อรกศาสดา ชีวิตน้อยนิด
๑๐. อรกานุสาสนีสูตร (อ้างอิง ๑)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ศาสดาชื่อ อรกะ เป็นเจ้าลัทธิ ปราศจากความกำหนัดในกาม ก็อรกศาสดานั้นมีสาวกหลายร้อยคน เธอแสดงธรรมแก่สาวกอย่างนี้ว่า
“ ดูก่อนพราหมณ์ ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อย นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ดูก่อนพราหมณ์ หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่ออาทิตย์ขึ้นมาย่อมแห้งหายไปได้เร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนหยาดน้ำค้าง ฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อฝนตกหนัก หนาเม็ด ฟองน้ำย่อมแตกเร็ว ตั้งอยู่ไม่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนฟองน้ำ ฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ดูก่อนพราหมณ์ รอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ย่อมกลับเข้าหากันเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ฉันนั้นเหมือนกัน..... ดูก่อนพราหมณ์ แม่น้ำไหลลงจากภูเขา ไหลไปไกล กระแสเชี่ยวพัดไปซึ่งสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ไม่มีระยะเวลาหรือชั่วครู่ที่มันจะหยุด แต่ที่แท้แม่น้ำนั้นมีแต่ไหลเรื่อยไปถ่ายเดียว แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ฉันนั้นเหมือนกัน.... ดูก่อนพราหมณ์ บุรุษมีกำลัง อมก้อนเขฬะไว้ที่ปลายลิ้น แล้วพึงถ่มไปโดยง่ายดาย แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนก้อนเขฬะ ฉันนั้นเหมือนกัน.... ดูก่อนพราหมณ์ ชิ้นเนื้อที่ใส่ไว้ในกระทะเหล็ก ไฟเผาตลอดทั้งวัน ย่อมจะย่อยยับไปรวดเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ฉันนั้นเหมือนกัน.... ดูก่อนพราหมณ์ แม่โคที่จะถูกเชือด ที่เขานำไปสู่ที่ฆ่าย่อมก้าวเท้าเดินไปใกล้ที่ฆ่า ใกล้ความตาย แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่โคที่จะถูกเชือด ฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ”
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็โดยสมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๖๐,๐๐๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕๐๐ ปี จึงควรแก่การมีสามี ก็โดยสมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอาพาธ ๖ อย่างเท่านั้น คือ เย็น ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอรกศาสดานั้น เมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืนตั้งอยู่นาน มีอาพาธน้อยอย่างนี้ จักแสดงธรรมให้สาวกฟังอย่างนี้ว่า
“ ดูก่อนพราหมณ์ ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อย นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ”
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ เมื่อจะกล่าวโดยชอบก็พึงกล่าวว่า ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อย นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ คนที่มีอายุอยู่ได้นาน ก็เพียงร้อยปีหรือน้อยกว่านั้นบ้าง เกินกว่าบ้าง ก็คนที่มีอายุอยู่ถึงร้อยปี ย่อมอยู่ครบ ๓๐๐ ฤดู คือ ฤดูหนาว ๑๐๐ ฤดู ฤดูร้อน ๑๐๐ ฤดู ฤดูฝน ๑๐๐ ฤดู คนที่มีอายุอยู่ถึง ๓๐๐ ฤดู ย่อมอยู่ครบ ๑,๒๐๐ เดือน คือ ฤดูหนาว ๔๐๐ เดือน ฤดูร้อน ๔๐๐ เดือน ฤดูฝน ๔๐๐ เดือน คนที่มีอายุอยู่ถึง ๑,๒๐๐ เดือน ย่อมอยู่ครบ ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน คือ ฤดูหนาว ๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูร้อน ๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูฝน ๘๐๐ กึ่งเดือน คนที่มีอายุอยู่ครบ ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน ย่อมอยู่ครบ ๓๖,๐๐๐ ราตรี คือ ฤดูหนาว ๑๒,๐๐๐ ราตรี ฤดูร้อน ๑๒,๐๐๐ ราตรี ฤดูฝน ๑๒,๐๐๐ ราตรี คนที่มีอายุอยู่ถึง ๓๖,๐๐๐ ราตรี ย่อมบริโภคอาหาร ๗๒,๐๐๐ เวลา คือ ฤดูหนาว ๒๔,๐๐๐ เวลา ฤดูร้อน ๒๔,๐๐๐ เวลา ฤดูฝน ๒๔,๐๐๐ เวลา พร้อมๆ กับดื่มนมมารดาและอันตรายแห่งการบริโภคอาหาร ใน ๒ ประการนั้น อันตรายแห่งการบริโภคอาหาร มีดังนี้ คือ คนโกรธย่อมไม่บริโภคอาหาร คนมีทุกข์ก็ไม่บริโภคอาหาร คนป่วยไข้ก็ไม่บริโภคอาหาร คนรักษาอุโบสถก็ไม่บริโภคอาหาร เพราะไม่ได้อาหารจึงไม่บริโภคอาหาร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้กำหนดอายุ ประมาณแห่งอายุ ปี ฤดู เดือน กึ่งเดือน ราตรี การบริโภคอาหาร และอันตรายแห่งการบริโภคอาหาร ของมนุษย์ผู้มีอายุร้อยปี ด้วยประการดังนี้แล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กิจใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลผู้อนุเคราะห์เอื้อเอ็นดู พึงกระทำแก่สาวก กิจนั้นเรากระทำแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง ขอเธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าต้องเป็นผู้เดือดร้อนใจ ในภายหลังเลย นี้คืออนุศาสนีของเราสำหรับเธอทั้งหลาย
จบ อรกานุสาสนีสูตรที่ ๑๐
ส่วนของการวิเคราะห์และความเห็น
เมื่ออ่านเรื่องราวใน อรกานุสาสนีสูตร เราจะพบว่าเรื่องราวในครั้งนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้นำคำสอนของศาสดาผู้หนึ่งในอดีต ที่ชื่อว่าอรกะ มาตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟัง โดยที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเล็กน้อย(อายุสั้น) และความคับแค้นของชีวิตมนุษย์ เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว สิ่งที่ควรทำคือ ควรทำกุศล และประพฤติพรหมจรรย์ โดยที่ศาสดาอรกะนั้น ท่านได้สั่งสอนสาวกของตัวเองว่า ๑. ชีวิตเป็นของน้อยนิด ๒. รวดเร็ว ๓. มีทุกข์มาก ๔. มีความคับแค้นมาก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ถ้าจะพิจารณาด้วยปัญญาถึงสิ่งที่ควรทำก็คือ ๑. ควรทำกุศล ๒. ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี (เมื่อมาถึงตอนนี้ ขอให้ทุกท่านลองพิจารณาให้ดีว่า สัตว์ที่เกิดมาแล้วไม่ตายมีหรือไม่)
อรกะศาสดานั้นได้เปรียบเทียบชีวิตมนุษย์ทั้งหลายไว้ ๗ ลักษณะ
๑. หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า ๒. หยดน้ำฝน ๓. รอยในน้ำเมื่อใช้ไม้ขีดลงไป ๔. กระแสน้ำที่ไหลลงจากภูเขา ๕. ก้อนเขฬะ (น้ำลาย) ที่ถูกถ่มออกมาจากปาก ๖. ชิ้นเนื้อที่ใส่ไว้ในกระทะเหล็กที่โดนไฟเผาไว้ตลอด ๗. แม่โคที่กำลังเดินไปสู่โรงฆ่า
ประเด็นที่ ๑
พระองค์ได้นำคำสอนของอรกะศาสดามาตรัสบอกให้สาวกฟัง นั่นแสดงว่าคำสอนของอรกะศาสดา เป็นคำสอนที่ สามารถนำมาพิจารณาและน้อมนำมาสู่ตนเองได้ ในส่วนนี้ขอกล่าวถึง การเปรียบเทียบชีวิตมนุษย์ของอรกะศาสดา ซึ่งท่านได้เปรียบเทียบไว้ใน ๗ ลักษณะ คือ
๑. หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า หยาดน้ำค้าง สักครู่เดียวก็แห้งหายไป ๒. หยดน้ำฝน หยดน้ำฝน เป็นลักษณะที่สามารถสลายอย่างง่ายดายมาก ๓. รอยในน้ำเมื่อใช้ไม้ขีดลงไป รอยขีดในน้ำ ยิ่งรวดเร็วมากแทบจะชั่วพริบตาที่มีการปรากฏขึ้นจนกระทั่งหายไป
ทั้ง ๓ ข้อ เป็นการเปรียบในลักษณะของความน้อยนิด และความรวดเร็วของชีวิต เมื่อพิจารณาทั้ง ๓ ข้อให้ดี จะพบว่าชีวิตมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่น้อยนิดและรวดเร็วมาก สัตว์บางชนิดมีช่วงอายุขัยเพียง ๓ วัน เรามองสัตว์ที่มีอายุสั้นเท่าไหร่ เทวดาที่อายุยืน หรือพรหมที่มีอายุยืนยาวนาน ก็คงมองชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งที่สั้นมากเช่นกัน
๔. กระแสน้ำที่ไหลลงจากภูเขา ชีวิตมนุษย์ไหลไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุดแม้แต่เสี้ยวของเสี้ยววินาที ไม่มีแม้แต่เชื่องช้าลง มันผ่านไปอย่างไม่สนใจว่าใครจะเป็นยังไง ใครจะทำตัวยังไง มันยังคงทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรง ท่านลองมองนาฬิกา และปฏิทินว่าวันนี้วันเวลาเท่าไหร่ เดี๋ยวพอผ่านไปสักพัก ท่านก็จะเห็นว่า ชีวิตก็ผ่านไป หนึ่งนาที, หนึ่งชั่วโมง, หนึ่งวัน, หนึ่งเดือน, หนึ่งปี หรือสิบปี อย่างรวดเร็ว
๕. ก้อนเขฬะ (น้ำลาย) ที่ถูกถ่มออกมาจากปาก ในส่วนนี้ ศาสดาอรกะท่านได้เปรียบเทียบไว้อย่างชัดเจนมาก ชีวิตเหมือนก้อนน้ำลายที่จะถูกถ่มออกมาอย่างง่ายดาย เมื่อไหร่ก็ได้ตลอดเวลา สามารถตายได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกท่านลองคิดพิจารณาดูว่า ท่านรู้ได้อย่างไรว่า ทุกครั้งที่ท่านหลับตา ท่านจะมีโอกาสได้ลืมตามาอีกครั้งหรือไม่ ทุกครั้งที่ก้าวเท้าออกจากบ้าน ท่านมีโอกาสกลับเข้ามาอีกหรือไม่ ทุกครั้งที่ท่านเห็นหน้าคนที่ท่านรัก ท่านมีโอกาสจะเห็นเขาอีกหรือไม่ ดูเหมือนว่า ไม่มีสิ่งไรที่ทำให้แน่ใจได้สักอย่างว่าความตายจะไม่มาหาเรา เปรียบได้กับก้อนน้ำลายที่อยู่ในปาก สามารถถูกถ่มออกมาได้อย่างง่ายดายมาก
๖. ชิ้นเนื้อที่ใส่ไว้ในกระทะเหล็กที่โดนไฟเผาไว้ตลอด เมื่อพิจารณาในส่วนนี้ ชีวิตมนุษย์เหมือนโดนแผดเผาตลอดเวลาอย่างแท้จริง สามารถย่อยยับได้ในพริบตา เปรียบเหมือนโยนชิ้นเนื้อ ลงไปในกระทะเหล็กแดง ชั่วพริบตาก็ไหม้เกรียม ไม่เหลือสภาพ ทั้งรวดเร็ว ทั้งคับแค้นมาก ชีวิตมนุษย์เหมือนโดนแผดเผาด้วยความทุกข์และสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา และไม่มีวันหยุดอีกด้วย
๗. แม่โคที่กำลังเดินไปสู่โรงฆ่า ในส่วนนี้ยิ่งเป็นการเปรียบเทียบอย่างชัดเจนมาก สิ่งที่ยืนยันได้อย่างแน่นอนว่า ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ทุกคนมีอายุที่จำกัด วันเวลาที่ผ่านไป ทุกๆเสี้ยววินาทีที่เวลาผ่านไป เปรียบเหมือนกับทุกคนกำลังเดินเข้าสู่ความตายเข้าไปเรื่อยๆ ทุกขณะ เหมือนดั่งแม่โคที่กำลังเดินไปสู่โรงฆ่า ชีวิตของพวกเราทุกคนก็เปรียบเหมือนกับแม่โคที่กำลังเดินไปเรื่อยๆสู่แดนประหาร ชีวิตกระชั้นลงไปเรื่อยๆ น้อยลงไปทุกขณะ ทุกเสี้ยววินาที
ทั้ง ๗ ลักษณะดังกล่าว เป็นสิ่งที่อรกะศาสดานำมาสอนสาวกของตน ยิ่งกลับมาพิจารณาถึงสิ่งที่มนุษย์ส่วนมากกระทำนั้นแล้ว ยิ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก อุตส่าห์เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งที แถมยังเกิดในยุคที่มีบวรพุทธศาสนาอีก ผู้คนส่วนมากกลับมาทำตัวอย่างน่าเสียดาย คนบางคนเกิดมา มาทำงานไปเรื่อยๆ มีลูก เลี้ยงลูกให้โต แล้วก็แก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตายไป บางคนนั้นจิตใจเต็มไปด้วยความอยาก เกิดมาแล้วก็บริโภคกามคุณ ๕ ไปเรื่อยๆ แล้วก็แก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตายไป ส่วนบางคนก็มักโกรธ โมโห ฉุนเฉียว เบียดเบียนผู้คนรอบตัวไปเรื่อยๆ แล้วก็แก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตายไป นับว่าเป็นการเกิดที่ไร้ค่าเสียประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการเกิดมาเพื่อสร้างโทษให้กับตนเอง และผู้อื่นอีกด้วย เป็นการเกิดมาเพื่อกระทำบาปและตายไปพร้อมกับบาปกรรมของตน ที่ได้กระทำไว้ตอนเป็นมนุษย์เท่านั้น ในตอนนี้ ท่านผู้อ่านสามารถเลือกที่จะเป็นสิ่งต่างๆได้ และ สามารถเลือกที่จะเปลี่ยนสิ่งต่างๆได้ สุดแล้วแต่ท่านผู้อ่านจะตัดสินใจ จำไว้ว่าตอนนี้ท่านยังมีอำนาจในการตัดสินใจอยู่ในมือ ก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิตอันน้อยนิดนี้ อำนาจการตัดสินใจในฐานะความเป็นมนุษย์ที่จะสามารถกระทำสิ่งต่างๆได้ ก็จะหมดสิ้นลง
หมายเหตุ : กามคุณ ๕ (ส่วนที่น่าใคร่น่าปรารถนา, ส่วนที่ดีหรือส่วนอร่อยของกาม ) ๑. รูปะ (รูป) ๒. สัททะ (เสียง) ๓. คันธะ (กลิ่น) ๔. รสะ (รส) ๕. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) ห้าอย่างนี้ เฉพาะส่วนที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เรียกว่า กามคุณ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
ประเด็นที่ ๒
ประเด็นนี้จะขอกล่าวในส่วนพระประสงค์ของพระองค์ที่ได้นำคำสอนของอรกะศาสดา มาตรัสให้พระสาวกของพระองค์ฟัง ทำไมพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงต้องยกคำสอนของอรกะศาสดามาตรัสให้สาวกของพระองค์ฟัง ทั้งๆที่ พระองค์ก็สามารถสอนสาวกของพระองค์เอง ว่า
“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ เมื่อจะกล่าวโดยชอบก็พึงกล่าวว่า ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อย นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ”
คำตอบในส่วนนี้ ผู้เขียนไม่กล้ายืนยันว่าเพราะเหตุใด แต่ในส่วนที่จะสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ นั่นคือข้อเท็จจริงที่พระองค์ให้
คำสอนของอรกะศาสดา ที่สอนสาวกนั้นกล่าวไว้ว่า ชีวิตของมนุษย์นั้นน้อยนิด รวดเร็ว (แต่ข้อเท็จจริงที่พระองค์ให้ไว้คือ มนุษย์ในสมัยนั้นมีอายุถึง ๖๐,๐๐๐ ปี ) ชีวิตของมนุษย์ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก (แต่ข้อเท็จจริงที่พระองค์ให้ไว้คือ มนุษย์ในสมัยนั้นมนุษย์ทั้งหลายมีอาพาธ ๖ อย่างเท่านั้น คือ เย็น ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ )
ขอให้ทุกท่านพิจารณาให้ดีว่า ขนาดสมัยนั้นผู้คนมีอายุตั้ง ๖๐,๐๐๐ ปี มีอาพาธเพียง ๖ อย่างเท่านั้น แต่อรกะศาสดากลับสั่งสอนสาวกแบบนั้น ทำไมมนุษย์ในยุคนั้นถึงสามารถคิดในลักษณะไปในทางไม่ประมาทในชีวิตได้
ในความคิดของผู้เขียน บางทีมนุษย์ที่มีจิตใจละเอียดอ่อน ประกอบด้วยภูมิธรรมสูง ก็สามารถเห็นความจริงที่มีความละเอียดได้ ขนาดยุคของอรกะศาสดานั้น เป็นยุคที่ผู้คนมีอายุยืนยาวกว่ายุคนี้มากมายนัก แต่ก็ยังเห็นความจริงที่ว่าชีวิตเป็นสิ่งน้อยนิด สอนสิ่งที่ทำให้ผู้คนสามารถดำรงตนอยู่ได้ด้วยความไม่ประมาท
บางครั้ง มนุษย์ที่มีภูมิธรรมสูง ก็ไม่จำเป็นต้องให้ชีวิตของตนเองมีความอนาถ หดหู่ พังพินาศ เจ็บป่วย มีทุกข์อย่างแสนสาหัส ถึงจะสามารถเห็นธรรม แล้วค่อยหันกลับมาประพฤติธรรมได้
ส่วนมนุษย์ที่มีจิตใจหยาบ ภูมิธรรมต่ำ ต่อให้อายุสั้นขนาดไหน เหลือ ๓๐ ปี ๒๐ ปี ๑๐ ปี อีกทั้งต้องผ่านชีวิตที่อนาถ หดหู่ พังพินาศ เจ็บป่วย มีทุกข์อย่างแสนสาหัส ก็สามารถดำรงตนอยู่ด้วยความประมาทได้ ครั้งหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะ พระโพธิสัตว์ของพวกเราทั้งหลาย ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเห็นเทวทูตทั้ง ๔ ซึ่งเป็นเหตุให้พระองค์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ทรงบรรพชาที่ฝั่งแม่น้ำอโนมาในวันรุ่งขึ้น ขอย้ำว่า เจ้าชายสิทธัตถะกุมาร ชีวิตในทางโลกของพระองค์เพียบพร้อมทุกประการ พระองค์ไม่ได้ประสบความยากลำบากในชีวิตเลย เพียงแต่ท่านไปพบเห็นความจริงของชีวิตที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่กำลังประสบกับตนเองด้วยซ้ำไป แต่ท่านก็สามารถเห็นความจริงของชีวิตได้
หมายเหตุ : เทวทูต ๔ คือ คนแก่ ๑ คนเจ็บ ๑ คนตาย ๑ สมณะนักบวช ๑
ทุกท่านเคยสังเกตหรือไม่ว่า นับตั้งแต่ท่านเกิดมา ท่านเคยพบเห็นหรือรับรู้การตายของสัตว์บ่อยครั้งหรือไม่ ท่านเคยรับรู้ความทุกข์ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของผู้อื่นบ้างหรือไม่
ประเด็นที่ ๓
ประเด็นนี้จะขอกล่าวถึงในส่วนที่ว่า พระองค์ยังทรงสั่งสอนสาวกทั้งหลายเหมือนดั่งที่อรกะศาสดาสอนนั่นคือ “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ เมื่อจะกล่าวโดยชอบก็พึงกล่าวว่า ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อย นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ” อีกทั้งพระผู้มีพระภาคเจ้ายังตรัสแก่สาวกทั้งหลายว่า มนุษย์ในปัจจุบันนี้ มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี และพระองค์ยังเปรียบเทียบอายุของมนุษย์อีกหลายลักษณะ ฤดู เดือน กึ่งเดือน ราตรี การบริโภคอาหาร
จากที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้น ด้วยเหตุที่ว่า ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อย นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราควรจะทำอย่างไรกับชีวิต ควรจะดำเนินชีวิตไปแบบไหน คำตอบนั้นน่าจะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของเรื่องนี้ นั่นคือพระองค์ได้ให้คำตอบไว้แล้ว โดยตรัสบอกทางดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐที่สุดให้กับสรรพสัตว์ว่า “ จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ” ในความคิดของผู้เขียน ถ้าไม่มีการสร้างกุศล ประพฤติพรหมจรรย์ สัตว์ทั้งหลายก็จะเกิดมาเสียเปล่า แทบจะไม่มีความหมายในการเกิดเลยทีเดียว เป็นการเกิดที่ไร้ค่าเสียประโยชน์อย่างสิ้นเชิง เกิดมาเพื่อผลาญบุญในการเกิดเป็นมนุษย์ให้หมดไปเท่านั้น หมายเหตุ ๑ : ส่วนจะสร้างกุศล และประพฤติพรหมจรรย์อย่างไรนั้น ขอให้ทุกท่านศึกษาและพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะแต่ละส่วนล้วนแล้วแต่มีรายละเอียดที่ต้องศึกษา ตัวอย่างเช่น การให้ทาน ก็จะมีรายละเอียดที่จะต้องศึกษาว่า พระองค์แนะนำเกี่ยวกับการทำทานไว้ว่าอย่างไร ลักษณะของการทำจิตในการให้ทานต้องทำอย่างไร เป็นต้น หมายเหตุ ๒ : นอกจากสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถึงชีวิตเป็นของน้อย ไว้ใน ชราสุตตนิทเทสที่ ๖ อีกด้วย ดังนี้ (อ้างอิง ๒)
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดาตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“ มนุษย์มีอายุน้อย บุคคลผู้ฉลาดพึงดูหมิ่นชีวิตที่น้อยนั้น พึงเร่งประพฤติธรรมเหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น เพราะความตายจะไม่มาถึงไม่มี วันคืนล่วงเลยไป ชีวิตก็ใกล้หมดสิ้นไป อายุของสัตว์ ทั้งหลายก็หมดสิ้นไป เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อยจะแห้งไป ฉะนั้น รวมความว่า ชีวิตนี้น้อยนัก ”
|
|
ข้อสังเกต : “ พึงเร่งประพฤติธรรมเหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะ ” ขอให้สังเกตดีๆว่า พระองค์ทรงแนะนำให้เร่งประพฤติธรรมเหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะ อย่าว่าแต่ถูกไฟไหม้ศีรษะเลย เมื่อมีไฟโหมลามเข้ามาใกล้ สัก ๒๐ เมตร แต่ละคนก็ต้องดิ้นรนหาทางทำอะไรสักอย่างแล้ว แต่นี่ถึงกับไฟไหม้ศีรษะของตนอยู่ พวกท่านจะมีปฏิกริยาอย่างไร ไม่ว่าท่านจะมีปฏิกริยาอย่างไร ในความคิดของผู้เขียน พระองค์ทรงแนะนำให้เร่งประพฤติธรรมเหมือนกับปฏิกริยาที่ท่านทนอยู่เฉยไม่ได้เมื่อโดนไฟไหม้ศีรษะอยู่
ประเด็นสุดท้าย
ประโยคที่พระองค์ ตรัสกับสาวกทั้งหลายในตอนท้ายของพระสูตรว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กิจใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลผู้อนุเคราะห์เอื้อเอ็นดู พึงกระทำแก่สาวก กิจนั้นเรากระทำแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง ขอเธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าต้องเป็นผู้เดือดร้อนใจ ในภายหลังเลย นี้คืออนุศาสนีของเราสำหรับเธอทั้งหลาย ”
[อนุศาสน์ คือ การสอน, คำชี้แจง ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ]
โดยในครั้งนี้ พระองค์ตรัสว่า กิจใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล กิจนั้นพระองค์ได้กระทำกับพวกเราทั้งหลายแล้ว ทุกท่านหลังจากอ่านข้อความนี้แล้ว พอจะรู้สึกอะไรบ้างไหม พอจะรู้สึกเห็นแก่พระองค์บ้างไหม พระองค์ทรงสั่งสอนพวกสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยความเหนื่อยยาก ก็เพื่อประโยชน์แก่ตัวสรรพสัตว์เองทั้งสิ้น และกิจที่พระองค์ทำกับพวกสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ได้ทรงกระทำอย่างสมบูรณ์แล้ว หน้าที่ที่เหลือก็เหลือแต่พวกเหล่าสรรพสัตว์เองแล้ว ว่าจะน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติหรือไม่ อีกทั้งพระองค์ยังทรงพระมหากรุณาธิคุณ ทรงย้ำเตือนสติพวกเราทั้งหลายอีกว่า ให้ไปประพฤติปฏิบัติธรรมในสถานที่ที่เหมาะสม อย่าประมาท อย่าต้องเป็นผู้เดือดร้อนใจ ในภายหลังเลย
ข้อสังเกต : พระองค์ตรัสว่า “ อย่าต้องเป็นผู้เดือดร้อนใจ ในภายหลังเลย ” ในความคิดของผู้เขียน ถ้าไม่ปฏิบัติตามพระองค์ ต้องเป็นผู้เดือดร้อนใจในภายหลังอย่างแน่นอน ผู้เขียนหวังว่าหลังจากผู้อ่านได้อ่านบทความนี้ จะระลึกถึงคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกิจที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อพวกเราอย่างสมบูรณ์แล้ว และมีความคิดพิจารณาเพิ่มขึ้นถึงความจริงของชีวิตที่ว่า ชีวิตเป็นของน้อยนิด มีความคับแค้นมาก เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว สิ่งที่ควรทำก็คือ ควรจะเร่งสร้างกุศล ประพฤติธรรม
ท้ายสุดขอนำ คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาแสดงไว้อีกครั้ง
“ มนุษย์มีอายุน้อย บุคคลผู้ฉลาดพึงดูหมิ่นชีวิตที่น้อยนั้น พึงเร่งประพฤติธรรมเหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น เพราะความตายจะไม่มาถึงไม่มี วันคืนล่วงเลยไป ชีวิตก็ใกล้หมดสิ้นไป อายุของสัตว์ ทั้งหลายก็หมดสิ้นไป เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อยจะแห้งไป ฉะนั้น รวมความว่า ชีวิตนี้น้อยนัก ” “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กิจใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์ เกื้อกูลผู้อนุเคราะห์เอื้อเอ็นดู พึงกระทำแก่สาวก กิจนั้น เรากระทำแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง ขอเธอ ทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าต้องเป็นผู้เดือดร้อนใจ ในภายหลังเลย นี้คืออนุศาสนีของเราสำหรับเธอทั้งหลาย ”
|
|
อ้างอิง ๑ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๓๗ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๒๗๓ อ้างอิง ๒ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม เล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส หน้าที่ ๑๔๕ (ตรงกับ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๖๕ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่มที่ ๕ ภาคที่ ๑ หน้า ๖๐๔)
|