ความเข้าใจพุทธศาสนาตามภาษาชาวบ้าน เมื่อต้นเดือน พฤศจิกายน ๒๕๑๙ ได้มีนายทหารเรือผู้หนึ่งมาพบกับผม ด้วยความผูกพันของเราทั้งสองที่มีต่อกันจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ ในการพบกันครั้งนี้นายทหารเรือผู้นี้ได้ปรารภกับผม ในการที่จะทำการฌาปนกิจศพท่านขุนผู้เป็นบิดาของภรรยา เนื่องจากผู้ตายเป็นผู้เคร่งครัดในพุทธศาสนา นายทหารเรือผู้นี้ จึงมีความต้องการบทความที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา โดยมีหลักการอยู่ว่า “เป็นบทความสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ และเป็นความรู้ต่อผู้อ่าน ที่จะสามารถเข้าใจพุทธศาสนา ได้อย่างกว้างขวาง” เพื่อพิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานศพ โดยขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้เขียนให้ ตามหลักการข้างต้น เมื่อข้าพเจ้าได้ทราบความประสงค์ของนายทหารเรือผู้นี้ ทำให้ข้าพเจ้าตกใจมาก จึงบอกไปตามตรงว่า ข้าพเจ้าไม่มีความรอบรู้ในเรื่องของธรรม และไม่มีความสามารถเขียนบทความตามความต้องการของนายทหารเรือผู้นี้ได้ และได้โยนกลับให้ไปเขียนบทความตามที่ต้องการเอง แต่อนิจจานายทหารเรือผู้นี้เข้าใจข้าพเจ้าผิดถนัด คิดว่าข้าพเจ้าเล่นตัว เบี่ยงบ่ายไม่ยอมเขียนให้ จึงต้องปลงอาบัติกับนายทหารเรือผู้นี้ เพื่อความเข้าใจอันดีต่อกันว่า พุทธศาสนาเป็นของละเอียด ลึกซึ้ง ยากที่จะเข้าใจได้โดยง่าย ทั้งข้าพเจ้าก็ไม่เคยศึกษาเล่าเรียนในเรื่องนี้มาโดยตรง จึงไม่ขอรับอาสาในเรื่องนี้ ให้ช่วยอย่างอื่นเถิด แต่ก็ผิดหวังอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เขากลับยกลูกยอมาให้เต็มกระจาด โดยคำพูดที่ว่า “จะเขียนอย่างไรก็ได้ ตามใจสมัคร ขอให้เขียนให้ก็แล้วกัน” เมื่อโดนลิ้นทูตเข้าเช่นนี้ ข้าพเจ้าก็ต้องกลายสภาพจากคน มาเป็นปู ให้นายทหารเรือผู้นี้ แกะกระดองหาเลือดปูเอาตามใจชอบต่อไป ประชาชนชาวไทยในจำนวน ๔๓ ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้เคารพนับถือพระพุทธศาสนา อันมีพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน แต่เป็นเรื่องแปลกอย่างยิ่ง เมื่อได้พบปะสนทนากับผู้รู้จักกันในเรื่องของพุทธศาสนามากเข้า ข้าพเจ้าก็กลายเป็นคนไม่รู้จักพุทธศาสนา หรือกลายเป็นคนนอกพุทธศาสนาไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้เพราะเหตุว่าความคิดเห็น ความเข้าใจ และการประพฤติปฏิบัติตามพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็น กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล โลกุตตรกุศล รู้สึกว่าคนบางหมู่บางคณะ ต่างก็พายเรือกันคนละที คือ ต่างคนต่างก็มีความคิดความเห็น และวิธีการปฏิบัติธรรมแตกต่างกันไป ไม่เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่คนไทยเป็นผู้นับถือพุทธศาสนา อันมีพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน ทั้งนี้ เนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ กัน คือ บางคนก็อาศัยตำรับตำรา ซึ่งเกจิอาจารย์ต่าง ๆ แต่งขึ้น นำมาประพฤติปฏิบัติตามบ้าง ผลที่สุดก็คือ “ปูน้อย ๆ ” ตัวนี้ ไม่รู้จะเลือกเอาหลักการ หรือวิธีการของใคร เป็นหลักในการเรียนรู้ และการปฏิบัติธรรมอันถูกต้อง เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ ประกอบกับนายทหารเรือผู้ต้องการบทความจากข้าพเจ้า ได้ทิ้งลูกยอไว้เต็มกระจาด จึงจำเป็นต้องขายผ้าเอาหน้ารอด โดยการยึด “ผีถ้วยแก้ว” เป็นสรณะ บทความเรื่อง “ความเข้าใจพุทธศาสนา ตามภาษาชาวบ้าน” จึงมีรูปร่างและอยู่ในมือท่าน ณ บัดนี้ แต่ความเข้าใจดังกล่าว จะสมกับความตั้งใจของท่านผู้หาเลือดกับปูหรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่จิตใจของท่าน “โอวาทปาฏิโมกข์” ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ตรัสสั่งสอนพระสาวก เนื่องในการที่ได้มาพบกันโดยไม่มีการนัดหมาย ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม ซึ่งเราเรียกกันโดยทั่วไปว่า “วันมาฆบูชา” สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สรุปธรรมคำสอนของพระองค์ ที่ทรงสั่งสอนว่ามีอะไรบ้าง ที่พระองค์ทรงสั่งสอนไป เพื่อเป็นการทบทวนความจำ และความเข้าใจแก่พระสาวกทั้งหลาย โดยพระองค์ทรงประมวลคำสอนทั้งหมดโดยย่อเป็น ๓ ประโยคสั้น ๆ ดังนี้ คือ ข้อที่ ๑ ให้ละเว้นอกุศลกรรม หรือละเว้นการกระทำชั่ว ข้อที่ ๒ ให้สร้างแต่กุศลกรรม หรือสร้างแต่ความดี ข้อที่ ๓ ทำจิตให้บริสุทธิ์ สรุปคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยย่อได้เพียง ๓ ประโยคสั้น ๆ ดังกล่าว เมื่อข้าพเจ้าได้กล่าวเช่นนี้ ท่านนักหาเลือดกับปู ก็คงจะเอะอะโวยวายว่า “ไม่จริง ไม่จริง เพราะคำสอน ของพระพุทธเจ้า มีอยู่ถึง ๓ ปิฎกรวมกันถึง ๔๕ เล่ม รวมทั้งสิ้นมีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ปูตัวนี้นอกจากไม่มีเลือดแล้ว ยังโพรกมีแต่กระดองเท่านั้น” ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ทั้งนี้เพราะเหตุว่า ตามวัดวาอาราม และสำนักต่าง ๆ พระท่านก็เทศน์ อาจารย์ก็สั่งสอน เห็นสั่งสอนกันอยู่มากมายก่ายกอง นั่งฟังหลับแล้วหลับอีก ก็ไม่รู้จักจบคำสอน แล้วอ้างว่าคำสอนของพระพุทธเจ้ามีเพียง ๓ ประโยคสั้น ๆ ได้อย่างไร เพราะอย่างน้อยก็ต้องมี ทาน ศีล ทำบุญตักบาตร สวดมนต์ภาวนา นั่งหลับตาทำสมาธิ หรือบอกกับใคร ๆ ว่า ยุบหนอ พองหนอ นี่ไม่ใช่ตัวตนอะไรของเรา ซึ่งเรียกว่า วิปัสสนา เป็นต้น ท่านนักหาเลือดกับปู ซึ่งได้รับการสั่งสอนให้ประพฤติปฏิบัติต่าง ๆ ก็ยิ้มกริ่ม ด้วยหวังผลในการปฏิบัติ อย่างน้อยก็วิมานงาม ๆ เมื่อปูไม่มีเลือด มาสรุปคำสอนของพระพุทธเจ้าเอาง่าย ๆ เพียง ๓ ข้อสั้น ๆ เช่นนี้ โทษมันก็ถึงหักก้ามทิ้ง หรือลงกระทะทอดเป็นปูจ๋าไปเสียเลย ช้าก่อน ช้าก่อน ท่านนักล่าเลือดปู อย่าเพิ่งจัดการลงโทษกับปูเช่นนั้น โปรดใจเย็น ๆ แล้วพิจารณาให้ละเอียด รอบคอบ ข้อความสรุปคำสอนของพระพุทธเจ้า ตามที่ปูตัวน้อยอ้างตามข้อ ๑ ที่ว่า “ให้ละเว้นอกุศลกรรม หรือละเว้นการทำความชั่ว” นั้น มันตรงตามหลักฐานข้ออ้างของท่านนักล่าเลือดปูหรือไม่ ขอให้ท่านถามตัวของท่านเองว่า “ศีล” มีความหมายว่าอย่างไร ถ้าท่านไม่รู้ ปูตัวนี้ขอบอกให้ว่า “ศีล หมายความว่า ปกติ หรือการเว้น” เมื่อศีลของนักล่าเลือดปู มีความหมายดังกล่าว ดังนั้น สรุปย่อคำสอนตามข้อ ๑ นั้น หมายความว่ากระไร การที่พระพุทธองค์ให้ละเว้นอกุศลกรรม หรือละเว้นการทำความชั่วนั้น ก็หมายความว่า ทรงสั่งสอน มิให้ผู้ใดละเมิด หรือล่วงศีล นั่นเอง หรือจะพูดกันอย่างกว้างก็หมายถึง การมิให้ล่วง “อกุศลกรรมบถ ๑๐” อันได้แก่ การทำอกุศลกรรม ทางกาย ๓ ประการ ทางวาจา ๔ ประการ และ ทางใจ ๓ ประการ นั่นเอง หมายเหตุดังกล่าวข้างต้นว่า สรุปย่อคำสอนของ พระพุทธองค์ ข้อ ๑ ให้ละเว้นอกุศลกรรมหรือละเว้นการทำความชั่ว ก็คือ การห้ามมิให้ละเมิดศีล หรืออกุศลกรรมบถ ๑๐ นั่นเอง พอที่ท่านนักล่าเลือดปูจะรับฟังหรือไม่ แต่ปัญหาก็ยังมีต่อไปว่า สรุปคำสอนในข้อ ๑ นี้ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนเช่นนั้น บังเอิญปูตัวนี้ เกิดไม่ทันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไม่ได้ทูลถามถึงเหตุผลข้อนี้ แต่ไม่เป็นไรเมื่อคิดไม่ตกก็ต้องอาศัยผีถ้วยแก้ว ผีถ้วยแก้วก็บอกให้รู้ว่า “ ปูเอ๋ยนั่นแหละ พระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์หาเกราะป้องกันปู และนักล่าเลือดปูทั้งหลายที่ประพฤติปฏิบัติตาม จะได้ไม่ต้องไปสู่ทุคติภูมิอันได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และเดรัจฉาน นั่นเอง ” ส่วนประเด็นที่นักล่าเลือดปูอ้างว่า การปฏิบัติธรรมยังมีการให้ทาน การทำบุญตักบาตร และการสวดมนต์ภาวนาอยู่อีก หาใช่มีแต่ศีลอันจัดเป็นข้อห้ามตามสรุปย่อคำสอนใน ข้อ ๑ เท่านั้นไม่ ในสรุปย่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เห็นปูไม่มีเลือดตัวนี้ กล่าวไว้ที่ไหน แล้วจะอ้างว่าเป็นพุทธพจน์ได้อย่างไร ปัญหาในเรื่องนี้ ปูตัวน้อยๆ ขออ้อนวอนนักล่าเลือดปู อย่าเพิ่งใจร้อน พิจารณาความหมายในข้อ ๒ นี้ ให้ดี ๆ ในความหมายที่ว่า “ให้สร้างแต่กุศลกรรม หรือสร้างแต่ความดี” นั้น หมายถึงพระพุทธองค์ทรงแนะนำให้ปูและนักล่าเลือดปูได้สร้าง “กามาวจรกุศล” อันได้แก่ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นั่นเอง อันประกอบไปด้วย ทานมัย ศีลมัย ภาวนามัย และอปจายนมัย ฯลฯ เป็นต้น กามาวจรกุศล เป็นกุศลประเภทที่ผู้สร้างอันถูกต้อง ที่ยังขยันอยากตาย อยากเกิด หมุนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร จะได้รับผลตอบสนอง ทั้งในการเกิด และในการดำรงชีวิต ที่จะได้รับอารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ แต่ผล แห่งการเกิดและการประสบอารมณ์จะดีมากน้อยแค่ไหน หรือจะมีวิมานหลังเล็กหลังใหญ่ประการใด ย่อมขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้สร้างกุศลแต่ละคนว่า กุศลกรรมที่เขากระทำไปนั้น มีเจตนาเป็นกุศลหรืออกุศล และทำด้วยมหากุศลจิตดวงไหนในจำนวน ๘ ดวง กล่าวคือ ถ้าได้สร้างด้วยเจตนาอันเป็นกุศลมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ซึ่งเรียกว่า “โสมนสฺสหคตํ ญาณ สมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ” ซึ่งหมายความว่า “ได้สร้างกรรมนั้นด้วย กุศลเจตนา ด้วยความยินดี ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีสิ่งชักจูง” ถ้าทำกุศลกรรมด้วย บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ด้วยจิตดวงที่ ๑ อย่างนี้ ท่านก็หวังได้วิมานขนาดใหญ่มโหฬารแน่ ๆ แต่ถ้าไปสร้างกรรมด้วยกุศลเจตนา จากมหากุศลจิตดวงที่ ๘ ซึ่งเรียกว่า “อุเปกฺขาสหคตํ ญาณ วิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ” ซึ่งหมายความว่า “ได้สร้างกรรมด้วยกุศลเจตนา ด้วยความวางเฉย ไม่ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน” ผลที่รับสนองตอบ ก็คงต้องเป็นผลเล็กน้อย ตามสภาวจิต ที่ตนได้ทำกรรมนั้น ในทางตรงกันข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบัน ส่วนใหญ่การทำกรรมที่เรียกว่า สร้างกุศล ถือเอาลักษณะภายนอก ยิ่งกว่าเจตนา การทำบุญเช่นนี้ อาจเป็นบาปได้โดยไม่รู้สึกตัว ได้แก่ การสร้างกรรมอันมีลักษณะภายนอกเห็นว่าเป็นการสร้างกุศล แต่เจตนาในการสร้างประกอบด้วย อกุศลเจตนา และมีจิตเป็นอกุศลในการสร้าง เช่น การบริจาคที่มีเจตนาเป็นอกุศลจริต ๑๒ ในการทำกรรมนั้น การทำกรรมอันมีลักษณะภายนอกเป็นกุศล แต่เจตนาเป็นอกุศลจริต ๑๒ เป็นตัวกระทำการเช่นนี้แล้ว ผลที่ได้รับแทนที่จะเป็น กุศลวิบากกรรม ก็กลายเป็นอกุศลวิบากกรรมแทน ทั้งนี้เพราะเหตุว่า การทำกรรมใด ๆ จะเป็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมขึ้นอยู่กับเจตนาในการทำกรรมนั้น ดังพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า “ เจตนาหํ ภิกขเว กมฺมํ วทามิ กโรติ กาเยน วาจาย มนสา” ซึ่งแปลได้ความว่า“ภิกษุทั้งหลาย เรา (ตถาคต) กล่าวว่าเจตนานั้นแหละ เป็นกรรม เมื่อมีเจตนาแล้วบุคคลย่อมทำกรรมใด โดยทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ” จากพุทธพจน์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ความสำคัญของการทำกรรม จะเป็นกุศลหรืออกุศล ย่อมขึ้นอยู่กับ “เจตนา” ทั้งสิ้น นับว่าเป็นเรื่องแปลก ที่หลักการทำกรรมตามพุทธศาสนา มีลักษณะอันเดียวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญา ทั้งนี้ เพราะการทำความผิดตามกฎหมายอาญาก็ถือเอาเจตนาในการทำความผิดเช่นเดียวกัน จากสรุปคำสอนของพระพุทธเจ้าตามข้อ ๒ ให้สร้างแต่กุศลกรรม หรือสร้างแต่ความดีนั้น ก็หมายความว่า พระองค์ทรงแนะนำให้ผู้ที่ยังรักการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ได้สร้างกามาวจรกุศลเพื่อจะได้อยู่ใน “สุคติภูมิ” อันมีมนุษย์และเทวดาเป็นต้น จะได้มีความเป็นอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในการดำรงชีวิต ปัญหาของสรุปคำสอนใน ข้อที่ ๓ ซึ่งมีใจความว่า “ทำจิตให้บริสุทธิ์” นั้นก็หมายถึงการสร้างกุศลกรรมทางใจ หรือเรียกว่า มโนกรรม นั่นเอง การสร้างกุศลกรรมทางใจแยกออกเป็น ๒ นัย ดังนี้ คือ นัยที่ ๑ หมายถึงการทำจิตใจสงบ ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า “สมาธิ” เป้าหมายในการทำสมาธิก็คือ การสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในจิตใจ เรียกตามภาษาธรรมว่า สมถกรรมฐาน คือ วิธีการทำจิตให้สงบด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมกันทั้งสิ้น ๔๐ วิธี กรรมฐานบางประเภทก็สามารถทำสมาธิให้เกิดในจิตขึ้นได้พอสมควร บางอย่างก็สามารถทำให้สมาธิเกิดในจิตได้ถึงขั้นปัญจมฌาน ซึ่งจัดออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้ คือ (1) ประเภทที่ ๑ ทำสมาธิได้ด้วยวิธีการ เพ่งอารมณ์ที่กำหนด ๑๐ อย่าง เรียกว่า “กสิณ” (2) ประเภทที่ ๒ ทำสมาธิได้ด้วยวิธีการ กำหนดสติให้ระลึกรู้ ๑๐ อย่าง เรียกว่า “อนุสติ” (3) ประเภทที่ ๓ ทำสมาธิได้ด้วยวิธีการ พิจารณาศพ ๑๐ อย่าง เรียกว่า “อสุภกรรมฐาน” (4) ประเภทที่ ๔ กระทำโดยวิธีการอื่น ๆ แตกต่างกัน ๑๐ อย่าง ได้แก่ “อัปปมัญญา ๔”, “อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑”, “ จตุธาตุววัตถาน ๑”, “อรูปกรรมฐาน ๔” จากกรรมฐานทั้ง ๔๐ ประการดังกล่าวข้างต้น การสร้างสมาธิให้เกิดแต่ละวิธี หรือประเภทของกรรมฐาน ย่อมขึ้นอยู่กับหลักการดังนี้ คือ 1. กรรมฐานแต่ละประเภท ย่อมเหมาะสมกับจริตของบุคคลแต่ละคน 2. การทำสมาธิแต่ละประเภทจะเกิดผล ย่อมขึ้นอยู่กับการปฏิบัติอันถูกต้อง และการควบคุมอันใกล้ชิด 3. กรรมฐานทุกประเภท จะทำให้สมาธิเกิดขึ้นได้ ต้องขึ้นอยู่กับกุศลเจตนาอันแท้จริงเท่านั้น 4. กรรมฐานทุกประเภท สมาธิจิตจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า ต้องขึ้นอยู่กับความแก่กล้า และความสม่ำเสมอของอินทรีย์ ๕ เป็นสำคัญ คำว่า อินทรีย์ ๕ ตามที่กล่าวมานี้ หากนักล่าเลือดปูยังสงสัยหรือไม่เข้าใจ ปูตัวน้อยขอทำความเข้าใจให้ดังนี้ คือ อินทรีย์ตัวที่ ๑ เรียกว่า “สัทธินทรีย์” หมายถึง ความเชื่อ ความเลื่อมใสศรัทธาในอารมณ์ที่เป็นกุศล อันมีองค์ธรรม เรียกว่า “สัทธาเจตสิก” อินทรีย์ตัวที่ ๒ เรียกว่า “วิริยินทรีย์” หมายถึง ความเพียรในอารมณ์ทั้ง ๖ ที่เป็นกุศล อันมีองค์ธรรมเรียกว่า “วิริยเจตสิก” อินทรีย์ตัวที่ ๓ เรียกว่า “สตินทรีย์” หมายถึง การระลึกรู้ในอารมณ์ที่เป็นกุศล อันมีองค์ธรรมเรียกว่า “สติเจตสิก” อินทรีย์ตัวที่ ๔ เรียกว่า “สมาธินทรีย์” หมายถึง การทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่ประสงค์ อันมีองค์ธรรมเรียกว่า “เอกัคคตาเจตสิก” อินทรีย์ตัวที่ ๕ เรียกว่า “ปัญญินทรีย์” หมายถึง การรู้ตามความเป็นจริงแห่งสภาวธรรม และทำลายความหลง ความเข้าใจผิดในสภาวธรรม อันมีองค์ธรรมเรียกว่า “ปัญญาเจตสิก” นัยที่ ๒ หมายถึง การสร้างปัญญาให้เกิด เพื่อใช้เป็นตัวขัดเกลาอกุศลจิต หรือกิเลส ให้ลดน้อยถอยลงจนสิ้นสุด อันมีการหลุดพ้นจากวัฏสงสาร คือ การเวียนว่ายตายเกิด เป็นเป้าหมายโดยมีหลักการปฏิบัติโดยย่อดังต่อไปนี้ คือ 1. มีสติระลึกรู้อารมณ์ อันเกิดจากอายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ให้เป็นปัจจุบันธรรม 2. การมีสติระลึกรู้อารมณ์ดังกล่าวตามข้อ ๑. หมายถึงการระลึกรู้ความจริงที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ในลักษณะของ ปรมัตถธรรม คือการระลึกรู้ รูปธรรม และนามธรรม 3. การมีสติระลึกรู้อารมณ์ดังกล่าวตามข้อ ๑. นอกจากการระลึกถึงรูปธรรมและนามธรรมแล้ว ยังจะต้องระลึกรู้ถึง “ปัจจัยแห่งรูปธรรมและนามธรรม” นั้น ๆ ด้วย 4. การมีสติระลึกรู้ตามข้อ ๑. ต้องพิจารณาให้รู้ถึงการเกิด การดับของรูปธรรม นามธรรม และปัจจัยแห่งรูปธรรม นามธรรม นั้น ๆ ด้วย 5. การมีสติระลึกรู้ตามข้อ ๑. ต้องพิจารณาให้รู้ถึงรูปธรรม นามธรรม และปัจจัยแห่งรูปธรรม นามธรรม ในการเป็น “ไตรลักษณ์” คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ด้วย หลักการปฏิบัติจิตดังกล่าว เรียกกันโดยทั่วไปว่า “วิปัสสนากรรมฐาน” การเจริญวิปัสสนา ฟัง ๆ ดู ก็เป็นเรื่องง่ายในทางทฤษฎี แต่เป็นเรื่องยากในการปฏิบัติ สาเหตุอันสำคัญยิ่ง ก็คือ “สติ” ไม่เกิดตามความต้องการ และผู้ปฏิบัติ ยังมีความยึดมั่น ถือมั่นอยู่ใน “บัญญัติธรรม” จึงไม่สามารถเจริญวิปัสสนาให้ถึง “ญาณสูง ๆ” เนื่องจากผู้เจริญวิปัสสนาส่วนใหญ่ ไปเจริญ “วิปัสสนึก” กันเสีย เป็นส่วนมาก จึงได้ “มัคค และ ผล” เต็มบ้านเต็มเมือง อันยังความเดือนร้อนมาถึงปูตัวน้อย ๆ ที่จะถูกแกะกระดองทอดกรอบอีกด้วย จากสรุปพุทธพจน์อันเป็น คำสอน ๓ ประโยคสั้น ๆ จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องประพฤติปฏิบัติกันอยู่ตลอดชีวิต แม้เช่นนั้น นักล่าเลือดปู หากเลือกเดินทางผิด ก็ไม่มีหวังที่จะได้รับประโยชน์จากพุทธพจน์ดังกล่าวแต่ประการใดขอขอบคุณผีถ้วยแก้วไว้ ณ ที่นี้พันตำรวจตรี บุญเพ็ญ แขวัฒนะ หมายเหตุ : คัดมาจากบทความ “ความเข้าใจพระพุทธศาสนา ตามภาษาชาวบ้าน” ผู้แต่ง ท่านอาจารย์พันตำรวจเอก (พิเศษ) บุญเพ็ญ แขวัฒนะ มีผู้อ่านจำนวน : 5904 ครั้ง