Text Size
Thursday, March 28, 2024
Top Tab Content

ระลึกให้ถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์


การระลึกให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตอนที่ ๑ 


                ก่อนเริ่มบทความ ผู้เขียนขอรบกวนให้ท่านผู้อ่านลองตั้งจิตระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอันดับแรกเสียก่อน หลังจากนั้นค่อยมาอ่านบทความถัดไปจากนี้

                เมื่อท่านผู้อ่านระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนขอถามท่านผู้อ่านว่า เวลาท่านผู้อ่านระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้น ผู้อ่านระลึกถึงพระรัตนตรัยในลักษณะไหนและอย่างไร

                การระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เป็นเช่นเดียวกันกับสิ่งอื่นที่กำลังเป็นอยู่ในยุคปัจจุบันนี้ ทุกท่านก็ควรจะตรวจสอบตนเอง และคนรอบข้างว่า ได้มีการดำเนินไปในลักษณะเช่นใด การระลึกถึงพระรัตนตรัยเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากเป็นการสื่อถึงสิ่งที่สูงค่า และเป็นนามธรรม ผู้ที่ระลึกถึงนั้นควรจะมีระบบการตรวจสอบว่า สิ่งที่เราระลึกถึงนั้นได้ถึงพระรัตนตรัยหรือไม่ เปรียบได้กับการส่งจดหมาย ผู้ส่งจดหมายที่มีปัญญานั้น จะต้องพิจารณาให้ละเอียดว่าของที่ส่งนั้นถึงผู้รับหรือไม่ มิฉะนั้นประโยชน์ทั้งหมดก็จะเป็นอันจบสิ้น

                ตามที่ได้มีโอกาสพบปะสนทนากับผู้คนต่างๆ ทำให้พบว่าผู้คนทั้งหลายส่วนมาก ไม่สามารถระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้ ถึงแม้คนบางส่วนจะระลึกได้ ก็กลับกลายเป็นการระลึกถึงบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งการระลึกถึงบางสิ่งบางอย่างนั้นจะเป็นการระลึกถึงพระรัตนตรัยหรือไม่ ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาที่ใหญ่มากในสังคมชาวพุทธในยุคปัจจุบันนี้ อีกทั้งยังทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมาย ทั้งๆที่การระลึกให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องทำได้เป็นอันดับแรกเสียด้วยซ้ำ ก่อนที่จะก้าวไปสู่สิ่งอื่นๆเป็นอันดับถัดไป เมื่อมีการระลึกผิดพลาด ในสิ่งที่ควรจะระลึกถูกตั้งแต่แรกเสียแล้ว การที่จะก้าวไปสู่เรื่องที่ลึกซึ้งเป็นอันดับถัดไปจึงกลายเป็นเรื่องยาก

  “ การระลึกให้ถึงพระพุทธ ” 

                ปัญหาที่พบในสังคมปัจจุบันนี้ เมื่อผู้คนส่วนมากระลึกถึงพระพุทธ ผู้คนเหล่านั้นจะไประลึกถึง รูปเหมือนต่างๆ เช่น รูปปั้น รูปหล่อ รูปเหรียญ หรือรูปภาพ เป็นต้น ที่ผู้คนได้พยายามสร้างรูปทั้งหลายเหล่านั้นขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับพุทธลักษณะ    หรือบางครั้งก็จะได้คำตอบจากบางคนว่าไม่สามารถระลึกถึงพระพุทธได้ ไม่รู้ว่าจะระลึกถึงพระพุทธอย่างไร  การไม่สามารถระลึกถึงพระพุทธได้ก็เป็นปัญหาที่สำคัญปัญหาหนึ่ง แต่การระลึกถึงพระพุทธแล้วไประลึกถึงสิ่งอื่นนั้น ในความคิดของผู้เขียนกลับกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่และซับซ้อนกว่าปัญหาแรกมาก
               ในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังคงมีพระชนม์ชีพอยู่ การระลึกถึงพระองค์ในเชิงรูปธรรม หรือในเชิงรูปลักษณ์นั้น ยังสามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากคนในยุคสมัยนั้นเคยเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่าพระองค์มีพุทธลักษณะเป็นอย่างไร พระองค์มีลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ อนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ พระฉัพพรรณรังสีที่แผ่จากพระวรกายต่างๆ เป็นลักษณะอย่างไรบ้าง  แต่อย่างไรก็ตาม  การระลึกถึงพระองค์แบบนั้น ก็ยังเป็นที่สงสัยว่าเป็นการระลึกถึงพระองค์ท่านหรือไม่  เพราะว่าแม้แต่ผู้คนที่อยู่ในยุคสมัยพุทธกาลนั้น ส่วนมากก็ไม่ได้ระลึกถึงพระองค์ในแบบนั้น  อีกทั้งพระองค์เอง ก็มิได้แนะนำสั่งสอนให้ผู้คนทั้งหลายระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในลักษณะเช่นนั้นด้วย
               ยิ่งมาเปรียบเทียบกับผู้คนในยุคนี้แล้ว ซึ่งเป็นยุคที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว  การระลึกถึงพระองค์ในเชิงลักษณะยิ่งเป็นไปไม่ได้เข้าไปใหญ่   ในความคิดของผู้เขียนนั้น การที่พระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วนั้น  น่าจะทำให้ผู้คนทั้งหลายที่มิได้ทันเห็นรูปลักษณ์ของพระองค์ สามารถระลึกถึงพระองค์ได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากไม่มีรูปพระวรกายให้ยึดติดเสียแล้ว  น่าจะสามารถทำให้การระลึกถึงพระองค์ได้ถูกต้องยิ่งขึ้น  จุดนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ชาวพุทธในยุคนี้ได้เปรียบชาวพุทธสมัยพุทธกาล  แต่เหตุการณ์ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่  กลับกลายเป็นว่า ในเมื่อไม่มีพระวรกายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ผู้คนหลงไประลึกอยู่ในรูปเสียแล้ว  ผู้คนทั้งหลายในยุคหลังกลับพยายามไปสร้างรูปลักษณ์ของพระองค์มาเป็นสิ่งที่ยึดเป็นสิ่งที่ระลึกแทน  เหตุการณ์จึงกลายเป็นยิ่งลำบากหนักกว่าสมัยก่อนเข้าไปอีก
               อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะยึดและระลึกถึงพระองค์ในรูปลักษณ์ของพระองค์ในสมัยพระพุทธเจ้ามีพระชนม์ชีพอยู่ หรือยึดและระลึกในรูปเหมือนที่คนยุคหลังพยายามสร้างขึ้นเพื่อทดแทนสิ่งที่ขาดหายไปก็ตาม ไม่ว่าจะระลึกในแบบไหน ก็ล้วนแล้วแต่  เป็นที่สงสัยทั้งนั้นว่า การระลึกแบบนั้นเป็นการระลึกถึงพระองค์หรือไม่  ไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหน การขาดซึ่งความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็เป็นปัญหาที่สำคัญในทุกยุคทุกสมัยเสมอมา เพียงแต่ในยุคหลังนั้นปัญหาอาจจะหนักขึ้น ตามความหยาบขึ้นของจิตใจของผู้คน 

ผู้เขียนขอสมมติเหตุการณ์ขึ้นมาดังนี้

               สมมติมีมานพหนุ่มผู้หนึ่ง ซึ่งเกิดทันเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้จดจำรูปลักษณ์ของพระองค์ และมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการในขณะนั้นไว้อย่างแม่นยำ เวลาที่มานพผู้นั้นระลึกถึงพระองค์ ก็จะระลึกถึงรูปลักษณ์นั้น 
               คำถาม ท่านผู้อ่านคิดว่ามานพผู้นั้นได้ทำการระลึกถึงใคร ได้เป็นการระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่

เรื่องที่ ๑ ในลักขณสูตร เรื่อง มหาปุริสพยากรณ์ (อ้างอิง ๑)

           โดยสมัยนั้น    ข้าพเจ้า  (พระอานนท์เถระเจ้า) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
           สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี  ในพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า    
           “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ”
           ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า    
           “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ” ดังนี้     
           พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า    
           “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  พระมหาบุรุษผู้ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ เหล่านี้    ย่อมมีคติเป็นสองเท่านั้น  ไม่เป็นอย่างอื่น  คือ  
             ถ้าครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม  เป็นธรรมราชามีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีอาณาจักรมั่นคง ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ  คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว  แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกเเก้ว เป็นที่ ๗  พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าหนึ่งพัน  ล้วนกล้าหาญ  มีรูปทรงเป็นวีรกษัตริย์  สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้  พระองค์ทรงชนะโดยธรรม   โดยเสมอ   มิต้องใช้อาชญา  มิต้องใช้ศัสตรา  ครอบครองแผ่นดิน  มีสาครเป็นขอบเขต  มิได้มีเสาเขื่อน  ไม่มีนิมิต ไม่มีเสี้ยนหนาม  มั่งคั่งแพร่หลาย  มีความเกษมสำราญไม่มีเสนียด  
             ถ้าเสด็จออกบวชเป็นบรรพชิตจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  มีหลังคา คือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก    
             ดูก่อนภิกษุทั้งหลายมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการนั้นเป็นไฉน   ซึ่งพระมหาบุรุษประกอบแล้ว
             ย่อมมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น  คือ
             ถ้าครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  อนึ่ง  
             ถ้าพระมหาบุรุษนั้นเสด็จออกผนวช  จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคา  คือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก ”  
                    

                เมื่อพิจารณาสิ่งที่พระองค์ตรัส ถึงมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ  ผู้ที่มีมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการจะมีคติเป็น ๒ เท่านั้น นั่นคือ ถ้าครองเรือนจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  ถ้าออกบวชจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  
               ขอย้อนกลับมาเรื่องเดิมที่สมมติว่า มานพหนุ่มผู้หนึ่งเวลาระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะระลึกถึงมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ขอถามท่านผู้อ่านว่าถ้ามานพผู้นั้นระลึกแบบนั้น การระลึกนั้นจะถึงแก่ผู้ใด พระเจ้าจักรพรรดิ หรือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  เมื่อนำเหตุการณ์มาเทียบกับพุทธประวัติ การระลึกของมานพหนุ่มแบบนั้น จะระลึกถึง เจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนบรรลุโพธิญาณ หรือจะระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เรื่องที่ ๒ ในอรรถกถาสูตรที่ ๘ ประวัติสูรอัมพัฏฐอุบาสก(ปุรพันธอุบาสก) (อ้างอิง ๒)

          ในอดีตกาล อุบาสกผู้นี้ได้เห็น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปทุมุตตระ สถาปนาอุบาสกผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้เลื่อมใสไม่หวั่นไหว จึงตั้งความปรารถนาตำแหน่งนั้นไว้  และหลังจากนั้นแสนกัป ได้บังเกิดมาในตระกูลเศรษฐี พวกญาติได้ขนานนามว่า ปุรพันธะ  ต่อมาเขาเจริญวัย  ดำรงอยู่ในฆราวาสวิสัย เป็นอุปัฏฐากของเหล่าอัญญเดียรถีย์
           ครั้งนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูโลกเวลาใกล้รุ่ง  ทรงเห็นเหตุแห่งโสดาปัตติมรรคของปุรพันธะ    เมื่อถึงเวลาบิณฑบาต พระองค์จึงเสด็จไปถึงประตูนิเวศน์   เมื่อปุรพันธะเห็นพระทศพล  จึงคิดว่า  พระสมณโคดมทรงอุบัติในสกุลใหญ่และเป็นผู้อันมหาชนรู้จักกันอย่างดีในโลก  ด้วยเหตุนั้น  การไม่ไปสำนักของพระสมณโคดมนั้น  ไม่สมควร   เขาจึงไปสู่สำนักพระศาสดากราบที่พระยุคลบาท   รับบาตรแล้วอาราธนาให้เสด็จเข้าไปในเรือน ให้ประทับนั่งบนบัลลังก์มีค่ามาก  แล้วถวายภิกษา  เมื่อเสร็จภัตกิจ    จึงนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง   พระศาสดาทรงแสดงธรรมตามอำนาจจริยาของเขา   จบเทศนาเขาก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล  หลังจากที่พระศาสดาทรงฝึกเขาแล้วก็เสด็จกลับไปพระเชตวันวิหาร  ลำดับนั้น มารคิดว่า  ชื่อว่าปุรพันธะนี้เป็นสมบัติของเรา แต่พระศาสดาเสด็จไปเรือนเขาวันนี้ ได้ฟังธรรมของพระศาสดา  พระศาสดาได้ทรงทำให้มรรคปรากฏหรือไม่หนอ   
           มารจึงต้องการรู้ว่า อุบาสกพ้นจากวิสัยของเราหรือยังไม่พ้น จึงเนรมิตรูปละม้ายพระทศพล  ทั้งทรงจีวร   ทั้งทรงบาตร   เสด็จดำเนินโดยอากัปกิริยาของพระพุทธเจ้าทีเดียว ทรงพระลักษณะ ๓๒ ประการ   ได้ประทับยืนใกล้ประตูเรือนของปุรพันธอุบาสก    
ปุรพันธอุบาสก  ทราบว่าพระทศพลเสด็จมาอีกแล้ว  ก็คิดว่า  ธรรมดาการเสด็จไปชนิดไม่แน่นอนของพระพุทธะทั้งหลายไม่มีเลย  เหตุไรหนอจึงเสด็จมา   อุบาสกนั้นจึงรีบเข้าหาด้วยสำคัญว่าเป็นพระทศพล  กราบแล้วยืน ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง  กราบทูลว่า
           “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ       พระองค์ทรงทำภัตกิจเสร็จแล้วในเรือนของข้าพระองค์  ทรงอาศัยเหตุอะไรจึงเสด็จมาอีก ”
           มารกล่าวว่า
           “ ดูก่อน ปุรพันธะ  เราเมื่อกล่าวธรรมไม่ทันพิจารณาแล้วกล่าวคำไปข้อหนึ่ง มีอยู่  แท้จริง  เรากล่าวไปว่า  ปัญจขันธ์ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา หมดทุกอย่าง  แต่ความจริงไม่ใช่ทั้งหมดเห็นปานนั้น  ด้วยว่า ขันธ์ บางจำพวก ที่เที่ยง มั่นคง ยั่งยืน มีอยู่ ”
           หลังจากได้ยินดังนั้น ปุรพันธอุบาสกคิดว่า  เรื่องนี้เป็นเรื่องหนักอย่างยิ่ง   ด้วยธรรมดาว่า  พระพุทธะทั้งหลาย  ตรัสเป็นคำสองไม่มี   จึงคิดใคร่ครวญว่า  ขึ้นชื่อว่ามารเป็นข้าศึกของพระทศพล  ผู้นี้ต้องเป็นมารแน่  จึงกล่าวว่า  “ ท่านเป็นมารหรือ ”
           ถ้อยคำที่พระอริยสาวกกล่าว ได้เป็นเหมือนเอาขวานฟันมารนั้น  เพราะเหตุนั้น  มารจะดำรงอยู่โดยภาวะของตนไม่ได้  จึงกล่าวว่า  “ ใช่ละ  ปุรพันธะ เราเป็นมาร ”
ปุรพันธอุบาสกจึงชี้นิ้วกล่าวว่า  
           “ มารตั้ง ๑๐๐  ตั้ง ๑,๐๐๐  ก็มาทำศรัทธาของเราให้หวั่นไหวไม่ได้ดอก  พระทศพลมหาโคดม    เมื่อทรงแสดงธรรมแก่เรา   ก็ทรงแสดงธรรมปลุกให้ตื่นว่า  สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง  ท่านอย่ายืนใกล้ประตูเรือนของเรานะ ”   
           มารฟังคำของปุรพันธอุบาสกนั้นแล้ว  ก็ถอยกรูดไม่อาจพูดจา  อันตรธานไปในที่นั้นนั่นเอง

                ขอกลับมาเรื่องเดิมที่สมมติว่า มานพหนุ่มผู้หนึ่งเวลาระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะระลึกถึงมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ขอถามว่าถ้ามานพผู้นั้นระลึกแบบนั้น การระลึกนั้นจะถึงแก่ผู้ใด มาร หรือว่า พระทศพลมหาโคดม

เรื่องที่ ๓ ผิวกายพระตถาคตผ่องใสยิ่งใน ๒ กาล (อ้างอิง ๓)

          ท่านพระอานนท์ เมื่อปุกกุสมัลลบุตรหลีกไปแล้วไม่นาน  ได้น้อมคู่ผ้าเนื้อเกลี้ยงมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนั้น เข้าไปสู่พระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ผ้าที่พระอานนท์น้อมเข้าไปสู่พระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ย่อมปรากฏดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลวฉะนั้น   
          ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  
           “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  น่าอัศจรรย์  เหตุไม่ เคยมี   ก็มีมาแล้ว    พระฉวีวรรณของพระตถาคตบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก  คู่ผ้าเนื้อเกลี้ยงมีสีดังทองสิงคี  ซึ่งเป็นผ้าทรงนี้  ข้าพระองค์น้อมเข้าไปสู่พระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว   ย่อมปรากฏดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลวฉะนั้น ”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า   
           “ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น อานนท์ในกาลทั้ง ๒ กายของตถาคต  ย่อมบริสุทธิ์  ฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก  ในกาลทั้ง ๒ เป็นไฉน  คือ ในเวลาราตรีที่ตถาคตตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑  ในเวลาราตรีที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑  ในกาลทั้ง ๒  นี้แล  กายของตถาคต ย่อมบริสุทธิ์   ฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก  
           ดูก่อนอานนท์ ในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้แล   ตถาคตจักปรินิพพานในระหว่างไม้สาละทั้งคู่   ในสาลวันแห่งมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย  เป็นที่แวะเวียนไป ณ เมืองกุสินารา มาเถิด อานนท์  เราจักไปยังแม่น้ำกกุธานที ”
           ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า


                ขอย้อนกลับมาเรื่องเดิมที่สมมติว่า มานพหนุ่มผู้หนึ่งเวลาระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะระลึกถึงมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ
                ขอถามว่าถ้ามานพผู้นั้นระลึกถึงลักษณะของพระพุทธเจ้าแบบธรรมดาทั่วไปนั้น  ในขณะที่เกิดเหตุน่าอัศจรรย์  พระฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาคเจ้าบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก   การระลึกลักษณะนั้นจะถึงแก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะที่พระองค์มีพระฉวีวรรณผุดผ่องหรือไม่

               ถ้าอย่างนั้น มานพผู้นั้นควรระลึกถึงร่างกายพระองค์ในลักษณะไหน และอย่างไร ที่ทำให้การระลึกนั้นจะสามารถถึงพระองค์ได้ในที่สุด  ควรจะระลึกโดยแยกมหาปุริสลักษณะ ออกเป็นส่วนๆจะดีหรือไม่ เช่นพระองค์มีพระพักตร์ลักษณะเช่นนี้ ก็ระลึกถึงเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์เท่านั้น  ในความคิดของผู้เขียน การระลึกแบบแยกส่วนก็มิได้จะทำให้การระลึกนั้นถึงพระองค์ได้  แถมยังเป็นการกระทำที่ทำให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่าการระลึกเช่นนั้นจะทำให้ห่างไกลพระองค์มากยิ่งขึ้น

               มาถึงตอนนี้ ผู้เขียนขอนำทุกท่านกลับมาสู่สถานการณ์สังคมปัจจุบัน ที่ผู้คนทั้งหลายในสังคมปัจจุบันนี้พยายามเสาะแสวงหาวัตถุดิบต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ปูน ทองเหลือง ทองคำ หินอ่อน  มาสร้างเป็นรูปเสมือนที่เลียนแบบรูปลักษณะของพระผู้มีพระภาคเจ้า  
              หลังจากที่ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้คนทั้งหลายก็พยายามไปยึดหรือระลึกถึงรูปเสมือนที่สร้างขึ้นว่าเป็นตัวแทนเพื่อระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ขอถามใจท่านผู้อ่านอีกครั้งหนึ่งเถิดว่า การระลึกถึงสิ่งเหล่านั้นเป็นการระลึกถึงพระองค์ได้หรือ   

              ในเมื่อสมัยพุทธกาลการระลึกถึงของผู้ที่ได้เคยเห็นพระองค์ขณะยังมีพระชนม์ชีพอยู่  แล้วไประลึกถึงรูปลักษณ์ของพระองค์ในขณะนั้น ยังเป็นปัญหาว่าการกระทำลักษณะนั้น จะสามารถระลึกถึงพระองค์ได้จริงหรือ  พอมาเปรียบเทียบกับรูปสร้างเลียนแบบพระองค์ ซึ่งน่าจะยังห่างไกลจากรูปลักษณ์ของพระองค์สมัยพุทธกาลอย่างเทียบมิได้  การระลึกถึงสิ่งที่เลียนแบบนั้น ยิ่งเป็นการกระทำที่น่าสงสัยเป็นอย่างมาก  ในความคิดของผู้เขียน การที่ผู้คนทั้งหลายในปัจจุบันนี้จะระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างที่ควรระลึกถึงพระองค์นั้น ยิ่งยากลำบากมากขึ้นไปอีก เนื่องจากมีสิ่งที่ขวาง เป็นตัวหลอกล่อให้ไขว้เขวมากมาย โดยที่สิ่งที่ขวางนั้นบางครั้งก็เกิดขึ้นมาโดยน้ำมือของผู้คนในยุคนี้เอง

               บางท่านก็นำวัตถุที่เป็นรูปเสมือนดังกล่าวมาติดตัว ซึ่งท่านเหล่านั้นก็บอกว่าเคารพพระองค์  การนำวัตถุติดตัวไป จะทำให้เป็นการระลึกถึงพระองค์ได้ง่ายและบ่อยขึ้น  หลังจากกล่าวเช่นนั้นเสร็จ ผู้คนเหล่านั้นก็นำวัตถุนั้นติดตัวไปในสถานที่ต่างๆทุกสถานที่ ไม่ว่าสถานที่นั้นจะเป็นสถานที่ที่ควรไปหรือไม่
               ทุกท่านลองพิจารณาดูว่า การมีวัตถุติดตัว จะเพิ่มอัตราการระลึกถึงพระพุทธได้มากขึ้น  คนที่ทำเช่นนั้นเคยทำสถิติหรือไม่ ว่าก่อนแขวนวัตถุ มีอัตราการระลึกถึงพระพุทธเท่าไหร่ หลังจากแขวนวัตถุมีอัตราการระลึกถึงพระพุทธเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน
               ในความคิดของผู้เขียนการที่มีวัตถุติดตัว ไม่ได้ทำให้อัตราการระลึกถึงพระพุทธมากขึ้นแต่ประการใด ใส่ตอนแรกอาจจะรู้สึกแปลกๆ  พอผ่านไปสักระยะหนึ่งก็จะรู้สึกชินกับสิ่งนั้น ในที่สุดจะนำติดตัวไปหรือไม่นำติดตัวไป ก็ไม่ได้ช่วยให้อัตราการสื่อถึงพระองค์มากขึ้น  การที่จะทำให้ระลึกถึงพระองค์ได้มากขึ้นและง่ายขึ้น นั้นเกิดจากการฝึกพุทธานุสติ หาได้เกิดจากสิ่งหยาบภายนอกไม่
              อีกทั้งผู้ที่นำวัตถุติดตัวไปด้วย ส่วนมากก็จะเกิดความประมาทขึ้น คิดว่าสิ่งนั้นจะคุ้มครองเราได้ กลายเป็นวัตถุที่นำไปด้วยนั้นเป็นเครื่องมือส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความประมาทขึ้นไปโดยปริยาย มิหนำซ้ำยังเป็นสิ่งที่ขวางกั้นที่จะระลึกถึงพระองค์เข้าไปอีก ทำให้เมื่อเวลาจะระลึกถึงพระองค์จะต้องผ่านวัตถุชั้นหนึ่งก่อน แล้วค่อยไประลึกถึงพระองค์ ยิ่งทำให้การระลึกถึงพระองค์นั้นต้องเพิ่มระยะห่างเข้าไปอีก  ในความคิดผู้เขียน การที่จะมองหาประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ เป็นการยากเหลือเกินที่จะหาได้

               เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ขอนำท่านผู้อ่านกลับไปสู่สมัยพุทธกาลอีกครั้ง

เรื่องที่ ๔ เมณฑกะคหบดี (อ้างอิง ๔)

          พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระนครเวสาลีตาม พระพุทธาภิรมย์   แล้วเสด็จจาริกทางพระนครภัททิยะ  พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่  ประมาณ  ๑,๒๕๐  รูป  เสด็จจาริกโดยลำดับ ได้เสด็จถึงพระนครภัททิยะแล้ว  ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ ณ ชาติยาวัน เขตพระนครภัททิยะนั้น
                                                                    พระพุทธคุณ
          เมณฑกะคหบดีได้สดับข่าวถนัดแน่ว่า  ท่านผู้เจริญ  พระสมณโคดม ศากยบุตร  ทรงผนวชจากศากยตระกูล   เสด็จโดยลำดับถึงพระนครภัททิยะ  ประทับอยู่  ณ ชาติยาวัน เขตพระนครภัททิยะ    
          ก็พระกิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า  แม้เพราะเหตุนี้ ๆ   พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น  ทรงเป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้เองโดยชอบ  ทรงบรรลุวิชชาและจรณะ    เสด็จไปดีแล้ว  ทรงรู้แจ้งโลก  เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก  ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า   เป็นศาสดาของทวยเทพและมนุษย์  เป็นผู้เบิกบานแล้ว   เป็นผู้จำแนกธรรม  พระองค์ทรงทำโลกนี้  พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก  พรหมโลก  ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง  แล้วทรงสอนหมู่สัตว์  พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์  ทวยเทพและมนุษย์ให้รู้   ทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น  งามในท่ามกลาง  งามในที่สุด    ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์    
           อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้นเป็นความดี
           หลังจากนั้น เมณฑกะคหบดีให้จัดแจงยวดยานที่งาม ๆ แล้วขึ้นสู่ยวดยานที่งาม ๆ  มียวดยานที่งาม ๆ  หลายคันแล่นออกจากพระนครภัททิยะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า   


                ขอถามว่า การที่เมณฑกะคหบดี ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าลักษณะนั้น จะสามารถระลึกได้ถึงพระองค์ท่านหรือไม่  และการระลึกถึงแบบนั้นจะสามารถระลึกถึงบุคคลอื่นที่ไม่ใช่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้หรือไม่


เรื่องที่ ๕ เรื่องเกณิยชฎิล (อ้างอิง ๕)

          ครั้งนั้น    พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ   เสด็จถึงอาปณนิคมแล้ว  เกณิยชฎิลได้สดับข่าวถนัดแน่ว่า  ท่านผู้เจริญ  พระสมณโคดมศากยบุตร  ทรงผนวชจากศากยตระกูล เสด็จโดยลำดับถึงอาปณนิคมแล้ว        
          ก็พระกิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้นขจรไปแล้ว อย่างนี้ว่า  แม้เพราะเหตุนี้ ๆ   พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงเป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้เองโดยชอบ  ทรงบรรลุวิชชาและจรณะ  เสด็จไปดีแล้ว  ทรงรู้แจ้งโลก   เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า   เป็นศาสดาของทวยเทพและมนุษย์   เป็นผู้เบิกบานแล้ว   เป็นผู้จำแนกธรรม   พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก   มารโลก   พรหมโลกให้แจ้งชัด   ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง  แล้วทรงสั่งสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ ทวยเทพ และมนุษย์ให้รู้  ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น  งามในท่ามกลาง  งามในที่สุด  ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์   
         อนึ่งการเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น เป็นความดี           
                ขอถามว่า การที่เกณิยชฎิล ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าแบบนั้น จะสามารถระลึกได้ถึงพระองค์ท่านหรือไม่  และการระลึกถึงแบบนั้นจะสามารถระลึกถึงบุคคลอื่นที่ไม่ใช่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้หรือไม่ 




มีผู้อ่านจำนวน : 4244 ครั้ง


บทความที่เกี่ยวข้อง

           การระลึกให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตอนที่ ๑
           การระลึกให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตอนที่ ๒
backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have 3 guests and no members online