Text Size
Friday, April 26, 2024
Top Tab Content
010day_afer_day


สิ่งเดิม 

            เรื่องแล้วเรื่องเล่าที่ผ่านมา รวมทั้งการกระทำของเราในชีวิตประจำวัน  อาจจะแตกต่างกันไปในรายละเอียดบ้าง  แต่ถ้ามองพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว  มันก็คือเรื่องเดิมๆ  เหมือนดั่งละครที่นำมาฉายซ้ำวนไปเรื่อยๆ เมื่อตื่นขึ้นมา ก็ไปเรียนหรือทำงาน  รับประทานอาหาร  ขับถ่าย  นอนพักผ่อน  วันรุ่งขึ้นก็เป็นแบบเดิมอีก  บางคนอาจจะแสวงหาสิ่งภายนอกไปเรื่อยๆ  เพื่อเข้ามาเพิ่มสีสันให้กับชีวิต  ไม่ว่าจะพยายามหาสิ่งแปลกใหม่ต่างๆ มาป้อนเข้า  ทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  สักเพียงใด  ถ้าแต่ละคนหยุดพิจารณาสักนิด  ผู้คนทั้งหลายก็ไม่เคยอิ่มไม่เคยหยุดที่จะแสวงหาสิ่งเหล่านั้น  และสิ่งต่างๆ ที่ป้อนเข้ามานั้น ก็เป็นสิ่งเดิมๆ  อาจจะเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาในรายละเอียดบ้าง  ถ้าพิจารณาให้ดีก็เป็นเรื่องเดิมๆ อยู่ดี  ไม่ว่าจะเปลี่ยน  อาหารต่างๆ สักกี่ชนิด  เปลี่ยนสถานที่รับประทานอาหารสักกี่แห่ง  ความรู้สึกมันก็จะเป็นในลักษณะเดิมอยู่ดี  อร่อยพอใจในรสชาติ  ปลื้มอยู่สักพัก  สิ่งนั้นมันก็เกิดขึ้น  ดำรงอยู่  แล้วก็หายไปในที่สุด  คงเหลือแต่ความทรงจำ  ซึ่งตัวความทรงจำเองมันก็  เกิดขึ้น  ดำรงอยู่สักพัก  แล้วก็หายไปในที่สุด  แถมบางคนก็เกิดความอาลัยอาวรณ์ในความสุขที่เข้ามา และก็เหมือนเดิมอีกนั่นแหละ ความอาลัยอาวรณ์  ก็เกิด  ดำรงอยู่สักพัก  แล้วก็หายไป  แล้วก็มีขึ้นมาใหม่  เหมือนกับว่าแต่ละคนกำลังเล่นละครเรื่องเดิมๆ  ซ้ำแล้วซ้ำเล่า  แสดงบทบาทเล่นไปกับละครเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ  ไม่มีวันจบไม่มีวันสิ้น 

            แม้แต่นิสัยแต่ละคนก็เหมือนกัน ก็เป็นนิสัยเดิมๆ  บางคนขับรถออกจากบ้าน  เจอรถอีกคันปาดหน้า  ก็โมโห  เจอรถอีกคันบีบแตรไล่  ก็โมโห  ขับรถบนถนนมาเป็นสิบปี ก็ใช้นิสัยเหมือนเดิมมาตลอด  ทำกรรมแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่รู้จักจบจักสิ้น  ความโมโหที่ฝึกจนชำนาญ  ทำอะไรก็หงุดหงิดทั้งวัน  พอมีอะไรเกิดขึ้นก็จะหยิบตัวโทสะมาใช้ก่อน  ยิ่งสังเกตบางคนที่มีนิสัยตะกละตะกลาม  พอมีอาหารน่าทานมาวางตรงหน้าก็รีบใช้มือจกกินก่อนผู้ใหญ่  นิสัยสันดานนี้ก็ทำจนเป็นนิสัย  พอวันถัดไปก็ทำแบบเดิมอีก วันแล้ววันเล่า  ฝึกจนนิสัยตะกละตะกลามกล้าแข็ง  แล้วแต่ว่าแต่ละคนมีจุดอ่อนตรงไหน  โลภะ  โทสะ  โมหะ  ก็แยกย้ายกันไป  ฝึกฝนและใช้นิสัยที่ไม่ดีของตนมาสร้างกรรมที่แต่ละคนถนัด 

คนที่เคยทำกรรมอะไรในปัจจุบัน          ในอดีตก็เคยทำอย่างนั้นมาเสมอ 
คนนิสัยสันดานยังไงในปัจจุบัน           อดีตก็มักจะเป็นอย่างนั้น 
เคยทำผิดพลาดอะไรในอดีต              ปัจจุบันก็ยังผิดพลาดอยู่ 
และในอนาคตแนวโน้มก็ยังคงดำเนินความผิดพลาดต่อไปเรื่อยๆ 
เดินลงรอยเดียวกับอดีตและปัจจุบัน

            เมื่อได้ศึกษาพุทธ ศาสนาแล้ว  ก็จะพอเข้าใจในสิ่งที่เป็นไป  สิ่งที่กล่าวมาก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร  เพราะมีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกมากมายถึงผู้คนที่เคยทำนิสัยอะไรในอดีตทั้งดี หรือไม่ดี  ปัจจุบันนั้นก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม

            ในมหาหังสชาดก
            เหล่าภิกษุได้สนทนากันในเรื่อง  พระอานนท์ได้เอาตัวเข้าขวาง  เมื่อช้างนาฬาคิรีที่จะเข้ามาทำร้ายพระพุทธเจ้า  เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้สดับเรื่องราวที่เหล่าภิกษุได้สนทนากัน  จึงตรัสว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ใช่ว่าอานนท์จะสละชีวิตเพื่อเราตถาคตในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ถึงเมื่อ ก่อน  อานนท์ก็ได้สละชีวิตเพื่อตถาคตมาแล้วเหมือนกัน”

            ในสังกิจจชาดก
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   พระเจ้าอชาตศัตรูกระทำปิตุฆาตกรรมแล้ว  อยู่เป็นสุขสบายเพราะอาศัยเราตถาคตแต่เฉพาะในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่  ถึงในกาลก่อน  เธอก็ทำปิตุฆาตกรรมแล้ว  อยู่อย่างเป็นสุขสบาย  เพราะอาศัยเราเหมือนกัน”
  
            ในพระไตรปิฎกและ อรรถกถาไทย  ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย   จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๔๐ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ ๑๑๑  
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า “ภิกษุ  เทวทัตนั้นทรงผ้าที่ไม่สมควรแก่ตนในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้  แม้ในกาลก่อน  เธอก็ทรงแล้วเหมือนกัน”

            ในเรื่องพระอุปนันท ศากยบุตร
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  อุปนันทะนี้ถือเอาของๆ  พวกเธอ กระทำให้พวกเธอเดือดร้อนในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้  แม้ในกาลก่อนก็ได้ทำแล้วเหมือนกัน”

            ในรุกขธรรมชาดก
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ภิกษุนี้เป็นผู้ไม่อดทนแต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้  แม้ในกาลก่อนเธอก็เป็นผู้ไม่อดทน”

            ในลักขณชาดก
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  สารีบุตรอันหมู่ญาติแวดล้อมมาย่อมงดงาม  แต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้  แม้ในกาลก่อนก็งดงามเหมือนกัน  ฝ่ายพระเทวทัตเสื่อมจากหมู่ญาติในบัดนี้เท่านั้น  ก็หามิได้  แม้ในกาลก่อนก็เสื่อมมาแล้วเหมือนกัน”

            ในวาตมิคชาดก
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุนี้ติดในรสตัณหา  ตกอยู่ในอำนาจของนางวัณณทาสีนั้น  ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้  แม้ในกาลก่อนก็ตกอยู่ในอำนาจของนางเหมือนกัน”

            ในขราทิยชาดก
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ดูก่อนภิกษุ  เธอเป็นผู้ว่ายากแต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้  แม้ในกาลก่อนก็เป็นผู้ว่ายากเหมือนกัน”

            ในจุลลนารทกัส สปชาดก
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ดูก่อนภิกษุ  เด็กหญิงอ้วนนั้นกระทำความพินาศแก่เธอในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้  แม้ในกาลก่อน  ในวันวิวาห์ของเด็กหญิงอ้วนนี้  เธอก็ถึงความสิ้นชีวิต”

            ในอกตัญญูชาดก
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ดูก่อนคฤหบดี  เศรษฐีชาวปัจจันตชนบทนั้น  เป็นผู้มีปกติประพฤติอย่างนี้  ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้  แม้ในกาลก่อนก็ได้มีปกติประพฤติเช่นนี้มาแล้วเหมือนกัน”
  
            ในคูถปาณกชาดก
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุนั้นได้รุกรานบุรุษด้วนด้วยคูถในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่  แม้เมื่อก่อนก็ได้รุกรานแล้วเหมือนกัน”

            ในอสิตาภุชาดก
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  กุลธิดาผู้นั้นเป็นผู้แสวงหาประโยชน์ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้  แม้ในกาลก่อนก็เป็นผู้แสวงหาประโยชน์เหมือนกัน”

            ในเอกปทชาดก
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ดูก่อนอุบาสก  ทารกนี้เป็นผู้แสวงประโยชน์ในบัดนี้ เท่านั้นก็หามิได้  แม้เมื่อก่อนก็เป็นผู้แสวงหาประโยชน์  ได้ถามปัญหานี้กะบัณฑิต  แม้โบราณบัณฑิตก็ได้บอกแก่ทารกนั้นแล้ว  แต่เขากำหนดไว้ไม่ได้  เพราะไปสู่ภพขีดขั้นไว้”

            ในปาทัญชลิชาดก
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายมิใช่ในบัดนี้เท่านั้น  แม้เมื่อก่อนโลฬุทายีก็ไม่รู้อะไรๆ  อย่างอื่นยิ่งกว่านั้น  นอกจากขัดคอ”

            ในกปิชาดก
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุนั้นมิใช่เป็นผู้หลอกลวงแต่ในบัดนี้เท่านั้น  แม้เมื่อก่อนก็เคยเป็นผู้หลอกลวงเหมือนกัน”

            ในทูตชาดก
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ดูก่อนภิกษุ  เธอเป็นผู้โลเลเหลาะแหละเฉพาะ  ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้  แม้ในกาลก่อน  เธอก็เป็นผู้โลเลเหลาะแหละ  ก็เพราะความเป็นผู้โลเลเหลาะแหละ  เธอจวนจะถูกตัดศีรษะด้วยดาบ”

            ในโลลชาดก
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ดูก่อนภิกษุ  เธอเป็นผู้โลเลในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้  แม้ในกาลก่อน  เธอก็ได้เป็นผู้โลเลมาแล้ว  และได้ถึงความสิ้นชีวิตไปเพราะความเป็นผู้โลเล  แม้โบราณบัณฑิตทั้งหลาย  ก็ได้เป็นผู้เสื่อมจากสถานที่อยู่ของตน  ก็เพราะอาศัยเธอ”

            ในสมุททชาดก
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ดูก่อนภิกษุ  พระอุปนันทะเป็นผู้มักมากในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้  แม้ในกาลก่อนก็ยังสำคัญน้ำแม้ในมหาสมุทรว่า  ตนควรจะรักษา”

            ในกุฏิทูสกชาดก
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุนี้เป็นผู้ประทุษร้ายกุฎีในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้  แม้ในกาลก่อน  ก็ได้เป็นผู้ประทุษร้ายกุฎีมาแล้วเหมือนกัน  และย่อมโกรธผู้ให้โอวาทแต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้  แม้ในกาลก่อน  ก็โกรธแล้วเหมือนกัน”

            ในสัมพุลาชาดก
            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในชาติก่อน  พระนางมัลลิกานี้  ก็ทรงเคารพพระสวามี  ดุจเทพยดาเหมือนกัน”

            ด้านบนเป็นตัวอย่าง ข้อความส่วนหนึ่งที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก  แสดงให้เห็นถึง นิสัยสันดานที่ติดมาข้ามภพข้ามชาติ  เคยสันดานเสียอย่างไร  ก็สันดานเสียอย่างนั้น  เคยสันดานดีอย่างไร  ก็ดีอย่างนั้น  เคยทำกรรมเลวอะไรมาในอดีต ปัจจุบันก็ยังทำเหมือนเดิม

            ถ้าแต่ละคนยังมอง ไม่เห็นนิสัยที่เสียของตน  หรือมองเห็นแล้วก็คิดว่าไม่เป็นไร ใครๆ ก็เป็นทั้งนั้น ขอให้ทุกท่านพิจารณาให้ดี  อย่าเป็นผู้ประมาทเช่นนั้นเลย  ขอให้ทุกท่านถามใจของตัวเองดูเอาเองว่า  มันถูกแล้วหรือที่จะปล่อยให้นิสัยไม่ดีของตน เป็นเช่นนั้นไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการแก้ไข  รอเวลาชาติถัดไปก็ต้องมาทำสิ่งที่ไม่ดีเหมือนเดิม  และเตรียมรับกับผลกรรมชั่วที่ได้ทำเอาไว้  เปรียบได้กับถือระเบิดเวลาที่ตัวเองทำเองไว้ตลอด  รอเวลาที่จะระเบิดใส่ตนเองเพื่อไปรับกรรมที่อบายภูมิ  เมื่อรับกรรมที่อบายภูมิจนหมดกรรม  พอกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ทำนิสัยแบบเดิมอีก

            ลองย้อนนึกดู  ตั้งแต่เกิดมาแต่ละท่านเคยทำสิ่งไม่ดีผิดพลาด  ทำให้ผู้อื่นมีความทุกข์  เดือดร้อนมากมายขนาดไหน  ไม่ว่าจะเป็น  พ่อ  แม่  ญาติพี่น้อง  บุตร  สามีภรรยา  ครูอาจารย์  มิตรสหาย  หัวหน้า  ลูกน้องบริวาร  ท่านได้เคยทำผิดต่อคนพวกนี้หรือไม่  ท่านต้องการจะเป็นผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นไปเรื่อยๆ เช่นนี้หรือ  ท่านจะเป็นผู้ประมาทเช่นนี้ไปเรื่อยๆหรือ  ทำไมทุกท่านถึงไม่อยากแก้ตัว  ทำสิ่งใหม่เพื่อจะได้ไม่ต้องทำสิ่งไม่ดีเหมือนเดิม  และทำในสิ่งดีบ้าง  แต่ละคนไม่เหนื่อยหน่ายบ้างหรือกับการเดินไปเรื่อยๆเป็นวงกลม  หรือไม่ก็เหมือนกับหลับแล้วฝันร้ายไปเรื่อยๆ ไม่ยอมตื่น  ยังมีความยินดีกับการฝันร้ายเช่นนั้นต่อไปเรื่อยๆ

            อีกทั้งอยากจะขอ เตือนสติท่านที่ยังคิดว่ามีความสุขในชีวิตอยู่  ไม่เห็นจะต้องไปใส่ใจกับนิสัยที่ไม่ดีของตน  เรื่องบางเรื่องอาจจะไม่จำเป็นต้องรอให้วิบากกรรมอันแสนทารุณมาถึงก็ได้  ถึงจะค่อยกลับมาสำนึก  มีตัวอย่างให้เห็นเยอะแยะมากจากผู้คนในสังคม  ที่กำลังคิดว่าตนเองมีความสุขอยู่  แต่ภายในข้ามคืนเท่านั้น  ชีวิตกลับพังทลาย  นอนหลับแค่ข้ามคืนพอตื่นขึ้นมากลับเป็นอัมพฤกษ์  หรืออัมพาต  กระพริบตาได้อย่างเดียว

ภัยในวัฏสงสาร
            การเวียนว่ายใน วัฏสงสารนั้นเป็นสิ่งน่ากลัวมาก  เพราะมีภัยต่างๆ มากมาย  ทั้งภัยจากการเกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  อีกทั้งยังมีภัยจากอบายภูมิ  เดรัจฉาน  เปรต  นรก  ฯลฯ อีกด้วย  (อ้างอิง๑)

เวลาแต่ละคนมีอยู่จำกัด
            อายุเฉลี่ยของ มนุษย์ในยุคกึ่งพุทธกาล  ประมาณ  ๗๕  ปี  หรือประมาณ  ๙๐๐ เดือน  หรือประมาณ  ๒๗,๓๗๕  วัน  ถ้าวันหนึ่งมีเวลานอน  ๘  ชั่วโมง  เวลาทำงาน ๘ ชั่วโมง  เวลาเดินทางวันละ  ๒  ชั่วโมง  เวลารับประทานอาหาร  ขับถ่าย  หรือใช้เวลาในกิจกรรมอื่นๆ อีก  เมื่อพิจารณาให้ดีนั้นเรามีเวลาจริงๆ  เหลืออยู่ไม่มาก  แถมบางคนยังสิ้นชีวิตก่อนอายุขัย  เนื่องจากโรคภัย  อุบัติเหตุ  เรามีชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์จนถึงเมื่อไรเราก็ไม่รู้  ทุกๆ คนเคยเห็นคนตายหรือไม่  ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเพื่อน  หรือญาติก็ตาม  สังเกตดีๆ ก็จะพอเห็นว่าเรามีเวลาอยู่บนโลกนั้นสั้นมาก
            จึงอยากจะบอกทุก ท่านว่าอย่าได้ประมาทเลย  อีกทั้งโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้มีตลอด  กาลเวลาไม่เคยบอกว่า  "เราจะหยุดรอท่านนะ  ท่านจะทำสิ่งที่ผิดพลาดนานเท่าไหร่ก็ได้  ยังไงเสียเราจะไม่เดินไปไหน  เราจะรอจนกว่าท่านแก้ตัวได้ แล้วเราค่อยเดินไป"  กาลเวลาไม่เคยให้โอกาสอย่างนั้นกับผู้ใด  กาลเวลานั้นเดินอย่างเที่ยงตรงเสมอ  ทุกท่านลองหันไปดูนาฬิกา  และมองไปตรงเข็มยาวหรือเลขวินาที  มันกำลังเดินไปเรื่อยๆ ใช่ไหม  ลองมองมันสักพักนึง  แล้วให้เวลากับตัวเองสักนิดหยุดพิจารณาดูสิว่า  เรากำลังทำอะไรอยู่ขณะนี้  ดังนั้นเมื่อมีโอกาสก็ควรจะเริ่มก้าวไปทำในสิ่งที่ควรทำตั้งแต่บัดนี้  ก่อนที่จะหมดโอกาสแล้วมานั่งเสียดายในภายหลัง   ซึ่งตอนนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว    

ความรับผิดชอบในการ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร
            ทุกท่านที่เกิดมามี ผู้คนที่ต้องดูแลให้ความใส่ใจหรือไม่  ไม่ว่า   พ่อ   แม่   ญาติพี่น้อง  บุตร  สามีภรรยา  ครูอาจารย์  ผู้มีอุปการะ  ผู้ที่เคยช่วยเหลือ  มิตรสหาย  หัวหน้า  ลูกน้องบริวาร  ฯลฯ  ถ้าท่านยังมีคนเหล่านี้อยู่  ในความคิดผู้เขียนถือว่า

ทุกท่านมีหน้าที่ในการเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร
โดย การเป็นที่พึ่ง
และคอยชักนำเขามาในทางที่ถูกต้อง


            ท่านจะปล่อยให้พวก เขาเหล่านั้นเผชิญภัยอันน่ากลัวของวัฏสงสารนี้โดยไม่ทำอะไรเลยหรือ  ถ้าท่านยังไม่ตื่นขึ้นมาจากการหลับใหล  หลงอยู่ในฝันร้าย  หรือ  เดินเป็นวงกลมอยู่ในวงจรเดิมอยู่  แล้วใครละที่จะไปช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในความรับผิดชอบของท่าน  ที่ล้วนแล้วแต่กำลังเดินก้มหน้าก้มตาหลงอยู่ในฝันร้ายด้วยกันทั้งนั้น  ยิ่งถ้าท่านตื่นได้เร็วเท่าไหร่  ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นก็จะเกิดขึ้นได้เร็วขึ้นเท่านั้น

จุดเปลี่ยนอยู่ตรงไหน
            สมมติว่าท่านทั้ง หลายต้องการจะเปลี่ยนแปลง  เราจะเริ่มต้นชีวิตใหม่แล้ว  แต่สงสัยว่า  เกิดมาชาติไหนก็จะต้องทำเหมือนเดิมอีก  แล้วจุดเปลี่ยนมันอยู่ตรงไหน
 
            คำตอบนั้นคือจุด เปลี่ยนคือปัจจุบันนี้แหละ   เนื่องเพราะปัจจุบันนี้เป็นโอกาสอันดีที่สุด  เพราะปัจจุบันนี้มีพุทธศาสนา  นับว่าเป็นโอกาสอันหาได้ยากมาก  (ให้ไปอ่านบทความ บุญอันยิ่งใหญ่ ความเสี่ยงอันใหญ่ยิ่ง ภาค๑ )
            ถ้าเกิดมีคำถามขึ้นมาอีกว่า  แล้วเราควรจะเริ่มจากสิ่งไหนก่อน  ในความคิดของผู้เขียนนั้นคิดว่าควรจะเริ่มจากสติก่อนเป็นอันดับแรก  เพราะคุณของสตินั้นเป็นคุณอันยิ่งใหญ่  (อ่านบทความ กฎแห่งธรรมชาติ คุณค่าของสติ)

            ถ้าได้ฝึกสติใน ปัจจุบัน  จนรู้นิสัยที่ไม่ดีของตน  แล้วเริ่มทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมันในทันที   ตรงนี้แหละคือจุดเปลี่ยน  แล้วฝึกสติให้กล้าแข็งขึ้นไปเรื่อยๆ  เราก็จะไม่ต้องไปทำนิสัยเสียเดิมๆ ของตนอีกต่อไป  เปรียบได้กับเป็นการหักเหเปลี่ยนเส้นทางเดินชีวิตใหม่  เคลื่อนตัวออกจากวงกลมวงเดิม  ตื่นจากฝันร้าย  อีกทั้งนิสัยส่วนไหนของตนที่ดีอยู่แล้วก็เร่งทำส่วนนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
  
            อย่างไรก็ตาม  อยากจะขอเตือนท่านทั้งหลายว่า  การจะแก้นิสัยออกจากวงจรเดิมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  เป็นเรื่องที่ยากมาก  ต้องใช้พลังมหาศาลในการผลักดัน  เพื่อที่จะหลุดออกจากวงจรเดิม  เนื่องจากนิสัยที่แต่ละคนได้สะสมมาอย่างยาวนาน ได้กระทำบ่อยเป็นประจำเหมือนกับเป็นการฝึกส่วนที่ไม่ดีนั้นให้กล้าแข็ง  และสะสมตกผลึกมาอย่างช้านาน  ถ้าเป็นกรรมที่สะสมจนมหาศาล  ก็อาจจะทำให้เป็นกรรมที่จะเข้ามาขัดขวางแต่ละคนไม่ให้ไปในทางที่ดี  แต่ทุกท่านก็ไม่ควรจะกลัวจนเกินเหตุไป  เนื่องจากปัจจุบันนี้ยังมีแสงสว่างแห่งพระธรรมที่คอยชี้นำแนวทางทุกท่านอยู่

            ส่วนผู้ที่คิดว่า กำลังได้ฝึกฝนตนเองอยู่ ขอฝากข้อคิดไปสู่ท่านเหล่านั้นคือ  แนวทางปฏิบัตินั้นถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่  เป็นพระสัทธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนหรือว่าเป็นพระสัทธรรมปฏิรูป  เป็นวิชชาหรือเดรัจฉานวิชา  เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่คนจำนวนมากกำลังหลงเดินทางผิดอยู่  ยิ่งฝึกยิ่งถลำลึก  จมอยู่กับอะไรบางอย่างที่ดูเหมือนจะสวยงามแต่แท้ที่จริงดึงเราให้หลงยึด อยู่  ลวงตาเราว่านิสัยที่ไม่ดีของเรากำลังได้รับการแก้ไขแต่แท้ที่จริงไม่ได้รับ การแก้ไขอะไรเลย  แถมยังสร้างสิ่งใหม่ที่ไม่ดีพอกพูนเพิ่มขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้สึกตัวอีกด้วย

            สำหรับท่านที่ฝึก ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่  ก็ขอให้กำลังใจและเร่งทำความเพียรต่อไป  ฝึกฝนให้ละเอียดมากขึ้นๆ  สมมติว่าท่านขับรถเดินทางไปทำงานทุกวัน  ในเส้นทางนั้นมีหลุมเล็กๆ อยู่หลุมหนึ่ง  เวลาขับรถผ่านหลุมนี้  ล้อข้างหนึ่งก็จะตกหลุมนี้ทุกครั้ง  ท่านก็ขับรถตกหลุมนี้ทุกๆ วันโดยไม่รู้สึกตัว  จนกระทั่งถึงวันหนึ่งได้มีสติรู้แล้วว่ามีหลุมอยู่ตรงนี้  และมีคนผู้หนึ่งบอกท่านให้รู้ว่าขับรถตกหลุมบ่อยๆ จะทำให้ช่วงล่างรถเสีย  เมื่อท่านรู้คุณโทษแล้วว่าถ้าเราขับรถตกหลุมอย่างนี้ทุกวันก็จะทำให้  ช่วงล่างรถของเราเสียได้  ท่านก็คิดว่าวันพรุ่งนี้เราจะขับรถไม่ให้ตกหลุมนี้อีกต่อไป

            ท่านผู้ฝึกปฏิบัติ ได้ระดับหนึ่ง  ได้รู้ถึงข้อเสียของตนแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถจะแก้ไขละเลิกข้อเสียเดิมๆ ของตนได้  ก็นับได้ว่าท่านได้ก้าวมาถึงจุดนี้แล้ว  เปรียบได้กับท่านกำลังตั้งใจว่าจะไม่ขับรถตกหลุมนี้อีกต่อไป  แต่เมื่อขับรถผ่านหลุมนี้ทำไมยังตกหลุมเดิมอีก  ทุกท่านลองพิจารณาถึงสาเหตุสิว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น  ถ้าท่านมีสติตลอดขณะขับรถ  มีการระลึกไว้ตลอดว่า  อีก ๑ กม. จะถึงหลุม  เหลืออีก  ๙๐๐  เมตรจะถึงหลุม .....  ๑๐๐  เมตรจะถึงหลุม  เหลืออีก  ๙๐  เมตรจะถึงหลุม ..... เหลืออีก ๑๐ เมตรจะถึงหลุม ..... ๓  เมตร  ๒  เมตรจะถึงหลุม  เหลืออีก  ๑  เมตรจะถึงหลุม  พอถึงหลุมท่านลองคิดดูสิว่าท่านจะขับรถตกหลุมอีกไหม 
  
            อีกประการหนึ่งที่ อยากจะฝากถึงผู้อ่านนั่นคือการรู้เป้าหมายและการตั้งเป้าหมายก็เป็นสิ่ง สำคัญ  เพราะเป้าหมายจะเป็นสิ่งที่กำหนดว่าเราจะไปที่ไหน  ถ้าไม่มีเป้าหมายทิศทางในการดำเนินการก็ไม่มี  ไม่รู้จะไปทิศทางไหนเหมือนกับเรือที่ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางทะเล  ลูกเรือถามว่ากัปตันเราจะออกเดินเรือไปสู่ที่ไหน  กัปตันกลับบอกว่าไม่รู้แล่นมันไปเรื่อยๆ ก็แล้วกันอย่าถามให้มาก  ในที่สุดก็จะอาจจะแล่นไปสู่เกาะปีศาจ  หรือไม่ก็อดตายอยู่กลางทะเล  ถ้าแย่ยิ่งกว่านั้นก็จะโดนพายุถล่มเรืออับปางตายอนาถทั้งเรือ   ถ้าผู้อ่านยังไม่รู้เป้าหมายว่าคืออะไร  ทางผู้เขียนก็ขอเฉลยเลยแล้วกันว่า

เป้าหมายสูงสุดนั่นคือ
การรอดพ้นจากทะเลแห่งทุกข์ทั้งปวง
เข้าสู่พระนิพพาน

 
ส่วนการตั้งเป้าหมายนั่นก็คือ การอธิษฐาน
ดังนั้นเมื่อเราจะทำอะไรก็ตามก็ขอให้ตั้งจิตอธิษฐานว่า
เราจะทำความเพียรที่ ถูกต้องไปเรื่อยๆ
เพื่อความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ให้ได้


            สุดท้ายนี้ ทางผู้เขียนหวังว่า ท่านผู้อ่านที่ได้มีโอกาสอ่านบทความนี้  อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้เห็นถึงเป้าหมายอันสำคัญ  และได้ตั้งเป้าหมายว่าเราจะทำความเพียรที่ถูกต้องไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ให้ได้  ส่วนการแก้ไขตนเองนั้น  ก็ขอให้พิจารณาตนเอง  เห็นถึงสิ่งที่ไม่ดีของตนเองสักหนึ่งอย่างก็ยังดี  แค่หนึ่งอย่างเท่านั้นไม่ต้องมากมาย  และตั้งใจพยายามที่จะแก้ไขสิ่งที่ไม่ดี  (หนึ่งอย่าง)  ของตนให้ได้  เมื่อทำได้สำเร็จสักหนึ่งอย่าง  อีกหลายอย่างก็จะตามมาเอง  อย่างน้อยก็จะได้ไม่เป็นการเสียเวลาเปล่าที่ได้มาอ่านบทความนี้  ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการพัฒนาตนเอง สามารถขัดเกลาตนเองไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดแห่งความพ้นทุกข์ด้วยเทอญ

อ้างอิง ๑
ภัยในวัฏสงสาร  เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสลดใจ  เพราะเป็นเหตุให้เกิดความสังเวช
    ชาติภัย ๑ ชราภัย ๑ พยาธิภัย ๑ มรณภัย ๑
(พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๘๗)

ว่าด้วยภัย ๔ ประการ
            อัคคีภัย ๑ อุทกภัย ๑ ราชภัย ๑ โจรภัย ๑
            อัตตานุวาทภัยภัย เกิดแต่การติเตียนตนเอง ๑ ปรานุวาทภัย ภัยเกิดแต่ผู้อื่นติเตียน ๑ ทัณฑภัย ภัยเกิดแต่อาญา ๑  ทุคติภัย ภัยเกิดแต่ทุคติ ๑
            ภัยคือคลื่น ๑ ภัยคือจระเข้ ๑ ภัยคือน้ำวน ๑ ภัยคือปลาฉลาม ๑ 

(พระ ไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๓๕ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒
หน้าที่๓๑๖ - ๓๒๔  ข้อ ๑๑๙ - ๑๒๑  ว่าด้วยภัย ๔ ประการ)



มีผู้อ่านจำนวน : 2704 ครั้ง


backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have one guest and no members online