Text Size
Friday, March 29, 2024
Top Tab Content

02summasati01

สัมมาสติ 
     
คัดบางส่วน มาจากหนังสือ พุทธธรรม โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) เรื่องสัมมาสติ หน้า 803 
 
  ความสำคัญของสติ

            พุทธธรรมเน้นความสำคัญของสติเป็นอย่างมากในการปฏิบัติจริยธรรมทุก ขั้น การดำเนินชีวิต หรือการประพฤติปฏิบัติโดยมีสติกำกับอยู่เสมอนั้น มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่าอัปปมาท หรือความไม่ประมาท อัปปมาทนี้เป็นหลักธรรมสำคัญยิ่งสำหรับความก้าวหน้าในระบบจริยธรรม มักให้ความหมายว่า การเป็นอยู่โดยไม่ขาดสติ ซึ่งขยายความได้ว่า การระมัดระวังอยู่เสมอ ไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม และไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความเจริญก้าวหน้า ตระหนักดีถึงสิ่งที่จะต้องทำและต้องไม่ทำ ใส่ใจสำนึกอยู่เสมอในหน้าที่ ไม่ปล่อยปละละเลย กระทำการด้วยความจริงจัง และพยายามเดินรุดหน้าอยู่ตลอดเวลา กล่าวได้ว่า อัปปมาทธรรมนี้ เป็นหลักความรู้สึกรับผิดชอบตามแนวของพระพุทธศาสนา

            แง่ความสำคัญ อัปปมาทจัดเป็นองค์ประกอบภายใน เช่นเดียวกับโยนิโสมนสิการ คู่กับหลักกัลยาณมิตรที่เป็นองค์ประกอบภายนอก พุทธพจน์แสดงความสำคัญของอัปปมาทนี้ บางทีซ้ำกับโยนิโสมนสิการ เหตุผลก็คือธรรมทั้งสองอย่างนี้ มีความสำคัญเท่าเทียมกัน แต่ต่างแง่กัน โยนิโสมนสิการเป็นองค์ประกอบฝ่ายปัญญา เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้กระทำการ ส่วนอัปปมาทเป็นองค์ประกอบฝ่ายสมาธิ เป็นตัวควบคุมและเร่งเร้าให้มีการใช้อุปกรณ์นั้น และก้าวหน้าต่อไปเสมอ

ความสำคัญของสติ สามารถดูได้ดังพุทธพจน์ต่อไปนี้

            ความสำคัญและขอบเขตการใช้อัปปมาทธรรม ในการปฏิบัติจริยธรรมขั้นต่าง ๆ จะเห็นได้จากพุทธพจน์ตัวอย่างต่อไปนี้
พุทธพจน์

“  ภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลายชนิดใดๆ ก็ตาม
ย่อมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด    รอยเท้าช้าง เรียกว่าเป็น
ยอดของรอยเท้าเหล่านั้น โดยความใหญ่ ฉันใด  กุศลธรรม
ทั้งหลาย อย่างใดๆ ก็ตาม     ย่อมมีความไม่ประมาทเป็นมูล
ประชุมลงในความไม่ประมาทได้ทั้งหมด   ความไม่ประมาท
เรียกได้ว่าเป็นยอดของธรรมเหล่านั้น ฉันนั้น  ”
 
“  เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้นสักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรม
ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น    หรือให้อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว   เสื่อมไป
เหมือนความไม่ประมาทเลย   เมื่อไม่ประมาทแล้ว   กุศลธรรมที่
 ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป  ”
 
“   เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้ สักอย่าง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่….
ที่เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม
เหมือนความไม่ประมาทเลย  ”
 
“   โดยกำหนด ว่าเป็นองค์ประกอบภายใน เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบ
อื่นแม้สักข้อหนึ่งที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ เหมือนความไม่ประมาทเลย  ”
 
“   สิ่งทั้งหลายที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น   ย่อมมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา
ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ที่มุ่งหมายให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท  ”
 
“   เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่   ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิตฉันใด
ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตแห่งการ
เกิดขึ้นของอริยอัษฎางคิกมรรคแก่ภิกษุฉันนั้น ก็คือความถึงพร้อมด้วย
  ความไม่ประมาท…. ธรรมเอกที่มีอุปการะมากเพื่อการเกิดขึ้นของอริย
อัษฎางคิกมรรค ก็คือความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท…..
 

“  เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง    
  ที่เป็นเหตุให้ อริยอัษฎางคิกมรรค              ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้น      
  หรืออริยอัษฎางคิกมรรคที่เกิดขึ้นแล้ว        ก็ถึงความเจริญเต็มบริบูรณ์        
  เหมือนอย่างความ ถึงพร้อมด้วย                 ความไม่ประมาทนี้เลย      
  ภิกษุผู้ไม่ประมาท พึงหวังสิ่งนี้ได้               คือเธอจักเจริญ จักกระทำให้มาก
ซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค ”

    ถาม:  “  มีบ้างไหม ธรรมข้อเดียวที่จะยึดเอาประโยชน์ไว้ได้ทั้ง 2 อย่าง คือ
               ทั้งทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน หรือประโยชน์เฉพาะหน้า
               และสัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์เบื้องหน้า หรือ ประโยชน์ชั้นสูงขึ้นไป)?”
   ตอบ:   “  มี  ”
   ถาม:    “  ธรรมนั้นคืออะไร?  ”  
   ตอบ:   “  ธรรมนั้นคือ ความไม่ประมาท  ”


การทำสติให้ปรากฏขึ้นได้


สติปัฏฐาน มีใจความโดยสังเขป คือ
1. กายานุปัสสนา การพิจารณากาย หรือตามดูรู้ทัน
       1.1 อานาปานสติ คือ ไปในที่สงัด นั่งขัดสมาธิ ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก โดยอาการต่างๆ
       1.2 กำหนดอิริยาบถ คือ เมื่อยืน เดิน นั่ง นอน หรือร่างกายอยู่ในอาการอย่างไรๆ ก็รู้ชัดในอาการที่เป็นอยู่นั้นๆ
       1.3 สัมปชัญญะ คือ สร้างสัมปชัญญะในการกระทำทุกอย่าง และความเคลื่อนไหวทุกอย่าง เช่น การก้าวเดิน การเหลียวมอง การเหยียดมือ นุ่งห่มผ้า กิน ดื่ม เคี้ยว ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การตื่น การหลับ การพูด การนิ่ง เป็นต้น
       1.4 ปฏิกูลมนสิการ คือ พิจารณาร่างกายของตนตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้า ซึ่งมีส่วนประกอบที่ไม่สะอาดต่าง ๆ มากมายมารวมๆ อยู่ด้วยกัน
       1.5 ธาตุมนสิการ คือ พิจารณาร่างกายของตน โดยให้เห็นแยกประเภทเป็นธาตุ 4 แต่ละอย่างๆ
       1.6 นวสีวถิกา คือมองเป็นศพที่อยู่ในสภาพต่างๆ กัน โดยระยะเวลา 9 ระยะ ตั้งแต่ตายใหม่ๆ ไปจนถึงกระดูกผุ แล้วในแต่ละกรณีนั้น ให้ย้อนมานึกถึงร่างกายของตน ว่าก็จะต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน

2. เวทนานุปัสสนา การตามดูรู้ทันเวทนา คือ เมื่อเกิดความรู้สึกสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นชนิด สามิส(สุขที่ต้องอาศัยเหยื่อล่อ ได้แก่สุขที่เกิดจากกามคุณ) และนิรามิส(สุขที่ไม่ต้องอาศัยเครื่องล่อ หรือ กามคุณ) ก็รู้ชัดตามที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ๆ

3. จิตตานุปัสสนา การตามดูรู้ทันจิต คือ จิตของตนในขณะนั้น ๆ เป็นอย่างไร เช่น มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ หลุดพ้น ยังไม่หลุดพ้น ฯลฯ ก็รู้ชัดตามที่มันเป็นอยู่ในขณะนั้น ๆ

4. ธัมมานุปัสสนา การตามดูรู้ทันธรรม คือ
       4.1 นิวรณ์ คือรู้ชัดในขณะนั้นๆ ว่า นิวรณ์ 5 แต่ละอย่าง ๆ มีอยู่ในใจตน หรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้ว ละเสียได้อย่างไร ที่ละได้แล้ว ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างไร รู้ชัดตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
       4.2 ขันธ์ คือกำหนดรู้ว่าขันธ์ 5 แต่ละอย่าง คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร
       4.3 อายตนะ คือรู้ชัดในอายตนะภายในภายนอกแต่ละอย่าง รู้ชัดในสัญโญชน์ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยอายตนะนั้น ๆ รู้ชัดว่าสัญโญชน์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วละเสียได้อย่างไร ที่ละได้แล้ว ไม่เกิดขึ้นได้อีกต่อไปอย่างไร
       4.4 โพชฌงค์ คือ รู้ชัดในขณะนั้นๆ ว่า โพชฌงค์ 7 แต่ละอย่าง ๆ มีอยู่ในใจตนหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วเจริญเต็มบริบูรณ์ได้อย่างไร
       4.5 อริยสัจ คือรู้ชัดอริยสัจ 4 แต่ละอย่าง ๆ ตามความเป็นจริง ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร

กระบวนการปฏิบัติ

            1.  องค์ประกอบหรือสิ่งที่ร่วมอยู่ในกระบวนการปฏิบัตินี้มี 2 ฝ่าย คือ
                 ฝ่ายที่ทำ (ตัวการที่คอยกำหนด หรือคอยสังเกตเพ่งพิจารณา)
                 ฝ่ายที่ถูกทำ (สิ่งที่ถูกกำหนดหรือถูกสังเกตเพ่งพิจารณา)
            2.  องค์ประกอบฝ่ายที่ถูกทำหรือถูกกำหนดเพ่งพิจารณา ก็คือ
                 สิ่งธรรมดาสามัญที่มีอยู่กับตัวของทุกคนนั่นเอง เช่น ร่างกาย การเคลื่อนไหวของร่างกาย ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เฉพาะที่เป็นปัจจุบัน คือที่กำลังเกิดขึ้น เป็นไปอยู่ในขณะนั้น ๆ เท่านั้น
            3.  องค์ประกอบฝ่ายที่ทำ คือ
                 คอยกำหนดคอยเพ่งพิจารณา เป็นตัวการหลักของสติปัฏฐาน ได้แก่สติ กับสัมปชัญญะ สติ เป็นตัวเกาะจับสิ่งที่จะพิจารณาเอาไว้ สัมปชัญญะ เป็นตัวปัญญา ตระหนักรู้สิ่งหรืออาการที่ถูกพิจารณานั้นว่า คืออะไร มีความมุ่งหมายอย่างไร เช่น เมื่อกำหนดพิจารณาการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่นการเดิน ก็รู้ตัวว่าเดินทำไม เพื่อไปไหน เป็นต้น และเข้าใจสิ่งนั้นหรือการกระทำนั้นตามความเป็นจริง โดยไม่เอาความรู้สึกเป็นต้นของตนเข้าเคลือบ

ข้อควรระวัง

            มีข้อควรระวังที่ควรย้ำไว้เกี่ยวกับความเข้าใจผิดที่อาจเป็นเหตุให้ปฏิบัติผิดพลาดเสียผลได้ กล่าวคือบางคนเข้าใจความหมายของคำแปลสติที่ว่าระลึกได้ และสัมปชัญญะที่ว่ารู้ตัว ผิดพลาดไป โดยเอาสติมากำหนดนึกถึงตนเองและรู้สึกตัวว่า ฉันกำลังทำนั่นทำนี่ กลายเป็นการสร้างภาพตัวตนขึ้นมา แล้วจิตก็ไปจดจ่ออยู่กับภาพตัวตนอันนั้น เกิดความเกร็งตัวขึ้นมา หรืออย่างน้อยจิตก็ไม่ได้อยู่ที่งาน ทำให้งานที่กำลังทำนั้น แทนที่จะได้ผลดี ก็กลับกลายเป็นเสียไป สำหรับคนที่เข้าใจผิดเช่นนั้น พึงมองความหมายของสติในแง่ว่า การนึกไว้ การคุมจิตไว้กับอารมณ์ การคุมจิตไว้กับกิจที่กำลังกระทำ หรือคุมจิตไว้ในกระแสของการทำกิจ และมองความหมายของสัมปชัญญะในแง่ว่าการรู้ชัดสิ่งที่นึกไว้หรือรู้ชัดสิ่ง ที่ กำลังกระทำ กล่าวคือ มิใช่เอาสติมากำหนดตัวตน (ว่าฉันทำนั่นทำนี่) ให้นึกถึงงาน (สิ่งที่ทำ) ไม่ใช่นึกถึงตัว(ผู้ทำ) ให้สติตามกำหนดอยู่กับสิ่งที่กำลังกระทำหรือกำลังเป็นไป จนไม่มีโอกาสนึกถึงตัวเอง หรือตัวผู้ทำเลย คือใจอยู่กับสิ่งที่ทำนั้น จนกระทั่งความรู้สึกว่าตัวฉันหรือความรู้สึกต่อตัวผู้ทำไม่มีโอกาสเกิดขึ้น ได้เลย
            อาการที่กำหนดเพ่งพิจารณานั้น มีสาระสำคัญอยู่ที่ ให้รู้เห็นตามที่มันเป็นในขณะนั้น คือ ดู-เห็น-เข้าใจ ว่าอะไร กำลังเป็นไปอย่างไร ปรากฏผลอย่างไร เข้าเผชิญหน้า รับรู้ พิจารณา เข้าใจ ตามดูมันไปให้ทันทุกย่างขณะเท่านั้น ไม่สร้างปฏิกิริยาใด ๆ ขึ้นในใจ ไม่มีการคิดกำหนดค่า ไม่มีการคิดวิจารณ์ ไม่มีการวินิจฉัยว่า ดีชั่ว ถูกผิด เป็นต้น ไม่ใส่ความรู้สึก ความโน้มเอียงในใจ ความยึดมั่นต่าง ๆ ลงไปว่า ถูกใจ ไม่ถูกใจ ชอบ ไม่ชอบ เป็นต้น เพียงเห็นเข้าใจตามที่มันเป็น ของสิ่งนั้น อาการนั้น แง่นั้น ๆ เองโดยเฉพาะ ไม่สร้างความคิดผนวกว่า ของเรา ของเขา ตัวเรา ตัวเขา นาย ก. นาย ข. เป็นต้น เช่น พิจารณาเวทนาในใจของตนเอง ขณะนั้น มีทุกข์เกิดขึ้น ก็รู้ว่าทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์นั้นเกิดขึ้นอย่างไร กำลังจะหมดสิ้นไปอย่างไร หรือพิจารณาธรรมารมณ์ เช่น
             - มีความกังวลใจเกิดขึ้น เกิดความกลุ้มใจขึ้น ก็จับเอาความกลุ้มหรือกังวลใจนั้นขึ้นมาพิจารณาว่า มันเกิดขึ้นอย่างไร เป็นมาอย่างไร หรือ
             - เวลาเกิดความโกรธพอนึกได้รู้ตัวว่าโกรธ ความโกรธก็หยุดหายไป จับเอาความโกรธนั้นขึ้นมาพิจารณาคุณโทษ เหตุเกิดและอาการที่มันหายไป เป็นต้น
             กลายเป็นสนุกไปกับการศึกษาพิจารณา วิเคราะห์ทุกข์ของตน และทุกข์นั้นจะไม่มีพิษสงอะไรแก่ตัวผู้พิจารณาเลย เพราะเป็นแต่ตัวทุกข์เองล้วน ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น กำลังดับไป ไม่มีทุกข์ของฉัน ฉันเป็นทุกข์ ฯลฯ แม้แต่ความดี ความชั่วใด ๆ ก็ตามที่มีอยู่ หรือปรากฏขึ้นในจิตใจขณะนั้น ๆ ก็เข้าเผชิญหน้ามัน ไม่ยอมเลี่ยงหนี เข้ารับรู้ตามดูมันตามที่มันเป็นไป ตั้งแต่มันปรากฏตัวขึ้น จนมันหมดไปเอง แล้วก็ตามดูสิ่งอื่นต่อไป เหมือนดูคนเล่นละคร หรือดุจเป็นคนข้างนอกมองเข้ามาดูเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เป็นท่าทีที่เปรียบได้กับแพทย์ที่กำลังชำแหละตรวจดูศพ หรือนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังสังเกตดูวัตถุที่ตนกำลังศึกษา ไม่ใช่ท่าทีแบบผู้พิพากษาที่กำลังพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นการดูเห็นแบบสภาววิสัย (objective) ไม่ใช่สกวิสัย (subjective)
   



มีผู้อ่านจำนวน : 7615 ครั้ง


backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have one guest and no members online