Text Size
Sunday, September 08, 2024
Top Tab Content

katin_correct

“ ช่วยกันรักษาและสืบทอดการทอดกฐินให้ถูกต้องตามพระ ธรรมวินัย ” 

ช่วยกันรักษาและสืบทอดการทอดกฐินให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
            กฐินกาลอยู่ในช่วงเวลา แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
            การทำบุญทอดกฐินถือว่าเป็นการทำบุญที่เป็นประเพณีสำคัญของชาวพุทธทั้งหลาย  ปัจจุบันนี้การทอดกฐินได้ผิดเพี้ยนไปจากเดิมมาก  จนเป็นที่น่าสงสัยว่า การทอดกฐินปัจจุบันวันนี้ อานิสงส์อันที่จะเกิดขึ้นทั้ง ๒ ฝ่ายนั้น (ฝ่ายผู้ทอดกฐิน กับฝ่ายผู้รับกฐิน) จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ 
            หน้าที่ของชาวพุทธทุกคนจะต้องรักษาการทอดกฐิน ให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์เดิม ดังนั้นชาวพุทธควรจะมาศึกษาพระธรรมวินัยในส่วนนี้ให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดความบกพร่องในส่วนต่างๆ ซึ่งจะเป็นเหตุให้การทอดกฐินไม่สำเร็จ  สำเร็จแต่เพียงพิธีทางโลก แต่หาได้รับอานิสงส์ของกฐินไม่

กฐินคืออะไร
            กฐิน คือผ้าพิเศษ ที่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตให้มีการถวายได้เฉพาะช่วงเวลาที่กำหนดเท่านั้น (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ เดือน ๑๒) 
            ภายในวัดต้องมีพระภิกษุจำพรรษา โดยไม่ขาดพรรษาตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป
            พระภิกษุทั้ง ๕ รูปนี้จะมอบผ้า ผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน อันตรวาสก (สบง) อุตตราสงค์ (จีวร) และสังฆาฏิ ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่มีคุณสมบัติครบถ้วน นั่นคือภิกษุผู้รู้ธรรม ๘ ประการ
            ภิกษุองค์ครองผ้ากฐินประกาศเพื่อให้คณะสงฆ์อนุโมทนา คณะสงฆ์รับทราบเพื่ออนุโมทนา
            เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ภิกษุในวัดทุกรูปมีสิทธิ์ได้รับอานิสงส์ ๕ ประการทันที
ยังมีรายละเอียดอีกมากเช่น
            - พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นปกตัตตะภิกษุ คือเป็นพระภิกษุปกติไม่ต้องโทษ ไม่ต้องอาบัติ
            - วัดนั้นต้องไม่มีสังฆราชี
            (ขอให้ไปอ่านรายละเอียดที่หนังสือกฐินที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยเพิ่มอีกที)
   

ความสำคัญของการทอดกฐินสำหรับชาวพุทธ
            กฐินนับว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นการทำบุญที่มีเฉพาะพระพุทธศาสนาและเป็นพุทธประเพณี ที่จะมีพุทธานุญาติ โดยพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ จึงเป็นของยากที่จะได้ทำบุญถวายผ้ากฐินเพราะจะได้ทำบุญก็ต่อเมื่อมีศาสนาพุทธ
            เพื่ออนุเคราะห์แก่สงฆ์เพื่อให้ได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ เพื่อเอื้ออำนวยให้สงฆ์ที่ได้รับอานิสงส์กฐิน มีความเป็นอยู่อย่างสะดวกง่ายดายขึ้น
            สามารถกระทำได้ในช่วงระยะเวลาที่กำหนดคือ "กฐินกาล" ถ้าผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าว ก็ไม่สามารถจะทำได้ ต้องรออีก ๑ ปี
            จึงเป็นสิ่งสำคัญที่พุทธบริษัท ๔ ทุกท่าน ต้องช่วยกันรักษาความถูกต้อง
  
            พุทธประสงค์ข้อหนึ่งในเรื่องกฐินนั่นคือ เพื่อความสามัคคีให้มีในหมู่ภิกษุสงฆ์ ในระหว่างการช่วยเหลือร่วมมือกันระหว่างตัดเย็บผ้ากฐินเพื่อที่จะมอบผ้ากฐินให้กับภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในวัด  แต่ปัจจุบันนี้วัดส่วนมากจะมีเจ้าภาพจองกฐินเป็นญาติโยม โดยที่ญาติโยมก็จะไปหาซื้อผ้าไตรจีวรสำเร็จรูป (ญาติโยมต้องตรวจสอบว่าผ้าไตรจีวรสำเร็จรูป เป็นผ้าที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยหรือไม่) ในยุคสมัยนี้ คณะสงฆ์จะไม่ค่อยได้มีโอกาสช่วยกันตัดเย็บย้อมผ้ากฐิน ซึ่งส่วนนี้ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร
            ส่วนที่จะต้องพิจารณากันให้ดี คือเจตนาของกฐิน  กฐินคือผ้า ไม่ใช่เกี่ยวกับเงิน การทอดกฐินปัจจุบันนี้ส่วนมากจะหวังเงินจำนวนหนึ่งเพื่อไปสร้างอะไรสักอย่าง อาจจะเป็นศาลาหรืออะไรก็ตาม ซึ่งการตั้งเจตนาผิดตั้งแต่แรกนี้ อาจจะเป็นเหตุให้กฐินเดาะตั้งแต่ต้น  เจ้าภาพผู้จองกฐินอาจจะได้แค่อานิสงส์การทำวิหารทาน สังฆทาน แทนกฐิน
ส่วนพระผู้อยู่ในวัด ก็อาจจะไม่ได้รับอานิสงส์ของกฐิน ๕ ประการ ซึ่งจะทำให้ความเป็นอยู่ของพระในวัดลำบากกว่าภิกษุผู้ที่ได้รับอานิสงส์กฐิน

ทางแก้ปัญหา
            ผู้ที่ต้องการทอดกฐิน ควรทำการแยกส่วนของการสร้างวิหารทาน กับส่วนของกฐินโดยไม่เอามาปนกัน  กฐินก็ส่วนของกฐิน นั่นคือผ้า  ไม่เกี่ยวกับเงินทอง  ถ้าวัดไหนไม่ได้ทำถูกต้อง พุทธศาสนิกชนมีสิทธิ์ที่จะไม่เข้าร่วมได้
            พยายามหาวัดที่สามารถทำกฐิน ได้ถูกต้องพระธรรมวินัยตามพระบรมพุทธานุญาต  ปัจจุบันนี้พุทธศาสนิกชนอาจจะต้องเสียเวลาหาวัดที่ทำกฐินได้ถูกต้อง  แต่ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ที่จะรักษาความถูกต้องตามพระธรรมวินัยให้คงอยู่ต่อไป  อีกทั้งพุทธศาสนิกชนเองก็จะได้อานิสงส์กฐินอย่างแท้จริง  สามารถเป็นตัวอย่างแก่วัดอื่นๆได้อีกด้วย
            ถ้าผู้ที่ประสงค์ทำบุญกฐิน หาวัดที่ทำพิธีได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยไม่ได้จริงๆแล้ว เนื่องจากปัจจุบันนี้อาจจะมีวัดที่ทำกฐินได้ถูกพิธีเหลือน้อยเต็มที  ยกเว้นแต่วัดที่ได้กฐินพระราชทาน ที่น่าจะพอได้อานิสงส์กฐินที่แท้จริง ในส่วนของการตั้งเจตนา เพราะกฐินพระราชทานจะไม่ได้มีเงินมาเกี่ยวข้อง  ดังนั้นผู้ที่ต้องการจะได้อานิสงส์ที่แท้จริง ถึงแม้จะไม่มีโอกาสทอดกฐินได้โดยตรง ในวัดที่ตั้งเจตนาประสงค์ในผ้ากฐินอย่างเดียว ไม่แอบแฝงเกี่ยวกับเงินทอง   เมื่อได้ยินเกี่ยวกับกฐินพระราชทาน ก็ตั้งจิตตั้งใจอนุโมทนาให้ดีในกฐินนั้น  ก็จะได้อานิสงส์ร่วมไปด้วย

จุลกฐิน
            จุลกฐิน คือ คำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว กล่าวคือ ต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีก วันหนึ่ง ดังนั้นโบราณจึงนับถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอุตสาหะพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลาอันจำกัด (ที่มา วิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%90%E0%B8%B4%E0%B8%99)
            วัดที่ยังคงประเพณีมีการทอดกฐินแบบจุลกฐิน ก็น่าจะเป็นทางออกของเรื่องนี้เหมือนกัน  เพราะวัดที่ทำจุลกฐิน จะมีเจตนามองที่ตัวผ้าเป็นสำคัญ  เพราะต้องทำผ้าให้สำเร็จภายในวันเดียว  ดังนั้นวัดไหนที่เป็นจุลกฐินก็น่าจะเป็นกฐินที่ถูกต้องพระธรรมวินัยเช่นเดียวกัน  ขออ้างอิงในสมัยพุทธกาล พุทธประสงค์เรื่องกฐินอีกข้อนึงนั้น ก็เพื่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่สงฆ์ ได้ช่วยกันตัดเย็บจีวรเป็นผ้ากฐิน การทำผ้ากฐินนั้นได้เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของคณะสงฆ์ 

การร่วมกันทำผ้าจีวรสมัยพุทธกาล
การประชุมร่วมกันทำผ้าในครั้งพุทธกาล เป็นการประชุมใหญ่มีเรื่องเล่าไว้ใน
พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ ๓๗๗
            ครั้งเมื่อพระอนุรุทธเถระ ได้ผ้าบังสุกุลมา จะทำจีวรเปลี่ยนผ้าครองสำรับเก่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ เสด็จเป็นประธานในวันนั้นพร้อมพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป พร้อมพระอสีติมหาสาวกร่วมประชุมช่วยทำ พระมหากัสสปะเถระนั่งอยู่ต้นผ้า พระมหาสารีบุตรเถระนั่งอยู่ท่ามกลาง พระอานนทเถระนั่งอยู่ปลายผ้า พระภิกษุสงฆ์ช่วยกันกรอด้าย พระบรมศาสดาทรงสนเข็ม พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นผู้อุดหนุนกิจการทั้งปวง แสดงถึงความสามัคคีของพระภิกษุสงฆ์

แจ้งวัดที่ทำกฐินได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
            สำหรับพุทธศาสนิกชนที่มีความศรัทธา พบวัดที่ได้ทำกฐินได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย สามารถแจ้งข่าวแก่เราได้ เพื่อที่จะนำมาบอกกล่าวกับบุคคลทั่วไป 
   
            พุทธศาสนิกชนทั้งหลายเมื่อได้อ่านข้อความแล้ว พิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญา เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมในการที่จะกระทำการใด เข้าร่วมบุญ ณ ที่ไหนก็ตาม 
            ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่าน ที่จะรักษาความถูกต้องตามพระธรรมวินัย เพื่อรักษาพระพุทธศาสนาให้ยืนยงคงถ้วนครบห้าพันปีสืบไป ด้วยเทอญ

มหาปรินิพพานสูตร
“ ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ
ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น   ศาสดาของพวกเธอ ”



มีผู้อ่านจำนวน : 6478 ครั้ง


backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have 5 guests and no members online