Text Size
Friday, April 19, 2024
Top Tab Content

01kunka_sati02

คุณค่าของสติ ๒ 
     
กัมมัสสกตาปัญญา นั้นหมายความว่าอะไร หมายถึงปัญญาในเรื่องนี้ ๑๐ ประการคือ

ตัวที่ ๑ อตฺถิทินฺนํ
            ปัญญารู้เห็นว่า ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมมีผล หมายความว่า ผลทานนั้นมีจริงๆ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรับรองไว้เช่นนั้น ฉะนั้นเราจะสังเกตได้ว่า คนบางคนเกิดมา ทำไมบางคนก็จน บางคนก็รวย เพราะอะไร เพราะว่าเขาทำทานไม่สม่ำเสมอกัน บางคนก็ทำทานมาก บางคนก็ทำทานน้อย
ตัวที่ ๒ อตฺถิยิฏฐํ
            ปัญญารู้เห็นว่า การบูชาย่อมมีผล
ตัวที่ ๓ อตฺถิหุตํ
            ปัญญารู้เห็นว่า การบวงสรวงเทวดานั้นมีผล
ตัวที่ ๔ อตฺถิ กมมานํ ผลํวิปาโก
            ปัญญารู้เห็นว่า ผลแห่งวิบากกรรมดี และกรรมชั่วย่อมมีอยู่ หมายถึงว่าใครทำกรรมอย่างไร ก็ได้รับผลอย่างนั้น
ตัวที่ ๕ อตฺถิ อยํ โลโก
            ปัญญารู้เห็นว่า โลกนี้มีอยู่ หมายความว่า ผู้ที่จะมาเกิดในโลกนี้มี
ตัวที่ ๖ อตฺถิ ปโร โลโก
            ปัญญารู้เห็นว่า โลกหน้ามีอยู่ หมายความว่า ผู้ที่จะไปเกิดนั้นมี พูดง่ายๆ ว่า นรกมีจริง สวรรค์มีจริง นั่นเอง ขณะนี้เราอยู่ในชาตินี้แล้วเราอาจจะตกนรกก็ได้ ขึ้นสวรรค์ก็ได้
ตัวที่ ๗ อตฺถิ มาตา
            ปัญญารู้เห็นว่า มารดามีอยู่
ตัวที่ ๘ อตฺถิ ปิตา
            ปัญญารู้เห็นว่า บิดามีอยู่

            หมายถึงว่า ทำกรรมดีก็ดี ทำกรรมชั่วก็ดี อันสัมพันธ์กับบิดามารดาย่อมให้ผล ถ้าถึงกับฆ่าบิดามารดาแล้ว ก็จะเข้าไปอยู่ในครุกรรม ๕ ซึ่งได้แก่ การฆ่าบิดา ๑ การฆ่ามารดา ๑ การฆ่าพระอรหันต์ ๑ การทำพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต ๑ การทำให้สงฆ์แตกแยกกัน ๑ นี่เป็นครุกรรมอันหนัก ผู้ที่ทำกรรมเช่นนั้นย่อมจะต้องไปอยู่ในอเวจีมหานรก
ตัวที่ ๙ อตฺถิ สตฺตโอปปาติกา
            ปัญญารู้เห็นว่า โอปปาติกสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ สัตว์ในโลก เปรต อสุรกายก็ดี เทวดา พรหมก็ดี เป็นของที่มีอยู่จริง ไม่ใช่เรื่องพูดกันเล่นๆ
ตัวที่ ๑๐ อตฺถ โลเก สมณพฺราหฺมณา สมฺมา ปฏิปันฺนา
            ปัญญารู้เห็นว่า สมณพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบประกอบด้วย ความรู้ยิ่ง เห็นจริงประจักษ์ซึ่งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเอง มีอยู่ในโลกนี้

            นี่เรื่องของสติ เป็นคุณค่าของสติ เมื่อเราได้รู้ถึงคุณค่าของสติดังกล่าวข้างต้น ปัญหาต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้น เราจะได้สติจากไหน สติก็อยู่ในเจตสิกนั่นเอง
            ผู้ที่เกิดมาเป็นคนหรือเทวดา มีขันธ์ ๕ อยู่ครบ คือ
            ๑. รูปขันธ์
            ๒. สัญญาขันธ์
            ๓. เวทนาขันธ์
            ๔. สังขารขันธ์
            ๕. วิญญาณขันธ์

            คำว่า สติ ในที่นี้หมายถึง สังขารขันธ์ ซึ่งในเจตสิก ๕๒ ดวงนั้น หักเอาเวทนาขันธ์ และสัญญาขันธ์ออกเสียอย่างละตัวหนึ่ง เหลือ ๕๐ ตัวนั้น เรียกว่า สังขารขันธ์

            สตินั้นเป็นตัวหนึ่งในประเภทสังขารขันธ์ ประเภท โสภณเจตสิก จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ก็พิสูจน์ได้ว่าคนทุกคนต่างก็มีสติติดตัวกันมาด้วยกันทั้งนั้น แต่เราไม่ได้ทำให้มันตื่นดีขึ้น ทั้งนี้เพราะเหตุไร
            เพราะในชีวิตของคนเราส่วนใหญ่นั้น ต่างก็มัวหลงเพลิดเพลินอยู่ในความสุขบ้าง ความสวยบ้าง ความงามบ้าง ซึ่งเรียกว่า โลภะมูลจิต เราก็เต็มไปด้วยความโกรธ ความแค้น ความอาฆาต ความพยาบาท ซึ่งเรียกว่า โทสะมูลจิต บางคนก็เอ้อระเหยใครว่าอย่างไรก็ไปอย่างนั้น ไม่รู้ธรรม ไม่เห็นธรรมว่า ความเป็นจริงของธรรมมีเป็นประการใด อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ตัวนี้แหละเรียกว่า โมหะมูลจิต เพราะในชีวิตของคนเราส่วนใหญ่ที่ไม่ประพฤติธรรม ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ โลภะมูลจิตก็ดี โทสะมูลจิตก็ดี โมหะมูลจิตก็ดี ย่อมจะเข้ามาครอบงำ เมื่อมันเข้ามาครอบงำเช่นนี้แล้ว ขอถามสักหน่อยว่า เมื่อเวลาจะตาย จุติจิตกำลังจะเกิดขึ้นนั้น เราจะเอาสติมาจากไหนที่เราจะป้องกันมิให้ตก ไปสู่ทุคติภูมิ ได้แก่ นรก ๑ เปรต ๑ อสุรกาย ๑ เดรัจฉาน ๑

            เราเอาอะไรมาเป็นหลักประกัน ในชีวิตของเราไม่ได้หัดสร้างสติไว้เลย ดังนั้น ถ้าพวกเราทุกคนเห็นความสำคัญของสติดังนี้แล้ว ถ้าเราสนใจในการที่จะปลุกสติที่เรามีอยู่แล้วให้ตื่นขึ้นมาใช้ทำประโยชน์ เราก็สามารถจะฝึกหัดให้มันตื่นขึ้นตั้งแต่ต้นจนถึงเกิดประโยชน์ในการเจริญ สติปัฏฐาน หรือเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่าวิปัสสนากรรมฐาน อันเป็น โลกุตตรกุศลอันสูงสุด ซึ่งได้แก่สติตัวเดียวเท่านั้น ทีนี้เมื่อเราได้รู้จักถึงความสำคัญของสตินั้นว่า มีเป็นประการใด ลองพิจารณาเหตุผลในการที่จะสร้างสติขึ้นว่า เราควรจะทำประการใด

            การที่จะฝึกสติให้มีการระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรมนี้ ผู้ที่ไม่รู้ถึงความยากลำบากในการฝึกสติคงจะหัวเราะเยาะว่า เป็นเรื่องง่ายนิดเดียว เพียงแต่ให้ระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรมนั้นทำได้ง่าย ง่ายหรือไม่ง่ายก็จงลองทำดูว่า ความจริงนั้น สติมันระลึกรู้ขึ้นจริงหรือเปล่า

ประการแรก สติระลึกรู้จากทางตา
            ตาไม่บอดเราแลเห็นสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะกับสิ่งที่เรียกว่า รูปสีหรือเรียกกันว่า รูปารมณ์นั้น รู้หรือเปล่าว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นมันเป็นความจริงที่รู้ได้ทางตาเท่านั้น นั่นมันเป็นรูปสีเราเคยนึกหรือเปล่า เราเคยระลึกหรือเปล่า มีแต่เราเห็นแล้วเราหลง เราเห็นแล้วเกิดโทสะ ถ้าเราเห็นรูปใดที่สวยงามผ่านนัยน์ตาเรา เราก็มีความพอใจ มีความชอบใจความปลาบปลื้มยินดี อะไรที่เกิดขึ้น เราไม่ได้เห็นด้วยสติ นั่นเราเห็นด้วยโลภะ ถ้าเราเห็นด้วยสติ จะไม่เป็นอย่างนี้ เราเพียงแต่รู้ว่า อ้อนี่มันเป็นความจริงที่รู้ได้ทางตาเท่านั้น มันเป็นรูปธรรมอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอะไรวิเศษไปกว่านั้น เพียงแต่นัยน์ตาของเราเท่านั้น เห็นไม่ว่า เราแลเห็นด้วยสติหรือเปล่า ในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนส่วนใหญ่ ไม่สามารถจะเห็นได้ด้วยสติ แต่เราแลเห็นได้ด้วยราคะ โทสะ และโมหะ ด้วยกันทุกคน นี่เพียงทางนัยน์ตาอย่างเดียว

ต่อไปทางหูเล่า
            เราเคยระลึกไหมว่า สัททารมณ์ หรือ เสียงนั้น มันรู้ได้จากทางหูอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เรามิได้นึก ถ้าเราได้ยินเสียงอะไรเพราะๆ เราก็กระหยิ่มยิ้มย่อง มีความพออกพอใจ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ แต่ถ้าเราได้ยินเขานินทาว่าร้ายเรา เขาว่ากล่าวเรา เขาด่าเรา เขาตะโกนโพนทะนาเราเช่นนี้ เราก็เกิดความไม่พอใจ เราจะอ้างได้หรือว่า การฟังดังกล่าวนั้น เรามีสติระลึกรู้ความจริง เราไม่ได้มีสติระลึกรู้เลย เรารู้อย่างไร เรารู้ในโลภะประกอบด้วยความโลภะ คือ ความพอใจในการที่ได้ยินเสียงที่เขาได้ชมเชยเรา เสียงนั้นเป็นเสียงที่ไพเราะเพราะพริ้ง เสียงที่ยกยอปอปั้น อะไรหละ มิใช่โลภะมูลจิต มันเกิดขึ้นหรอกหรือ นั่นไม่ใช่สติ เพราะสติระลึกรู้แล้ว เรารู้กันมาแล้วว่า สตินั้นเป็นโสภณเจตสิก อกุศลจิตทั้งหลายมันจะกล้ำกรายเราไม่ได้ นอกจากนี้เราได้ยินเสียงเขานินทาว่าร้าย มีการกล่าวร้ายป้ายสีเรา เราก็เกิดความโกรธ แค้น อาฆาต นี่หรือบอกว่ามีสติ เรามีความโกรธแค้น เราอะไรหละ มีความอาฆาต เราอะไรหละ นั่นคือ มันมีโทสะมูลจิตเกิดขึ้นแล้ว ก็โทสะมูลจิต มันเป็นฝ่ายดำสติมันจะเกิดขึ้นอย่างไร ก็ไม่เกิดอีก หรือเราได้ยินเสียง เราก็ไม่สนใจฟังว่า เสียงเขาพูดอะไรกันเท่านั้น ไม่เกิดความยินดี ไม่เกิดความยินร้าย ฟังแล้วเฉย รู้เรื่องแล้วก็เฉย เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา  สิ่งนี้หรือเรียกว่า สติเกิด ความจริงไม่ใช่ นั่นคือโมหะมูลจิต คือ ความหลงมันเกิดขึ้นแล้ว มีที่ไหนสติ ตาเราเห็น เราก็ไม่มีสติ หูเราได้ยินก็ไม่มีสติ แล้วเราจะเอาเอาอะไรมาเป็นทุนในการที่จะประกันชีวิตของเราก่อนตายเล่า เราไม่มีอะไรเลยเพราะว่าเราขาดสติ ถ้าเรามีสติระลึกรู้แล้ว เสียงไพเราะ ไม่ไพเราะ เสียงนินทาว่าร้ายเราก็ดี เมื่อเรามีสติระลึกรู้เราก็รู้ว่า นั่นมันเป็นเพียงสัททารมณ์ คือ รูป รูปเสียงเท่านั้น ไม่มีอะไรวิเศษไปกว่านั้น นี่แหละจึงเรียกว่ามีสติ แต่รับรองว่า ไม่มีใครมีสติระลึกรู้เช่นนั้น เพราะเราไม่ได้ฝึกหัดสติ ปลุกสติให้มันตื่นขึ้น มันจึงไม่รู้

ข้อที่สาม ทางจมูก
            เมื่อเราได้กลิ่นหอม ไม่ว่าจะเป็น น้ำอบ กลิ่นดอกไม้ หรืออะไรที่เราพอใจ เราก็ยินดี ยิ้มย่องผ่องใส มีความเบิกบานใจว่า สิ่งเหล่านี้เราชอบ เราต้องการ นี่หรือที่เรียกว่าเรามีสติ โลภะมูลจิตมันก็เกิดขึ้นอีกแล้ว ในทำนองเดียวกัน เราได้กลิ่นซึ่งเป็นของเหม็น ของเผ็ดร้อน กลิ่นที่ไม่ต้องการจะดม แม้ตลอดจนของอับเหม็น เช่น ท่อไอเสีย หรือ คาร์บอนมอนนอกไซด์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ เราไม่มีความพอใจ เช่นนั้น อะไรเกิดขึ้นเล่า ความไม่พอใจ ความเกลียดชังที่เกิดขึ้น นั่นอะไร เพราะโทสะมูลจิตมันเกิดขึ้นแล้ว เมื่อมันเกิดขึ้นเช่นนี้แล้ว สติจะเกิดขึ้นได้อย่างไร มันก็ไม่เกิดต่อไป ถ้าเราได้กลิ่นอะไร เราก็ไม่สนใจ หอมเราก็ไม่สนใจ เพราะเราเฉย ๆ เช่นนี้ อะไรเล่ามันเกิดขึ้น นั่นคือ โมหะมูลจิตมันได้เกิดขึ้นแล้ว ทำให้เราหลงใหลใฝ่ฝัน ไม่ได้นึกถึงความจริงที่มันปรากฏขึ้น ถ้าเรามีสติ เราก็รู้ได้ว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นจริงซึ่งปรากฏรู้ได้ทางจมูกเท่านั้น มันเป็นคันธารมณ์ คือ รูปกลิ่น เท่านั้นเอง นี่เราเคยนึกเช่นนี้ หรือตราบใดที่เราไม่เคยนึกเช่นนี้ สติจะเกิดขึ้นได้อย่างไร มันก็คงจะหลับต่อไป คงปล่อยแต่อกุศลมูลจิตให้เกิดขึ้น ไม่ว่า โลภะ โทสะ โมหะ ถ้าเราใกล้จะตายแล้ว ได้กล่าวมาแล้วว่า หูเราก็ดับ ตาก็ดับ การบอกหนทางผู้จะตายนั้นจะช่วยอะไรเราให้เราไปสู่สุคติภูมิได้หรือ ถ้าเราไม่คิดฝึกหัดสติระลึกรู้เสียตั้งแต่ยังเป็นๆ ขณะนี้

นอกจากนี้แล้วเรารู้ได้ทางลิ้น
            นั้นคือ รสต่างๆ ที่เรามีความพอใจก็ดี ความไม่พอใจก็ดี ถ้าเป็นรสหวานเย็น ชื่นชุ่ม เราก็มีความพอใจ ถ้าเป็นรสขมขื่น เผ็ดร้อน เหล่านี้ เราก็ไม่พอใจ ทั้ง ๆ ที่ชีวิตประจำวันของเราได้รับรสเช่นนี้ตลอดเวลาที่กินอาหาร เราเคยมีสติระลึกรู้ถึงรสเหล่านี้หรือเปล่าว่า มันเป็นอะไร เปล่าเลย ถ้ารสนั้นเป็นรสที่เราถูกใจ ความพอใจจะเกิดขึ้น อร่อยจริงหนอ อย่างนี้กับชอบ อย่างนี้อร่อย นั่นโลภะมูลจิต มันเกิดขึ้นแล้ว อย่างนั้นไม่อร่อย มันเผ็ดไปฉันไม่ชอบ นั่นคือ โทสะมูลจิตมันเกิดขึ้น บางทีกินไปอร่อยหรือไม่อร่อยฉันไม่สนใจ กินให้มันอิ่ม ๆ ก็แล้วกัน อะไรมันเกิดขึ้นโมหะมูลจิตมันเกิดขึ้น ซึ่งเหล่านี้มันเป็นอกุศลมูลจิต เราเคยนึกหรือเปล่าว่า เราเคยมีสติระลึกรู้ในเรื่องรส เพียงแต่รู้ว่า รสที่เราลิ้มนั้น รู้ได้ทางลิ้นนั้น มันเป็นรูป เขาเรียกว่า รสารมณ์ คือรสรูปที่รู้ได้ทางลิ้นเท่านั้น เคยรู้บ้างหรือไม่ว่า มันเป็นเพียงรูปไม่มีความคงทนอะไร เราไม่เคยนึกเมื่อไม่เคยนึก สติก็ไม่เกิด ฉะนั้นเพียงเท่าที่อธิบายมามันเป็นเพียงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น

ต่อไปตัวที่ห้า คือทางกาย
            อย่างไรเราได้รับสัมผัสว่า เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง ไหว เรารู้ได้ทางกาย แต่เราไม่มีสติระลึกรู้ สิ่งใดที่อ่อนนุ่ม เราก็พอใจนั่งสบายดี สิ่งใดที่ร้อนหน่อย แข็งนิด เราไม่พอใจก็ว่า มันร้อนไปจากการสัมผัสทางผิวหนัง อะไรมันเกิดขึ้น ความพอใจที่เกิดขึ้น ก็เป็นโลภะมูลจิต ถ้าเราไม่พอใจ โทสะมูลจิตก็เกิดขึ้น ถ้าเรานั่งเฉย ๆ อะไรก็นั่งได้ อะไรหละจะเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็คือโมหะมูลจิต มันเกิดขึ้น เช่นนี้ มันก็ไม่มีสติระลึกรู้ ถ้าเรามีสติระลึกรู้แล้ว เมื่อเราสัมผัสกับอะไร ถ้าแข็งมันจะระลึกรู้ว่าเป็นรูปดิน หรืออ่อน มันก็เป็นรูปดินอย่างนี้เป็นต้น ถ้ามันมีความเย็น ความร้อน เรารู้ว่า อ๋อ มันเป็นรูปไฟ มันให้ความเย็นร้อน ในชีวิตเราเคยไหม อย่างนี้เมื่อเราไม่เคยแล้ว เราจะไม่พร้อมหรือที่จะปลุกสติให้มันลุกขึ้น ถ้าสติมันไม่ลุกขึ้น เมื่อเวลาเราจะตาย ใครเล่าจะมาช่วยเราได้ อันนี้ก็เข้ามาใน อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ คือไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากตัวของเราเอง

ความรู้ประการสุดท้าย คือ ความรู้ทางใจ
            เรียกว่า ธัมมารมณ์ อันเกิดได้จากความคิดนึก เราเคยพิจารณาหรือเปล่าว่าธัมมารมณ์นั้น มันเกิดขึ้นทางใจเท่านั้น เราเพียงแต่ว่า นึกคิดในสิ่งที่เรารักใคร่ พอใจในสิ่งนั้น เราก็พอใจ เมื่อเรานึกถึงสิ่งที่เราไม่พอใจ เราก็มีความเกลียด ความโกรธ ไม่พอใจในสิ่งที่เรานึกเราคิดนั้น นั่นอะไรนั่นคือตัวโทสะมูลจิต มันเกิดขึ้น ถ้าเรานึกคิดในสิ่งที่มันเฉย มันเป็นโมหะมูลจิต ไม่มีสติระลึกรู้เลยว่า นั่นมันเป็นธัมมารมณ์อันหนึ่ง มันเป็นนามธรรมเท่านั้น เคยนึกคิดเช่นนี้หรือ นี่เป็นเพียงการที่เราฝึกให้รู้เป็นปัจจุบันธรรมเท่านั้น เรายังไม่มีกันแค่นี้ แล้วเราจะเอาอะไรมาเป็นตัวปลุกสติต่อไปเมื่อเราจะตาย

            จากที่ได้กล่าวมานี้ น่าจะเห็นความสำคัญของสติว่ามันมีความสำคัญประการใด จะเห็นได้ว่า การฝึกสติให้ลุกขึ้นเป็นปัจจุบันธรรมนั้น ไม่ใช่เป็นของที่ทำกันได้ง่ายๆ ถ้าเราไม่อยากไปสู่ทุคติภูมิซึ่งมี นรก ๑ เปรต ๑ อสุรกาย ๑ เดรัจฉาน ๑ เราจงเริ่มปลุกสติเสีย แต่ในขณะนี้ นี่คือ การฝึกสติให้มีความระลึกรู้ เป็นปัจจุบันธรรม ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และสติอีกนั่นแหละที่เราจะได้นำไปใช้ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ที่เราเรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง
 
ตามที่ได้กล่าวมานี้ ก็เป็นเรื่อง การระลึกรู้หรือ สติในขั้นต้นเท่านั้น

จากหนังสือ กฎแห่งธรรมชาติ คุณค่าของสติ

สำนักพุทธศาสตร์โลกและธรรม
ท่านอาจารย์พันตำรวจเอก (พิเศษ) บุญเพ็ญ แขวัฒนะ เป็นเจ้าของสำนัก


มีผู้อ่านจำนวน : 5937 ครั้ง


บทความที่เกี่ยวข้อง

           คุณค่าของ สติ ตอนที่ ๑
           คุณค่าของ สติ ตอนที่ ๒
backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have 26 guests and no members online