่เอ่ยถึงพระเทวทัตลักษณะนั้นอาจจะก่อเวรกรรมขึ้นมาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  
            แต่ถ้าจะเอ่ยถึงในลักษณะความเป็นจริง ยกตัวอย่างว่าพระเทวทัตทำอย่างนี้  เป็นสิ่งที่ไม่ดี โดยไม่เอาความรู้สึกส่วนตัว ความไม่พอใจใส่เข้าไปขณะที่พูดถึง เพื่อที่จะยกตัวอย่างเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้ฟัง  ก็น่าจะเป็นการกระทำที่เหมาะสมกว่า

ประวัติอย่างย่อของพระเทวทัต
           ในชาติก่อนที่จะเป็นพระเทวทัต  ได้มีการกล่าวถึงพระเทวทัตในชาดกต่างๆ ในลักษณะเป็นคู่เวรของพระโพธิสัตว์ ทั้งหมด ๗๘ ชาดก โดยชาติแรกที่เป็นปฐมในการจองเวรนั่นคือ  เสรีววาณิชชาดก ในชาติที่พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพ่อค้าวาณิช
            พระเทวทัตนั้น  เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุปปพุทธะแห่งโกลิยวงศ์ ในพระนครเทวทหะ กับพระนางอมิตา พระกนิษฐภคินี(น้องสาว) ของพระเจ้าสุทโธทนะ (พระพุทธบิดา)   อีกทั้งพระเทวทัตยังเป็นพี่ชายของพระนางยโสธราพิมพา 
           ได้ออกบวชเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จมาทรงโปรดพระประยูรญาติครั้งแรกที่กรุงกบิลพัสดุ์    เนื่องจากความโลภด้านลาภสักการะทำให้พระเทวทัตประพฤติตัวออกนอกลู่นอกทาง จนถึงขั้นลอบปลงพระชนม์พระพุทธองค์  ทำหมู่สงฆ์ให้แตกแยก เป็นเหตุให้พระเทวทัตโดนธรณีสูบในที่สุด  ระหว่างที่โดนธรณีสูบลงไปนั้น ตั้งแต่ข้อเท้าจนถึงคาง พระเทวทัตได้ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์ได้กล่าวสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า และถวายตั้งแต่กระดูกคางที่เหลืออยู่เป็นพุทธบูชา(ด้วยถูกธรณีสูบตั้งแต่ข้อเท้ามาถึงคาง จึงใช้อวัยวะพร้อมด้วยลมหายใจที่เหลืออยู่นี้ถวายเป็นพุทธบูชา) หลังจากนั้นก็โดนธรณีสูบจนหมดทั้งร่าง ลงไปสู่อเวจีมหานรก
            พระพุทธองค์ทรงทำนายให้พุทธบริษัทฟังว่า พระเทวทัตเมื่อเสวยทุกข์อยู่ในนรกอเวจีแสนกัปแล้ว ภายหลังก็จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์และจะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า อัฏฐิสสระ ด้วยอำนาจผลบุญที่ถวายกระดูกตั้งแต่คางที่เหลืออยู่ในร่างกายนี้เป็นพุทธบูชา

พระเทวทัตยังเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา
           ถึงแม้พระเทวทัตจะประพฤติตัวเป็นศัตรูกับพระพุทธเจ้า  แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้  ก็คือ พระเทวทัต ก็ยังคงเป็นสาวกรูปหนึ่งของพระพุทธเจ้าที่ได้กล่าวคำบวชต่อหน้าพระพุทธเจ้า  อีกทั้งพระเทวทัตยังไม่ต้องอาบัติปาราชิกดังนั้น สถานะความเป็นพระภิกษุยังคงมีอยู่ในพระเทวทัต  และในตอนต้นที่พระเทวทัตออกบวชนั้น อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการออกบวชด้วยศรัทธา มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ สามารถปฏิบัติธรรมจนได้ฌานมีฤทธิ์มาก

พระเทวทัตเป็นผู้ทำให้เกิดประโยชน์มากมายต่อศาสนาพุทธ
            ในอีกสถานะหนึ่ง ท่านยังเป็นผู้มีพระคุณต่อชาวพุทธเรา เนื่องด้วยพระเทวทัตจึงทำให้ก่อประโยชน์มากมายดังนี้
            ๑. ระหว่างบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ด้วยลักษณะการจองเวรของพระเทวทัต  เมื่อพิจารณาแล้วก็เป็นเหมือนกับหินลับมีด  ซึ่งช่วยให้พระโพธิสัตว์ สามารถบำเพ็ญบารมีได้อย่างอุกฤษฏ์  ตัวอย่างเช่น ในชาติที่เกิดเป็นชูชก ได้เข้ามาขอบุตรต่อพระเวสสันดรทำให้พระเวสสันดรได้กระทำสิ่งยากยิ่ง ๗ อย่างได้สำเร็จ  แม้แต่แผ่นดินยังไหวเมื่อพระเวสสันดรผ่านการทดสอบ (อ้างอิง จากคัมภีร์  มิลินทปัญหา การตอบปัญหาเรื่องทานของพระเวสสันดร)
            ๒. ความประพฤติต่างๆของพระเทวทัตนั้น ไม่ได้ทำให้พระพุทธศาสนา และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องมัวหมองหรือเสื่อมลงไป ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้ผู้คนรู้จักคุณของพระองค์ยิ่งใหญ่สว่างไสวมากขึ้น  ตัวอย่างเช่น ในเหตุการณ์ตอนช้างนาฬาคิรี จะเข้ามาทำร้ายพระพุทธองค์ พระเทวทัตเป็นต้นเหตุในการปล่อยช้างนาฬาคิรี มาทำร้ายพระพุทธเจ้า  ท้ายที่สุดพระพุทธองค์ทรงแสดงพุทธานุภาพ  แผ่พลังเมตตาไปสู่ช้าง ทำให้ช้างสงบลง ลดงวงและหูทั้งสองข้างไปหมอบอยู่แทบพระบาทของพระองค์ ประชาชนทั่วไปเห็นปาฏิหาริย์นี้  จึงได้ส่งเสียงปรบมืออื้ออึง โยนผ้าอาภรณ์ต่างๆไปคลุมตัวช้าง  หลังจากนั้นก่อนที่ช้างนาฬาคิรีจะกลับยังโรงช้าง ช้างนาฬาคิรีได้เอางวงของตัวเอง ลูบที่ละอองธุลีพระบาทของพระพุทธองค์แล้วพ่นลงใส่กระหม่อมของตน  จากนั้นค่อยกลับโรงช้างด้วยความสงบ  เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผู้คนได้ประจักษ์ถึงคุณพระพุทธเจ้าได้ชัดยิ่งขึ้น  อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้พระอานนท์ได้แสดงถึงความกตัญญู ยอมสละชีวิต เอาตัวบังพระพุทธองค์เพื่อป้องกันช้างจะเข้ามาทำร้ายพระพุทธองค์   ต่อมาพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงชาดกที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้อีก (จุลหังสชาดก  มหาหังสชาดกและ กักกฏกชาดก)
            ๓. ก่อให้เกิดการแสดงธรรม โดยที่บทบาทของพระเทวทัตในเหตุการณ์หลายครั้งเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมต่างๆ
            - พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปรารภพระเทวทัต ถึง ๑๔ พระสูตร
            - ชาดกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปรารภพระเทวทัต ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจำนวน ๖๔ ชาดก
            ๔. ก่อให้เกิดการบัญญัติสิกขาบท
            ๕. เป็นสาเหตุให้บุคคลทั้งหลายเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เช่น นายขมังธนู ๓๒ คน ที่ถูกส่งไปปลงพระชนม์พระพุทธองค์ภายหลังได้ฟังธรรมและบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันทั้งหมด

ก่อนบวชพระเทวทัตเป็นพระญาติของเจ้าชายสิทธัตถะ
             อีกทั้งก่อนบวชท่านยังเป็นพระญาติของเจ้าชายสิทธัตถะ นั่นคือ
             - พระมารดาของพระเทวทัต เป็นน้องสาวของ พระบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ
             - น้องสาวของพระเทวทัต เป็นมเหสีของเจ้าชายสิทธัตถะ
             - พระเทวทัต เป็นลุงของพระราหุล
             - พระเทวทัต เป็นเพื่อนเล่นกับศากยกุมารทั้งหลายที่ออกบวช โดยเคยเป็นเพื่อนเล่นกันตั้งแต่
               ยังเป็นพระกุมารพร้อมกับศากยกุมารอีก ๔ คือ ภัททิยกุมาร อนุรุทธกุมาร กิมพิลกุมาร และภคุกุมาร

พระเทวทัตเป็นว่าที่พระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคต
           และที่สำคัญพระเทวทัตเป็นว่าที่พระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคต  นั่นคือ ได้รับพุทธทำนายจากพระพุทธองค์ว่า พระเทวทัตเมื่อเสวยทุกข์อยู่ในนรกอเวจีแสนกัปแล้ว ภายหลังจักได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์และจะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า อัฏฐิสสระ 

            ผู้ใดที่เคยคิดกล่าววาจาว่ากล่าว หรือไม่พอใจเป็นอกุศลจิตต่อพระเทวทัต นั่นหมายความว่าได้กระทำการล่วงเกิน โดยสร้างวจีกรรม มโนกรรมต่อ
            - ผู้ที่ได้สำนึกผิดแล้ว  สามารถดูได้จากเหตุการณ์ก่อนโดนธรณีสูบ พระเทวทัตนอนป่วยอยู่ ๙ เดือน ได้มีความสำนึกผิดเพราะไม่สามารถไปเองได้เนื่องจากป่วย  จึงได้บอกศิษย์ให้พาไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อขอขมากรรม
            - พระภิกษุสาวกรูปหนึ่งของพระพุทธเจ้า
            - ผู้ที่ทำประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาอย่างมาก
            - ผู้ที่จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคต
       
            แทนที่จะไม่พอใจท่าน ชาวพุทธทุกคนควรจะสำนึกบุญคุณของท่านมากกว่า  จึงขอเชิญชวนทุกท่าน ให้ส่วนบุญส่วนกุศลแก่ท่านเพื่อที่ท่านจะได้บรรเทาจากความทรมาน เมื่อท่านพ้นจากอเวจีมหานรกขึ้นมาแล้ว  ท่านก็จะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสรรพสัตว์อย่างมาก  ส่วนท่านใดที่เคยล่วงเกินท่านทั้งทางวาจาหรือทางใจ ก็ขอตั้งจิตขอขมากรรมท่าน เพื่อไม่ให้เกิดเป็นโทษจากวิบากกรรมในการลบหลู่คุณท่านสืบไป

หนังสืออ้างอิง : วิทยานิพนธ์
การศึกษาวิเคราะห์บทบาทของพระเทวทัตที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
AN ANALYTICAL STUDY OF THE ROLES OF DEVADATTA BHIKKHU AS FOUND IN THE BUDDHIST TEXTS
พระมหาไกรวรรณ ชินทตฺติโย (ปุณขันธ์)
ISBN 974-364-118-1
http://www.mcu.ac.th/thesis_file/254729.pdf




มีผู้อ่านจำนวน : 17654 ครั้ง


backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have one guest and no members online