Text Size
Saturday, April 20, 2024
Top Tab Content

017milk


น้ำเต้าหู้ นมกล่อง กับ การปฏิบัติธรรม 

            เท่าที่ได้สังเกตมาในสถานที่ปฏิบัติธรรมต่างๆคือเรื่องเกี่ยวกับน้ำเต้าหู้, นมกล่อง, น้ำฟัก หรือน้ำอะไรก็แล้วแต่   ตามสถานที่ปฏิบัติธรรมต่างๆ ก็จะมีผู้ที่เข้ามาปฏิบัติธรรม โดยนุ่งขาวห่มขาว  ต่อจากนั้นก็จะเป็นการขอกรรมฐานจากอาจารย์  และจะมีการสมาทานศีล ๘ 
            สถานที่ปฏิบัติธรรมบางแห่ง ก็จะมีการแจกน้ำปานะตอนเย็นๆค่ำๆ ให้กับโยคีผู้มาปฏิบัติธรรมในวันนั้นเพื่อบรรเทาความหิวกระหาย ซึ่งน้ำปานะนั้นบางแห่งแจกน้ำเต้าหู้, นมถั่วเหลือง, นมสด, น้ำธัญพืช เป็นต้น แจกเป็นกล่อง UHT บ้าง บางครั้งก็มีเจ้าภาพเอาน้ำนมร้อนมาตักแจกเป็นหม้อบ้างด้วยความศรัทธา 

ศีลข้อที่ ๖  วิกาละโภชนา เวระมะณีสิกขา ปะทังสะมาทิยามิ 
            ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือการงดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาลคือ ตั้งแต่เที่ยงไปจนถึงรุ่งอรุณขึ้นใหม่
   
เนื่องจากการสมาทานศีลข้อนี้ จึงขอเชิญชวนทุกท่านได้มาศึกษาเรื่องกาลิกให้ดี 
(ส่วนในบทความจะขอกล่าวอย่างย่อ รายละเอียดขอให้ทุกท่านไปศึกษาในพระไตรปิฎก)
กาลิก คือสิ่งที่กลืนล่วงเข้าลำคอลงไป มี ๔ อย่าง
            ๑. ยาวกาลิก            บริโภคได้เช้าถึงเที่ยงวัน
            ๒. ยามกาลิก            บริโภคได้วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง
            ๓. สัตตาหกาลิก      บริโภคได้ ๗ วัน
            ๔. ยาวชีวิก              บริโภคได้ตลอดไม่จำกัดกาล
            ถ้ามีการปนกันของกาลิก (กาลิกระคนกัน) ให้ถือเอาตามกาลิกระยะเวลาสั้นที่สุดเป็นเกณฑ์  เช่นน้ำมะม่วงผสมกับนม  น้ำมะม่วงถือว่าเป็นยามกาลิก  แต่นมถือว่าเป็นยาวกาลิก  ให้ถือว่าน้ำมะม่วงผสมนมนั้นเป็น ยาวกาลิก มีเวลาทานได้แค่เช้าถึงเที่ยงวัน

ตามพระธรรมวินัย หมายเหตุ พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๕๒ พระไตรปิฎก และอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย
            น้ำอัฏฐบาน (น้ำปานะ ๘ อย่าง) ที่ดื่มยามวิกาลได้  (ยามกาลิก)  คือน้ำสำหรับดื่มที่คั้นจากผลไม้ ๘ ชนิด ได้แก่
            ๑. อมฺพปานํ        น้ำมะม่วง
            ๒. ชมฺพุปานํ        น้ำชมพู่ หรือน้ำหว้า
            ๓. โจจปานํ         น้ำกล้วยมีเม็ด
            ๔. โมจปานํ         น้ำกล้วยไม่มีเม็ด
            ๕. มธุกปานํ         น้ำมะทราง หรือน้ำมะซาง
            ๖. มุทฺทิกปานํ      น้ำลูกจันทน์ หรือองุ่น
            ๗. สาลุกปานํ      น้ำเหง้าอุบล
            ๘. ผารุสกปานํ     น้ำมะปราง หรือลิ้นจี่

            เนื่องจากปัจจุบันนี้มีผู้ผลิตน้ำต่างๆออกมามากมาย เช่นน้ำผลไม้ก็มีหลากหลายพันธุ์ น้ำผักต่างๆ น้ำธัญพืชต่างๆ น้ำข้าวยาคู เป็นต้น  ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทที่จะเสี่ยงต่อการผิดศีล เรารู้แน่ว่าน้ำปานะที่พระพุทธเจ้าท่านทรงอนุญาตมี ๘ อย่างที่กล่าวมานี้ ผู้ถือศีล ๘ สามารถดื่มได้ยามวิกาลแน่นอน  โยคีผู้ที่มาปฏิบัติธรรมถ้าต้องการความแน่นอน ก็น่าจะทานน้ำปานะไม่เกิน ๘ อย่างนี้เท่านั้น

            ข้าวได้ชื่อว่า "ปพฺพณฺณ" ถั่วได้ชื่อว่า "อปรณฺณ" ทั้งสองอย่างนี้ในพระบาลี และอรรถกถาจัดเป็นยาวกาลิก ไม่สามารถทานในเวลาวิกาลได้  แม้จะต้มหรือกรองหรือทำเป็นเครื่องดื่มต่างๆ ก็ไม่สามารถทานได้  ดังนั้นนมถั่วเหลือง น้ำข้าวกล้องงอกก็ไม่สามารถทานได้เช่นเดียวกัน

            ส่วน นมสด นมข้น จัดเป็นโภชนะ (เป็นยาวกาลิก)  ไม่ได้รวมในเภสัช ๕  (เภสัช ๕ อย่าง คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ที่จัดเป็นสัตตาหกาลิกสามารถเก็บไว้ได้ ๗ วัน ซึ่งเภสัชทั้งห้านี้ถือว่าเป็นยาก็ได้ เป็นอาหารก็ได้)   ดังนั้นจึงบริโภคนมกล่อง หรือน้ำผลไม้ที่ผสมกับนม ในเวลาวิกาลไม่ได้

            (นอกจากนั้น น้ำแห่งผลไม้ใหญ่ ๙ ชนิด คือ ตาล มะพร้าว ขนุน สาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไท แตงโม และฟักทอง ก็ไม่สามารถทานในเวลาวิกาลได้เช่นเดียวกัน)

            ตามหน้าที่ของพุทธบริษัท ๔ คือ พุทธบริษัท ๔ ต้องเป็นผู้รู้ เข้าใจ และสามารถปฏิบัติธรรมได้ถูกต้อง ตามพระพุทธธรรมคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ (พระพุทธพจน์ พระไตรปิฎก ปริยัติ) 

            ด้วยความไม่รู้ การที่เจ้าภาพอุตส่าห์เสียสละเวลา และเงินทอง มาเป็นเจ้าภาพน้ำปานะ  บางคนอาจจะต้มนมถั่วเหลืองมาเป็นหม้อด้วยความเหนื่อยยาก  แต่การกระทำนั้นกลับเป็นเหตุในการสนับสนุนโยคีผู้มาปฏิบัติธรรมผิดศีล 

            จึงขอเรียนพุทธบริษัท ๔ ทั้งหลาย ให้หันมาศึกษาพระธรรมวินัย พิจารณาสิ่งต่างๆด้วยปัญญา เพื่อสามารถจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไปด้วยเทอญ


มีผู้อ่านจำนวน : 5315 ครั้ง


backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have 2 guests and no members online