Text Size
Friday, April 19, 2024
Top Tab Content

11jevorn

การตัดเย็บจีวร 
 วิธีตัดจีวร
            ในพระธรรมวินัยกล่าวถึงขนาดของจีวร มีห้ามแต่ไม่ให้ทำเกินกว่าสุคตประมาณที่กำหนดไว้ในสิกขาบทที่ ๑๐ แห่งรตนวรรค คือ ยาว ๙ คืบ กว้าง ๖ คืบ โดยคืบพระสุคต* ส่วนขนาดย่อมกว่า ก็แล้วแต่พอดีกับบุคคลผู้ครองไม่มีข้อห้าม ประมาณที่ใช้ในประเทศไทย ยาว ไม่เกิน ๖ ศอก กว้างไม่เกิน ๔ ศอกของผู้ครอง พอได้ปริมณฑลดีเมื่อห่ม สำหรับสบง ประมาณที่ใช้ในประเทศไทย ยาวไม่เกิน ๖ ศอก กว้างไม่เกิน ๒ ศอก ของผู้ครอง
            การตัดจีวรที่จะอธิบายต่อไปนี้ จะใช้นิ้วฟุตเป็นมาตราวัด เพราะเห็นว่า ไม้บรรทัดใช้กันอยู่โดยทั่วไปหาได้ง่าย ขนาดและตัวอ่างนี้มิใช่เป็นแบบที่ตายตัวทีเดียว ให้ขยายตามขนาดของบุคคล เพียงแต่วางหลักกว้างๆ ไว้เท่านั้น
(คืบพระสุคต = เดิม คงกำหนดด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ในปัจจุบันให้ถือตามมาตราวัดเป็นเมตร คือ ๑ คืบพระสุคต เท่ากับ ๒๕ เซนติเมตร)

เวลาจะตัดกะดังนี้
             ๑. จีวรพึงกะให้ได้ขนาด คือ กว้าง ๔ ศอก ยาว ๖ ศอก ของผู้ครอง และอนุวาตกว้าง ๕ นิ้ว กุสิกว้าง ๒ นิ้วครึ่ง ตัดเป็นจีวร ๕ ขัณฑ์
             ๒. เบื้องต้น ให้วัดศอกของผู้ที่ครองก่อน ว่ายาวกี่นิ้ว เมื่อวัดได้เท่าไหร่แล้ว ให้เอา ๖ ศอก คือความยาวของจีวรคูณ เมื่อคูณได้เท่าไรแล้ว ให้คิดเป็นเนื้อที่ของกุสิเสีย ๔ กุสิๆ หนึ่ง กว้าง ๒ นิ้วครึ่ง ๔ กุสิ ก็เท่ากับ ๑๐ นิ้ว อนุวาต ๒ ข้างๆละ ๕ นิ้ว ๒ ข้างเป็น ๑๐ นิ้ว เมื่อรวมกับกุสิ ๔ กุสิ จึงเป็นเนื้อที่ ๒๐ นิ้วพอดี
             ๓. ให้เอา ๒๐ นิ้วไปลบความยาวทั้งหมดของจีวร เมื่อลบแล้วคงเหลือเท่าไรให้เอา ๕ ขัณฑ์หาร เมื่อได้ผลลัพธ์เท่าไรแล้วให้เอาอนุวาต ๕ นิ้วมาบวกๆ ได้เท่าไร ก็เป็นความกว้างของขัณฑ์ตัวริมทั้ง ๒ ข้าง ขัณฑ์ตัวกลางมีกุสิอยู่ทั้ง ๒ ข้าง รวม ๕ นิ้ว  ก็เอา ๕ บวกจำนวน ๕ ขัณฑ์ที่หารได้ จัดเป็นความกว้างของขัณฑ์ตัวกลาง
             ขัณฑ์ตัวรอง ๒ ตัว คือตัวที่ติดกับตัวกลางทั้ง ๒ ข้าง มีกุสิตัวละ ๒ นิ้วครึ่ง ๒ ขัณฑ์ จึงเป็น ๕ นิ้ว ให้เอา ๒ นิ้วครึ่งไปบวกกับที่ ๕ ขัณฑ์ หารได้ตอนต้นจึงจัดเป็นความกว้างของขัณฑ์ตัวรอง ๒ ตัว เมื่อได้ตัดเป็นขัณฑ์ๆ ได้ ๕ ขัณฑ์ ดังกล่าวแล้ว ต่อแต่นั้นก็ให้พับขัณฑ์ (คือผ้าที่ตัดไว้ทั้ง ๕ ชิ้น) ทั้ง ๕ ขัณฑ์นั้น เป็น ๓ ส่วน ให้ตัดอัฑฒกุสิในส่วนกลาง แล้วจึงตัดกุสิทีหลัง ตอนตัดกุสิอย่าตัดทางกุสิก่อน ให้ตัดทางอัฑฒกุสิเสียก่อน เพราะถ้าตัดทางกุสิก่อนก็จะเสียใช้ไม่ได้ เวลาจะเอาขัณฑ์ทั้ง ๕ มาเย็บติดกันระวังอย่าให้ผิด เราควรจำให้ได้ว่า ทั้งหมดมีอยู่ ๕ ขัณฑ์ด้วยกันคือ
             ๑. ขัณฑ์กลางมีกุสิติดอยู่ ๒ ข้าง และอัฑฒกุสิ
             ๒. ขัณฑ์รอง คือขัณฑ์ที่ติดกับขัณฑ์กลางมีอยู่ ๒ ขัณฑ์ มีกุสิ และอัฑฒกุสิติดอยู่ข้างเดียว
             ๓. ขัณฑ์ริม ๒ ข้าง ไม่กุสิ มีแต่อัฑฒกุสิ (คำว่า กุสิ แปลว่ากระทงใหญ่ อัฑฒกุสิ แปลว่า กระทงเล็ก หรือกระทงกึ่ง) เมื่อเย็บติดกันทุกชิ้นแล้ว จึงให้ตัดอนุวาตกว้าง ๕ นิ้ว มาเย็บติดกันที่ริมโดยรอบ เวลาเย็บอนุวาตอย่าให้ติดทางด้านตะเข็บ  ให้ติดทางด้านนอกของตะเข็บ เมื่อกล่าวโดยย่อแล้ว ได้ใจความว่า เบื้องต้น ให้ตัดผ้าออกเป็น ๕ ชิ้น คือตัวกลาง ๑ กับตัวริมสุด ๒ ข้าง รวม ๓ ชิ้น ให้ตัดเท่ากัน ตัวรองคือตัวติดกับตัวกลาง ๒ ตัวให้ตัดเท่ากัน แล้วจึงให้ตัดกุสิและอัฑฒกุสิในภายหลัง ดังที่อธิบายมานี้ จะสมมติวิธีตัดให้ดู ดังนี้
             สมมติว่าผู้ที่จะครอง มีศอกยาววัดได้ ๑๗ นิ้วครึ่ง (ให้ใช้นิ้วฟุต) ให้ตั้ง ๑๗ นิ้วครึ่งลง แล้วให้เอา ๖ ศอกคูณได้ผลลัพธ์ ๑๐๕ นิ้ว แล้วให้คิดเผื่อตะเข็บอีก ๒ นิ้วครึ่ง เอาไปบวกกับ ๑๐๕ นิ้ว เป็น ๑๐๗ นิ้วครึ่ง คิดเป็นเนื้อที่กุสิและอนุวาตเสีย ๒๐ นิ้ว แล้วเอา ๒๐ ลบ ๑๐๗ นิ้วครึ่ง คงเหลือ ๘๗ นิ้วครึ่ง แล้วให้เอา ๕ ขัณฑ์หาร ๘๗ นิ้วครึ่ง
             ได้ผลลัพธ์ ๑๗ นิ้วครึ่ง ตัวกลางมีกุสิ ๒ ข้าง รวมกันได้ ๕ นิ้ว ให้เอา ๕ ไปบวกกับ ๑๗ นิ้วครึ่ง จึงได้ ๒๒ นิ้วครึ่ง เป็นความกว้างของขัณฑ์กลาง ขัณฑ์รอง ๒ ขัณฑ์ ขัณฑ์หนึ่งๆ มีกุสิเดียว ๒ นิ้วครึ่ง ให้เอาไปบวกกับ ๑๗ นิ้วครึ่ง ได้ผลลัพธ์ ๒๐ นิ้ว เป็นความกว้างของขัณฑ์รอง ขัณฑ์ริมสุด ๒ ขัณฑ์ มีอนุวาตด้วยขัณฑ์ละ ๕ นิ้ว จึงให้เอา ๕ บวกกับ ๑๗ นิ้วครึ่ง จึงจะได้ ๒๒ นิ้วครึ่ง เป็นความกว้างของ ขัณฑ์ริมตัวหนึ่งๆ เมื่อรวมแล้วได้ใจความดังนี้
             ๑. ขัณฑ์กลาง   ให้ตัดผ้ากว้าง ๒๒ นิ้วครึ่ง ยาว ๗๐ นิ้ว ๑ ผืน
             ๒. ขัณฑ์รอง     ให้ตัดผ้ากว้าง ๒๐ นิ้ว ยาว ๗๐ นิ้ว ๒ ผืน
             ๓. ขัณฑ์ริมสุด   ให้ตัดผ้ากว้าง ๒๒ นิ้วครึ่ง  ยาว ๗๐ นิ้ว ๒ ผืน
             ๔. ต่อจากนั้นก็ให้ตัดกุสิ และอัฑฒกุสิจากขัณฑ์นั้นๆ ทั้ง ๕ ขัณฑ์ เวลาจะตัดกุสิและอัฑฒกุสิ (กระทง) ให้ตัดในขัณฑ์นั้นๆ กว้างขนาด ๒ นิ้วครึ่ง หรือจะใช้กลักไม้ขีดเป็นขนาดก็ได้ ก่อนแต่จะตัดอัฑฒกุสิให้พับเป็น ๓ ส่วน แล้วให้ตัดในส่วนกลางดังกล่าวแล้ว
             ๕. เย็บให้ติดกันเรียบร้อย แล้วจึงติดอนุวาตภายหลัง อนุวาตที่เย็บติดกันนั้น ให้ใช้ผ้ากว้าง ๕ นิ้ว ส่วนยาวเอาจนรอบขอบของจีวร
             ๖. เสร็จแล้วจึงให้ติดรังดุมไว้ขวา ลูกติดไว้ซ้าย จงดูในแบบ
            ๗. เมื่อเย็บเสร็จแล้ว ถ้าคิดจะหักตอนที่ตะเข็บย่นออกเสียแล้ว ก็คงเป็นจีวรประมาณกว้าง ๖๘ นิ้ว ยาว ๑๐๕ นิ้ว


11jevorn_1 11jevorn_2
11jevorn_3 11jevorn_4


การตัดสบง
            การตัดสบงก็ให้คิดโดยวิธีเดียวกัน เว้นแต่เวลาวัดผ้า จะตัดออกเป็นขัณฑ์ๆ ถ้าสมมติตัดเป็นจีวรขัณฑ์หนึ่งๆ ให้ยาว ๗๐ นิ้ว ถ้าตัดเป็นสบงก็ต้องสมมติขัณฑ์หนึ่งๆ ให้ยาว ๓๕ นิ้ว และไม่ต้องติดดุมและรังดุม นอกนั้นเหมือนกันทั้งหมด สบง เมื่อตัดแล้วคิดหักตอนตะเข็บออกแล้ว ก็คงเป็นสบงกว้าง ๓๔ นิ้ว ยาว ๑๐๕ นิ้ว

อีกวิธีหนึ่ง
            วิธีการตัดอย่างง่ายๆ ให้วัดเอาขนาดศอกของผู้ที่จะครองนั้นกะดังนี้
            ๑. ขัณฑ์กลาง กับขัณฑ์ริมสุดทั้ง ๒ ข้าง ให้วัดขัณฑ์หนึ่งๆ กว้าง ๑ ศอก ๖ นิ้ว ยาว ๔ ศอก ๓ ขัณฑ์ รวมกว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ๖ นิ้ว
            ๒. ขัณฑ์รอง คือต่อจากขัณฑ์กลาง ๒ ข้าง ขัณฑ์หนึ่งๆ กว้าง ๑ ศอก ๓ นิ้ว ยาว ๔ ศอก ๒ ขัณฑ์ รวมกว้าง ๒ ศอก ๖ นิ้ว
            ๓. ต่อจากนั้น ก็ให้ตัดกุสิ และอัฑฒกุสิตามแบบครั้งที่ ๒ ดังกล่าวแล้วในจีวรข้างต้น

ตัดสบง
            ๔. การตัดก็อย่างเดียวกับจีวร เป็นแต่เวลาตัดขัณฑ์ให้ลดความยาวของขัณฑ์หนึ่งๆ ลงเป็น ๒ ศอกเท่านั้น

สีที่ทรงอนุญาต
            สีที่ทรงอนุญาตให้ย้อมมี ๒ ชนิด คือ
            สีเหลืองเจือแดงเข้ม ๑ สีเหลืองหม่น เช่นสีแก่นขนุน ที่เรียกว่ากรัก ๑

สีที่ห้ามไม่ให้ย้อมคือ
            สีคราม สีเหลืองล้วน สีแดงล้วน สีบานเย็น สีชมพู สีดำ
            อนึ่ง จะใช้สีกรักผสมกับสีแดง สีเหลืองก็ได้ แต่ส่วนผสมนั้นจะยุติเป็นแน่นอนไม่ได้ เพราะแล้วแต่ว่าสีที่ได้มานั้นจะแก่หรืออ่อน ถ้าสีแก่ก็ผสมแต่น้อย สีอ่อนก็ใช้ผสมมาก ข้อสำคัญให้ได้สีดังกล่าว

หนังสือ               : กฐิน (ถูกต้องตามพระธรรมวินัย)
หนังสืออ้างอิง      : พระไตรปิฎก และอรรถกถาแปล
                           ฉบับมหามกุฎาชวิทยาลัย ๙๑ เล่ม  (พุทธศักราช ๒๕๓๗)
                         : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
                           โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
                         : กฐินกถา โดยพระสุพจน์มุนี (ธรรมประทีป ภิกขุ ป.ธ.๖)
                         : คู่มือคู่สวดพระอุปัชฌาย์ โดยคณาจริโย
อนุโมทนา           : คณะสิกขาและปฏิบัติธรรมตามพระไตรปิฎก
                           ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
รวบรวมโดย        : อนุโมทนาพระธรรมวินัย
 

               



มีผู้อ่านจำนวน : 22914 ครั้ง


backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have one guest and no members online