ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่ถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติแล้ว ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า (อ้างอิง ๑) “ ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้ ” เมื่อดูจากประโยคที่พระองค์ตรัสกับพระอานนท์ นั่นหมายความว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พุทธานุญาตแก่สงฆ์ในการเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ ต่อมาพระอานนท์ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวต่อคณะสงฆ์เถระ พระเถระทั้งหลายถามพระอานนท์ว่า “ ท่านพระอานนท์ ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าหรือเปล่าว่า สิกขาบทเหล่าไหน เป็นสิกขาบทเล็กน้อย ” ซึ่งในคราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระอานนท์นั้น ท่านพระอานนท์ก็มิได้ทูลถามในรายละเอียด ดังนั้นพระอานนท์จึงตอบพระเถระทั้งหลายว่า “ ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า สิกขาบทเหล่าไหน เป็นสิกขาบทเล็กน้อย ” เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น จึงเกิดปัญหาขึ้นมาว่า “ อะไรเป็นสิกขาบทเล็กน้อย ” พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ นอกนั้น เป็นสิกขาบทเล็กน้อย พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ เว้นปาฏิเทสนียะ ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย เมื่อมาถึงตรงนี้ขอย้อนกลับมาถามท่านผู้อ่านสักเล็กน้อยว่า ส่วนตัวท่านผู้อ่านเองคิดว่า “ อะไรคือสิกขาบทเล็กน้อย ” ซึ่งผู้เขียนจะให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ดังนี้ ภิกษุผู้ทำการละเมิดสิกขาบท จะเรียกว่า อาบัติ อาบัติทั้งหมดนั้นมี ๗ ประการ โดยเรียงลำดับตามโทษหนัก ไปหาเบาดังนี้ ๑. ปาราชิก ๒. สังฆาทิเสส ๓. ถุลลัจจัย ๔. ปาจิตตีย์ ๕. ปาฏิเทสนียะ ๖. ทุกกฏ ๗. ทุพภาสิต ท่านคิดว่า ๗ ข้อนี้ ส่วนไหนคืออาบัติเล็กน้อย แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการมาสำรวจความคิดเห็น หรือทำโพล แต่เป็นเรื่องที่สำคัญมากเกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของพระศาสนา เพราะจะต้องถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว ถ้าตัดสินใจผิดพลาดผลที่ตามมาก็สุดจะคณานับ เนื่องจากไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าอะไรเป็นสิกขาบทเล็กน้อยดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พุทธานุญาตว่าสงฆ์สามารถเพิกถอนได้ ท่านพระมหากัสสปจึงเสนอญัตติเข้าสู่ที่ประชุมสงฆ์โดยประกาศต่อที่ประชุมว่า แม้แต่คฤหัสถ์ก็รู้ว่าสิกขาบทของภิกษุเป็นอย่างไร สิ่งนี้ควรแก่พระ สิ่งนี้ไม่ควรแก่พระ ถ้าพวกเราจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสีย จะมีผู้กล่าวว่า พระศาสดาของพระภิกษุเหล่านี้อยู่ตราบใด สาวกเหล่านี้ยังศึกษาในสิกขาบทตราบนั้น เพราะเหตุที่พระศาสดาของพระเหล่านี้ปรินิพพานแล้ว พระเหล่านี้จึงไม่ศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ดังนั้น สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว พึงสมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว เมื่อคณะสงฆ์ได้ฟังสิ่งที่พระกัสสปเถระเสนอ คณะสงฆ์ก็ได้เห็นชอบในสิ่งที่พระกัสสปเถระเสนอ ดังนั้นมตินี้จึงเป็นมติของสงฆ์ในคราวนั้น อีกทั้งยังเป็นหลักที่ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ดังนี้ว่า “ สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว พึงสมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว ” จากมติของพระเถระในสมัยนั้น เมื่อลองมาวิเคราะห์เหตุการณ์ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง โดยดูจากการประชุมของพระเถระในยุคนั้นแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ว่าพระเถระจะไม่ต้องการทำตามพุทธพจน์ในการให้พุทธานุญาต เพียงแต่พระเถระไม่สามารถระบุได้ว่าสิ่งที่พระองค์กล่าวนั้นหมายถึงอะไร อีกทั้งเมื่อพิจารณาประโยคดังกล่าวดีๆ อีกครั้งหนึ่ง “ ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้ ” พุทธพจน์ในส่วนนี้ เป็นประโยคที่ให้พุทธานุญาตว่าสามารถทำได้ ซึ่งพระองค์ไม่ได้ตรัสในเชิงรับสั่งว่าต้องทำ แต่เป็นในเชิงทางเลือกเสียมากกว่า ดังนั้นสงฆ์จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยหรือไม่ถอนก็ได้ ทุกท่านลองพิจารณาให้ดีเถิดว่า แม้แต่พระกัสสปและพระเถระหลายท่าน โดยที่แต่ละท่านนั้นมีคุณอันยิ่งใหญ่มากมายอยู่ร่วมเหตุการณ์ในครั้งนั้นด้วย ซึ่งพระกัสสปและพระเถระทั้งหลายในครั้งนั้น ยังไม่มีใครออกมาระบุว่าที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงสิกขาบทเล็กน้อยนั้นหมายถึงอะไร การที่เพิกถอนสิ่งที่พระองค์บัญญัตินั้นเป็นเรื่องใหญ่หลวงมาก แม้แต่พระกัสสปเถระรวมทั้งพระเถระในยุคนั้นยังไม่คิดว่าจะทำการอะไรกับสิกขาบทแม้แต่น้อย แสดงว่าเรื่องที่พระองค์บัญญัติในแต่ละส่วนล้วนแต่มีความสำคัญอย่างที่ทุกคนคาดไม่ถึง อีกทั้งยังแสดงถึงความเคารพยำเกรงต่อ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ของพระเถระในยุคนั้น “ ไม่พึงบัญญัติในสิ่งที่พระองค์ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว ” ในความคิดของผู้เขียน ประโยคนี้เป็นประโยคที่มีความหมายยิ่งนัก โดยที่ประโยคดังกล่าวนี้สอดคล้องกับหลัก อปริหานิยธรรม ๗ (อ้างอิง ๒) ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้แสดงหลักธรรมนี้แก่พระภิกษุ ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะขอกล่าวเฉพาะข้อ ๓ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้ พุทธพจน์ [๑๔๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงทำไว้ในใจให้ดี ตถาคตจักกล่าวดังนี้ ” “ (ข้อ ๓) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายจักไม่บัญญัติสิ่งที่ตถาคตมิได้บัญญัติไว้ จักไม่เพิกถอนสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้แล้ว ยังจักสมาทานประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่ตถาคตบัญญัติไว้แล้วตลอดกาลเพียงไร ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้ ” ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพุทธานุญาตให้สงฆ์สามารถเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ แต่เมื่อไม่สามารถมีความชัดเจนในประเด็นนี้ เนื่องจากหลังจากพระองค์ปรินิพพานจึงไม่มีใครเป็นผู้ชี้ขาดได้ว่าอาบัติเล็กน้อยคืออะไร และถ้ามีการเพิกถอนโดยไม่มีความชัดเจน ก็จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียขึ้นได้ สงฆ์ในขณะนั้นก็ได้กลับมายึดหลักอปริหานิยธรรม ๗ ซึ่งเป็นหลักที่พึงหวังความเจริญอย่างเดียว อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงความยำเกรงต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แม้แต่ในอดีตสมัยที่พระผู้พระภาคเจ้าได้ทรงพระชนม์ชีพอยู่ ก็เคยมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น เรื่องพระอุปเสนวังคันตบุตร (อ้างอิง ๓) โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ซึ่งเป็นอารามที่อนาถบิณฑิกคหบดีถวายแด่สงฆ์ อยู่ในเขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกออกเร้นอยู่ตลอดไตรมาส ใครๆ อย่าเข้าไปหาเรา นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาต เข้าไปรูปเดียว ” ภิกษุเหล่านั้นรับพระพุทธาณัติแล้ว ไม่มีใครไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าในพระวิหารนี้เลย นอกจากภิกษุผู้ทำหน้าที่นำบิณฑบาตเข้าไปถวายเพียงรูปเดียว ถึงแม้กระนั้นสงฆ์ในเขตพระนครสาวัตถีก็ยังตั้งกติกากันไว้ว่า “ อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะเสด็จหลีกออกเร้นอยู่ตลอดไตรมาส ใครๆ ไม่พึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ นอกจากภิกษุผู้ทำหน้าที่นำบิณฑบาตเข้าไปถวายเพียงรูปเดียว ภิกษุรูปใดเข้าไปเฝ้าพระองค์ ต้องให้แสดงอาบัติปาจิตตีย์ ” ต่อมา ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกับภิกษุบริษัทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับพระเชตวันมหาวิหาร ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว พระพุทธประเพณี พุทธประเพณีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น เมื่อมีพระอาคันตุกะทั้งหลายมาเข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย จะทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลายเหล่านี้ ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรว่า “ ดูก่อนอุปเสน พวกเธอพอทนได้ พอให้อัตภาพเป็นไปได้หรือ พวกเธอเดินทางมาโดยได้รับความลำบากน้อยหรือ ” ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกราบทูลว่า “ พอทนได้ พอให้อัตภาพเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง พวกข้าพระพุทธเจ้าเดินทางมาโดยได้รับความลำบากเล็กน้อย พระพุทธเจ้าข้า ” ขณะนั้นภิกษุผู้เป็นสัทธิวิหาริกของท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรนั่งอยู่ไม่ห่างพระผู้มีพระภาคเจ้า (สัทธิวิหาริก คือ คำที่ใช้เรียกผู้ได้รับอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ พูดง่ายๆ ก็คือถ้าเป็นลัทธิวิหาริกของใคร แสดงว่าได้รับการอุปสมบทจากคนๆนั้น) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามภิกษุรูปนั้นว่า “ ดูก่อนภิกษุ ผ้าบังสุกุลเป็นที่พอใจของเธอหรือ ” ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า “ ผ้าบังสุกุล มิได้เป็นที่พอใจของข้าพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าข้า ” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามภิกษุรูปนั้นต่อไปว่า “ ก็ทำไมเธอจึงได้ทรงผ้าบังสุกุลเล่า ภิกษุ ” ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า “ พระอุปัชฌาย์ของข้าพระพุทธเจ้าทรงผ้าบังสุกุล ข้าพระพุทธเจ้าจึงต้องทรงผ้าบังสุกุลอย่างนั้นบ้าง พระพุทธเจ้าข้า ” ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรว่า “ ดูก่อนอุปเสน บริษัทของเธอนี้น่าเลื่อมใสนัก เธอแนะนำบริษัทอย่างไร ” ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกราบทูลว่า “ พระพุทธเจ้าข้า ผู้ใดขออุปสมบทต่อข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าบอกกะเขาอย่างนี้ว่า อาวุโส ฉันเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถ้าท่านจักถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรบ้าง ฉันก็จักให้ท่านอุปสมบทตามประสงค์ ถ้าเขารับคำของข้าพระพุทธเจ้า ๆ จึงให้เขาอุปสมบท ถ้าเขาไม่รับคำของข้าพระพุทธเจ้า ๆ ก็ไม่ให้เขาอุปสมบท ภิกษุใดขอนิสัยต่อข้าพระพุทธเจ้า ๆ บอกกะภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า อาวุโส เราเป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถ้าท่านจักถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรบ้างได้ เราก็จักให้นิสัยแก่ท่านตามความประสงค์ ถ้าภิกษุนั้นรับคำของข้าพระพุทธเจ้า ๆ จึงจะให้นิสัย ถ้าภิกษุนั้นรับคำของข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่ให้นิสัย ข้าพระพุทธเจ้าแนะนำบริษัทอย่างนี้แล พระพุทธเจ้าข้า ” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสชมพระอุปเสนว่า “ ดีแล้ว ดีแล้ว อุปเสน เธอแนะนำบริษัทได้ดีจริงๆ ” โดยสรุปแล้ว ถ้าใครต้องการให้พระอุปเสนบวชให้ก็ต้องทำตามพระอุปัชฌาย์ นั่นคือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ซึ่งในจุดนี้แม้แต่พระผู้มีพระภาคเจ้ายังตรัสชมพระอุปเสนเถระ ซึ่งการตรัสชมพระอุปเสนของพระผู้มีพระภาคเจ้า แสดงถึงว่าพระองค์ทรงสรรเสริญผู้ที่มีความมักน้อย สันโดษ อยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร แต่ว่าประเด็นที่ผู้เขียนอ้างอิงนั้นไม่ได้อยู่ตรงเนื้อหาดังกล่าว แต่ประเด็นอยู่ตรงเนื้อหาที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ต่างหาก หลังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสชมพระอุปเสนแล้ว ก็ได้ตรัสถามพระอุปเสนต่อไปว่า “ เธอรู้กติกาของสงฆ์ในเขตพระนครสาวัตถีไหม อุปเสน ” พระอุปเสนตรัสตอบไปว่า “ ไม่ทราบเกล้าฯ พระพุทธเจ้าข้า ” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกพระอุปเสนว่า “ ดูก่อนอุปเสน สงฆ์ในเขตพระนครสาวัตถี ตั้งกติกากันไว้ว่า ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะเสด็จหลีกออกเร้นอยู่ตลอดไตรมาส ใคร ๆ อย่าเข้าไปเฝ้าพระองค์ นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปถวายรูปเดียว ภิกษุใดเข้าไปเฝ้าพระองค์ ต้องให้แสดงอาบัติปาจิตตีย์ ” ท่านผู้อ่านเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เราลองมาคิดกันว่า เมื่อพระอุปเสนเรับรู้ถึงสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งว่าจะเสด็จหลีกเร้นตลอดไตรมาส และกติกาที่สงฆ์ในเขตสาวัตถีตกลงกันแล้ว ประเด็นที่ ๑ พระอุปเสนจะทำอย่างไรต่อไป พระอุปเสนจะแสดงอาบัติปาจิตตีย์หรือไม่ ประเด็นที่ ๒ ยังมีเรื่องที่พระอุปเสนเสด็จมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าในตอนที่พระองค์ปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่พระองค์เดียวตลอดไตรมาสอีก ซึ่งพระอุปเสนไม่ทราบเรื่องที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จหลีกเร้นอยู่เพียงผู้เดียวตลอดไตรมาส การที่ได้มาเข้าเฝ้าพระองค์แล้ว พระอุปเสนจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ ถ้าเป็นท่านผู้อ่าน ท่านผู้อ่านจะทำอย่างไรกับเหตุการณ์นี้ ท่านผู้อ่านจะแสดงอาบัติปาจิตตีย์หรือไม่ อย่าลืมว่าไม่ว่าจะทำสิ่งใด การกระทำของแต่ละคนก็จะสะท้อนถึงคุณธรรมและภูมิธรรมของแต่ละท่าน บางท่านอาจจะนิ่งอึ้งทำอะไรไม่ถูก หรือบางท่านอาจจะรีบแสดงอาบัติปาจิตตีย์ แล้วขอขมากรรมพระผู้มีพระภาคเจ้าในทันที ไม่ว่าแต่ละท่านจะกระทำอะไรออกมา นั่นเป็นการสะท้อนถึงระดับภูมิธรรมของแต่ละท่านนั่นเอง คนที่มีภูมิธรรมสูง คุณธรรมสูง ปัญญาสูง ย่อมทำอะไรสมบูรณ์มากกว่าคนที่มีภูมิธรรม คุณธรรม ปัญญาในระดับที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม เรามาดูเหตุการณ์ต่อไปกันเถิดว่า พระอุปเสนเถระจะทำอย่างไรต่อไปเมื่อพระอุปเสนรู้ถึงสิ่งที่สงฆ์ในเขตพระนครสาวัตถีตกลงกันไว้ พระอุปเสนเมื่อได้ฟังสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสบอกถึงกติกาของสงฆ์ในเขตพระนครสาวัตถีแล้ว จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ พระสงฆ์ในเขตพระนครสาวัตถี จักทราบทั่วกันตามกติกาของตน พวกข้าพระพุทธเจ้าจักไม่แต่งตั้งสิกขาบทที่พระองค์มิได้ทรงบัญญัติ และจักไม่เพิกถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ จักสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ ” พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ยินพระอุปเสนกล่าวดังนั้น จึงตรัสชมว่า “ ดีแล้ว ดีแล้ว อุปเสน ไม่ควรแต่งตั้งสิกขาบทที่เรายังมิได้บัญญัติ หรือว่าไม่ควรเพิกถอนสิกขาบทที่เราบัญญัติ ควรสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่เราได้บัญญัติไว้ ” หลังจากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสชมพระอุปเสนแล้ว จึงตรัสพระพุทธานุญาตพิเศษต่อไปว่า “ เราอนุญาตให้พวกภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เข้าหาเราได้ตามสะดวก ” ครั้นท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกับภิกษุบริษัทลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณแล้วหลีกไป เวลานั้น ภิกษุหลายรูปกำลังรออยู่ที่นอกซุ้มประตูพระวิหาร ด้วยตั้งใจว่าพวกเราจักให้ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรแสดงอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุเหล่านั้นได้ถามท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรดังนี้ว่า อาวุโสอุปเสนท่านทราบกติกาของสงฆ์ในเขตพระนครสาวัตถีไหม ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรจึงได้เล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่เข้าเฝ้าพระผู้พระภาคเจ้าแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า “ พวกข้าพระพุทธเจ้าจักไม่แต่งตั้งสิกขาบทที่พระองค์มิได้ทรงบัญญัติ และจักไม่เพิกถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ จักสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเลยทรงอนุญาตให้บรรดาภิกษุผู้ถือ การอยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เข้าเฝ้าได้ตามสะดวก ดังนี้ ” ภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ยินสิ่งที่พระอุปเสนเล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ภิกษุเหล่านั้นเห็นด้วยในทันทีทันใดว่า ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรพูดถูกต้องจริงแท้ พระสงฆ์ไม่ควรแต่งตั้งสิกขาบทที่ยังมิได้ทรงบัญญัติ หรือไม่ควรเพิกถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ ควรสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ เรื่องราวของพระอุปเสนนั้นได้ให้ข้อคิดหลายอย่าง ไม่รู้ว่าแต่ละท่านได้แง่คิดอะไรบ้าง แต่ในความคิดของผู้เขียน ข้อคิดที่เห็นเด่นชัดมากนั่นก็คือ ไม่ว่าใครก็ตามจะใช้พวกมากสักเพียงไหน แต่ถ้าสิ่งที่กระทำนั้นเป็นสิ่งผิดหลักธรรม การใช้พรรคพวกมาก ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผิดให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกได้ และในทางกลับกัน ไม่ว่าใครก็ตามจะมีคนน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งที่กระทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักธรรม ต่อให้คนอื่นมีพวกมากแค่ไหน ก็หาได้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ถูกนั้นเป็นสิ่งที่ผิดไม่ เรื่องบางเรื่อง การใช้พรรคพวกมากไม่มีประโยชน์อะไร ต่อให้มีปริมาณมากสักเท่าไหร่ก็ตามก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอธรรมให้กลายเป็นธรรมได้ เพราะฉะนั้น จึงขอให้ทุกคนสังเกตดีๆ ว่าสิ่งที่ผู้คนทำอยู่นั้นถึงแม้ว่าจะมีผู้คนมากมายสักเพียงไหน แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ถูก ดังนั้นคำพูดที่คนส่วนมากชอบพูดว่า “ ใครๆเขาก็ทำกัน ” จึงไม่สามารถใช้ได้ในกรณีนี้ การมีพวกมากอาจจะช่วยด้านจิตใจบ้าง คือมีเพื่อนร่วมกระทำสิ่งนั้นด้วยกันอยู่มากมาย ดูแล้วอาจจะรู้สึกอบอุ่น แต่ก็มิได้หมายความว่าเขาเหล่านั้นจะช่วยท่านให้พ้นจากความผิดในฐานละเมิดหลักธรรมไปได้ ซึ่งบางครั้งการยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง อาจจะดูโดดเดี่ยว แต่ก็เป็นเรื่องคุ้มค่าอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม มีคำถามที่สำคัญมากตามมาก็คือ คุณรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ยืนหยัดอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ถูก ที่มีคำถามอย่างนี้ไม่ได้ต้องการให้ทุกคนลังเลหรือสับสน เพียงแต่ผู้ที่ยืนหยัดนั้นต้องมีปัญญาพอสมควรในการพิจารณาว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งผิด มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าเรายืนหยัดในสิ่งผิดอยู่คนเดียว กลับเป็นว่าตัวเรานั้นเองเป็นตัวปัญหาของเรื่องนี้อยู่คนเดียวโดยไม่รู้ตัว ความมั่นใจอย่างเดียวอาจจะไม่พอ ซึ่งทางออกของเรื่องนี้ น่าจะอยู่ในส่วนของการศึกษา ประพฤติ ปฏิบัติธรรม เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ จนเกิดปัญญาอย่างแท้จริง เพื่อสามารถมองออกว่าสิ่งใดถูกตามหลักธรรม สิ่งใดผิดหลักธรรม ส่วนคำถามที่เกริ่นไว้ตอนต้นในประเด็นที่ ๑ ก็มีคำตอบชัดเจนอยู่แล้วว่า พระอุปเสนไม่จำเป็นต้องแสดงอาบัติปาจิตตีย์ ด้วยหลักที่ว่า “ จักไม่แต่งตั้งสิกขาบทที่พระองค์มิได้ทรงบัญญัติ และจักไม่เพิกถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ จักสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ ” ในส่วนประเด็นที่ ๒ ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประสงค์จะหลีกเร้นอยู่คนเดียว แต่พระอุปเสนกลับมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่พระเชตวัน คำตอบในเรื่องนี้ก็ชัดเจนเช่นเดียวกันว่า พระอุปเสนไม่ต้องทำอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะในตอนท้ายเรื่อง พระบรมศาสดาให้พุทธานุญาตพิเศษแก่ผู้ที่อยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เข้าเฝ้าได้ตามสะดวก เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นกรณีศึกษาเป็นอย่างมาก พระสงฆ์ในพระนครสาวัตถีอยู่ดีๆ ตั้งกฎขึ้นมาเองโดยกฎนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าบัญญัติขึ้น ถ้าเกิดมีใครไปยึดถือตามแล้ว ในอนาคต ถ้ามีผู้ใดผู้หนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ตั้งอะไรขึ้นมาเอง โดยที่สิ่งเหล่านั้นอาจจะมาจากประสบการณ์ส่วนตัว มาจากคิดไปเอง หรือมีที่มาจากเหตุใดก็แล้วแต่ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติ ซ้ำร้ายยังตั้งสิ่งนั้นขึ้นมาเป็นกฎหรือทฤษฎีแล้วสอนผู้อื่นต่อไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้พระพุทธศาสนาเสียหายอย่างใหญ่หลวง หรืออาจถึงขั้นล่มสลายเลยก็เป็นไปได้ ในทางกลับกัน ถ้าเกิดมีใครไม่ชอบสิ่งที่พระองค์บัญญัติ แล้วก็มาเพิกถอนสิ่งที่พระองค์บัญญัติ ซึ่งอาจจะเป็นหลักธรรม หรือสิกขาบท ก็จะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นหลักอปริหานิยธรรมนี้จึงเป็นหลักที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทุกท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่ดำรงอยู่ในประเทศไทยนั้นได้เผยแผ่มาจากแถบประเทศอินเดียในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้ผ่านกาลเวลาอันยาวนาน คำสอนต่างๆได้ผ่านการสังคายนามาหลายครั้ง แต่กลับเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างของนักวิชาการหรือนักปราชญ์ทั่วไปว่า คำสอนของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่อยู่ในประเทศไทยขณะนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ถูกรวบรวมและมีความสมบูรณ์ที่สุด ในยุคปัจจุบันนี้ (พ.ศ.๒๕๕๓) อีกทั้งเมื่อดูในแง่ของผู้ปฏิบัติตามหลักเถรวาทนี้ ตั้งแต่ยุคพุทธกาลเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้ ก็ยังมีผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เกิดขึ้นมาโดยตลอด นั่นแสดงว่าหลักที่ประพฤติปฏิบัติกันอยู่นั้นยังเป็นหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่สิ่งก่อสร้างในยุคสมัยพุทธกาล ตัวอย่างเช่น บุพพารามวิหาร ซึ่งเป็นวิหารที่นางวิสาขามหาอุบาสิกาสร้างถวายแด่สงฆ์ ประกอบด้วยปราสาทสองชั้น ชั้นบนมี ๕๐๐ ห้อง ชั้นล่างมี ๕๐๐ ห้อง และสร้างเรือน ๒ ชั้น ๕๐๐ หลัง ปราสาทเล็ก ๕๐๐ หลัง ศาลายาว ๕๐๐ หลัง แวดล้อมปราสาทนั้น ซึ่งน่าจะเป็นปราสาทที่มีความใหญ่โตมโหฬารเป็นอย่างมาก แต่เมื่อผ่านกาลเวลาอันยาวนานจนมาถึงยุคปัจจุบันนี้ ก็มิได้หลงเหลือสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นให้เห็นอีกเลย อย่าว่าแต่สิ่งก่อสร้างเลย แม้แต่แคว้นอันยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นมหาอำนาจสมัยพุทธกาล เช่นแคว้นมคธ ก็ยังอันตรธานหายไปไม่หลงเหลือความเป็นแคว้นหรือเมืองเหมือนดั่งในสมัยพุทธกาล ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาและมีตัวอย่างมากมายของการล่มสลายของอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ในอดีต ในเมื่อสิ่งต่างๆส่วนมากที่อยู่ในสมัยพุทธกาล ล้วนแล้วแต่พังทลายล่มสลาย แต่แล้วทำไมคำสอนที่เผยแผ่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ยังมีอานุภาพที่ยิ่งใหญ่อยู่ ใครประพฤติปฏิบัติตามยังได้ผลที่ยิ่งใหญ่อยู่ไม่เปลี่ยนแปลง นั่นแสดงว่า คำสอนยังคงเป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในความคิดของผู้เขียนสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นเรื่องอัศจรรย์มาก และต้องถนอมรักษาสิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่ได้นานที่สุดตราบนานเท่านาน ถึงแม้ว่าเราอาจจะเกิดมาไม่ทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและฟังธรรมต่อหน้าพระพักตร์ แต่ทุกคนก็ไม่ต้องเสียใจไป และขอให้ทุกคนดีใจเถิดว่าตอนนี้ยังคงมีการดำรงอยู่ของพระสัทธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างไรก็ตาม จากที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งใดหรือที่ทำให้คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงยังคงถูกรักษาให้มีอานุภาพอยู่ได้ โดยผ่านกาลเวลาอันยาวนาน ในความคิดของผู้เขียนนั้น คำตอบของเรื่องนี้อาจจะมีหลายเหตุหลายปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้น แต่ปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งนั้น เป็นเพราะชาวพุทธปฏิบัติตามหลักอปริหานิยธรรม(ข้อที่ ๓) อย่างเคร่งครัดใช่หรือไม่ “ จักไม่บัญญัติสิ่งที่ตถาคตมิได้บัญญัติไว้ จักไม่เพิกถอนสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้แล้ว ยังจักสมาทานประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าบัญญัติไว้แล้ว ” การปฏิบัติตามหลักนี้อย่างเคร่งครัดใช่หรือไม่ ที่ทำให้คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้คงความสมบูรณ์ที่สุดและยังสามารถสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยที่หลักอปริหานิยธรรม น่าจะเป็นสิ่งที่ชาวพุทธในอดีตยึดถือและปฏิบัติตามกันมาอย่างเคร่งครัด ซึ่งตราบใดที่ชาวพุทธทั้งหลายตั้งใจที่จะรักษาพระศาสนาโดยใช้หลักธรรมนี้ ความผิดเพี้ยนต่างๆย่อมจะไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้ ในปัจจุบันนี้หรืออนาคตกาลเบื้องหน้า หากมีครูบาอาจารย์ หรือผู้ศึกษาธรรมทั้งหลาย เผยแผ่คำสอน หรือบทความต่างๆ แก่ลูกศิษย์ทั้งหลาย ซึ่งคำสอนเหล่านั้นอาจจะมาจากการฝึกปฏิบัติ ประสบการณ์ส่วนตัว หรือมีที่มาจากแหล่งใดก็ตาม แต่หน้าที่ของทุกท่าน มีความจำเป็นต้องตรวจสอบทุกคำสอน ทุกบทความ (รวมทั้งบทความนี้ และก่อนหน้าด้วย) ว่า “ ได้บัญญัติสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้บัญญัติไว้หรือไม่ หรือเพิกถอนสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าบัญญัติไว้แล้วหรือไม่ ” ถ้าเกิดคำสอนเหล่านั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ทุกท่านก็พึงรู้ไว้ อีกทั้งถ้าเป็นไปได้ก็สามารถเข้าไปแก้ไข หรือยับยั้งไม่ให้คำสอนที่ผิดเหล่านั้นลุกลามไปเรื่อยๆ หรือไม่ก็ยังสามารถให้ความกระจ่างแก่ผู้คนทั้งหลายได้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่พระสัทธรรม จากประสบการณ์ที่ได้ฟัง หรืออ่านบทความ ของอาจารย์หลายท่าน เป็นเรื่องน่าใจหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากพบว่า มีหลายคำสอน หลายบทความของอาจารย์เหล่านั้นสอนแก่ลูกศิษย์ ซึ่งคำสอนเหล่านั้นอาจไม่ใช่พระสัทธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกทั้งผู้เผยแผ่นั้นก็เป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียง มีมวลชนเป็นอันมากนับถือ ผู้เขียนจึงอยากจะเตือนชาวพุทธทั้งหลายว่า อย่าประมาท คำพูดของผู้คนในยุคหลังนั้น ไม่ได้เป็นพุทธพจน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระสัพพัญญู ดังนั้นความสมบูรณ์ในคำพูดทั้งหลายย่อมยากที่จะบังเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากความพยายามที่จะอธิบายพระสัทธรรมที่ลึกซึ้ง ยิ่งอธิบายอาจจะยิ่งทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน หรือไม่ก็มีการนำความคิดของตนใส่เข้าไปเพิ่ม ซึ่งไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม คำพูดของคนยุคหลัง ย่อมมีความผิดพลาดบังเกิดขึ้นได้เสมอ สิ่งที่ชาวพุทธควรระลึกไว้เสมอคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนสิ่งอื่นนั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ยังคงไม่สามารถวางใจได้ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทั้งหลาย ช่วยกันทำหน้าที่พุทธบริษัท ๔ อย่างเคร่งครัด (โปรดอ่าน หน้าที่ของพุทธบริษัท ๔) โดยช่วยกันตรวจสอบบทความหรือคำสอนต่าง ๆ ก่อนที่จะนำมาเผยแผ่ หรือประพฤติ ปฏิบัติตาม อาจจะถึงเวลาแล้วที่ทุกท่านจะทำอะไรเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ขอให้ชาวพุทธทุกท่านช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนาเพื่อความคงอยู่ของพระสัทธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่พึ่งให้เหล่าสรรพสัตว์ต่อไปให้ตราบนานเท่านาน “ พวกข้าพระพุทธเจ้าจักไม่แต่งตั้งสิกขาบทที่พระองค์มิได้ทรงบัญญัติ และจักไม่เพิกถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ จักสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ ดังนี้ ” อ้างอิง ๑ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่มเล่มที่ ๙ พระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ ๕๑๖อ้างอิง ๒ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่มเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๓๙อ้างอิง ๓ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่มเล่มที่ ๓ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๐๔ << จบบทความ >> มีผู้อ่านจำนวน : 4246 ครั้ง