Text Size
Friday, April 19, 2024
Top Tab Content

09no_invole

สังฆกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการทอดกฐิน 

             หากวัดใดมีพระภิกษุเพียง ๑ รูป ๒ รูป ๓ รูป ก็สามารถนิมนต์ พระภิกษุวัดอื่นมาร่วมสังฆกรรมได้ อาทิ
- การให้อุปสมบทในปัจจันตประเทศ   ต้องมีสงฆ์      ๕     รูป
- การให้อุปสมบทในมัชฌิมประเทศ    ต้องมีสงฆ์      ๑๐    รูป
- ภิกษุต้องสังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ           ต้องมีสงฆ์      ๒๐    รูป
- ทำสังฆทานทั่วไป                         ต้องมีสงฆ์      ๔     รูป
- สังฆอุโบสถ                                 ต้องมีสงฆ์      ๔     รูป ขึ้นไป
            จำพรรษา : อยู่ประจำวัด ๓ เดือน ในฤดูฝน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (ปุริมพรรษา = พรรษาต้น)  หรือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (ปัจฉิมพรรษา = พรรษาหลัง)
            วันเข้าพรรษาต้น คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เรียกว่า "ปุริมิกา-วัสสูปนายิกา"
            วันเข้าพรรษาหลัง คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ เรียกว่า "ปัจฉิมิกา-วัสสูปนายิกา"
            ผ้าจำนำพรรษา คือ ผ้าที่ทายกถวายแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้วในวัดนั้น ภายใน เขตจีวรกาล (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) ทายกผู้ฉลาดจะตั้งเจตนาถวาย ผ้ากฐินและผ้าจำนำพรรษา แก่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปโดยไม่เจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง
            ปวารณา :     ๑. ยอมให้ขอ เปิดโอกาสให้ขอ
                                ๒. ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน
            เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือน
            ปวารณา เป็นชื่อสังฆกรรมที่พระภิกษุสงฆ์กระทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่ามหาปวารณา คือ พระภิกษุทุกรูป (ไม่ว่าพรรษามากหรือพรรษาน้อย) จะกล่าวปวารณา คือ เปิดโอกาสให้กันและกัน ว่ากล่าวตักเตือน เพื่อการแก้ไขปรับปรุงตนเอง ที่ไม่ถูกกันหรือขัดแย้งกันต้องพูดดีมีสามัคคีต่อกัน ฯลฯ ปวารณาเป็นสังฆกรรมประเภท ญัตติกรรม คือทำโดยตั้งญัตติ (เผดียงสงฆ์) อย่างเดียว ไม่ต้องสวดอนุสาวนา (คำขอมติ) เป็นกรรมที่ต้องทำโดยสงฆ์ปัญจวรรค คือภิกษุตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป (สังฆปวารณา) อันเป็นผลที่ให้รับการทอดกฐินได้
            สังฆปวารณา    : ปวารณาที่ทำโดยสงฆ์ คือมีภิกษุ ๕ รูป ขึ้นไป
            คณปวารณา     : ปวารณาที่ทำโดยคณะ คือมีภิกษุ ๒ - ๔ รูป
            ปุคคลปวารณา : ปวารณาที่ทำโดยบุคคล คือมีพระภิกษุรูปเดียว

ศัพท์คำว่า “ กฐิน ”  
            คำว่า “ กฐิน ” ใช้ประกอบคำอื่นมีความหมายอีก หลายประการคือ
            ผ้ากฐิน กฐินกาล เทศกาลกฐิน ฤดูกฐิน หน้ากฐิน จองกฐิน ทอดกฐิน ผู้ครองกฐิน ผู้กรานกฐิน องค์ครองกฐิน องค์กฐิน เครื่องกฐิน บริวารกฐิน เจ้าภาพกฐิน แห่กฐิน ฉลองกฐิน อนุโมทนากฐิน กรานกฐิน จุลกฐิน มหากฐิน กฐินหลวง กฐินต้น กฐินพระราชทาน อานิสงส์กฐิน เป็นต้น
            การกรานกฐิน : พิธีการที่กระทำคือ ภิกษุสงฆ์จำพรรษาครบ ๓ เดือน ในวัดเดียวกันจำนวน ๕ รูปขึ้นไป ประชุมกันในพระอุโบสถ พร้อมใจกันมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ต้องเป็นภิกษุผู้รู้ธรรม ๘ ประการ มีบุพพกรณ์ ๗ เป็นต้น เพื่อทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในวันนั้น แล้วประกาศแก่ภิกษุสงฆ์ผู้มอบผ้าให้รับทราบ  เพื่ออนุโมทนา เมื่อภิกษุสงฆ์ได้อนุโมทนาแล้ว เรียกว่า “ กรานกฐิน ” ภิกษุผู้เย็บจีวรเช่นนี้ เรียกว่า “ ผู้กราน ” ถ้าเป็นจีวรสำเร็จรูป จะไม่มีการกรานกฐิน

กาลิก ๔
             กาลิก : เนื่องด้วยกาล ขึ้นกับกาล ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไป ซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้ และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง ได้แก่
             ๑. ยาวกาลิก หมายถึง อาหารทุกอย่าง เช่นข้าว ปลา เนื้อ ผลไม้ ขนมต่างๆ รวมทั้ง นม ไมโล โอวัลติน (เว้นจากกาลิก ๓ อย่าง ที่จะกล่าวต่อไป) ภิกษุรับอังคาสแล้ว ฉันได้ตั้งแต่อรุณขึ้น จนถึงเที่ยงตรง
             ๒. ยามกาลิก หมายถึง น้ำผลไม้ ๘ อย่าง อัฏฐปานะ รวมทั้งน้ำผลไม้สงเคราะห์ต่างๆ (เว้นน้ำผลไม้ที่มีผลใหญ่ เช่นมะพร้าว แตงโม สับปะรด ฯลฯ) ภิกษุรับอังคาสแล้ว ฉันได้ชั่วยาม หมายถึง ยามสุดท้าย คือหมดเขต เมื่ออรุณขึ้น
             ๓. สัตตาหกาลิก หมายถึง เภสัช ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย (พวกน้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊ป น้ำตาลปึก ก็สงเคราะห์ในน้ำอ้อยด้วย) ภิกษุรับอังคาสแล้ว เก็บไว้ฉันได้ ๗ วัน หมดเขตเมื่อ อรุณขึ้นของวั้นที่ ๘ (๐๖.๐๐ น.)
             ๔. ยาวชีวิก หมายถึง ยารักษาโรคต่างๆ ทั้งแผนโบราณ และแผนปัจจุบัน ภิกษุรับอังคาสแล้ว เก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต
             กาลิกทั้ง ๔ นี้ ถ้าระคนปนกันในการอังคาส จะนับอายุตามกำหนดเวลาของกาลิกที่มีอายุสั้น เช่น น้ำอัฏฐปานะระคนกับอาหาร ก็ฉันได้เพียงเช้าถึงเที่ยงวัน  น้ำผึ้งระคนกับน้ำอัฏฐปานะ จะฉันได้เพียงวันคืนหนึ่งภายในก่อนอรุณขึ้น หรือยารักษาโรคระคนกับน้ำผึ้ง น้ำอ้อย ก็เก็บไว้ฉันได้เพียง ๗ วัน อย่างนี้เป็นต้น

เภสัช ๕ ภิกษุฉันในเวลาวิกาลได้
             ครั้งหนึ่งในฤดูสารท (ฤดูอับลม) ภิกษุเป็นอันมาก เกิดเจ็บไข้ไม่สบาย ฉันอาหารไม่ค่อยได้ ฉันแล้วอาเจียน เป็นโรคผอมแห้งแรงน้อย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเหตุนั้นแล้ว จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุ ฉันเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นยาได้ เพราะฉะนั้น เภสัชเหล่านี้จึงจัดเป็นยาก็ได้ เป็นอาหารก็ได้ ดังพระบาลีว่า
             อิมานิ โข ปน เภสชฺชานิ เสยฺยถิทํ สปฺปิ นวตีตํ เตล มธุ
ผาณิตํ เภสชฺชานิ เจว เภสชฺชสมฺมตานิ จ โลกสฺส อาหารตฺถญฺจ
ผรนฺติ น โอฬาริโก อาหาโร ปญฺญายติ อนุชานามิ ภิกฺขเว ตานิ
ปญฺจ เภสชฺชานิ ปฏิคฺคเหตฺวา กาเลปิ วิกาเลปิ ปริภุญฺชิตุ ํ  ฯ
              เภสัช ๕ เหล่านี้คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัชอยู่ในตัว และเขาสมมุติว่าเป็นเภสัช  ทั้งสำเร็จประโยชน์อาหารกิจแก่สัตว์ และไม่ปรากฏเป็นอาหารหยาบ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตให้รับอังคาสเภสัช ๕ นั้นแล้ว บริโภคได้ทั้งในกาลทั้งในเวลาวิกาล
              สำหรับ ปลา เนื้อ นมสด นมข้น  สี่อย่างนี้เป็นปณีตโภชนะ ไม่จัดเป็นเภสัช ๕ ดังกล่าว ทั้งไม่จัดเข้าในยาวชีวิก (ยา) และยามกาลิก (น้ำปานะ) ดังนั้น ภิกษุสามเณรจึงไม่ควรดื่มนม หรือเครื่องดื่มผสมนมในเวลาวิกาล
              ข้าวได้ชื่อว่า "ปพฺพณฺณ" ถั่วได้ชื่อว่า "อปรณฺณ" ทั้งสองอย่างนี้ในพระบาลี และอรรถกถาจัดเป็นยาวกาลิก ภิกษุสามเณรไม่ควรฉันในเวลาวิกาล แม้จะต้มหรือกรองหรือทำเป็นเครื่องดื่มต่างๆ ก็ไม่ควรฉัน

              นอกจากนั้น น้ำแห่งผลไม้ใหญ่ ๙ ชนิด คือ ตาล มะพร้าว ขนุน สาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไท แตงโม และฟักทอง ก็ไม่ควรฉันในเวลาวิกาลเช่นเดียวกัน
              น้ำอัฏฐบาน (น้ำปานะ ๘ อย่าง)  คือน้ำสำหรับดื่มที่คั้นจากผลไม้ ๘ ชนิด ได้แก่
              ๑. อมฺพปานํ         น้ำมะม่วง
              ๒. ชมฺพุปานํ         น้ำชมพู่ หรือน้ำหว้า
              ๓. โจจปานํ          น้ำกล้วยมีเม็ด
              ๔. โมจปานํ         น้ำกล้วยไม่มีเม็ด
              ๕. มธุกปานํ         น้ำมะทราง
              ๖. มุทฺทิกปานํ      น้ำลูกจันทน์ หรือองุ่น
              ๗. สาลุกปานํ       น้ำเหง้าอุบล
              ๘. ผารุสกปานํ     น้ำมะปราง หรือลิ้นจี่

วัตถุอนามาส
(สิ่งที่ภิกษุไม่ควรจับต้อง)
              นอกจากกายของมาตุคามและเงินทองแล้ว ยังมีวัตถุอื่นๆ อีกที่ภิกษุไม่ควรจับต้อง ซึ่งล้วนเป็นวัตถุแห่งอาบัติทั้งสิ้น ดังนี้
              ๑. กายของมาตุคาม ถ้าจับต้องด้วยรู้ว่าเป็นมาตุคาม แม้ไม่มีความกำหนัด ต้องอาบัติทุกกฎ  จับต้องด้วยความกำหนัด ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
              ๒. ผ้านุ่งห่มและเครื่องประดับของมาตุคาม แต่สิ่งใดแม้เป็นของเนื่องด้วยกาย ถ้ามาตุคามถวายแล้วไม่เอาคืน ภิกษุสามารถถือเอาสิ่งนั้นได้ เช่นภิกษุถูกโจรชิงจีวรไป อุบาสิกาจึงเปลื้องผ้านุ่ง หรือผ้าห่มวางแทบเท้า ภิกษุควรเพื่อถือเอาผ้านั้นทำเป็นจีวร ไม่เป็นโทษ
              ๓. รูปปั้น ที่ทำด้วยวัตถุต่างๆ รูปไม้แกะสลัก แม้รูปเขียนที่ทำให้มีสัณฐานผู้หญิง ภิกษุจับต้อง ต้องอาบัติทุกกฎ
              ๔. ธัญชาติ ๗ ชนิด ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย หญ้ากับแก้ ถ้ายังเป็นข้าวเปลือกอยู่ ภิกษุจับต้อง ต้องอาบัติทุกกฎ แต่ถ้าสีให้เป็นข้าวสารแล้ว จับต้องไม่ต้องอาบัติ
              ๕. อปรัณชาติ มีถั่วเขียว และถั่วเหลือง เป็นต้นก็ดี ผลไม้มีขนุน มะพร้าว กล้วย และมะม่วงก็ดี ที่เกิดอยู่บนต้น ภิกษุจับต้อง ต้องอาบัติทุกกฎ
              ๖. รัตนะ ๑๐ ประการ ได้แก่ มุกดา (ไข่มุก) มณี ไพฑูรย์ สังข์ ศิลา ประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม บุษราคัม ภิกษุจับต้องรัตนะ ๑๐ เหล่านี้ ต้องอาบัติทุกกฎ เงินและทอง ภิกษุรับเพื่อประโยชน์ตน ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ รับเงินทองเพื่อผู้อื่น แม้รับให้สงฆ์ ก็ไม่พ้นอาบัติทุกกฎ สิ่งของมีค่ารวมทั้งรัตนะเหล่านี้ ถ้าตกในวัด หรือที่อยู่ของภิกษุ ภิกษุต้องเก็บเอาไว้คืนเจ้าของ ถ้าไม่เก็บไว้ ต้องอาบัติทุกกฎ เพราะถ้าเจ้าของหาทรัพย์ที่ตกในวัดไม่พบ อาจเข้าใจว่าภิกษุลักถือเอาไป พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุเก็บไว้เพื่อป้องกัน ข้อติเตียน แต่ถ้าสิ่งของมีค่าตกอยู่นอกวัด ห้ามภิกษุเก็บ ถ้าเก็บย่อมมีโทษ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
              ๗. อาวุธ เครื่องประหารทุกชนิด เช่น มีด ขวาน หอก ดาบ ธนู ปืน เป็นต้น ภิกษุไม่ควรจับต้อง แต่ถ้ามีผู้ถวายและสามารถใช้เป็นกัปปิยภัณฑ์ (ของใช้ที่สมควรแก่ภิกษุ) ได้ ควรรับตามสมควร
              ๘. เครื่องดักสัตว์ และจับสัตว์ทั้งหลาย เช่น แห อวน ตาข่าย เบ็ด ข้อง เป็นต้น เป็นอนามาสทุกอย่าง
              ๙. เครื่องดนตรี มีพิณและกลองที่ขึงด้วยหนัง เป็นต้น ก็เป็นวัตถุแห่งอาบัติทุกกฏ
              พระวินัยแม้เล็กน้อยเหล่านี้ คฤหัสถ์ควรทราบไว้ เพื่อไม่เลื่อมใสในผู้ปฏิบัติผิด เพื่ออนุเคราะห์แก่ภิกษุผู้ปฏิบัติตามพระวินัย ซึ่งเป็นการดำรงพระพุทธศาสนา กุศลของอุบาสก อุบาสิกาผู้เข้าใจพระธรรมวินัย ย่อมเป็นกุศลที่ถึงพร้อมด้วยความรู้ถูก มีความเห็นถูก ในพระพุทธธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก


มีผู้อ่านจำนวน : 7668 ครั้ง


backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have 2 guests and no members online