Text Size
Thursday, March 28, 2024
Top Tab Content

02patom


ปฐมเหตุการทอดกฐิน 
    
ปฐมเหตุการทอดกฐิน (จากกฐินขันธกะ พระวินัยปิฎก และอรรถกถาแปล เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาคที่ ๒ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๗/๙๑ น.๑๙๓) ความว่า

            สมัยเมื่อ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ วัดเชตวันมหาวิหารอารามของท่านอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี แคว้นโกศล ครั้นนั้น พระภิกษุ ภัททวัคคีย์ ๓๐ รูป (ระดับภูมิธรรมระหว่างพระโสดาบัน – พระอนาคามี) ชาวเมืองปาไฐยรัฐ ล้วนถืออารัญญิกธุดงค์ (ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร) บิณฑปาติกธุดงค์ (ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร) และเตจีวริกธุดงค์ (ถือการครองผ้า ๓ ผืน เป็นวัตร) เดินทางไปพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่เดินทางมาไม่ทัน เพราะจวนเข้าพรรษา จึงต้องหยุดจำพรรษา ณ เมืองสาเกต พระภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาด้วยใจรัญจวนว่า : พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ใกล้ ๆ เราระยะทางห่างกันเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระพุทธองค์
            ครั้นล่วงไตรมาส พระภิกษุเหล่านั้นออกพรรษา ทำปวารณาเสร็จแล้ว ได้มุ่งตรงมายังวัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ขณะนั้นในชมพูทวีปยังมีฝนตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลนโคลนตม มีน้ำขังอยู่ในที่ต่างๆ ตามทางที่เดินทางผ่านมา พระภิกษุทั้ง ๓๐ รูป ได้รับความลำบากจากการเดินทาง มีจีวรชุ่มชื้นไปด้วยน้ำและมีหล่มเลนโคลนตม อีกทั้งยังต้องฝ่าแดด กรำฝน ลำบากกาย จีวรขาดวิ่น จนมาถึงวัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ก็มิได้รั้งรอ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
            การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลายนั้นเป็น พุทธประเพณี

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพระภิกษุเหล่านั้นว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้า :    
       “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกันร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ ”

พระภิกษุภัททวัคคีย์ :
      “ พวกข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนได้ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกันไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าในชุมนุมนี้  เป็นภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป เดินทางมาพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษาไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี  จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างทาง พวกข้าพระพุทธเจ้านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ใกล้ๆ เราระยะทางเห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
          ครั้นล่วงไตรมาส พวกข้าพระพุทธเจ้าออกพรรษา ทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ และมีหล่มเลน โคลนตม มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ฝ่าแดด กรำฝน ลำบากกาย เดินทางมา พระพุทธเจ้าข้า ”
          ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้า :
           “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้วจักได้อานิสงส์กฐิน ๕ ประการคือ
๑. อนามนฺตจาโร เที่ยวไปไหน ไม่ต้องบอกลา (ภิกขาจารไปโดย ไม่ต้องบอกลา)
๒. อสมทานจาโร ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ (ผ้า ๓ ผืน : สบง จีวร สังฆาฏิ)
๓. คณโภชนํ ฉันคณะโภชน์ได้ (ฉันเป็นหมู่ ได้ คือภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป เจ้าภาพสามารถบอกชื่ออาหาร คือ โภชนะ ๕ ได้แก่ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ)
๔. ยาวทตฺถจีวรํ เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา (ปกติเก็บไว้ ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน)
๕. โย จ ตตฺถ จีวรุปฺปาโท โส เนสํ ภวิสฺสติ จีวรลาภอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่ พวกเธอ (ลาภสักการะที่สมควรแก่พระภิกษุ เช่นไตรจีวร ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า เครื่องใช้ต่างๆ เจ้าภาพถวายแล้ว พระภิกษุเก็บไว้ได้เอง โดยไม่เป็นของสงฆ์)
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ จักได้แก่พวกเธอทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้ว ”



           พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภเรื่องนี้เป็นปฐมเหตุ ทรงมีฉันทานุมัติตามพุทธประเพณีที่มีมา ต้องมีพระภิกษุ ๓๐ รูป ซึ่งเป็นพระภิกษุปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบในธุดงควัตร อยู่ป่าเป็นวัตร บิณฑบาตเป็นวัตร และปฏิบัติกิจด้วยผ้า ๓ ผืน เป็นวัตร อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะท่านได้สะสมบารมีมา พระภิกษุภัททวัคคีย์ทั้ง ๓๐ รูป เคยได้เห็นพระภิกษุ ๓๐ รูป ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ท่านได้ถวายภัตตาหารในพระพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์ และท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า ถ้าได้เกิดมาภพหนึ่ง ชาติใดในพระพุทธศาสนา ขอให้ได้เป็นเอตทัคคะ หรือเป็นผู้ได้รับฉันทานุมัติเป็นท่านแรกหรือเป็นคณะแรกทั้ง ๓๐ ท่าน ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฉันทานุมัติให้ยกเว้น หรือได้อานิสงส์จากการกรานกฐิน ๕ ประการ บุรุษทั้ง ๓๐ ท่านได้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ เกิดมาพบกันทุกชาติ เพราะสร้างกุศลมาร่วมกัน มากบ้างน้อยบ้างในแต่ละชาติ การที่ท่านได้มาเกิดในสมัยของพระสมณโคดมพุทธเจ้า จะได้สร้างกุศลใหญ่ คือท่านจะเป็นปฐมเหตุ ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานพุทธานุญาตให้พระภิกษุรับผ้ากฐิน กรานกฐิน และได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ เมื่อออกพรรษาแล้ว เมื่อเป็นดังนี้ พระภิกษุภัททวัคคีย์ ๓๐ รูป ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าและได้สดับฟังพระธรรมีกถาเรื่อง “อนมตัคคิยกถา” ได้บรรลุ “พระอรหัตตผล” ทุกรูป ในวาระกาลจบพระธรรมเทศนา
          ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระภิกษุจึงได้รับผ้ากฐินตามพระวินัยบัญญัติ มหาอุบาสิกาวิสาขา (พระโสดาบัน) ได้ทราบพระพุทธานุญาต จึงได้เป็นท่านแรกที่ได้ถวายผ้ากฐินแก่พระภิกษุสงฆ์ในบวรพุทธศาสนา

สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
 


มีผู้อ่านจำนวน : 10591 ครั้ง


backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have 3 guests and no members online