Text Size
Thursday, March 28, 2024
Top Tab Content

การระลึกให้ถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์


การระลึกให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตอนที่ ๒ 


                หลังจากที่เราได้เห็นตัวอย่างต่างๆ ที่แสดงถึงการระลึกถึงของบุคคลต่างๆ  ตอนนี้เราควรมาดูว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงพระองค์เองในลักษณะแบบใด ซึ่งพระองค์ตรัสถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ในหลายๆส่วน  ผู้เขียนจะขอยกมาอ้างอิงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น  แต่ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะตรัสกี่ครั้งก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นการตรัสถึงลักษณะเดียวกันมาตลอด 

กถาว่าด้วยพระพุทธคุณ (อ้างอิง ๖) 

           “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  พระตถาคตเสด็จอุบัติโนโลกนี้  เป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้เองโดยชอบ   ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ  เสด็จไปดีแล้ว   ทรงรู้แจ้งโลก  เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก  ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า  เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  เป็นผู้เบิกบานแล้ว  เป็นผู้จำแนกพระธรรม   พระตถาคตพระองค์นั้น   ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก  มารโลก  พรหมโลก  ให้แจ้งชัด  ด้วยปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม  ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด  ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ   ทั้งพยัญชนะ  บริสุทธิ์  บริบูรณ์สิ้นเชิง  ”   
                   

                ขอถามว่า การระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าแบบที่พระองค์ตรัสนั้น จะสามารถระลึกได้ถึงพระองค์ท่านหรือไม่  และการระลึกถึงแบบนั้นจะสามารถระลึกถึงบุคคลอื่นที่ไม่ใช่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้หรือไม่  
               จริงๆ แล้วคำถามเหล่านี้อาจเป็นคำถามที่ไม่ควรถาม  เพราะสิ่งที่พระองค์ตรัสย่อมเป็นสิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด   เแต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความจำเป็นต้องถาม เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ ว่าเป็นดั่งที่พระองค์ตรัสหรือไม่   ในความคิดของผู้เขียนนั้น การระลึกเช่นนี้ ไม่ใช่จะถึงเฉพาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดมเท่านั้น แต่สามารถถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าที่มีมาแล้วในอดีตทั้งหมดด้วย
              ผู้ที่สามารถระลึกถึงสิ่งที่พระองค์เป็น และสมบูรณ์ที่สุดนั้น น่าจะเป็นพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยกันเองเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามที่เขียนบทความนี้ขึ้นมา เพื่อหวังให้ทุกท่าน สามารถระลึกถึงพระองค์ท่านได้ โดยไม่ผิดเพี้ยนไประลึกถึงสิ่งอื่น  

  “ การระลึกให้ถึงพระธรรม ” 

                ปัญหาที่พบในสังคมปัจจุบันนี้    ส่วนการระลึกถึงพระธรรม ปัญหาก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกับพระพุทธ  โดยการระลึกถึงนั้น ผู้คนต่างๆเป็นส่วนมาก ก็อาจจะไปนึกถึงใบลาน หนังสือพระไตรปิฎก  คัมภีร์โบราณ หรือวัตถุต่างๆ  ซึ่งในความคิดของผู้เขียน การระลึกถึงพระธรรมนั้น น่าจะเป็นการยากกว่าการระลึกถึงพระพุทธ  แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีพื้นฐานในการระลึกถึงพระพุทธ ก็น่าจะระลึกถึงพระธรรมได้ง่ายขึ้น  อีกทั้งเมื่อระลึกถึงพระธรรมได้ ก็ย้อนกลับไปทำให้การระลึกถึงพระพุทธได้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย
               เมื่อพูดถึงพระธรรม ท่านผู้อ่านน่าจะมีความเข้าใจถึงลักษณะความเป็นนามธรรมเสียก่อน ถึงจะสามารถเข้าใจถึงพระธรรมได้  ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างง่ายๆ เพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น  เช่น ความโกรธ ความพยาบาท และจิตที่เกิดพร้อมความโกรธ  สิ่งที่กล่าวมานั้น ไม่มีรูปลักษณ์ของมัน แต่มีการมีอยู่ของมัน 
               พระธรรมก็เป็นเช่นเดียวกัน ไม่มีรูปลักษณ์  แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่มาโดยตลอด  พระธรรมที่ทำให้สัตว์พ้นทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง ก็มีแต่มหาบุรุษองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะสามารถค้นพบและนำมาสอนสรรพสัตว์ได้
               ถ้าผู้อ่านอยากระลึกรู้ได้ชัดแจ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับพระธรรมนั้น มีทางเดียวเท่านั้นคือผู้อ่านจะต้องประพฤติ ปฏิบัติ ในหลักธรรม ซึ่งผู้อ่านสามารถเอาข้อธรรมเดียวเท่านั้นก็ได้ ที่ผู้อ่านสามารถประพฤติ ปฏิบัติได้ 
               ซึ่งผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างดังนี้      

เรื่องที่ ๑ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างในข้อธรรมที่ทุกคนต้องรู้นั่นคือ สิงคาลกสูตร (อ้างอิง ๗)

           “  ดูก่อนคฤหบดีบุตร  มารดาบิดา  เป็นทิศเบื้องหน้า  อันบุตรธิดาพึงบำรุงด้วยสถาน ๕   คือ   ด้วยตั้งใจว่า   ท่านเลี้ยงเรามา  เราจักเลี้ยงท่านตอบ ๑   จักรับทำกิจของท่าน ๑  จักดำรงวงศ์ตระกูล ๑   จักปฏิบัติ ตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก ๑   เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว   ทำบุญอุทิศให้ท่าน ๑ ”
                                 

                สมมติมานพหนุ่มผู้หนึ่ง เขาเป็นผู้ไม่ได้เลี้ยงดูพ่อแม่  หลังจากได้รู้หลักธรรมข้อนี้ แล้วนำมาปฏิบัติตามสิงคาลกสูตร เป็นผู้บำรุงบิดา มารดา สถาน ๕ ตามหลักธรรม  เมื่อปฏิบัติตามแล้ว ย่อมบังเกิดความเจริญทั้งต่อตนเองและผู้อื่น  ผู้นั้นย่อมคิดได้ว่า เราเป็นผู้เป็นคนได้ เพราะได้ปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ ถ้าเราไม่ได้พบหลักธรรมนี้เราจะเป็นผู้เลวร้าย และประสบกับผลร้ายประมาณไหน   เมื่อมานพผู้นั้นปฏิบัติตามแล้ว ย่อมพอจะระลึกได้ว่า พระธรรมนั้นเป็นเช่นไร อีกทั้งยังสามารถย้อนกลับไประลึกถึงคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น 

เรื่องที่ ๒  ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างในพหุภาณีสูตร  ว่าด้วยคุณและโทษของการพูด (อ้างอิง ๘)

          ในอดีตกาล“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษ  ๕ ประการนี้   มีอยู่ในบุคคลผู้พูดมาก ๕ ประการเป็นไฉน ?  
       คือ   พูดเท็จ ๑   พูดส่อเสียด ๑   พูดคำหยาบ ๑   พูดเพ้อเจ้อ ๑  เมื่อตายไปย่อมเข้า
       ถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  โทษ  ๕ ประการนี้แล  มีอยู่ใน
       บุคคลผู้พูดมาก
             ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์  ๕ ประการนี้  มีอยู่ในบุคคลผู้พูดพอประมาณ  ๕ ประการเป็นไฉน ?
       คือ  ไม่พูดเท็จ ๑  ไม่พูดส่อเสียด ๑  ไม่พูดคำหยาบ ๑  ไม่พูดเพ้อเจ้อ ๑      
       เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  อานิสงส์ ๕ ประการนี้แล  มีอยู่ในบุคคลผู้พูดพอประมาณ ”   

                สมมติมานพหนุ่มผู้หนึ่ง เขาเป็นผู้พูดมาก เป็นคนพูดจาไม่คิด พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ  หลังจากได้รู้หลักธรรมข้อนี้แล้วนำมาปฏิบัติตามพหุภาณีสูตร เป็นผู้พูดพอประมาณตามหลักธรรม  เวลาพูดก็พยายามพูดอย่างมีสติ คอยระลึกตรวจสอบตนเองขณะพูดอยู่เสมอว่าเราเป็นผู้พูดพอประมาณหรือไม่ เรา พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ หรือไม่  เมื่อปฏิบัติตามแล้วย่อมบังเกิดผลดีมากมายจากการพูดพอประมาณ  ผู้นั้นย่อมคิดได้ว่า เราเป็นผู้เป็นคนได้ เพราะได้ปฏิบัติตามหลักธรรมนี้  ถ้าเราไม่ได้พบหลักธรรมนี้เราจะเป็นผู้เลวร้าย และประสบกับผลร้ายกับการพูดของเราประมาณไหน 
               เมื่อมานพผู้นั้นปฏิบัติตามแล้ว ย่อมพอจะระลึกได้ว่า พระธรรมนั้นเป็นเช่นไร อีกทั้งยังสามารถย้อนกลับมา ระลึกถึงคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น


เรื่องที่ ๓ ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างใน สีลสูตร  ว่าด้วยโทษของความทุศีลและคุณของศีล (อ้างอิง ๙)

          “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย    โทษของคนทุศีล   เพราะศีลวิบัติ
    ๕  ประการนี้  ๕ ประการเป็นไฉน ?  คือ ผู้ทุศีล   มีศีลวิบัติ   ในธรรมวินัยนี้
    ย่อมถึงความเสื่อมโภคทรัพย์อย่างมากอันมีความประมาทเป็นเหตุ    นี้เป็นโทษ
    ข้อที่  ๑  ของคนทุศีล  เพราะศีลวิบัติ    อีกประการหนึ่ง   กิตติศัพท์ที่ชั่วของ
    ผู้ทุศีล  มีศีลวิบัติย่อมฟุ้งไป  นี้เป็นโทษข้อที่ ๒ ของคนทุศีล  เพราะศีลวิบัติ
    อีกประการหนึ่ง  ผู้ทุศีล    มีศีลวิบัติ     จะเข้าสู่บริษัทใด ๆ คือ   ขัตติยบริษัท
    พราหมณบริษัท     คฤหบดีบริษัท  สมณบริษัทย่อมไม่องอาจ   เก้อเขินเข้าไป
    นี้เป็นโทษข้อที่ ๓  ของคนทุศีล   เพราะศีลวิบัติ   อีกประการหนึ่ง  คนทุศีล
    มีศีลวิบัติ     ย่อมเป็นผู้หลงกระทำกาละ    นี้เป็นโทษข้อที่  ๔    ของคนทุศีล
    เพราะศีลวิบัติ   อีกประการหนึ่ง   คนทุศีล   มีศีลวิบัติ   เมื่อตายไปย่อมเข้าถึง
    อบาย  ทุคติ  วินิบาต   นรก  นี้เป็นโทษ   ข้อที่  ๕  ของคนทุศีล   เพราะศีล
    วิบัติ     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย    โทษของคนทุศีล    เพราะศีลวิบัติ  ๕ ประการ
    นี้แล
         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  อานิสงส์ของคนมีศีล  เพราะความถึงพร้อม
    ด้วยศีล ๕ ประการนี้  ๕ ประการเป็นไฉน ?  คือ  คนมีศีล  ถึงพร้อมด้วยศีล
    ในธรรมวินัยนี้  ย่อมถึงกองโภคทรัพย์มากมาย  อันมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ
    นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่  ๑ ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล  อีกประการ
    หนึ่ง  กิตติศัพท์อันงามของคนมีศีล    ถึงพร้อมด้วยศีล    ย่อมฟุ้งไป    นี้เป็น
    อานิสงส์ข้อที่  ๒  ของคนมีศีล  เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล    อีกประการหนึ่ง
    คนมีศีล  ถึงพร้อมด้วยศีล  จะเข้าสู่บริษัทใด ๆ คือ  ขัตติยบริษัท  พราหมณบริษัท  
    คฤหบดีบริษัท   สมณบริษัท   ย่อมองอาจ  ไม่เก้อเขินเข้าไป   นี้เป็น
    อานิสงส์ข้อที่  ๓  ของคนมีศีล   เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล    อีกประการหนึ่ง
    คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล  ย่อมเป็นผู้ไม่หลงกระทำกาละ  นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่  ๔
    ของคนมีศีล      เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล      อีกประการหนึ่ง      คนมีศีล
    ถึงพร้อมด้วยศีล  เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์   นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕
    ของคนมีศีล  เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   อานิสงส์ของ
    คนมีศีล   เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล  ๕  ประการนี้แล ”


                    

                สมมติมานพหนุ่มผู้หนึ่ง เขาประพฤติตัวเป็นผู้ทุศีล เขามีศีลวิบัติ มีชื่อเสียงชั่วร้าย หลังจากได้รู้หลักธรรมข้อนี้ แล้วนำมาปฏิบัติตามสีลสูตร เป็นผู้มีศีลตามหลักธรรม  เมื่อปฏิบัติตามแล้ว ย่อมบังเกิดประโยชน์มากมาย มีความเจริญทั้งต่อตนเองและผู้อื่น  ผู้นั้นย่อมคิดได้ว่า เราเป็นผู้เป็นคนมีความเจริญได้ เพราะได้ปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ ถ้าเราไม่ได้พบหลักธรรมนี้เราจะเป็นผู้เลวร้าย และประสบกับผลร้ายต่อการทุศีลประมาณไหน 
               มานพผู้นั้นย่อมพอจะระลึกได้ว่า พระธรรมนั้นเป็นเช่นไร อีกทั้งยังสามารถย้อนกลับมา ระลึกถึงคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

เรื่องที่ ๔ ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างใน มหาสติปัฏฐานสูตร (อ้างอิง ๑๐)

         สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคเจ้า  เสด็จประทับอยู่ในหมู่ชนชาวกุรุ   นิคมของหมู่ชนชาวกุรุ    ชื่อกัมมาสทัมมะ   ในกาลนั้นแล   พระผู้มีพระภาคเจ้า  ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า   
           “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ”
           ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น  ทูลรับพระพุทธพจน์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  
           “ พระเจ้าข้า ”
           พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า                                         
           “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย    ทางนี้เป็นที่ไปอันเอก   เพื่อความหมดจดวิเศษ
    ของสัตว์ทั้งหลาย     เพื่อความก้าวล่วงซึ่งความโศกและความร่ำไร   เพื่ออัสดงค์
    ดับไปแห่งทุกข์และโทมนัสเพื่อบรรลุญายธรรม  เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง
    ทางนี้คือสติปัฏฐาน   (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ) ๔ อย่าง   สติปัฏฐาน ๔ อย่าง
    เป็นไฉน ฯลฯ ”         



                สมมติมานพหนุ่มผู้หนึ่ง เขาได้รู้หลักธรรมข้อนี้ แล้วนำมาปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ เป็นผู้มีธรรม  เมื่อปฏิบัติตามแล้ว บังเกิดความเจริญกับตนเองอย่างสูงสุดจนเป็นอริยบุคคลอันประเสริฐแปดจำพวก  ผู้นั้นย่อมระลึกได้ว่า เราเป็นผู้มีความเจริญขนาดนี้ได้ เพราะได้ปฏิบัติตามหลักธรรมนี้  ถ้าเราไม่ได้พบหลักธรรมนี้เราจะเป็นผู้เวียนว่ายในชาติภพไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น บางชาติต้องเกิดในทุคติ ไม่รู้จะต้องเวียนว่ายอีกยาวนานแค่ไหน  ซึ่งมานพผู้นั้นจะบังเกิดความซาบซึ้งต่อพระธรรมอย่างประมาณมิได้  อีกทั้ง เมื่อมานพผู้นั้นปฏิบัติตามแล้ว ผู้นั้นย่อมพอจะระลึกได้ว่า พระธรรมนั้นเป็นเช่นไร อีกทั้งยังสามารถย้อนกลับไประลึกถึงคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

               ตั้งแต่เรื่องที่ ๑ ถึงเรื่องที่ ๔ เมื่อมานพทั้ง ๔ คนเป็นผู้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนแล้ว ผู้นั้นย่อมพอจะระลึกได้ว่า พระธรรมนั้นเป็นเช่นไร  ความซาบซึ้งในพระธรรมของแต่ละคนก็ขึ้นกับผลที่แต่ละคนได้รับในการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม   อีกทั้งมานพทั้ง ๔ คน ยังสามารถย้อนกลับไประลึกถึงคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นตามภูมิธรรมของแต่ละคน

               พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมีทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น  พระธรรมไม่ได้เป็นก้อน เป็นวัตถุ เป็นใบลาน เป็นหนังสือ หรือเป็นแผ่นซีดี หรือเป็นวัตถุอะไรก็ตาม  ผู้ที่ประพฤติ ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน แล้วเห็นผลการปฏิบัตินั้น  ย่อมพอที่จะนึกถึงพระธรรมออกว่าเป็นอย่างไร เหมือนดั่งตัวอย่างมานพหนุ่มทั้ง ๔ ที่ยกมาข้างต้น

การระลึกถึงพระธรรมคุณ  (อ้างอิง ๑๑)

          “ อีกประการหนึ่ง   อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระธรรมว่า    พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว อันบุคคลผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระธรรม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น  เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ”   


  “ การระลึกให้ถึงพระสงฆ์ ” 

               เมื่อกล่าวเรื่องการระลึกถึงพระสงฆ์ก็น่าจะมีปัญหาเช่นเดียวกับ พระพุทธ พระธรรม แต่ถ้าได้พิจารณาและเข้าใจในส่วนของบทความข้างต้นแล้ว ก็น่าจะเข้าใจเกี่ยวกับพระสงฆ์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ต้องกล่าวในส่วนนี้เยอะมาก
               พระสงฆ์คือผู้ใดก็ตาม ที่น้อมนำพระสัทธรรมมาปฏิบัติตาม จนสร้างความเจริญสูงสุดให้แก่ตนเองตามหลักพระพุทธศาสนา นั่นคือเกิดผลเป็นอริยบุคคล ๘ จำพวก ซึ่งผู้นั้นจะเป็นใครก็แล้วแต่ อาจจะเป็นพรหม เทวดา ยักษ์  มนุษย์ผู้หญิง  มนุษย์ผู้ชาย  เป็นต้น
            พระสงฆ์ไม่ใช่พระรูปใดรูปหนึ่ง มิใช่หลวงพ่อรูปใดรูปหนึ่ง  แต่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของสงฆ์ก็ได้   ดังนั้นพอนึกถึงคุณของสงฆ์ ก็จะเป็นกลุ่มบุคคลรวมๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใดก็ตาม ซึ่งผู้นั้นเป็นผู้น้อมนำพระสัทธรรมมาประพฤติ ปฏิบัติ จนเป็นบุคคลอันประเสริฐแปดจำพวก  


การระลึกถึงพระสังฆคุณ (อ้างอิง ๑๒)
           “ อีกประการหนึ่ง    อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระสงฆ์ว่า   พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า  เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว  เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติธรรม เป็นผู้ปฏิบัติสมควร นี้คือคู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘  นี้พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี  เป็นนาบุญของโลก   ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า  
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  สมัยใด  อริยสาวก  ย่อมระลึกถึงพระสงฆ์ สมัยนั้น   จิตของอริยสาวกนั้น      เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ”
                                 

                การระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง  อีกทั้งยังมีการกล่าวถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  ในหลายๆ ส่วนในสังคม  ผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินคำว่า “ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย .... ” ในหลายๆ บทความ หรือในคำอวยพรต่างๆ  ถ้าผู้คนในสังคมไม่เข้าใจคำว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เสียแล้ว  อำนาจพระรัตนตรัยที่ผู้คนทั้งหลายกล่าวถึงกันนั้น  จะเป็นอำนาจพระรัตนตรัยที่แท้จริงหรือไม่ 
               ในความคิดของผู้เขียน ถ้ายังมีความเข้าใจผิดหรือมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนห่างจากความเป็นจริงในส่วนนี้อยู่   ก็จะส่งผลให้นับวันผู้คนทั้งหลายก็จะยิ่งห่างจากความเป็นจริงมากขึ้นเท่านั้น  ในความคิดผู้เขียนนั้น ปัญหาเรื่องการเข้าไม่ถึง ซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นเพียงแค่ปัญหาอันหนึ่งที่สะท้อนออกมาเท่านั้น

               มาถึงเวลานี้แล้ว น่าจะเป็นเวลาที่ทุกท่านควรจะใช้ปัญญาในการพิจารณาขบคิด สิ่งต่างๆ ทั้งหมดว่า ทุกๆ สิ่งที่ได้กระทำมาและกำลังจะกระทำต่อไปนั้น จะมีผลของการกระทำเป็นเช่นไร มีประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่ อยู่ในเส้นทางและเป้าหมายอย่างแท้จริงของพุทธศาสนาหรือไม่  ในความคิดของผู้เขียน ในยุคที่พวกเราอยู่ปัจจุบันนี้  สิ่งต่างๆ ได้ผิดเพี้ยนไปจากหลักพุทธศาสนามากมาย ไม่ใช่แค่ผิดเพี้ยนมากมายเท่านั้น แถมการผิดเพี้ยนนั้นยังเด่นชัดอีกด้วย   การที่แต่ละท่านดำรงชีวิตอยู่ และปล่อยไปตามกระแสแห่งสังคมโลกปัจจุบันนี้  โดยไม่มีความสงสัยหรือเอะใจขึ้นมาเลยว่า สิ่งที่เป็นอยู่ในยุคปัจจุบันนี้ ใช่หลักของศาสนาพุทธหรือไม่  ถ้าท่านผู้อ่านไม่รู้สึกถึงความผิดปกติอย่างมากมายในหลายส่วนของสังคมที่กำลังเป็นอยู่แล้วละก็  อย่างน้อยท่านผู้อ่านควรมีคำถามสำคัญเกิดขึ้นในใจได้แล้วว่า “ เราเป็นชาวพุทธหรือไม่ ”
               ผู้เขียนหวังว่าทุกท่านจะสามารถศึกษา ประพฤติ ปฏิบัติธรรม เพื่อกลับมาหาความเป็นจริง  และแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาได้อย่างแท้จริง น้อมนำพระสัทธรรม มาสร้างความเจริญให้กับตนเอง และผู้อื่นได้อย่างแท้จริง 

 
อ้างอิง ๑ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑

อ้างอิง ๒ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๓๓  พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๗๕

อ้างอิง ๓ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่  ๑๓ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๐๒

อ้างอิง ๔ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๔๒

อ้างอิง ๕ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๔๙

อ้างอิง ๖ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๐

อ้างอิง ๗ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ ๘๘  สิงคาลกสูตร

อ้างอิง ๘ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๓๖ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๔๖๖

อ้างอิง ๙ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๓๖ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๔๖๓

อ้างอิง ๑๐ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๐๙

อ้างอิง ๑๑ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๓๖ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๕๘๗

อ้างอิง ๑๒ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๓๖ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๕๘๘

<< จบบทความ >>



มีผู้อ่านจำนวน : 2630 ครั้ง


บทความที่เกี่ยวข้อง

           การระลึกให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตอนที่ ๑
           การระลึกให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตอนที่ ๒
backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have one guest and no members online