Text Size
Thursday, April 18, 2024
Top Tab Content

01kunka_sati01

คุณค่าของสติ ๑ 
     
กฎแห่งธรรมชาติ
คุณค่าของสติ

            ความหมายของสติ คือ การระลึกรู้อารมณ์ สตินั้นเป็นโสภณเจตสิกตัว หนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญยิ่ง เมื่อกล่าวถึง สติ คนทั่วไปอาจจะรู้จัก แต่ความหมายที่ถูกต้องของสติ และรายละเอียดนั้นเชื่อว่าจะรู้กันได้ยาก เพราะสตินั้นมีความหมายที่กว้างขวางลึกซึ้ง และมีประโยชน์มาก ก่อนอื่นควรจะได้รู้ความสำคัญของสติว่า สติ

            สติ หมายถึง การระลึกรู้อารมณ์ และเป็นสิ่งที่ยับยั้งมิให้จิตตกไปในฝ่ายอกุศล
            เพราะสติเป็นความระลึกรู้อารมณ์ที่เป็นฝ่ายกุศล หรือความระลึกทันอารมณ์ จากคุณสมบัติของสติดังกล่าวนี้ เพียงผิวเผินก็พอจะได้รู้ว่า สตินั้นมีความสำคัญอย่างไร

            ประการแรก : ควรจะได้รู้ลักษณะหน้าที่ และผลของสติเสียก่อนว่า มีประการใดบ้าง

            ลักษณะของสตินั้นหมายถึงการที่เรามีความระลึกรู้ในอารมณ์เนือง ๆ เมื่อเราระลึกรู้อารมณ์เนืองๆเช่นนี้แล้ว ผลก็คือ ความเป็นผู้ที่ไม่อยู่ในความประมาทนั่นเอง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงมีความห่วงใยในการที่จะให้มี สติระลึกรู้ในอารมณ์เนือง ๆ นี้คือ เป็นผู้ที่ไม่อยู่ในความประมาทนี้แม้ในพระโอวาทก่อนที่จะเสด็จเข้าสู่ ปรินิพพานก็ได้ทรงเตือนสาวกทั้งหลายว่า “อย่าอยู่ในความประมาท” ผู้ ที่อยู่ในความประมาทแล้ว ก็เท่ากับอยู่ในความตายนั่นเอง เหตุใดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงห่วงใยในสาวกทั้งหลายนักหนา ในเรื่องที่ตกอยู่ในความประมาทนี้

            ถ้าเราจะสรุปโอวาทปาฏิโมกข์แล้ว จะเห็นได้ว่าโอวาทปาฏิโมกข์ ทั้ง ๓ ข้อนั้น ต้องมีสติเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทั้ง ๓ ข้อ

            ข้อแรกที่พระองค์ตรัสไม่ให้สร้างความชั่ว หรือกรรมชั่ว เหตุที่ผู้สร้างความชั่วหรือกรรมชั่วนั้น ก็เพราะขาดสติ ตกอยู่ในความประมาทจึงได้ล่วง อกุศลกรรมบถ ๑๐ ขึ้นได้ ดังนั้นปัจฉิมโอวาทจึงทรงเตือนไว้หนักหนา ในปัญหาเรื่องสตินี้ว่า อย่าอยู่ในความประมาท ซึ่งเป็นลักษณะของสติ

            ประการที่สอง : เรื่องหน้าที่ของสติ คือ มีการไม่หลงลืมเป็นหน้าที่

            จะเห็นได้ว่าคนที่หลง ๆ ลืม ๆ นี้โบราณเรียกว่า ขาดสติ ถ้าขาดมาก ๆ กลายเป็นคนเสียสติ ก็คือคนบ้านั่นเอง เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เราควรจะได้ระลึกรู้เสียก่อนว่า สตินั้นเป็นโสภณเจตสิก เป็นฝ่ายข้างดีงาม ถ้าเรายึดสติไว้แล้ว ความชั่วร้ายเลวทรามอะไรต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น เมื่อมันไม่เกิดขึ้นเช่นนี้แล้ว การล่วงอกุศลกรรมบถ๑๐ ก็เป็นไปไม่ได้ นอกจากลักษณะและหน้าที่ของสติแล้ว เราควรจะได้รู้ว่าผลของสติเป็นอย่างไร

            ประการที่สาม : ผลของสติก็มีการจำได้อย่างแม่นยำ

            ผู้ใดที่ต้องการจะจดจำดี ก็ควรหมั่นสร้างสติให้เกิดขึ้น
            นอกจากนี้ ยังมีเหตุใกล้ของสติที่จะทำให้สติเกิดขึ้นคือ ความจำ ผลของสติ คือ การรักษาอารมณ์ให้คงที่อยู่เสมอ ถ้าอารมณ์เป็นกุศลมันก็จะรักษาอยู่ เหตุใกล้ชิดก็คือ การจำอย่างแม่นยำนั่นเอง

            ตามที่กล่าวมานี้ ถ้าจะสรุปเรื่องสติแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า สติเป็นเครื่องชักนำใจให้ยึดถืออยู่ในฝ่ายกุศลเป็นอุดมคติ เหตุใดจึงเรียกว่า ยึดฝ่ายกุศลเป็นอุดมคติ อย่าลืมว่า เราต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า จิตใจของเรานั้นมีพี่เลี้ยงอยู่ตัวหนึ่ง เรียกว่า เจตสิก เจตสิกมีอยู่ถึง ๕๒ ดวง เจตสิกที่เป็นตัวกลาง ๆก็มี เจตสิกที่เป็นฝ่ายชั่วก็มี เจตสิกที่เป็นฝ่ายดีก็มี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สติ เป็นโสภณเจตสิก คือ เป็นเจตสิกฝ่ายดี เมื่อมันเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงจิตใจแล้ว ก็จะทำให้จิตใจนั้นมีความดีเกิดขึ้น คือ ใฝ่ในกุศลกรรมนั่นเอง

            อีกประการหนึ่ง ขอให้ระลึกถึงความจริงว่า ความมืดกับความสว่างนั้น มันจะอยู่ในขณะเดียวกันไม่ได้ ทั้งนี้ก็เช่นเดียวกันกับสติเหมือนกัน สตินั้นเป็นธรรมฝ่ายขาว คือ เป็น โสภณเจตสิก ส่วน โลภะ โทสะ โมหะ เป็นฝ่ายอกุศลจิตเป็นธรรมฝ่ายดำ หรือความมืดเมื่อเรามีสติอยู่แล้ว นั่นก็คือความสว่าง ความมืดย่อมจะเข้ามา กล้ำกรายในชีวิตของเราไม่ได้ นอกจากนั้นแล้ว สติยังเป็นตัวชักนำให้จิตของเรา อยู่ในที่ใดที่หนึ่งได้ ทั้งนี้เพราะสตินั้นเป็นพี่เลี้ยงของจิต ถ้าเราเอาสติไปตั้งไว้ที่ไหนแล้ว จิตใจของเราก็จะไปพัวพันอยู่กับสติด้วย ผู้ที่ได้ทำสมาธิในขั้นสูงมาแล้ว เคยสังเกตหรือไม่ว่า ถ้าเราไม่มีสติแล้วจะทำให้เกิดสมาธิได้หรือไม่ ทำไม่ได้เลย เว้นแต่ มิจฉาสมาธิ เพราะเขาเอาเจตสิกตัวอื่นเข้ามาแทนแต่สัมมาสมาธิ หรือ สมถกัมมัฏฐาน ๔๐ วิธีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องนำเอาสติมาใช้ในการเจริญสมาธิให้เกิดขึ้น

            นอกจากนี้ผู้ใดที่ไม่มีสติ จะทำสมาธิให้เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อทำให้สมาธิเกิดขึ้นไม่ได้แล้ว บาทฐานของปัญญา ซึ่งต้องใช้สมาธิก็ไม่มี เมื่อบาทฐานของปัญญาไม่ได้สร้างขึ้น เพราะมันสร้างขึ้นไม่ได้แล้ว ปัญญาก็ย่อมไม่เกิด

ดังนั้นจงพิจารณาถึงความสำคัญของสติให้ดีว่า

ประการที่หนึ่ง
            สติ นั้น ใช้ในการทำสมถกัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ วิธี
            ไม่ว่าจะเป็น กสิณ ๑๐ อนุสติ ๑๐ หรือ อสุภ ๑๐ และเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ อีก ๑๐ ก็ดี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเอาสติมาใช้ในการสร้างความสงบให้เกิดขึ้น ถ้าเราไม่มีสติแล้ว เราก็ไม่สามารถสร้างความสงบให้เกิดขึ้นตามเป้าหมายของการทำสมาธิได้เลย

ประการที่สอง
            ในการเรียนวิปัสสนากรรมฐาน ก็สติอีกนั้นแหละที่เป็นตัวการสำคัญจำเป็นจะต้องนำมาใช้เป็นเครื่องระลึกรู้
ทางกายก็ดี ทางเวทนา ทางจิตหรือทางธรรมก็ดี ซึ่งเรียกว่า สติปัฏฐาน ๔
            เราก็ต้องใช้สติอีกเช่นกัน ถ้าไม่มีสติแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะเจริญวิปัสสนากรรมฐาน หรือสมถกัมมัฏฐานได้แต่ประการใดเลย

ประการที่สาม
            นอกจากนี้แล้ว คุณประโยชน์ของสติก็คือ ห้ามมิให้เราสร้างกรรมชั่วได้
            กล่าวไว้แล้วว่าสตินั้นเป็นโสภณเจตสิก คือ เป็นธรรมฝ่ายขาว และความชั่วทั้งหลายเป็นอกุศล เป็นธรรมฝ่ายดำ ความมืดกับความสว่างมันจะมาปะปนกันไม่ได้ ตราบใดที่เรายังมีสติระลึกรู้อยู่ ความบาปกรรม หรืออกุศลทั้งหลายก็จะเข้ามากล้ำกรายไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอกุศลกรรมบถ ๑๐ อันได้แก่ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ซึ่งเป็นกรรมที่จะนำเราไปสู่ ทุคติภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย หรือ เดรัจฉาน มันจะเป็นตัวนำทางคือ อกุศลกรรม ตราบใดที่เรายังมีสติประจำอยู่ในตัวของเราแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะล่วงอกุศลกรรมบถ ๑๐ ไปได้ ทั้งนี้เพราะเหตุว่า สตินั้นมันเป็นตัวห้ามมิให้เราทำกรรมชั่วเช่นนั้นให้เกิดขึ้น ถ้าเราจะทำกรรม มันก็จะมาบังคับให้ทำกรรมดีมิใช่กรรมชั่ว

ประการที่สี่
            ความสำคัญของสติ คือป้องกันมิให้มีการก่อเวรเกิดขึ้นเช่น ผู้ที่เคยได้รับวิบากกรรมมาแล้วหลายอย่าง ทั้งวิบากอันเป็นผลดีและวิบากอันเป็นผลร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยุ่งยากเดือดร้อนนานาประการ ที่เราได้ประสบมาในชีวิตเป็นวิบากที่ทนไม่ได้ ซึ่งเรียกว่าไม่มีความสุขกายสุขใจอะไร คือมีแต่ ทุกขเวทนา คือ ความไม่สบายกาย หรือ โทมนัสเวทนา คือ ความไม่สบายใจ สิ่งเหล่านี้เป็นผลของอกุศลวิบากกรรมที่ตามมาทัน ซึ่งเราได้สร้างไว้ในอดีต
            ถ้าผู้ใดได้เคยอ่านเรื่อง เมื่อกรรมตามทันแต่ละรายแล้วจะเห็นได้ว่า เวรกรรมทั้งหลายที่ตามมาทันนั้น เป็นผลมาจากการขาดสติทั้งสิ้น เหตุนี้ถ้าเราเป็นผู้มีสติระลึกรู้อยู่แล้ว เมื่อวิบากกรรมเกิดขึ้น เราก็มีความระลึกรู้ว่ามันเป็นเพียงความจริงที่ปรากฏขึ้นเท่านั้น คำว่า วิบากกรรมนี้หมายถึง ทั้งความดีและความชั่ว แต่ผู้มีสติจะสามารถป้องกันความชั่วอันเกิดจากอกุศลวิบากขึ้นได้ เพราะอกุศลวิบากนั้น ปกติจะต้องปรากฏขึ้นทางตา หมายถึงว่าเราได้เห็นรูปที่ไม่ดี ไม่น่าพอใจ ที่ทำความเคร่งเครียดให้กับจิตใจ ทำให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจ เหล่านี้เป็นวิบากกรรมที่เกิดขึ้นทางตา นอกจากวิบากที่เกิดขึ้นทางตาแล้ว ยังมีวิบากที่เกิดขึ้นทางหู หมายถึงเสียงต่างๆ ที่ได้ยิน ถ้าเราได้ยินเสียงที่ไพเราะก็เกิดความพอใจ นั่นหมายความว่าสุขเวทนาได้เกิดขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราได้ยินเสียงที่ไม่พอใจ เสียงนินทาว่าร้ายหรือด่าทอเราแล้ว ถ้าหากเราไม่มีสติ เราก็จะเกิดความพลุ่งพล่านในจิตใจขึ้น เกิดความทุกข์โทมนัส ทุกขเวทนาเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นคือ วิบากที่เกิดขึ้นทางหู ในทำนองเดียวกัน
            นอกจากวิบากที่จะเกิดขึ้นทางตา ทางหูแล้ว ก็อาจเกิดขึ้นทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจได้ โดยทางจมูกนั้น เราจะได้รับกลิ่นดีหรือไม่ดีซึ่งจะทำให้เราเกิดอารมณ์พอใจหรือไม่พอใจเกิดขึ้น นี่เรียกว่า วิบากที่เกิดขึ้นทางจมูก ในทำนองเดียวกัน วิบากที่เกิดขึ้นทางลิ้น คือรสต่างๆที่เราได้ลิ้ม ถ้าเราได้ลิ้มรสที่พอใจ เราก็มีสุขเวทนา หรือ โสมนัสเวทนาเกิดขึ้น เป็นความพอใจของเรา ถ้าเราได้รับรสที่ไม่พอใจแล้ว ก็มีความทุกขเวทนาเกิด ขึ้น นั่นคือ ความไม่พอใจ
            นอกจากวิบากกรรมที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น ก็ยังมีอีกทางหนึ่ง คือ ทางกาย ทางกายนั้นเราอาจจะได้รับสัมผัสดีบ้างชั่วบ้าง หมายถึง การเย็น การร้อน การอ่อน การแข็ง เคร่ง ตึง ไหว เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งหมายถึง วิบากกรรม คือ ความสุขหรือความทุกข์ที่เราได้รับทางกาย ประการสุดท้าย วิบากนั้นยังเกิดขึ้นได้จากทางใจ นั่นคือ การนึกคิดในอารมณ์ต่าง ๆ ซึ่งวิบากเหล่านี้ ถ้าเราขาดสติระลึกรู้เสียแล้ว เราก็อาจจะก่อกรรมให้เป็นกรรมต่อเนื่องกันไป ไม่มีที่สิ้นสุด เราจะเห็นได้จากคนบางคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่ได้ทำวิบากให้กลายเป็นกรรมต่อเนื่องเสียแล้ว คนเหล่านั้นก็จะได้รับผลเป็นทุกขเวทนาต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะเราขาดสติระลึกรู้นั่นเอง ฉะนั้นถ้าเรามีปัญญาเราก็ควรเป็นผู้มีสติระลึกรู้เอาไว้
            เมื่อเราได้รับ วิบากกรรมต่าง ๆ เราก็มีสติระลึกรู้ไม่ให้ตอบกรรมนั้น ไม่ได้สร้างกรรมนั้นต่อ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะแล้วในผลวิบากนั้น

ประการที่ห้า
            ความสำคัญของสติคือ การเตรียมตัวก่อนตาย จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีสติเป็นเครื่องระลึกรู้ เหตุใดจึงกล่าวว่า การเตรียมตัวก่อนตายจำเป็นต้องใช้สติ ก็เพราะว่าก่อนที่จะตายนั้น จะต้องเกิดจุติจิตนี้ก่อนจึงจะตาย เมื่อจุติจิตเกิดขึ้นนั้นจะต้องมี กรรมารมณ์ ๑ กรรมนิมิตารมณ์ ๑ คตินิมิตารมณ์ ๑ อารมณ์ทั้งสามนี้ถ้าเราขาดสติระลึกรู้แล้ว เราก็ไม่แน่ว่าจะตกไปอยู่ในทุคติภูมิชั้นไหน เพราะเหตุใด เพราะว่าการขาดสติระลึกรู้นั้น โมหะเจตสิกก็จะเข้ามาแทรกแซง ถ้าไม่มีโมหะเจตสิกเข้ามา โลภะเจตสิกก็เข้ามา หรือไม่ก็เป็นโทสะเจตสิก สิ่งเหล่านี้อย่าประมาทว่า จะนำเราไปลงนรกไม่ได้ ได้เคยกล่าวมาแล้วว่า แม้แต่คนกำลังจะตาย ก็ยังสามารถทำกรรมดีหรือกรรมชั่วได้ สิ่งนั้นเรียกว่ามโนกรรม

            เราจะเห็นได้ว่า คนบางคนทำบุญมาตลอดชีวิตเมื่อจวนจะตายขาดสติแวบเดียวเท่านั้น ได้สร้างอกุศลกรรมเกิดขึ้นทางมโนกรรม
            ทั้งนี้เพราะเหตุใด เพราะปฏิสนธิจิตนั้นขึ้นอยู่กับจุติจิต เมื่อจุติจิตเกิดขึ้นปฏิสนธิจิตจึงจะเกิดขึ้น ดังนั้นการที่เราจะดับจิตไปก่อนตายนั้น เราดับไปในแง่ของกุศลหรืออกุศล ถ้าเราไปในด้านของอกุศลก็ไม่พ้นจากทุคติภูมิ เรื่องเหล่านี้ ถ้าคนที่ช่างสังเกตจะเห็นคนที่เข้าขั้นโคม่าเขาจะนิมนต์พระมาสวดมนต์ให้ฟังบ้าง มาเทศน์ให้ฟังบ้าง เรานึกหรือว่า พระที่มาเทศน์ก็ดี สวดมนต์ก็ดี หรือคนที่บอกหนทางว่า พระอรหัง ฯ นั้น จะช่วยผู้ตายให้พ้นจากทุคติภูมิไปได้ ถ้าเขาขาดสติ ท่านนึกหรือว่าจะเป็นไปได้เช่นนั้น

            ถ้าเราจะพิจารณาถึงจุติจิตที่จะเกิดขึ้น คนที่เข้าขั้นโคม่านั้น ทางตาก็ดับ ใช้การไม่ได้ หรือเรียกว่า จักษุวิญญาณนั้นดับไปแล้ว ทางหูก็ไม่ได้ยินเพราะโสตวิญญาณดับไปด้วย ทางจมูกก็ไม่ได้กลิ่นเพราะ ฆานวิญญาณนั้นดับ ทางลิ้นก็ไม่รู้รส เพราะชิวหาวิญญาณดับ ร่างกายก็ปราศจากความรู้สึกเพราะกายวิญญาณดับ คงเหลือแต่มโนวิญญาณตัวเดียวเท่านั้น เมื่อมโนวิญญาณยังไม่ดับ และไม่มีอะไรเป็นพี่เลี้ยง อกุศลเจตสิกจะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงแทน ได้กล่าวไว้แล้วว่า สติ เป็นธรรมฝ่ายขาว ถ้าเราขาดสติเสียแล้ว ธรรมฝ่ายดำก็จะเข้ามาแทรกแซงอะไรเล่าที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้น

            ประการแรกเรียกว่า กรรมารมณ์
            ซึ่งหมายถึงความนึกคิด ในฝ่ายดีก็ได้ ฝ่ายชั่วก็ได้ ซึ่งตนได้เคยทำมาแล้วในอดีตในชีวิตของตน สตินั้นเป็นโสภณเจตสิก ดังนั้นถ้ามันจะคิดนึกมันก็จะคิดนึกไปในทางดี ไม่ใช่ทางเลว แต่ถ้าเราขาดสติเสียแล้ว มันก็ไม่มีอะไรที่จะนึกดี นอกจากอกุศลเจตสิกที่ตนได้ประกอบไว้ เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ ตลอดชีวิตมันจะนึกได้เช่นนี้ ถ้าเราไม่มีสติที่จะนึกคิดในทางที่ดีแล้ว มันก็จะสร้างชนกกรรมคือ ตัวจุติวิญญาณให้เกิดขึ้น จุติจิตนี้เมื่อเกิดเป็นฝ่ายอกุศลแล้ว เราจะหนีได้หรือว่า เราจะไม่ตกนรก จะไม่ไปเป็น เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน เราก็หนีไม่พ้น เพราะเหตุใด เพราะอาจิณกรรมที่เราทำมาโดยตลอดนั้น มันจะปรากฏขึ้น ดังนั้นคนโบราณเขาจึงได้บอกหนทางคนที่จวนจะตายบ้าง อื่น ๆ บ้าง แต่ถ้าเขาได้ศึกษาเรื่องจิตและเจตสิกแล้ว จะรู้ว่ามันไม่เกิดประโยชน์ เพราะว่าถ้าผู้นั้นไม่ได้หัดฝึกสติไว้ตั้งแต่ต้น แล้วก็เป็นการยากยิ่งที่จะหนีทุคติภูมิไปได้ นอกจากกรรมารมณ์แล้ว

            ตัวที่สอง คือ กรรมนิมิตารมณ์ ก็เกิดขึ้น
            ซึ่งหมายถึง ความนึกคิดของคนในขั้นโคม่า จวนจะดับจิตนั้นนึกอย่างไร เขาจะนึกถึงเครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำบาปกรรมหรือในการสร้างบุญกุศล อาจเป็นการสร้างอุโบสถ สร้างวิหาร หรือยิงนกตกปลาอะไรก็ได้ ถ้าไปนึกถึงฝ่ายชั่วก็ย่อมไปทางผลชั่ว ถ้านึกถึงทางฝ่ายดีก็รับไปทางผลดีเช่นนี้ สติตัวเดียวเท่านั้นที่จะชักจูงให้กรรมฝ่ายดีเกิดขึ้น เพราะว่าถ้าผู้ใดขาดสติเสียแล้ว กรรมฝ่ายดีจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าใช้สติพิจารณาดูจะเห็นได้ว่า สตินั้นเป็นเครื่องป้องกัน หรือเป็นหลักประกันก่อนตาย ที่จะไม่ให้เราต้องไปสู่ทุคติภูมิ

            ตัวที่สาม คือ คตินิมิตารมณ์
            หมายถึง ความแลเห็น ความนึกเห็นไปได้ คตินิมิตารมณ์เป็นการแลเห็นสำหรับคนที่จะตายอยู่ในขั้นโคม่า ถ้าเราจะไปสู่ทุคติ เราก็อาจจะแลเห็นไฟนรก หรือสิ่งที่จะใช้สำหรับลงโทษทุกข์ทรมานต่าง ๆ ปรากฏขึ้น ถ้าเราจะไปสู่สุคติภูมิเราก็อาจจะแลเห็นเป็นวิมาน หรือเครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เราได้ประกอบกุศลเหล่านี้ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นในคตินิมิตารมณ์เช่นนั้น

           เราจึงควรจะได้คิดดูว่า สตินั้นเป็นโสภณเจตสิก การควบคุมจิตของเรา กรรมารมณ์ กรรมนิมิตารมณ์ก็ดี เหล่านี้เป็นเครื่องชี้ทางให้เห็นว่า เราจะตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ ซึ่งจะเห็นได้เมื่อเราจะตายทั้งสิ้น แต่ไม่มีใครช่วยเราได้ เพราะเหตุใด เพราะว่าตอนนั้นเราจะไปดีหรือชั่วก็อยู่ที่จุติจิตดวงสุดท้ายนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ถ้าเรามีสติระลึกรู้ ก็เป็นการเตรียมให้เรารู้อยู่เสมอว่า อะไรเป็นอะไร อย่างน้อยสตินั้นจะสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น ปัญญาในที่นี้หมายถึง กัมมัสสกตาปัญญา นั้นเราจำเป็นจะต้องรู้ทุกคนว่ามันมีอย่างไร
            กัมมัสสกตาปัญญา นี้หมายถึง ปัญญาที่รู้เห็นว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นสมบัติของตน

            ถ้าเราคำนึงถึงพระพุทธพจน์ที่ว่า “อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ” “ตนนั้นแหละ เป็นที่พึ่งแห่งตน”
            เช่นนี้แล้วเราจะเห็นได้ว่า ไม่มีผู้ใดเลยที่จะมาปัดเป่ากรรมที่เราได้สร้างไว้ให้พ้นไปได้ เว้นแต่ตัวเราเองจะเป็นผู้มีสติระลึกรู้อยู่เท่านั้น
            พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “เมื่อทำเหตุดีแล้ว ผลดีย่อมปรากฏขึ้น เหตุจะดีได้ก็ด้วยการมีสติระลึกรู้” ฉะนั้นอย่างเลว เราก็ควรจะมี กัมมัสสกตาปัญญาเกิดขึ้น




มีผู้อ่านจำนวน : 13875 ครั้ง


บทความที่เกี่ยวข้อง

           คุณค่าของ สติ ตอนที่ ๑
           คุณค่าของ สติ ตอนที่ ๒
backbutton
gototop
back2home_style3 go2contentstore_style03
Bottom Tab Content

Who's Online

We have one guest and no members online